MGR ออนไลน์ - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานการค้นพบค่างสายพันธุ์ใหม่ในป่าห่างไกลของพม่า แต่ขณะเดียวกัน สิ่งมีชีวิตชนิดนี้กลับอยู่ในความเสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากมีประชากรเหลืออยู่ไม่ถึง 300 ตัว
ค่างโปะป้า (Popa langur) ที่ถูกตั้งชื่อตามที่อยู่ของพวกมันบนภูเขาโปะป้า เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง เนื่องจากจำนวนประชากรลดลงเหลืออยู่ประมาณ 200 ตัว
ค่างเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กินพืชใบไม้ พบได้ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ค่างที่พบใหม่นี้มีลักษณะโดดเด่นที่วงรอบดวงตาคล้ายแว่น และมีขนสีเทา
นักวิทยาศาสตร์สงสัยกันมานานว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ในพม่า ตามข้อมูลดีเอ็นเอที่สกัดจากมูลของลิงป่า แต่หาหลักฐานได้ยาก
จากข้อมูลที่มีอยู่ไม่มาก นักวิทยาศาสตร์หันไปใช้ตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ที่เก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติทั้งที่กรุงลอนดอน เมืองไลเดิน นิวยอร์ก และสิงคโปร์
นักสำรวจที่เดินทางไปยังพม่าในช่วงแรกๆ ได้เก็บรวบรวมตัวอย่างลิงในพม่า แต่ไม่เคยได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียด
นักวิจัยได้สกัดดีเอ็นเอและวัดลักษณะทางกายภาพ เช่น ความยาวหางและหู ซึ่งพวกเขานำไปเปรียบเทียบกับพวกที่อาศัยอยู่ในป่า
สิ่งนี้พบให้ได้พบว่าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่คือ ค่างโปะป้า ที่พบได้เพียงพื้นที่บางส่วนของป่าใจกลางประเทศเท่านั้น พวกมันส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบนไหล่เขาโปะป้า ที่เป็นสถานที่แสวงบุญศักดิ์สิทธิ์
แฟรงค์ มอมเบิร์ก จากกลุ่มอนุรักษ์ Fauna & Flora International กล่าวว่า การอธิบายรายละเอียดทางวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้จะช่วยในเรื่องการอนุรักษ์
“ค่างโปะป้า ที่เพิ่งได้รับการระบุใหม่ เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในความเสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์และกำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างที่สุดที่จะต้องปกป้องคุ้มครองประชากรที่เหลืออยู่ และต้องมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่น รวมไปถึงภาคเอกชนเพื่อปกป้องอนาคตของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้” มอมเบิร์ก กล่าว
สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่นี้เหลืออยู่เพียง 200-250 ตัว โดยอาศัยอยู่กันเป็นกลุ่มแยกกัน 4 กลุ่ม
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พม่าเปิดรับความร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติมากขึ้น ที่นำไปสู่การค้นพบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ๆ ต่อวงการวิทยาศาสตร์ ทั้งสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ แต่การค้นพบไพรเมตสายพันธุ์ใหม่นี้เป็นสิ่งที่หาได้ยาก.