ถ้ำนาคา จ.บึงกาฬ สถานที่ท่องเที่ยวน้องใหม่สุดดังแห่งยุค New Normal ที่มีคนแห่แหนไปเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก จนเกิดปัญหาธรรมชาติถูกทำลายอันเนื่องมาจากความเชื่อ (เฉพาะตัว) ของใครหลายคน และพฤติกรรมต่ำทรามของนักท่องเที่ยวไร้สำนึกบางคน นำไปสู่การปิดถ้ำนาคาแบบไม่มีกำหนดจนกว่าจะหามาตรการป้องกันได้
นี่นับเป็นอีกหนึ่งบทสะท้อนพฤติกรรมการท่องเที่ยวแบบไทย ๆ ซึ่งใครว่า “ยิ่งดังยิ่งดี” ?? แต่สำหรับหลาย ๆ สถานที่กลับกลายเป็น “ยิ่งดังยิ่งเละ” หรือ “ยิ่งโด่งดัง ยิ่งพังเร็ว” ที่น่าเศร้าใจกระไรปานนั้น
ถ้ำนาคา ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ เหตุที่ถ้ำแห่งนี้ได้ชื่อว่า “ถ้ำนาคา” หรือ “ถ้ำพญานาค” เนื่องจากมีของหินและผนังถ้ำดูคล้ายพญานาค ที่มีรูปทรงคล้ายพญานาคหรืองูขนาดใหญ่นอนขดตัว โดยมีส่วนสำคัญ ๆ ทั้งส่วนหัว ลำตัว และเกล็ดพญานาค (ตามจินตนาการและความเชื่อของชาวบ้าน)
ด้วยเหตุนี้จึงมีตำนานเรื่องเล่าเชื่อมโยงกับความเชื่อของถ้ำแห่งนี้ว่า “อือลือราชา”หรือ “พ่อปู่อือลือ” เทพบนสรวงสวรรค์ ที่ถูกสาปให้เป็นพญานาคปกครองเมืองบาดาล (เชื่อกันว่าคือบึงโขงหลง จ.บึงกาฬ) ที่มีทั้งพญานาคและมนุษย์อาศัยอยู่ร่วมกัน ได้สาปบริวารพญานาคของตนให้กลายเป็นหินที่ถ้ำแห่งนี้เนื่องจากทำผิดจารีต เพราะไปมีสัมพันธ์สวาทกับมนุษย์ ซึ่งก็คือถ้ำนาคา หรือ ถ้ำพญานาค ที่ อช.ภูลังกา แห่งนี้
ขณะที่ในทางธรณีวิทยา ถ้ำนาคาเป็นส่วนหนึ่งของภูเขาหินทรายชื่อ “ภูลังกา” ที่อยู่ในหมวดหินยุคครีเทเซียสตอนปลาย (ประมาณ 70 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงท้าย ๆ ของโลกยุคไดโนเสาร์)
ถ้ำนาคามีสิ่งน่าสนใจเด่น ๆ อาทิ “หินหัวพญานาค” หรือ “หินหัวงู” หรือ "หินหัวนาคา" ที่วันนี้พบเจอ 3 หัว อยู่กระจายกันในพื้นที่ และมีส่วน “ลำตัวพญานาค” ที่เกิดจากการยกตัวของแผ่นดิน (Tectonic uplift) ในภาคอีสาน รวมถึงส่วน “เกล็ดพญานาค” ที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา “ซันแครก” (Sun Cracks)
นอกจากนี้ในบริเวณใกล้ ๆ กับถ้ำนาคายังมีสิ่งน่าสนใจอื่น ๆ อีก อาทิ ถ้ำหลวงปู่วัง, เจดีย์หลวงปู่วัง, เจดีย์หลวงปู่เสาร์, ผาใจขาด จุดชมวิวภูลังกา เป็นต้น
ย้อนรอยความดังถ้ำนาคา
ปลายเดือนพฤษภาคม 2563 แม้จะปิดการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศอันเนื่องมาจากพิษโควิด-19 แต่กลับไม่สามารถปิดกั้นความโด่งดังของ “ถ้ำนาคา” ได้ เมื่อชาวเน็ตแห่แชร์ภาพถ้ำลี้ลับที่มีพื้นผิวคล้ายเกล็ดพญานาคดูพิศวง น่าทึ่ง พร้อมระบุว่า สถานที่แห่งนี้คือ “ถ้ำนาคา” สถานที่ท่องเที่ยวน้องใหม่ที่เพิ่งค้นพบได้ไม่นาน
หลังภาพของถ้ำนาคาปรากฏโฉมผ่านโลกออนไลน์ ผู้คนจำนวนมากปักหมุดสถานที่แห่งนี้ไว้ พร้อมกับความตั้งใจว่า หลังคลายล็อกโควิด-19 อุทยานแห่งชาติเปิดการท่องเที่ยว ต้องหาโอกาสไปเยือนถ้ำนาคาสักครั้ง
นั่นจึงทำให้หลัง อช.ภูลังกา เปิดให้เที่ยวถ้ำนาคา จึงมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางหลั่งไหลไปเที่ยวชมความงามอันลี้ลับน่าพิศวงของถ้ำแห่งนี้กันอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ก็ยังมีบางสื่อปั่นกระแสในเรื่องของสิ่งเหนือธรรมชาติที่มาพร้อม ๆ กับ “เลขเด็ด” ก็ยิ่งทำให้ถ้ำนาคาโด่งดังมากยิ่งขึ้น
จากเดิมที่เป็นแหล่งธรรมชาติที่มีความโดดเด่นด้านธรณีวิทยา ผสานตำนาน-ความเชื่อท้องถิ่นและจินตนาการ วันนี้ถ้ำนาคามีวิวัฒนาการไปอีกขั้นสู่ “จุดขอหวย” ขอพร ขอโชคลาภแห่งใหม่ ที่บรรดาคอหวย นักท่องเที่ยวสายมูต่างเดินทางไปขอหวย ขอโชคลาภจาก “พ่อปู่อือลือ” และ “หินหัวพญานาค” กันเป็นจำนวนมาก
นั่นจึงทำให้วันนี้ที่ถ้ำนาคามีคนละเมิดกฏระเบียบของอุทยานแห่งชาติกันไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น การไปจับสัมผัส ปักธูป ขูดขัดขีดหิน โรยแป้งขอเลขขอหวย รวมถึงมีการโยนเหรียญอธิษฐาน
