xs
xsm
sm
md
lg

แสงสว่างท่ามกลางวิกฤต!! วัคซีนต้านโควิด เตรียมปล่อยปีหน้าถ้าทดสอบในคนได้ผล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจ ผอ.โครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จุฬาฯ ถึงก้าวสำคัญในการคิดค้น “CHULA-Cov19” ทดลองในสัตว์ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่อีกก้าวของความท้าทาย คือ ทดลองในมนุษย์ หากทุกอย่างผ่านฉลุย ประเทศไทยอาจจะมีโรงงานผลิตวัคซีนเองในปีหน้า!
“CHULA-Cov19” ทดลองกับสัตว์ ผลดีเกินคาด!

“ถ้าวัคซีนตัวไหนทดลองกับสัตว์ทดลองแล้วใช้โดสต่ำ โอกาสที่เราจะผลิตวัคซีนแล้วฉีดคนจำนวนเยอะมันสูง สมมติว่า ต้องฉีดวัคซีน 1 ล้านคน แต่ตัวนี้ใช้โดสต่ำกว่า 5 เท่า ก็ฉีดได้ 5 ล้านคน โดสยิ่งต่ำจะได้เปรียบ แล้วผลลิงที่เป็นข่าว ก็ออกมาดีเกินเป้า”

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดใจแก่ทีมข่าว MGR Live ถึงเรื่องราวที่สังคมกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ เมื่อคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ชื่อ “CHULA-Cov 19” หลังทดสอบวัคซีนในลิงเข็มที่ 2 ซึ่งผลการทดลองเรียกได้ว่า ได้ผลเกินเป้าที่ตั้งไว้!



[ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ]

“ปกติการคิดค้นอะไรใหม่ๆ ไม่ใช่จู่ๆ อยากทำเราทำได้ พอเราเริ่มรู้ข่าวมีโควิดเริ่มระบาดในจีน ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ดร.ชุ (ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤกษาดี) เขาตรวจเจอเชื้อ แต่ไม่รู้ว่าเป็นโควิดตัวใหม่ มันเหมือนที่เขาทำวิจัยไว้ หลังจากนั้นไม่กี่วัน จีนก็ประกาศว่า มีโควิด-19 เขาก็ตีพิมพ์รหัสพันธุกรรมในวารสารนานาชาติ

ทุกคนที่ทำวัคซีนอยู่แล้ว ก็รู้เลยว่าน่าจะทำได้ เรารู้ว่ารหัสพันธุกรรมของโควิดหน้าตาเป็นยังไง ผมก็ระดมทีมเลย พวกเราหยุดงานอื่นก่อน มาลุยภาวะโรคระบาดร้ายแรงด้วยกัน เราตั้งศูนย์มาประมาณ 15 ปี แต่เรียนรู้มาเรื่อยๆ เริ่มสะสมเทคโนโลยี และที่สำคัญสะสมความเป็นพันธมิตรระดับนานาชาติด้วย ทีมเราก็ไม่ใหญ่ รวมกันแล้วก็ไม่น่าจะเกิน 10 คน แต่ว่ามีศูนย์ลิงอีก อีกประมาณ 10 คน เล็กใหญ่ไม่สำคัญเท่าทีมเราเอาจริง


ผมต้องชื่นชมอาจารย์รุ่นใหม่ต่างๆ แล้วก็นักวิทยาศาสตร์ที่มาร่วมทีมด้วย ผมต้องขอบคุณมาก ผมทำหน้าที่แค่บริหารโครงการกับประสานต่างประเทศ แต่เขาทุ่มเทกันมาก แล้วเราก็ได้เลยออกแบบวัคซีน เลือกใช้ 3 เทคโนโลยีใน 6 คือ DNA, โปรตีน และ mRNA”
จากการร่วมมือพัฒนาระหว่าง ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา เกิดเป็น วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีชื่อว่า “CHULA-Cov19” ที่ผลิตจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่บางส่วน เมื่อชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมนี้ถูกฉีดเข้าไปในร่างกาย จะถูกเปลี่ยนเป็นโปรตีน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีที่ช่วยต่อสู้กับไวรัสได้



