xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเนื้อหอม!! สื่อหลายชาติเกาะติดผลงานวิจัยหาไวรัสโควิด-19 ในค้างคาวมงกุฎ 23 ชนิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จันทบุรี - ไทยเนื้อหอม!! สื่อหลายชาติเกาะติดผลงานวิจัยหาไวรัสโควิด-19 ในค้างคาวมงกุฎ 23 ชนิด หลังเป็นประเทศแรกที่ค้นพบผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 จนสามารถพัฒนาการตรวจหาไวรัสและการถอดรหัสพันธุกรรมได้สำเร็จ

วันนี้ (8 ก.ค. ) นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ “หมอล็อต” สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยถึงความคืบหน้าในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากค้างคาวพันธุ์มงกุฎ รวม 23 ชนิดที่มีในประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานของทีมวิจัยที่ประกอบด้วย ตนเอง และ ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี จากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ค้นพบเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานว่า นอกจากจะเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการตรวจหาเชื้อไวรัสจากค้างคาวสายพันธุ์มงกุฎ ทั้ง 23 ชนิด ตามข้อมูลที่ได้มาจากประเทศจีนว่า ค้างคาวอาจเป็นสัตว์ที่ทำให้เกิดไวรัสโควิด-19 แล้ว

การวิจัยในครั้งนี้ยังได้รับความสนใจจากองค์กรทางวิชาการของชาติต่างๆ รวมทั้งสื่อต่างประเทศหลายสำนัก เช่น สำนักข่าวสกายนิวส์ อังกฤษ บีบีซี อังกฤษ สื่อจากญี่ปุ่น ที่ขอเข้ามาทำข่าวและติดตามความคืบหน้าของงานวิจัยตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเลือด น้ำลาย และมูลค้างคาวมงกุฎ ตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย. ที่ถ้ำสะดอ ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี เรื่อยมาจนถึงถ้ำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา


“เพราะหลายชาติต่างเห็นว่าการวิจัยเรื่องนี้มีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งประเทศไทย ที่จะนำผลการวิจัยที่ได้มาวางแผนรับมือกับเรื่องนี้ด้วย ส่วนการที่สื่อต่างชาติให้ความสนใจในงานวิจัยของไทยก็เพราะต่างชาติไม่มีค้างคาวมงกุฎหลากหลายชนิด ขณะที่บางประเทศก็ไม่มีความรู้ด้านการตรวจหาเชื้อไวรัส หรือขาดความพร้อมในการศึกษาวิจัย และที่สำคัญที่สุดคือหลายชาติเห็นว่าไทยมีความสามารถด้านการวิจัย มีความรู้และมีความน่าเชื่อถือ”

นายสัตวแพทย์ ภัทรพล ยังเผยอีกว่าปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ทำการศึกษาวิจัยเพื่อหาเชื้อไวรัสโควิด-19 จากค้างคาวมงกุฎ ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ถือว่ามีความก้าวหน้าไปมากนับตั้งแต่ ดร.สุภาภรณ์ ค้นพบผู้ป่วยจากไวรัสโควิด-19 รายแรกของโลกด้วยเทคนิคการตรวจสอบและวิธีการค้นหาของไทยจนนำสู่การพัฒนาวิธีการตรวจหาไวรัส และการถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัส


รวมทั้งการให้ความสนใจในการวิจัยหาไวรัสโควิด-19 เพื่อนำผลที่ได้กำหนดแผนรับมือไวรัสดังกล่าวในอนาคต ซึ่งในเบื้องต้น ผลการวิจัยที่ได้คือ ค้างคาวเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสหลายชนิด ซึ่งการไม่กิน ไม่ล่าสัตว์ป่า รวมทั้งค้างคาวจึงเป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด

โดยหลังจากนี้ ทีมวิจัยจะยังคงเดินหน้าสำรวจหาข้อมูลแหล่งอาศัยของค้างคาวชนิดดังกล่าวให้ชัดเจน รวมทั้งเส้นทางหากินและที่อยู่อาศัยของค้างคาวมงกุฎที่เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นการทำงานที่ค่อนข้างยาก

“การเข้าไปเก็บตัวอย่างค้างคาวแต่ละครั้งค่อนข้างยาก เพราะต้องมีการป้องกันการได้รับเชื้อ ซึ่งทุกคนต่างทำงานเป็นทีมและช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ผลการวิจัยยังไม่สรุปว่าผลที่ได้จะเป็นเช่นไรเนื่องจากยังไม่สามารถจับค้างคาวมงกุฎทั้ง 23 ชนิดมาตรวจสอบได้ทั้งหมด” นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น