ย้อนกลับไปปี พ.ศ. 2533 สืบ นาคะเสถียร และเบลินดา สจว๊วต-คอกซ์ ได้ร่วมกันจัดทำร่างเอกสารการเสนอชื่อ (Nomination) ให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และห้วยขาแข้งเข้าร่วมเป็นมรดกโลกกับยูเนสโก ก่อนที่สืบจะกระทำอัตวินิบาตกรรม
หลังจากนั้นราว ๆ หนึ่งปี “ยูเนสโก” ประกาศให้ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย
ผ่านมาเกือบ 30 ปี 2562 ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพสัตว์ป่าที่สำคัญจากนักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตก เพื่อขยายผลว่า “ทั่วทั้งป่าตะวันตกยังมีสัตว์ป่าตามรายงานฉบับนั้นอยู่หรือไม่”
โดยสันนิษฐานว่า ปัจจุบัน น่าเกิดการแพร่กระจายของสัตว์ป่าจากมรดกโลกออกมายังพื้นที่ป่าโดยรอบมากขึ้น เพราะมีการดูแลรักษาพื้นที่ในมาตรการที่เข้มแข็งมากขึ้นของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ผลการศึกษาเปรียบเทียบที่สำคัญ
ประเภทของป่า : เดิมพบชนิดป่าทั้งหมด 8 ประเภท ได้แก่ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าพรุ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าสน และทุ่งหญ้า ส่วนผืนป่าตะวันตก พ.ศ. 2562 พบป่าพรุน้ำจืดขนาด 4.87 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และป่าเบญจพรรณชื้นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพิ่มขึ้นมา
จำนวนชนิดของสัตว์แต่ละประเภท : เดิมพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 120 ชนิด นก 401 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 96 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 40 ชนิด และ ปลา 67 ชนิด ส่วนผืนป่าตะวันตก พ.ศ. 2562 พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 130 ชนิด นก 450 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 100 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 45 ชนิด และ ปลา 178 ชนิด พบจำนวนชนิดมากขึ้นทุกประเภท
สัตว์เฉพาะถิ่น (Endemic species) : เดิมพบทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ เก้งหม้อ ค้างคาวหน้ายักษ์จมูกปุ่ม ค้างคาวคุณกิตติ ส่วนผืนป่าตะวันตก พ.ศ. 2562 พบพบว่ามีสัตว์เฉพาะถิ่นมากกว่า 7 ชนิด โดยมี งูหางแฮ่มกาญ (Trimeresurus kanburiensis) ตุ๊กแกตาแดง (Gekko nutphandi) จิ้งจกนิ้วยาวหัวสีส้ม (Cnemaspis huaseesom) จิ้งเหลนด้วงสองขา (Jarujinia bipedalis) พบเพิ่มขึ้น
เสือโคร่ง : เดิมรายงานว่าเป็นแหล่งอนุรักษ์เสือโคร่งที่สำคัญมี่สุดในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนผืนป่าตะวันตก พ.ศ. 2562 งานศึกษายืนยันว่าพบประชากรเสือโคร่งเกือบหนึ่งร้อยตัว และเป็นที่ที่มีประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้นไม่กี่แห่งของพื้นที่อนุรักษ์ในระดับโลก และมีรายงานการขยายพื้นที่พบเสือไปนอกป่ามรดกโลกอย่างแน่ชัด
สัตว์ตระกูลกวางป่า : เดิมพบสัตว์ตระกูลกวาง 4 ชนิด จาก 5 ชนิดที่พบในภูมิภาคนี้ ได้แก่ กวางป่า เก้ง เก้งหม้อ และเนื้อทราย ส่วนอีกชนิด คือ ละมั่งหายไปจากผืนป่านี้ ส่วนผืนป่าตะวันตก พ.ศ. 2562 นอกจากจะพบสัตว์ตระกูลกวางทั้ง 4 ชนิด ยังมีการฟื้นฟูประชากรละมั่ง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
สัตว์ตระกูลวัวป่า : เดิมพบสัตว์ตระกูลวัวป่าทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ วัวแดง กระทิง ควายป่า ส่วนผืนป่าตะวันตก พ.ศ. 2562 นอกจากจะพบทั้งสามชนิดยังมีรายงานว่าประชากรของวัวแดงเพิ่มขึ้น มีเขตการกระจายประชากรไปสู่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ คลองลาน เขื่อนศรี ทองผาภูมิ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระเกิดโครงการฟื้นฟูประชากรวัวแดงในพื้นที่
นกเงือก : เดิมพบ 6 ชนิด ได้แก่ นกแก๊กหรือนกแกง นกกกหรือนกกาฮัง นกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกคอแดง นกเงือกกรามช้างหรือนกกู๋กี๋ นกเงือกกรามช้างปากเรียบ ส่วนผืนป่าตะวันตก พ.ศ. 2562 จากการสำรวจในปัจจุบันยังคงพบทั้งนกเงือกอาศัยทั้งหมด 6 ชนิด
กลุ่มของลิง : เดิมพบการพบลิงครบทั้ง 5 ชนิด ที่มีอยู่ในประเทศไทย ได้แก่ ลิงวอก ลิงแสม ลิงเสน ลิงอ้ายเงี๊ยะ และลิงกังเหนือ ส่วนผืนป่าตะวันตก พ.ศ. 2562 ยังพบลิงทั้ง 5 ชนิด
สำหรับชนิดของสัตว์ป่าที่หายไปที่สำคัญในเชิงระบบนิเวศ คือ “พญาแร้ง”ซึ่งมรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ในรายงาน พ.ศ. 2533 ก็มีรายงานแล้วว่ามีรายงานของพญาแร้งที่สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ ซึ่งมีอยู่เดิมทั้งหมด 22 ตัว ส่วนผืนป่าตะวันตก พ.ศ. 2562 มีการวางแผนและอยู่ระหว่างการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูประชากรของพญาแร้งให้กลับมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
สรุปข้อมูลการพบชนิดของสัตว์ป่าที่ไม่ลดลงตลอดระยะเวลาสามสิบปี ถือว่าเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญของผลสำเร็จในการอนุรักษ์ของประเทศไทย และอาจจะมีศักยภาพดำเนินการขยายพื้นที่มรดกโลกจากทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งออกไปให้ครอบคลุมทั้งกลุ่มป่าตะวันตก
ข้อมูลอ้างอิง สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า