xs
xsm
sm
md
lg

รู้แล้วทำไม “พี่ใหญ่” ไม่ยอมกลับเข้าผืนป่า เพราะรสชาติของพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านนี่เอง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - รู้แล้วทำไม “พี่ใหญ่” ไม่ยอมกลับเข้าผืนป่า เพราะมันสำปะหลัง ขนุน ปาล์ม มะพร้าว อ้อย ข้าวโพด และมะละกอ นี่เอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค เผยกำลังเร่งแก้ไขเพื่อให้คนกับช้าง อช.ไทรโยค-ทองผาภูมิ อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน ด้วยการปลูกพืชอาหาร 600 ไร่ สร้างแหล่งน้ำอีก 12 แห่ง พร้อมติดตั้งกล้อง NCAPS ระวังช้างออกนอกพื้นที่

นายสมเจตน์ จันทนา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า สถานการณ์ช้างป่าที่อาศัยอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค และเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ที่ออกมาหากินนอกพื้นที่ เป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎร ที่ทำการเกษตรที่อยู่รอบพื้นที่ป่า จากรสชาติของพืชผลทางการเกษตรที่ราษฎรปลูกขึ้น เป็นแรงจูงใจหลัก ในการทำให้ช้างป่าออกมาหากินนอกพื้นที่ป่ามากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน มาตรการในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าให้มีความเหมาะสมต่อการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย และเป็นถิ่นหากินของช้างป่าที่อุดมสมบูรณ์ จึงเป็นอีกหนทางหนึ่ง ควบคู่กับการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ราษฎรที่อยู่รอบพื้นที่ป่า เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าลงได้


กลุ่มป่าตะวันตก เป็นผืนป่าอันกว้างใหญ่ที่มีเนื้อที่ประมาณ 11.7 ล้านไร่ ตั้งอยู่บริเวณ ภาคตะวันตกของประเทศไทย ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งหมด 17 แห่ง จัดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่อุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่านานาพันธุ์ เช่น เสือโคร่ง กระทิง วัวแดง และช้างป่า เป็นต้น

อุทยานแห่งชาติไทรโยค และอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่อยู่ในกลุ่มป่าตะวันตกแห่งนี้ด้วย และประสบปัญหาจากการที่ช้างป่าออกมาหากินนอกพื้นที่ป่า และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรที่อยู่รายรอบเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งจากการคาดการณ์น่าจะมีปริมาณช้างป่าที่เดินหากินไปมาระหว่างอุทยานแห่งชาติไทรโยค และอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ประมาณ 120 ตัว

โดยอุทยานแห่งชาติไทรโยค ตั้งอยู่ในอำเภอไทรโยค และอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติในลำดับที่ 19 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2523 มีเนื้อที่ 595,868 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดจะเห็นได้ว่า มีพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการเป็นถิ่นอาศัยและถิ่นหากิน ของช้างป่า ในระดับมากถึงระดับปานกลาง มากถึง 521,107 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 87.45 ของพื้นที่ สำหรับพื้นที่ที่มีความเหมาะสมน้อย มีเนื้อที่ 74,761 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 12.55


โดยลำน้ำสาขาของอุทยานแห่งชาติไทรโยค ที่ช้างเข้ามาใช้ประโยชน์ ประกอบด้วย ห้วยแม่น้ำน้อย ห้วยเลาะห์ ห้วยเต่าดำ และห้วยพลู ทำให้พบเห็นเส้นทางการเดินและการอาศัยอยู่ของช้างป่าในอุทยานแห่งชาติไทรโยค บริเวณหมู่ที่ 4 บ้านแก่งจอ อำเภอทองผาภูมิ หมู่ที่ 6 บ้านดาวดึงส์ หมูที่ 8 บ้านบ้องตี้น้อย และหมู่ที่ 7 บ้านพุหว้า อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

สำหรับอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ตั้งอยู่ในอำเภอทองผาภูมิ และอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติในลำดับที่ 114 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2552 มีเนื้อที่ 772,214 ไร่ โดยพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการเป็นถิ่นอาศัยและถิ่นหากินของช้างป่า ในระดับมากถึงระดับปานกลาง มากถึง 533,008 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 69.02 ของพื้นที่ สำหรับพื้นที่ที่มีความเหมาะสมน้อย มีเนื้อที่ 239,206 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 30.98


จากการเก็บข้อมูลทำให้เห็นว่าเส้นทางการเดินของช้างป่าในอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ได้มีการกระจายหากินและหลบพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลห้วยเขย่ง ตำบลท่าขนุน ตำบลหินดาด ตำบลลิ่นถิ่น ตำบลปิล๊อก และช่วงรอยต่ออุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ กับอุทยานแห่งชาติไทรโยค บริเวณเขารวก-ดาวดึงส์

