ประจวบคีรีขันธ์ - เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "แนวทางการอนุรักษ์ช้างป่าและการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าแก่งกระจาน ครั้งที่ 11"
ศูนย์ข้อมูลอนุรักษ์ช้างป่าแก่งกระจาน ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 พร้อมด้วยนายไพโรจน์ นาครักษา ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ นายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “แนวทางการอนุรักษ์ช้างป่าและการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าแก่งกระจาน ครั้งที่ 11” ซึ่งจัดโดยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ณ ศูนย์ข้อมูลอนุรักษ์ช้างป่าแก่งกระจาน ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทั้งได้รับเกียรติจาก นายนิทัศน์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า (Human Elephant Conflict : HEC) กลายเป็นปัญหาสำคัญต่อการอนุรักษ์ช้างป่าในปัจจุบัน เนื่องจากจำนวนประชากรมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น การขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างต่อเนื่อง เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของช้างป่า ทำให้ถิ่นที่อยู่ของช้างป่ามีพื้นที่ลดลงจากป่าผืนขนาดใหญ่ เกิดเป็นหย่อมป่า (Forest Fragmentation)
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้คนกับช้างป่าต้องใช้พื้นที่ร่วมกันจนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง และมีความรุนแรงมากขึ้นทุกในขณะ สำหรับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและพื้นที่ใกล้เคียง รูปแบบของความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างที่พบบ่อยที่สุด คือ ปัญหาช้างป่าออกมากินและทำลายพืชผลทางการเกษตร เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน เกิดปัญหารายได้ลดลงจากพืชผลทางการเกษตรที่เสียหาย จนทำให้เกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อช้างป่า ดังที่มีรายงานช้างป่าถูกทำร้ายบาดเจ็บและเสียชีวิต
ปัจจุบันประมาณการได้ว่าช้างป่ากว่า 150-180 ตัว อาศัยรวมกันอยู่ในพื้นที่ราว 220 ตารางกิโลเมตร ทางตอนล่างของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งนับได้ว่ามีความหนาแน่นค่อนข้างสูง ช้างป่าดังกล่าวจึงต้องออกมาหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์อยู่เป็นประจำ บางครั้งอาจพบเจอมากถึง 80 ตัวในคราวเดียว สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน พืชผลทางการเกษตร ตลอดจนส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ที่ใช้เส้นทางสัญจรไปมาช่วงเวลากลางคืน
จากการติดตามเก็บข้อมูลความเสียหายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2547 จำนวนเหตุการณ์ที่ช้างเข้ากิน และ/หรือทำลายพืชผลทางการเกษตรรวมถึงมูลค่าความเสียหายในพื้นที่รอบเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ จากจำนวนเหตุการณ์ 414 เหตุการณ์ ในปี พ.ศ.2548 ลดลงเหลือ 70 เหตุการณ์ในปี พ.ศ.2562 และล่าสุด จำนวนเหตุการณ์ในปี พ.ศ.2563 (เดือนมกราคมถึงกันยายน) มีจำนวนเหตุการณ์เพียง 30 เหตุการณ์ ระหว่างปี พ.ศ.2548 ถึง ปี พ.ศ.2562 มีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบรวมอย่างน้อย 524 ราย จาก 6 ตำบล 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มูลค่าความเสียหายขั้นต่ำรวมไม่น้อยกว่า 20,750,000 บาท หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายเฉลี่ย 1,383,500 บาทต่อปี
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ในฐานะผู้สนับสนุนทางด้านเทคนิคให้แก่ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้พัฒนาเทคนิคการสำรวจและติดตามสถานการณ์นี้อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ทั้งยังได้ช่วยประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา หน่วยงานเอกชน และชุมชนผู้เกี่ยวข้อง จึงเป็นที่มาของการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “แนวทางการอนุรักษ์ช้างป่าและการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าแก่งกระจาน” โดยเริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2552
โดยในปีนี้เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน ติดตามสถานการณ์ และหาแนวทางบรรเทาปัญหาอย่างมีส่วนร่วมดังเช่นที่ผ่านมา เพื่อเป็นเวทีกลางที่ทุกภาคส่วนได้นำเสนอสถานการณ์ของปัญหาและความก้าวหน้าของกิจกรรมการบรรเทาปัญหาในปัจจุบัน และได้มีกิจกรรมทาสีรั้วกั้นช้าง เพื่อนำมาสู่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างชุมชน องค์กรภาครัฐ เครือข่ายในการทำงานอนุรักษ์ช้างป่าและแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากช้างป่า และหน่วยงานอิสระอื่นๆ รวมทั้งสร้างความเข้าใจและกำหนดแนวทางในการอนุรักษ์ช้างป่าอย่างถูกต้องและมีส่วนร่วม เพื่อร่วมกันในการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างแนวรั้วและติดกล้องเพื่อเตือนภัยล่วงหน้า และสร้างแหล่งอาหารแหล่งน้ำให้สัตว์ป่า เพื่อลดผลกระทบจากช้างป่าที่ออกมาสร้างความเสียหายแก่ผู้คน พืชผลการเกษตร