"กาญจนบุรี" เป็นเมืองท่องเที่ยวใกล้กรุง ที่ไปเยือนเมื่อไรก็สุขใจเมื่อนั้น เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและหลากหลาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ภูเขาแม่น้ำล้วนยิ่งใหญ่ วัดงามมากมาย ร้านอาหาร คาเฟ่น่ารักๆ ก็มีอีกเพียบ
เรามาเยือนกาญจนบุรีครั้งนี้ก็พิเศษขึ้นไปอีกเพราะได้มากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่พาผู้โชคดีจากกิจกรรม “เที่ยวอุ่นใจ ไปกับน้อง ENGY” มาเที่ยวที่เขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งนอกจากจะได้มาชมความงามของเขื่อนและสนุกสนานในแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงแล้ว ก็ยังเป็นการกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากวิกฤติโควิด-19 ผ่านการท่องเที่ยวในจังหวัดที่ตั้งเขตเขื่อนและโรงไฟฟ้าของ กฟผ. อีกด้วย
สำหรับทริปท่องเที่ยวเขื่อนศรีนครินทร์นี้จัดขึ้นเป็นทริปที่ 2 ของ กฟผ. แล้ว ซึ่งยังคงจัดเต็มกับแหล่งท่องเที่ยวและความสนุกสนานเหมือนเคย เริ่มจากพาผู้ร่วมทริปแวะเที่ยวชม “เมืองมัลลิกา ร.ศ.124” ใน อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ซึ่งจำลองวิถีชีวิตคนไทยย้อนเวลานับ 100 ปี ไปสัมผัสรากเหง้าความเป็นไทยอย่างแท้จริงผ่านงานสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตของชาวสยามในอดีต ในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) หลังจากมีการประกาศเลิกทาส
ที่นี่ผู้ร่วมทริปทุกท่านได้เปลี่ยนชุดไทยไปย้อนอดีตพร้อมๆ กันอย่างสนุกสนาน ได้ถ่ายรูปกับมุมต่างๆ ภายในเมืองมัลลิกา ทั้งย่านการค้า เช่น ย่านสามแพร่ง ย่านเยาวราช ย่านบางรัก ที่มีร้านรวงมากมายไม่ว่าจะเป็น ร้านข้าวโพดคั่ว ร้านขนมไทยโบราณ และยังมีเรือนไทย เรือนแพ เรือนหมู่ และอีกหลายๆ บรรยากาศย้อนยุคที่สวยงามเหมาะแก่การมาท่องเที่ยวถ่ายรูปเป็นอย่างยิ่ง
จากนั้นก็มุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางหลักของเราคือ “เขื่อนศรีนครินทร์” อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี หรือชื่อเดิมคือ “เขื่อนเจ้าเณร” เขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลอง สร้างขึ้นกั้นลำน้ำแควใหญ่ เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียวขนาดใหญ่ที่สุดและที่สำคัญคือมีความจุของอ่างเก็บน้ำมากที่สุดในประเทศไทยเลยทีเดียว ที่นี่ยังเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ มีโรงไฟฟ้าติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 5 เครื่อง
ประโยชน์ของเขื่อนศรีนครินทร์มีหลายอย่าง ทั้งช่วยเสริมระบบชลประทานในโครงการแม่กลองใหญ่ให้มีประสิทธิภาพ ช่วยบรรเทาอุทกภัย ผลักดันน้ำเค็มในฤดูแล้ง เป็นแหล่งประมงน้ำจืด และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนที่สวยงาม อย่างที่เราได้มาสัมผัสด้วยตากันในวันนี้
บนสันเขื่อนยามเย็นช่วงนี้ลมค่อนข้างเย็นสบาย ด้านหนึ่งมองเห็นทะเลสาบของเขื่อนและทิวทัศน์ของภูเขากว้างไกล อีกด้านหนึ่งมองเห็นท่อส่งน้ำขนาดใหญ่และโรงไฟฟ้าที่ช่วยผลิตไฟฟ้าได้กำลังผลิตติดตั้งถึง 720 เมกะวัตต์
นอกจากนั้นภายในเขื่อนศรีนครินทร์ยังมีจุดเช็คอินอีกหลายจุดด้วยกัน ได้แก่ “สวนเวลารำลึก” สร้างขึ้นในศุภมงคลสมัยที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเจริญพระชนมายุ 90 พรรษา เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและตระหนักในพระราชจริยาวัตรที่ทรงยึดถือปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเวลา จึงได้สร้างนาฬิกาแดดขนาดใหญ่ สื่อให้เห็นถึงการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า เราสามารถดูเวลาได้คร่าวๆ เมื่อแสงแดดส่องลงมา โดยเงาของเข็มจะชี้บอกเวลา บอกเดือน และฤดูกาล