“เวลาเราจะทำวัคซีน ก่อนจะสั่งโรงงานผลิต มันจะต้องผ่านหลายด่าน อย่างแรก ผลหนูต้องออกมาดีมาก ผลลิงต้องออกมาดีมาก แล้วความปลอดภัยก็ต้องดีด้วย แล้วก็ไปเตรียมโรงงานผลิตเพื่อเอามาวิจัยในคน หลังจากนั้น ถ้าผลออกมาดี ต้องเตรียมโรงงานไทยเพื่อผลิตของเราเอง อันนี้คือแผน

ตอนนี้ผลในหนูค่อนข้างดี แต่ที่ออกมาแล้วดีมากๆ คือ mRNA โดยใช้โดสต่ำด้วย ตอนแรกเราตั้งเป้าในหนูไว้เกิน 1:500 เราก็ยิ้มแล้ว ในหนูหลังเข็มที่ 2 ได้ประมาณ 40,000 หมายความว่า เอาเลือดของสัตว์ทดลองไปเจือจาง 40,000 เท่า ยังสามารถยับยั้งเชื้อโควิด-19 ในหลอดทดลองได้ ยิ่งตัวเลข 1 ต่อตัวเลขยิ่งสูง แปลว่ายิ่งยับยั้งเชื้อได้ดี ภูมิกระตุ้นได้สูง



ส่วนในลิง งานวิจัยพบว่า ถ้าเกิน 1:100 ขึ้นไป จะสามารถยับยั้งเชื้อในลิงไม่ให้แบ่งตัวเยอะ ถ้าเกินซักหลักร้อย เราก็ยิ้มแล้ว ผลออกมาล่าสุดได้ประมาณ 1:5,000 ไตเติล ก็เกินเป้าอีก

การที่ออกมาเป็นข่าว ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย หลายสำนักข่าวทั่วโลกก็สนใจและทึ่ง ถามว่าแผนต่อไปคืออะไร ตอนนี้เราเพิ่งผ่านมาแค่ 2 ด่านเอง แล้วอย่าลืมว่าเราเป็นแค่นักวิจัย เป็นหมอในคณะแพทย์ ไม่มีโรงงาน ในไทยมีหลายโรงงานก็จริง แต่เทคโนโลยีตรงนี้ mRNA มันใหม่มาก ก็ยังไม่มี และโรงงานที่สามารถผลิต mRNA ได้ รวมทั้งโลกยังไม่ถึง 10 ด้วยซ้ำไป เราต้องไปจองต่างประเทศก่อน”
ทดลองในคน ด่านยากที่ยังต้องลุ้น

เบื้องต้นในหนู ในลิงปลอดภัยอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้ว่าในคนจะปลอดภัยมั้ย สำหรับเทคโนโลยี mRNA เราจองได้แล้ว 2 โรงงาน เพราะตัววัคซีนต้องมีส่วนผสม 2 อย่างคือ ตัวเนื้อวัคซีน และตัวที่ห่อหุ้มวัคซีน พอเราได้ผลลิง ภายในอาทิตย์นี้ เราก็จะส่งให้โรงงานเพื่อลองผลิตในสเกลเล็กดูก่อน

โรงงานแรกอยู่ที่ ซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา เพื่อผลิตประมาณ 10,000 โดส จากเขาเสร็จก็ส่งไปที่อีกโรงงานที่แวนคูเวอร์ แคนาดา แล้วก็ส่งกลับมาที่เรา ถ้าเราอยากให้ประเทศเราป้องกันได้ ไม่ต้องมาล็อกดาวน์บ่อยๆ เศรษฐกิจเดินได้ ประชาชนรวมทั้งคนที่ติดเชื้อแล้วมีภูมิ ต้องฉีดวัคซีนรวมกันแล้วต้องเกินครึ่งหนึ่งของประชากร นั่นคืออุดมคติ