ส่วนที่หนักสุดก็เห็นจะเป็นการไปขีดหินเขียนคำหยาบบนหิน ซึ่งเป็นการกระทำของนักท่องเที่ยวมือบอน ไร้สำนึก ที่ไม่ได้เกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องการขอพรหรือเรื่องโชคลาภแต่อย่างใด
สำหรับจุดที่โดนคนไปสัมผัสขัดแตะนั้นหลัก ๆ ก็มีที่ผนังถ้ำ และ “หินหัวพญานาค” หรือ “หินหัวงู” (1) ที่ถูกกระทำไม่น้อยจากคนมาเที่ยวทั้งที่ตั้งใจและรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ทั้งนี้การกระทำตามที่กล่าวมาข้างต้นนอกจากจะผิดกฏระเบียบของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่พบเจอต้องถูกปรับตามกฎหมายแล้ว ยังเป็นการทำให้ธรรมชาติเสียหาย เนื่องจากถ้ำนาคาเป็นหินทรายที่มีความเปราะบาง
นั่นจึงทำให้เกิดกระแสการรณรงค์เที่ยวถ้ำนาคาอย่างมีจิตสำนึก และการประกาศปิดถ้ำนาคาของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตามมา โดย “อุทยานแห่งชาติภูลังกา” ได้ออกประกาศปิดถ้ำนาคา เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 63 เป็นต้นไป
แต่ในจุดอื่นภายในเขตอุทยานนั้น ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปท่องเที่ยวได้ตามปกติ ได้แก่ หินหัวนาคา 2 (หินหัวงู 2) หินหัวรถบัส เจดีย์กองข้าวศรีบุญเนาว์ น้ำตกตาดโพธิ์ และน้ำตกตาดขาม
ด้านนาย “วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กบัญชีรายชื่อ TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา ถึงกรณีการประกาศปิดถ้ำนาคา มีเนื้อความว่า
“ขอปิดให้บริการท่องเที่ยว “ถ้ำนาคา” จนกว่าจะมีมาตรการป้องกันที่ได้ผล และขออภัยพี่น้องชาวไทย ที่ก่อนหน้านี้เราขาดมาตรการรองรับจนทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรณีที่สำคัญของประเทศ ขอฝากถึงคนมือบอนที่ทำให้เกิดความเสียหายในครั้งนี้ว่า ถ้าท่านมาเที่ยวดีๆ ไม่ได้ ก็โปรดอย่ามาเลยดีกว่า”
และนี่ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนของการท่องเที่ยวในบ้านเรา ที่ประสบกับปัญหา ดังไว ไปเร็ว ซึ่งในอดีตเราเคยมีบทเรียนแนวนี้กับสถานที่ท่องเที่ยวดัง ๆ ที่เกิดเป็นการเที่ยวตามกระแส อาทิ ปาย (จ.แม่ฮ่องสอน), เชียงคาน (จ.เลย), อัมพวา (จ.สมุทรสงคราม), ภูทับเบิก (จ.เพชรบูรณ์), ม่อนแจ่ม (เชียงใหม่) รวมไปถึง เกาะตาชัย (จ.พังงา) อ่าวมาหยา (จ.กระบี่) ที่มีคนเดินทางมาท่องเที่ยวจนล้นทะลักเกินศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวของแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลทั้ง 2 ไปมากโข จนนำมาสู่การปิดสถานที่ท่องเที่ยวดังทั้ง 2 แห่ง
สำหรับถ้ำนาคา จ.บึงกาฬ ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกัน ซึ่งในอนาคตบ้านเราย่อมหนีไม่พ้นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่ถูกโปรโมตจนดังเปรี้ยงปร้างขึ้นมาอีก ก็ขอให้สิ่งที่เกิดขึ้นกับแหล่งท่องเที่ยวที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นบทเรียนให้คนในพื้นที่เตรียมความพร้อมในการรับมือ ให้ช่วยกันดูแลธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ยึดถือวิถีชีวิตและประเพณีที่ดีงามของชุมชนต่อไป รวมทั้งต้องมีการพูดคุยและตกลงกันในชุมชนให้ดี มีมาตรการรับมือป้องกันที่เปี่ยมศักยภาพ
ที่สำคัญก็คือ “นักท่องเที่ยว” ที่เป็น “คนนอก” จำเป็นต้อง ทำตนให้เป็นผู้เยี่ยมชมที่ดี ต้องเคารพกฎระเบียบ กติกาของสถานที่นั้น ๆ อย่าได้เป็นนักทำลาย ทำธรรรมชาติเสียหาย หรือทำให้เจ้าของบ้านต้องปวดหัวจนไม่อยากต้อนรับอีกเลย
เพราะตราบใดที่บ้านเรายังคงมีนักท่องเที่ยวไร้จิตสำนึกคอยสร้างปัญหาให้กับสถานที่ท่องเที่ยวอยู่ไม่หยุดหย่อน
ถ้าสภาพการณ์ยังคงเป็นแบบนี้ แน่นอนว่าถ้ำนาคาย่อมไม่ใช่สถานที่สุดท้าย?!?