ความเสียหายและผลกระทบของพืชผลการเกษตร จากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากชุด เฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่ จะเห็นได้ว่าช้างป่าจะออกมาในช่วงเดือนพฤศจิกายน จะมีทั้งที่มาเป็นโขลง และกระจายตัวออกจากโขลง ความเสียหายที่มีจะมากน้อยแตกต่างกันไป โดยจะมีระยะเวลาในการหาอาหาร นอกพื้นที่ป่าประมาณ 1-2 เดือน สำหรับพืชผลที่ช้างป่าชอบกินมากที่สุด คือ กล้วยน้ำว้า นอกจากนั้น ยังมีมันสำปะหลัง ขนุน ปาล์ม มะพร้าว อ้อย ข้าวโพด และมะละกอ

นอกจากการทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎรแล้ว ช้างป่ายังได้สร้างความเสียหายให้แก่เสารั้วคอนกรีต ท่อ PVC และถังน้ำ อีกทั้งช้างป่ายังสร้างความหวาดกลัวแก่ราษฎรที่เข้าไปกรีดยางพาราในพื้นที่ เนื่องจากมีช้างป่าเข้ามายังพื้นที่สวนยางของราษฎร ทำให้เกิดความเกรงกลัวช้างป่า จนไม่กล้าจะเข้าสวนเพื่อกรีดยาง ทำให้ขาดรายได้จากการประกอบอาชีพ

และยังมีรายงานข้อมูลของอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558-พ.ศ.2563 พบว่าช้างป่าทำร้ายร่างกายราษฎรและนักท่องเที่ยว จำนวน 13 ครั้ง รวมทั้งหมด 16 ราย เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บสาหัส 10 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 3 ราย ซึ่งทางอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้การช่วยเหลือและการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบเป็นที่เรียบร้อย


มาตรการในการลดผลกระทบจากช้างป่า อุทยานแห่งชาติไทรโยค และอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ได้จัดตั้งชุดเฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่นอกเหนือจากภารกิจงานลาดตระเวนป้องกันพื้นที่แล้ว ยังต้องรับหน้าที่เสี่ยงจากอันตรายในการขับต้อนโขลงช้างที่ออกมาให้กลับเข้าสู่ป่าอย่างปลอดภัยด้วย

ซึ่งช่วงเวลาที่ช้างป่าออกมามักเป็นช่วงเวลาตั้งแต่เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป จนถึงช่วงเวลากลางคืน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีการรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ และยังมีสภาพอากาศที่เย็นสบายเหมาะแก่การเดินหากินของช้างป่าเป็นอย่างยิ่ง

โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติจะร่วมกับผู้นำชุมชน และราษฎรในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานของตำรวจและทหาร เพื่อร่วมกันวางแผนและกำหนดทิศทางในการกดดันช้างป่าให้กลับเข้าพื้นที่ ซึ่งบ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครกลุ่มนี้ต้องทำงานกันจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น

การสร้างเครือข่ายเพื่อเป็นจิตอาสาในการเฝ้าระวังช้างป่า เป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ความสำคัญ เพื่อเป็นกระบวนการสร้างการรับรู้และเสริมสร้างความเข้าใจ ในการทำให้ราษฎรในพื้นที่ไม่เห็นช้างป่าเป็นศัตรู และร่วมกันขับต้อนช้างให้กลับเข้าสู่ป่าอย่างปลอดภัย ด้วยการจัดการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ ร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวังและเตือนภัยเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นลงได้

การจัดทำฐานข้อมูลช้างป่าและพัฒนาศักยภาพถิ่นที่อยู่อาศัย เป็นอีกหนึ่งมาตรการของแผนการจัดการช้างป่าในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตก ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดทำขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งในปีงบประมาณปี พ.ศ.2563 ได้มีการปลูกพืชอาหารสำหรับสัตว์ป่า จำนวน 600 ไร่ และจัดทำแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่าอีกจำนวน 12 แห่ง ซึ่งอยู่ในระหว่างกระบวนการจัดทำในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติไทรโยค

นอกจากนี้ ทั้ง 2 อุทยาน ได้ติดตั้งกล้อง NCAPS (เอ็นแค็ป) สำหรับการเฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่ ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่อใช้ในการแจ้งเตือนและเฝ้าระวังช้างป่าล่วงหน้า เป็นการลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ราษฎร อีกทั้งการปลูกไผ่หนามเพื่อเป็นแนวรั้วตามธรรมชาติเพื่อป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ ก็จะดำเนินการตามแผนการจัดการช้างป่าต่อไป

การได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จเพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎรที่อยู่ติดกับพื้นที่ป่า การสร้างป่าที่เป็นบ้านสำหรับสัตว์ป่าให้อุดมสมบูรณ์ การสร้างคนด้วยการปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยหวังว่า เพื่อให้ป่า ช้าง คน อยู่ร่วมกันได้บนหนทางที่พึ่งพาและมีความสุขตลอดไป” นายสมเจตน์ จันทนา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค เผย


กำลังโหลดความคิดเห็น