ล่าสุด (29 ตุลาคม 2563) สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ประสานกับมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ เพื่อจัดหาแม่รับ และเตรียมพื้นที่บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าหัวทุ่ง ซึ่งเป็นจุดปล่อยคืนช้างสู่ธรรมชาติ (แคมป์ 2) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จังหวัดลำปาง โดยที่มีแม่รับรอให้เลือกแล้ว 5 ตัวด้วยกัน
นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 พบลูกช้างป่าพลัดหลงจากโขลงแม่ (น้องห้วยขาแข้ง หรือพังทับเสลา) ซึ่งจนถึงวันนี้ (29 ต.ค.63) รวมเป็นระยะเวลา 184 วันแล้ว ที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำมาดูแลอย่างต่อเนื่อง และได้พยายายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ให้ลูกช้างกลับไปอยู่อย่างเสรีในป่ากับโขลงแม่ให้ได้ แต่ยังไม่สำเร็จ
ทั้งนี้ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้บริหารกรม รวมทั้งทีมงานนายสัตวแพทย์ ตระหนักถึงสุขภาพอนามัยของลูกช้าง ที่มีความเห็นตรงกันว่า ลูกช้างจะต้องได้กินนมจากแม่ช้าง เพราะการกินนมปรุงแต่ง หรือนมสำเร็จรูป ลูกช้างจะได้รับธาตุอาหารที่สำคัญไม่เพียงพอ จะส่งผลในระยะยาวต่อสุขภาพอนามัยของลูกช้าง จึงมีความจำเป็นต้องหาช้างแม่รับ ซึ่งเป็นแม่ช้างที่มีลูกเล็กวัยใกล้เคียงกันหรือแม่ช้างที่ยังมีน้ำนมให้ลูกช้างได้กิน
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการจะนำลูกช้างไปหาช้างแม่รับ ขณะนี้ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้ประสานกับมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ซึ่งเป็นมูลนิธิที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ช่วยเป็นธุระในการจัดเตรียมหาช้างแม่รับ ทางมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ได้เตรียมช้างแม่รับไว้ให้ลูกช้างได้เลือก จำนวน 5 ตัว ขณะนี้มีแม่ช้างที่อยู่ในพื้นที่เตรียมคอก ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จังหวัดลำปาง แล้วจำนวน 2 ตัว และแม่ช้างอีก 3 ตัว กำลังเดินทางมาสมทบ
ในขณะเดียวกันที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลลูกช้างอยู่ ได้ทำการขุนลูกช้าง โดยให้ลูกช้างกินอาหารเพิ่มมากขึ้นและได้ฝึกทักษะให้กินหญ้าเพิ่มขึ้น ทำให้ตอนนี้มีน้ำหนักตัวถึง 260 กิโลกรัม และได้มีการฝึกซ้อมให้ลูกช้างขึ้นรถบรรทุกเคลื่อนย้ายสัตว์ป่า เพื่อให้ลูกช้างคุ้นเคยและไม่ตื่นรถ
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผอ.ส่วนสารเทศด้านสัตว์ป่า นายตรศักดิ์ นิภานันท์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นางสาวพิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ชำนาญการ และ นางสาวอังสนา มองทรัพย์ นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ ได้ร่วมกันประเมินสุขภาพและความพร้อมของลูกช้างป่าพลัดหลงห้วยขาแข้ง ก่อนเคลื่อนย้ายไปหาแม่รับ ปรากฏว่า ลูกช้างมีสุขภาพแข็งแรงดี ร่าเริง พร้อมแล้วที่จะเดินทางไปหาแม่รับ โดยให้หาไม้มากั้นพื้นที่บนรถบรรทุก เพื่อไม่ให้ลูกช้างเดิน-วิ่งไปมาบนรถได้มากนัก และให้ทำที่พักคอให้ลูกช้างด้วย
และวันที่ 28 ตุลาคม 2563 นางสาวอังสนา มองทรัพย์ นักวิชาการป่าไม้ปฎิบัติการ นางสาวพิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ได้ร่วมเดินทางไปหน่วยพิทักษ์ป่าหัวทุ่ง ขสป.ดอยผาเมือง จ.ลำปาง เพื่อดูพื้นที่การรองรับช้างแม่รับและลูกช้าง และประเมินการเดินทางไปส่งลูกช้าง พบว่า ระยะทางการขนย้ายลูกช้างป่า จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ไปยังจุดเตรียมแม่รับ เป็นระยะทาง 404 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้เวลาในการขนส่งลูกช้างโดยรถบรรทุกประมาณ 7 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้ลูกช้างหงุดหงิดกับสภาพอากาศในระหว่างการเดินทาง จึงควรออกเดินทางในเวลากลางคืน
สำหรับการเตรียมความพร้อมของพื้นที่บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าหัวทุ่ง ซึ่งเป็นจุดปล่อยคืนช้างสู่ธรรมชาติ (แคมป์ 2) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จังหวัดลำปาง ได้มีการกำหนดเตรียมพื้นที่เพื่อล้อมคอกขนาด 30x50 เมตร พร้อมทำเพิงหญ้าคาให้ช้างแม่รับและลูกช้างหลบแดดและหลบฝน ในการจัดเตรียมความพร้อมที่จะให้ลูกช้างและแม่ช้างมาเทียบกัน
นายธนิตย์ หนูยิ้ม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คาดว่าประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2563 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) จะทำการเคลื่อนย้ายลูกช้างห้วยขาแข้งพลัดหลง เดินทางไปเลือกแม่รับที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จังหวัดลำปาง และจะให้ลูกช้างห้วยขาแข้งพลัดหลงตัวนี้ อยู่กับช้างแม่รับ จำนวน 1 ตัว ที่สามารถเข้ากับลูกช้างได้ดีที่สุด โดยให้อยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จังหวัดลำปาง ระยะหนึ่ง อาจนาน 2-3 เดือน จากนั้นผู้บริหารกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเมินผลถึงความเหมาะสมสูงสุดว่า จะนำลูกช้างกลับมาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี หรือ จะหาทางปล่อยคืนสู่ป่าธรรมชาติที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จังหวัดลำปางต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง เพจเฟซบุ๊ค ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า
และพันธุ์พืช