xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระวัฒน์” ยันมีผู้ติดโควิดไม่แสดงอาการ หวั่นอาจกลับมาระบาดรอบสอง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



”ศ.นพ.ธีระวัฒน์” ชี้ 4 ปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง เชื่อยังมีคนไทยติดเชื้อในประเทศ แต่ไม่แสดงอาการ ชนวนสำคัญของการกลับมาระบาดรอบสอง เผยโควิด-19 สามารถปรับรหัสพันธุกรรม เร่งจับตาเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพการแพร่เชื้อหรือไม่? ติง การให้ ผบ.ทหารสหรัฐฯ เข้าประเทศโดยไม่กักตัว เสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ เหตุโควิด-19 อาจลามถึงผู้นำไทย ขณะที่การให้ผู้ป่วยมารักษาในไทยมั่นใจว่าไม่ส่งผลกระทบ เนื่องจากมีทีมแพทย์ดูแลใกล้ชิด

จากการที่คนไทยออกมาสนุกสนานกับการท่องเที่ยวหลังรัฐบาลประกาศคลายล็อกเฟส 5 โดยละเลยที่จะป้องกันตัวเองจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และกรณีที่กองทัพไทยให้ผู้บัญชาการทหารบกสหรัฐฯ พร้อมคณะซึ่งเดินทางมาเยือนไทยในฐานะแขกของกองทัพสามารถเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว ทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ต่างก็วิตกว่าพฤติกรรมดังกล่าวอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดบองโควิด-19 ระลอกสอง

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความห่วงใยว่า มีหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง ซึ่งหากเชื้อกลับมาระบาดรอบสองเราจะไม่มีโอกาสฟื้นฟูประเทศได้อีกเพราะเราทุ่มงบประมาณลงไปหมดแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจตกลงมาต่ำสุด โรงงานและกิจการจำนวนมากปิดตัว คนตกงานเพิ่มมากขึ้น เราไม่มีกำลังที่จะแบ่งปันช่วยเหลือกันเหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวได้แก่
1) การที่คนไทยเชื่อว่าไม่มีผู้ติดโควิด-19 ในประเทศไทยแล้ว อาจทำให้บางคนละเลยในการป้องกันการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากาก การล้างมือ หรือเว้นระยะห่าง ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงที่ทำให้เชื้อกลับมาแพร่ระบาดอีก เพราะในความเป็นจริงแล้วเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ติดเชื้อภายในประเทศไทยจะเป็นศูนย์หลังจากเชื้อแพร่เข้ามาในประเทศแค่ 6 เดือน และประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เชื่อว่าเราน่าจะเป็นเหมือนหลายๆ ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ เนื่องจากอยู่ในวัยหนุ่มสาวหรือมีสุขภาพแข็งแรง แต่ผู้ติดเชื้อเหล่านี้สามารถแพร่เชื้อได้ ซึ่งหากไม่ระวังเพราะเชื่อว่าไม่มีผู้ติดโควิด-19 ในประเทศแล้วก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อจากคนกลุ่มนี้ได้

2) การใช้บริการรถสาธารณะ ซึ่งจะพบว่าปัจจุบันประชาชนไม่เว้นระยะห่าง ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ หรือรถไฟฟ้า โดยปัจจัยสำคัญอาจเกิดจากความเร่งรีบในการเดินทางและจำนวนผู้โดยสารที่คับคั่งเนื่องจากเรากลับมาทำงานตามปกติแล้ว ซึ่งทางแก้คือหน่วยงานส่วนไหนที่สามารถทำงานที่บ้านได้ก็ควรใช้วิธีเวิร์กฟอร์มโฮมเพื่อลดจำนวนผู้ใช้บริการรถสาธารณะและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ


3) การเปิดเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งมีความเสี่ยงสูงเพราะเป็นวัยที่ยากจะควบคุมไม่ให้เด็กใกล้ชิดกัน วิธีป้องกันคือ นอกจากจะจัดโต๊ะเรียนให้มีการเว้นระยะห่างแล้วควรจัดสถานที่เรียนให้อยู่ในที่โล่ง อากาศถ่ายเทดี มีการเปิดประตูหน้าต่าง เนื่องจากหากอยู่ในสถานที่ปิด เชื้อที่ออกมาจากการไอหรือจามจะลอยฟุ้งอยู่ในอากาศเป็นเวลานาน ทำให้เด็กคนอื่นมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น และอีกวิธีคือนอกจากจะให้เด็กใส่หน้ากากและใส่เฟซชิลด์แล้วต้องมีอุปกรณ์เพื่อให้เด็กเว้นระยะห่าง เช่น ให้เด็กใส่หมวกติดปีกแบบเด็กนักเรียนในอู่ฮั่นเพื่อไม่ให้เด็กอยู่ใกล้กัน

4) บุคคลจากต่างประเทศที่เข้ามาในไทย ต้องมีการตรวจคัดกรองและกักตัวอย่างเข้มงวดทุกคน เพราะถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง โดยตรวจก่อนเข้าประเทศ 2 รอบ คือ รอบแรกตรวจก่อนเดินทางเข้ามา 5 วัน เพื่อหาเชื้อ และรอบที่สอง ตรวจก่อนเข้าประเทศ 1 วัน เพื่อรีเช็กอีกครั้ง เมื่อมาถึงประเทศไทยต้องกักตัวอย่างน้อย 4-6 วัน และตรวจหาเชื้อ ซึ่งหากต้องการความรวดเร็วก็สามารถตรวจหาเชื้อโดยวิธีตรวจเลือด ซึ่งเป็นวิธีที่รู้ผลเร็ว คือรู้ผลอย่างช้าไม่เกินครึ่งวัน

“ท่าทีในการแถลงข่าวของ ศบค. ที่บอกว่าไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศ อาจทำให้ประชาชนชะล่าใจและไม่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการป้องกันการติดเชื้อ ตอนนี้ภาพที่เราเริ่มเห็นในที่สาธารณะและสถานที่ท่องเที่ยวคือมีการกอดคอกัน การพูดคุยกันโดยไม่ใส่หน้ากาก ผู้คนเริ่มไม่เว้นระยะห่าง ซึ่งตรงนี้อันตรายมาก ดังนั้น จึงอยากให้ ศบค.ปรับท่าทีใหม่จากแค่บอกว่าการ์ดอย่าตก เป็นย้ำว่ายังมีผู้ติดเชื้อในประเทศ ให้ประชาชนปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด เราอย่าลืมว่าก่อนหน้าที่เชื้อโควิด-19 ในจีนจะกลับมาแพร่ระบาดระลอกสอง จีนเชื่อว่าไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศแล้ว แต่หลังจากนั้น 55 วัน เชื้อกลับมาระบาดอีก เพราะมีผู้ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการนำเชื้อมาแพร่ให้คนในบ้านและระบาดต่อๆ กัน การที่ทุกคนใส่หน้ากาก หมั่นล้างมือ และรักษาระยะห่าง ก็เหมือนกับการทำให้เชื้อเพลิงเปียก แม้จะโยนไม้ขีดลงมาก็ไม่ติดไฟ แต่ถ้าทุกคนประมาท ก็เหมือนเชื้อเพลิงที่แห้ง โยนไม้ขีดลงมาก้านเดียวก็ลุกพรึบเป็นไฟไหม้ฟาง” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ

พล.อ.เจมส์ แมคคอลวิลล์ ผบ.ทบ.สหรัฐฯ และคณะ จะเดินทางมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 9-10 ก.ค.นี้ และ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก
ส่วนการเดินทางเข้าประเทศไทยของบุคคลสำคัญโดยไม่มีการกักตัว เช่น กรณีผู้บัญชาการทหารบกสหรัฐฯ พร้อมคณะที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว ทั้งที่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก ทำให้หลายฝ่ายวิตกว่าเป็นการสุ่มเสี่ยงที่อาจจะนำเชื้อโควิด-19 เข้ามาแพร่ในไทยนั้น ศ.นพ.ธีระวัฒน์ มองว่า เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ทุกคนควรปฏิบัติบนมาตรฐานเดียวกัน เพราะแม้บุคคลสำคัญก็ไม่ได้การันตีว่าจะไม่ติดเชื้อ อีกทั้งยังเสี่ยงที่จะนำเชื้อมาแพร่ให้แก่นายทหารระดับสูงของกองทัพ และอาจแพร่ต่อไปยังบุคคลสำคัญในคณะรัฐมนตรี รวมถึงผู้นำประเทศของไทยได้

