ททท. จับมือคนดัง จัดกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นำเหล่าจิตอาสาเก็บขยะบนเกาะล้าน พัทยา ด้านหมอล็อตเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวนำขยะกลับไปทิ้งนอกแหล่งท่องเที่ยวเพื่อลดปัญหาขยะสะสมในพื้นที่
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จับมือคนดัง อาทิ “หมอล็อต-ภัทรพล มณีอ่อน”, “ดร. ปริญญา วัฒนนุกูลชัย ซาเล้ง 4.0”, “นางฟ้านักปั่น ปูนิ่ม-ธานัท วชิระอภิญา” จัดกิจกรรม “HERO PATTAYA : Save The Wild Protect The Sea” เพื่อร่วมรณรงค์ ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษ์ป่ารักษ์ทะเล ที่เกาะล้าน เมืองพัทยา จ.ชลบุรี
กิจกรรมดังกล่าว ได้ให้ข้อมูลเหล่าจิตอาสาด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเรื่องของขยะที่เป็นปัญหาใหญ่ของโลก เพื่อให้เยาวชนและคนในพื้นที่ได้รู้จักแยกขยะ และการจัดการขยะในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือในการเก็บขยะในสถานที่ท่องเที่ยว พร้อมร่วมมือกันเก็บขยะที่เกาะล้านตามจุดต่าง ๆ ได้แก่ หาดตาแหวน หาดแสม หาดเทียน
น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือ “หมอล็อต” นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า หลังวิกฤตโควิด- 19 ธรรมชาติ ส่งสะท้อนถึงการกลับคืนมาให้ในภาพลักษณ์ที่ดี และพร้อมให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงการเชื่อมโยงท่องเที่ยวสุขภาพ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลก เป็นเรื่องที่สำคัญที่โลกต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน
“การจัดการขยะติดเชื้อ พฤติกรรมนักท่องเที่ยวในการทิ้งกระดาษทิชชูที่ใช้แล้วจากการเช็ดน้ำมูก น้ำตา น้ำลาย หรือการถ่มน้ำลายในที่สาธารณะ ซึ่งอาจเกิดการกระจายเชื้อในพื้นที่ส่วนรวมอย่างรวดเร็ว ตรงจุดนี้จึงควรให้ความสำคัญในการจัดการขยะรวมถึงขยะติดเชื้อในครั้งนี้
“ในปัจจุบันชุมชน แหล่งท่องเที่ยว มีการเรียนรู้การจัดการสิ่งแวดล้อม พร้อมให้คำแนะนำถึงเรื่องผลกระทบจากโควิด-19 เชื่อมโยงกับชีวิตมนุษยชาติ เชิญชวนให้ทุก ๆ คนได้นำขยะกลับไปทิ้งที่บ้าน เชื่อมโยงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไรให้ยั่งยืน ให้อยู่รอดไปด้วยกัน เชื่อมั่นทุกคน ๆ ก็เป็นฮีโรได้ครับ” หมอล็อต กล่าว
ด้าน ดร. ปริญญา วัฒนนุกูลชัย ซาเล้ง 4.0 กล่าวว่า “หลังจากช่วงโควิด19แล้ว ธรรมชาติ อาจจะฟื้นตัว แต่ขยะยังรอซ้ำเติม หากเราไม่ปรับมุมมองใหม่ เพื่อช่วยแก้ปัญหาขยะ หากเราลดใช้ไม่ได้ เราช่วยกันแยกก็ได้ แล้วช่วยกันคิดหาวิธีการที่เหมาะกับเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาไมโครพลาสติกที่นับวันก็เริ่มคล้ายกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ต้องช่วยกันเร่งแก้ไข” ดร. ปริญญา กล่าว
ส่วน นางปิ่นนาถ เจริญผล ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพัทยา เปิดเผยว่าททท. ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบหรือ Responsible Tourism โดยได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้คาดว่าการกิจกรรมในครั้งนี้จะสามารถสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยว ประชาชน ชุมชน เข้าใจและตระหนักถึงการใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเกิดกระแสการเดินทางท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น ทุกภาคส่วนจึงมีส่วนสำคัญในการสร้างความรับผิดชอบร่วมกัน
นอกจากนี้ ททท. ยังชูแนวคิด BEST สำหรับการเปิดประสบการณ์การท่องเที่ยวในวิถีใหม่ หรือ New Normal ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวไปพร้อม ๆ กับการดูแลสุขอนามัยในเวลาเดียวกัน
สำหรับแนวคิด BEST ได้แก่
-B : Booking การวางแผนการเดินทางก่อน-ระหว่าง-หลังเดินทาง การจัดสรรคนร่วมเดินทาง จองทุกสิ่งล่วงหน้าภายใต้เงื่อนไขการจำกัดจำนวน และการบริหารพื้นที่แบบเว้นระยะห่าง
-E : Environment Enthusiast การอนุรักษ์และรักษาธรรมชาติที่ฟื้นตัวดีขึ้น นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
-S : Safety ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะให้ความสำคัญกับความสะอาด ปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดี
-T : Technology เทคโนโลยีซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการท่องเที่ยวที่ช่วยเสริมสร้างประสบการณ์อันทรงคุณค่าสำหรับนักท่องเที่ยวและทำให้บริการมีศักยภาพที่ดี