xs
xsm
sm
md
lg

รมต.ท็อป ประกาศปิดถ้ำนาคา หลังธรรมชาติถูกทำลาย ฉุนนทท.มือบอนเที่ยวดีๆ ไม่ได้ก็อย่ามาเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา โพสต์ข้อความเรื่องการปิดถ้ำนาคาลงในเฟซบุ๊ก TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา
ท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา รมต. ทส. ประกาศปิดถ้ำนาคา หลังธรรมชาติถูกทำลาย มีนักท่องเที่ยวเข้ามาขูดขีดขัดหิน โรยแป้งขอหวย ทิ้งขยะไม่เป็นที่ ตำหนินักท่องเที่ยวมือบอนไร้สำนึก ถ้าเที่ยวดี ๆ ไม่ได้ก็อย่ามาเที่ยว

หลังมีกระแสนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งเข้ามาขูดขีดขัดหิน โรยแป้งขอหวย ทิ้งขยะไม่เป็นที่ ทำลายธรรมชาติและบรรยากาศภายใน “ถ้ำนาคา” จ.บึงกาฬ จนเกิดเป็นข่าวโด่งดัง ทำให้นาย “วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้สั่งปิดถ้ำนาคาจนกว่าจะมีมาตรการป้องกัน

โดย รมต. ทส. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กบัญชีรายชื่อ TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา ถึงกรณีการประกาศปิดถ้ำนาคา มีเนื้อความว่า

“ขอปิดให้บริการท่องเที่ยว “ถ้ำนาคา” จนกว่าจะมีมาตรการป้องกันที่ได้ผล และขออภัยพี่น้องชาวไทย ที่ก่อนหน้านี้เราขาดมาตรการรองรับจนทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรณีที่สำคัญของประเทศ ขอฝากถึงคนมือบอนที่ทำให้เกิดความเสียหายในครั้งนี้ว่า ถ้าท่านมาเที่ยวดีๆ ไม่ได้ ก็โปรดอย่ามาเลยดีกว่า”

นักท่องเที่ยวมือบอนไร้สำนึกลงทุนสลักคำหยาบลงบนก้อนหิน (ภาพ : เพจ Buengkan day)
ขณะที่เพจ “อุทยานแห่งชาติภูลังกา จังหวัดนครพนม - Phulangka National Park Thailand” เจ้าของพื้นที่ผู้ดูแลถ้ำนาคา ได้โพสต์ประกาศการปิดถ้ำนาคา โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 63 เป็นต้นไป โดยมีข้อความดังนี้

📢 ประกาศปิด "ถ้ำนาคา" ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2563 เป็นต้นไป🙏

ด้วยปรากฏว่าที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่ขึ้นชมถ้ำนาคา ได้ละเมิดกฎที่ทางอุทยานแห่งชาติกำหนดไว้ คือ ห้ามแตะต้องกลุ่มหิน ต่าง ๆ ภายในถ้ำ และห้ามขีดเขียน ขูดลบ ขีดฆ่า ทา หรือพ่นสีและแป้ง อันเป็นการกระทำผิดตาม มาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒

อุทยานแห่งชาติภูลังกา พิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๐ และมาตรา ๖๒ แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ ประกอบระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๙ ข้อ ๔ (๑๑) จึงให้ปิดการท่องเที่ยว “ถ้ำนาคา” ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๓ เป็นต้นไป จนกว่าทางอุทยานแห่งชาติจะดำเนินการ กำหนดมาตรการปกป้องมิให้มีการทำลายทรัพยากรชาติอันเกิดจากกลุ่มคน ดังกล่าว ข้างต้นได้ ทั้งนี้ การฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือการไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้จะเป็นความผิดและได้รับโทษตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒


อช.ภูลังกา ประกาศปิด ถ้ำนาคา ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2563 เป็นต้นไป
สำหรับถ้ำนาคา ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ เหตุที่ถ้ำแห่งนี้ได้ชื่อว่า “ถ้ำนาคา” หรือ “ถ้ำพญานาค” เนื่องจากมีของหินและผนังถ้ำดูคล้ายพญานาค ที่มีรูปทรงคล้ายพญานาคหรืองูขนาดใหญ่นอนขดตัว โดยมีส่วนสำคัญ ๆ ทั้งส่วนหัว ลำตัว และเกล็ดพญานาค (ตามจินตนาการและความเชื่อของชาวบ้าน)

ถ้ำนาคา เป็นส่วนหนึ่งของภูเขาหินทรายชื่อ “ภูลังกา” ที่อยู่ในหมวดหินยุคครีเทเซียสตอนปลาย (ประมาณ 70 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงท้าย ๆ ของโลกยุคไดโนเสาร์)