นอกจากนั้นยังมีศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. เขื่อนศรีนครินทร์ “อาคารราชานุรักษ์” ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้แนวคิด “Teach Less-Learn More” ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับทรัพยากรในผืนป่าตะวันตก สถานที่ท่องเที่ยวใน จ.กาญจนบุรี การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช พลังงานหมุนเวียน ความมั่นคงปลอดภัยเขื่อนและเผ่นดินไหว และภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของชาวบ้านที่จะช่วยกันอนุรักษ์พัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อีกหนึ่งจุดน่าชมภายในเขื่อนศรีนครินทร์ที่ถือว่ามีประโยชน์มากๆ สำหรับคนที่สนใจด้านการเกษตรก็คือ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและภาคีเครือข่าย สร้างต้นแบบการขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชา เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการจัดการดิน น้ำ ป่า ซึ่งเขื่อนศรีนครินทร์ได้ออกแบบและจัดสรรพื้นที่ศูนย์ให้มีโคก หนอง นา เล้าหมู เล้าไก่ โรงเพาะเห็ด โรงเผาถ่าน โรงผักไฮโดรโปนิกส์ โรงปุ๋ยพฤกษางาม จุลินทรีย์ EM แปลงชีววิถี เกษตรผสมผสาน โรงชีวมวล หญ้าเลี้ยงสัตว์ และมี 12 ฐานการเรียนรู้สำหรับผู้ที่ต้องการมาศึกษาเกี่ยวกับชีววิถี อาทิ ฐานน้ำหมักและจุลินทรีย์ EM ฐานปุ๋ยอินทรีย์ ฐานหมูหลุม ฐานคนรักษ์ป่า เป็นต้น
ไม่เพียงท่องเที่ยวเฉพาะภายในเขื่อนเท่านั้น แต่เรายังได้ไปท่องเที่ยวในชุมชนโดยรอบเขื่อน ที่ “ชุมชนช่องสะเดา” ห่างจาจากเขื่อนศรีนครินทร์มาประมาณ 27 กิโลเมตร ที่นี่มีทั้งกิจกรรมเรียนรู้ที่น่าสนใจและกิจกรรมแอดเวนเจอร์เล็กๆ ให้ได้สนุกสนาน
เราได้รู้เรื่องราวของชุมชนช่องสะเดากับ “ช้างป่า” ที่มักลงมาหากินในสวนเกษตรของชาวบ้านจนมีการกระทบกระทั่งกันเป็นระยะ ชาวบ้านจึงพยายามหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกับช้างได้อย่างสันติ จึงเป็นที่มาของการเลี้ยง “ผึ้งกล่อง” เป็นแนวกั้นธรรมชาติที่ช่วยให้ช้างไม่เข้ามาบุกรุกพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน โดยมีต้นแบบมาจากโครงการรั้วรังผึ้งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จ.เลย ที่นำผึ้งมาป้องกันช้างป่าโดยไม่เกิดอันตรายต่อช้าง ชาวบ้านช่องสะเดาจึงได้นำมาปรับใช้ในชุมชน ผลที่ได้คือทำให้ช้างกับคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และยังได้ผลพลอยได้เป็นน้ำผึ้งมาขายเป็นรายได้ของชุมชนอีกด้วย
มาถึงกิจกรรมแอดเวนเจอร์ที่ขอบอกว่าต้องมาลองให้ได้ นั่นก็คือ “การล่องแพเปียก” เป็นการล่องแพในแม่น้ำแควใหญ่ ใช้เรือยนต์ลากแพที่ทำจากแผ่นโฟมขนาดใหญ่ที่คนสามารถขึ้นไปนั่งได้ ไปกันจำนวนน้อยก็ใช้แพแถวสั้นๆ หรือหากมากันหลายคนก็ต่อแพยาวได้ตามจำนวนคน สำหรับพวกเราซึ่งมาเป็นคณะใหญ่ แพก็เลยยาวเป็นพิเศษ และเฮฮามากเป็นพิเศษอีกด้วย
ระยะทางที่ลากแพไปนี้มีความยาว 7 กิโลเมตร ใช้เวลาราว 40 นาที ระหว่างทางแต่ละคนก็ดื่มด่ำกับธรรมชาติของป่าเขาและสายน้ำ บ้างกระโดดขึ้นลงเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน บ้างนั่งๆ นอนๆ ตีขาเล่นน้ำบนแผ่นโฟม สัมผัสกับบรรยากาศสุดชิลกันให้เต็มที่
ทั้งได้ชื่นชมบรรยากาศของเขื่อนศรีนครินทร์และได้สนุกกับกิจกรรมของชุมชนช่องสะเดา ก่อนจากลาเมืองกาญจนบุรี ผู้ร่วมทริปยังได้แวะชมแลนด์มาร์กของเมืองกาญจน์อย่าง “สะพานข้ามแม่น้ำแคว” และมาไหว้พระที่ “วัดถ้ำเสือ” เป็นการปิดทริปแบบเป็นสิริมงคลและฟินไปกับความสวยงามของวัดแห่งนี้กันในท้ายที่สุด