แม้ขณะนี้ ผลการทดลองในสัตว์ของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจและไม่มีผลข้างเคียง กลายเป็นอีกหนึ่งความหวังใหม่ที่จะใช้พิชิตวิกฤตครั้งนี้ แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะวัคซีนจะสมบูรณ์และพร้อมใช้งานนั้น ต้องผ่านการทดลองในมนุษย์จนได้ผลดีก่อน

“ทุกอย่างต้องลุ้นอีกเยอะ ถ้าวัคซีนผลิตไม่ยากและเสร็จเร็ว เราก็มองเงื่อนเวลาอยู่ที่ประมาณตุลาบวก ตอนนี้เรายังไม่เปิดรับอาสาสมัคร เพราะมีอีก 2 ด่าน ที่ต้องทำ ต้องมีองค์กรกลางมาดูว่า อาจารย์เกียรติกับทีมวิจัยที่จุฬาฯไม่โม้นะ คนที่จะคุมกฎตรงนี้คือ องค์การอาหารและยา ขอชื่นชมว่า ในยุคโควิดปรับตัวได้เยี่ยมยอดมาก เขาทำเชิงรุกเลย



ตอนนี้หน้าที่ของพวกผม คือ เอาข้อมูลให้รอบคอบและละเอียดที่สุด เขียนเป็นรายงาน คือ ข้อมูลวิจัยในหนู ในลิง ข้อมูลความปลอดภัยวัคซีน mRNA แม้ว่าในโลกนี้ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน แต่มีการฉีดในอาสาสมัครแล้วในต่างประเทศ ต้องรวบรวมมาให้ อย.ได้เห็นให้มากที่สุด

ผมเองในฐานะเป็นทั้งหมอและนักวิจัย จุฬาฯ เองด้วย เราไม่รอมชอมเรื่องความปลอดภัยอยู่แล้ว ด่านนี้ต้องผ่านด้วยความโปร่งใส ด่านที่ 2 เราออกแบบโครงการในอาสาสมัคร ต้องส่งกรรมการดูแลจริยธรรม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อปกป้องอาสาสมัคร ไม่ให้นักวิจัยลำเอียง บอกว่าของฉันดี แต่ฉีดแล้วไม่ปลอดภัย ไม่ได้

กะว่าถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน เราน่าจะส่ง อย.ได้ภายในเดือนนี้ ถ้า อย.อนุมัติเราภายในเดือนหน้า เราก็เตรียมการได้เร็วขึ้น เราตั้งเป้าว่าถ้าทุกอย่างโปร่งใส ทุกคนสบายใจว่าปลอดภัย อย.ไฟเขียว กรรมการจริยธรรมเปิดไฟเขียว เราจึงจะประกาศรับอาสาสมัครได้ภายในปลายเดือนตุลาคม หรือ ต้นพฤศจิกายน


แต่ก็ยังมีอีก 1 ข่าวดี เมื่อมีรายงานว่า ผลการทดลองวัคซีนชนิด mRNA กับมนุษย์ในต่างประเทศ พบว่าช่วยกระตุ้นภูมิคุ้นกันได้ดีเช่นกัน

“ตอนนี้เราทยอยได้ข้อมูลจากอเมริกา อีกอันจากเยอรมัน เป็น mRNA เทคโนโลยีเดียวกับเรา โดสที่จะฉีดวัคซีนเข้าคนคือ 10, 30 และ 100 ไมโครกรัม ปรากฏว่าปลอดภัย ถ้าฉีด 100 ก็มีไข้ขึ้น ปวดเมื่อยนิดหน่อยเหมือนเราฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่สำคัญโดส 10 ไมโครกรัม ภูมิขึ้นแต่ไม่สูง 30 ไมโครกรัม ฉีด 2 โดส ภูมิขึ้นเกิน 1,000 คำนวณเทียบกับเลือดของคนที่หายจากติดเชื้อโควิดมาตรวจ มันมากกว่าคนที่ติดเชื้อโควิดประมาณ 2 เท่าด้วยซ้ำไป ซึ่งเป็นข่าวดี