หินหัวพญานาคหรือหินหัวงู (1) (ภาพ : เพจ Buengkan day)
ถ้ำนาคามีสิ่งน่าสนใจเด่น ๆ อาทิ “หินหัวพญานาค” หรือ “หินหัวงู” ที่วันนี้พบเจอ 3 หัว กระจายกันในพื้นที่ และมีส่วน “ลำตัวพญานาค” ที่เกิดจากการยกตัวของแผ่นดิน (Tectonic uplift) ในภาคอีสาน รวมถึงส่วน “เกล็ดพญานาค” ที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา “ซันแครก” (Sun Cracks) และ “ป่าโบราณ” เป็นต้น

นอกจากนี้ในบริเวณใกล้ ๆ กับถ้ำนาคายังมี “ถ้ำหลวงปู่วัง” อันเคยเป็นที่จำพรรษาของครูบาวัง ฐิติสาโร พระป่านักปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานชื่อดัง, “เจดีย์หลวงปู่วัง” เจดีย์ขนาดเล็กที่บรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่วัง ฐิติสาโร, “เจดีย์หลวงปู่เสาร์” ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงปู่วัง “ผาใจขาด” และ “จุดชมวิว ภูลังกา” หน้าผาสูงชันที่เป็นจุดชมวิวทิวทัศน์อันสวยงามกว้างไกล

บรรยากาศลึกลับในส่วนลำตัวพญานาค (ภาพ : เพจ Buengkan day)
ด้วยความสวยงามแปลกตาของธรรมชาติ ธรณีวิทยา ผสานกับตำนาน ความเชื่อ เกี่ยวกับพญานาค “พ่อปู่อือลือ” ทำให้หลังเปิดตัวเป็นแหล่งท่องเที่ยวน้องใหม่ได้ไม่นาน สถานที่แห่งนี้โด่งดังเป็นพลุแตก มีคนเดินทางไปท่องเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งแม้ทาง อช.ภูลังกา จะให้จองล่วงหน้า จัดระเบียบ จำกัดคนเข้า แต่ก็ไม่อาจสกัดกั้นความฮอตฮิตของถ้ำนาคาได้

ไม่เพียงเท่านั้นหลังถ้ำนาคาเกิดวิวัฒนาการ มีคนยกระดับให้เป็น “สถานที่ขอหวย” ขอพร ขอโชคลาภแห่งใหม่ ที่บรรดาคอหวย นักท่องเที่ยวสายมูต่างเดินทางไปขอหวย ขอโชคลาภจาก “พ่อปู่อือลือ” และ “หินหัวพญานาค” กันเป็นจำนวนมาก

ท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึก อย่าจับสัมผัสหินและธรรมชาติที่มีความเปราะบางที่ถ้ำนาคา (ภาพ : เพจ Buengkan day)
นั่นจึงทำให้วันนี้ที่ถ้ำนาคามีคนละเมิดกฏระเบียบของอุทยานแห่งชาติกันไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น การไปจับสัมผัส ปักธูป ขูดขัดขีดหิน โรยแป้งขอเลขขอหวย รวมถึงมีการโยนเหรียญอธิษฐาน

ส่วนที่หนักสุดก็เห็นจะเป็นการไปขีดหินเขียนคำหยาบบนหิน ซึ่งเป็นการกระทำของนักท่องเที่ยวมือบอน ไร้สำนึก ที่ไม่ได้เกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องการขอพรหรือเรื่องโชคลาภแต่อย่างใด

ท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึก อย่าจับสัมผัสหินและธรรมชาติที่มีความเปราะบางที่ถ้ำนาคา (ภาพ : เพจ Buengkan day)
ทั้งนี้การกระทำตามที่กล่าวมาข้างต้นนอกจากจะผิดกฏระเบียบของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่พบเจอต้องถูกปรับตามกฎหมายแล้ว ยังเป็นการทำให้ธรรมชาติเสียหาย เนื่องจากถ้ำนาคาเป็นหินทรายที่มีความเปราะบาง

ขวดน้ำนำขึ้นมาดื่มได้ แต่ไม่มีปัญญานำกลับลงไปทิ้ง (ภาพ : เพจ Buengkan day)
นั่นจึงทำให้เกิดกระแสการรณรงค์เที่ยวถ้ำนาคาอย่างมีจิตสำนึก และการประกาศปิดถ้ำนาคาของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตามมา ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น

และนี่ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนของการท่องเที่ยวในบ้านเรา ที่ประสบกับปัญหา ดังไว ไปเร็ว ซึ่งถ้ำนาคานั้นไม่ใช่ที่แรก และก็แน่นอนว่าย่อมไม่ใช่ที่สุดท้าย ตราบใดที่ยังคงมีนักท่องเที่ยวไร้จิตสำนึกคอยสร้างปัญหา ทำร้ายทำลายธรรมชาติอยู่ไม่หยุดหย่อน

ท่องเที่ยวแบบมีจิตสำนึก ดูแต่ตา มืออย่างต้อง





หยุดคุกคาม “ถ้ำนาคา” หลังคนแห่ขูดขีดหิน – โรยแป้งขอหวย ทำธรรมชาติพัง

กำลังโหลดความคิดเห็น