“รัฐบาลควรคำนึงถึงความปลอดภัยของคนในประเทศด้วย หากบุคคลสำคัญนำเชื้อมาแพร่แล้วเกิดระบาดระลอกสอง ความพยายามที่เราทำกันมาทั้งหมดก็จะเท่ากับศูนย์ และถ้าเชื้อเกิดแพร่มายังบุคคลสำคัญในคณะรัฐมนตรีการบริหารของประเทศก็จะเป็นอัมพาตทั้งระบบ และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ”

อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีผู้ป่วยจากต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามารักษาตัวในไทยนั้น ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุว่า จะไม่ส่งผลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากการรับผู้ป่วยจากต่างประเทศมารักษาในไทยนั้นดำเนินการโดยโรงพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอกชน ซึ่งมีขั้นตอนและระบบการดูแลที่ได้มาตรฐาน มีทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญประกบตลอดเวลา ตั้งแต่การนำผู้ป่วยขึ้นเครื่องบินเข้ามารักษาในประเทศ การดูแลและทำการรักษาก็อยู่ในพื้นที่จำกัดซึ่งก็เหมือนกับการกักตัวอยู่แล้ว ส่วนญาติผู้ป่วยที่มาดูแลหรือมาเยี่ยมผู้ป่วยก็ต้องมีการกักตัว 14 วัน จึงไม่ต้องกลัวว่าจะมีการนำเชื้อโควิด-19 มาแพร่ในไทย

ชุดตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อโควิด-19 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ในส่วนของการกักตัวผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยนั้น ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ชี้ว่า ปัจจุบันอาจจะไม่ต้องกักตัวถึง 14 วัน เนื่องจากมีวิธีการตรวจเชื้อที่สามารถรู้ผลได้เร็ว คือการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อ ซึ่งปัจจุบันมี 2 หน่วยงานที่ผลิตชุดตรวจเชื้อลักษณะนี้ คือ สภากาชาดไทย ซึ่งผลิตชุดตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อซึ่งใช้เวลาเพียงครึ่งวัน ราคาค่าตรวจอยู่ที่ 200 บาท แต่อาจต้องใช้เวลารอ 1-2 วัน เนื่องจากโรงพยายาลที่ตรวจจะต้องส่งเลือดไปตรวจที่สภากาชาดไทย ส่วนอีกหน่วยงานคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผลิตชุดตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อโควิด-19 โดยสามารถรู้ผลได้ภายใน 2 นาที ค่าตรวจอยู่ที่ 200 บาทเช่นกัน แต่ผลตรวจยังมีลักษณะครอบคลุม เช่น ผลตรวจออกมาเป็นบวกแต่อาจเกิดจากข้ออักเสบ ไม่ใช่เชื้อโควิด-19 ซึ่งถ้ามองในเชิงป้องกันก็ถือจะเป็นเรื่องดี เพราะหากพบเชื้อเร็วก็จะได้กักตัวทันที และหลังจากกักตัวแล้วไปตรวจซ้ำหากพบว่าไม่ใช่เชื้อโควิด-19 แต่เป็นโรคอื่นก็จะได้ทำการรักษาโรคนั้นๆ ได้ทันท่วงที

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ล่าสุด มีรายงานว่าเชื้อโควิด-19 มีการปรับรหัสพันธุกรรม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังจับตาดูว่าการปรับรหัสพันธุกรรมดังกล่าวจะสัมพันธ์กับการแพร่เชื้อได้เพิ่มขึ้น หรือแพร่เชื้อได้เร็วขึ้นหรือไม่ ดังนั้นคนไทยจึงยังต้องดูแลป้องกันและระมัดระวังตัวเองกันต่อไปเพราะตราบใดที่เชื้อโควิด-19 ยังคงมีการแพร่ระบาดก็ไม่อาจวางใจได้

“หากดูจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศแล้วยังตอบไม่ได้ว่าอีกกี่ปีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงจะหมดไป และเมื่อไหร่ที่ทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น