การที่เราเป็นหน่วยงานเล็ก ประเทศเล็ก งบน้อยกว่า เราตามหลังคนเก่ง เราก็เรียนรู้เขา อาจจะทุ่นเวลา แล้วเพิ่มความปลอดภัยของประชาชนเราได้ดีขึ้นครับ การพัฒนาวัคซีนในอดีต คณะแพทย์ หรือ มหาวิทยาลัย เราจะไปตันถึงลิงก็จบ ที่เหลือก็รอคนที่สนใจเอาไปพัฒนาต่อ แต่ตอนนี้เนื่องจากเป็นภาวะฉุกเฉิน เราจะมานั่งรอไม่ได้ ก็เลยต้องเดินเรื่องเอง จองโรงงานอะไรต่างๆ ซึ่งอนาคต กรณีโควิด เราเตรียมโรงงานในไทยไว้แล้ว

ผมขออนุญาตเอ่ยชื่อ ก็คือ บริษัท BioNet Asia ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ก็เป็นคนไทย เขาผลิตวัคซีนอยู่แล้ว แต่เราหารือว่าเทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีอนาคต ประเทศไทยน่าจะมีอย่างน้อยสัก 1 โรงงาน เขาก็เลยเห็นด้วย เราหวังว่าถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน ประเทศไทยน่าจะมีโรงงานที่พร้อมผลิตของเราเองด้วยในปีหน้า

ผอ.โครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ยังได้ฝากความห่วงใยถึงประชาชน ที่ขณะนี้การ์ดเริ่มตก พร้อมกันนี้ ยังฝากถึงหน่วยงานระดับชาติ ถึงการให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

“ผมเป็นห่วงมากครับ ประเทศไทยทำมาได้ดีมาก วัคซีนไม่รู้ว่าจะออกหัวออกก้อย แต่ที่พิสูจน์มาแล้วได้ผล การใส่มาสก์ หมั่นล้างมือ ถ้าอยู่ในที่แออัด พยายามมีระยะห่างเข้าไว้ กลับบ้านเปลี่ยนเสื้อผ้า ล้างมือล้างหน้า อาบน้ำได้ยิ่งดี สำคัญมากครับ เพราะฉะนั้นอยากให้ย้ำเลยว่า ประเทศไทยอย่าประมาท การ์ดอย่าตก เพราะเราทำได้ดีอยู่แล้ว



อีกประเด็นที่อยากฝากประชาชนและรัฐบาลด้วย ก็คือ เรามักจะไม่ค่อยเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี เราจะเห็นคุณค่าก็ต่อเมื่อมีวิกฤต ประเทศไทยเราจะสู้เขาได้ในอนาคต ไม่ใช่เฉพาะการเกษตรกับการท่องเที่ยว เราต้องมีเทคโนโลยีของเราเอง รอบนี้เรามาได้เร็วขนาดนี้เพราะมีคนทุ่มเทเอาจริง

ฉะนั้น ประเทศไทยต้องปลูกฝัง การบริจาคเงินให้ศูนย์วิจัยใดก็แล้วแต่ ผมว่าน่าจะมีเกิดขึ้น แล้วนักลงทุนไทยต้องกล้าลงทุนกับเทคโนโลยี มันแพง ความเสี่ยงสูง แต่มันคืออนาคตของประเทศ และระบบการให้ทุนของประเทศในภาวะวิกฤตต้องไม่ให้เหมือนภาวะปกติ พวกผมทำงานด้วยความเร่งรีบ แต่ระบบมันมีความล่าช้า ก็เข้าใจ แต่ว่าน่าจะถือวิกฤตโควิด เป็นการปรับปรุงการทำงานของทุกฝ่าย

สุดท้าย ประเทศไทยน่าจะกล้าขึ้นมาประกาศว่า ประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะพึ่งเทคโนโลยีของเราเอง เราจะมีของขายให้ต่างประเทศมากกว่าซื้ออย่างเดียว คือ ยา วัคซีน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่ขนาดต้องไปแบ่งตลาดเยอะ แต่เราต้องไม่ใช่ซื้ออย่างเดียว เราต้องเป็นผู้พัฒนาด้วย”


ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย”


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น