ในจังหวัดพิษณุโลกมีวัดงามและเก่าแก่มากมาย ทั้งยังมีวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองอย่างวัดใหญ่ หรือ "วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ" และมีหลวงพ่อพุทธชินราช เป็นดังหัวใจของเมือง
วันนี้ขอมาแนะนำวัดอีกหนึ่งแห่งในเมืองพิษณุโลกที่น่าชมคือ "วัดโพธิญาณ" ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านขึ้นไปทางตอนเหนือของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเมื่อครั้งพระองค์เสด็จมาครองเมืองพิษณุโลกในปี พ.ศ.2006-2031 โดยน่าจะสร้างพร้อมๆ กับการสร้างกำแพงเมืองพิษณุโลก โดยยังคงเหลือร่องรอยแนวกำแพงเมืองเก่าให้เห็นในบริเวณวัด อีกทั้งในสมัยนั้นถือได้ว่าวัดโพธิญาณเป็นวัดประจำเมืองพิษณุโลกทางด้านทิศเหนือ ติดกับแนวเขตพระราชวังจันทน์ และต่อมาวัดโพธิญาณน่าจะได้รับการปฏิสังขรณ์อีกครั้งในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ต่อมาถึงในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและสมัยกรุงธนบุรี เมืองพิษณุโลกถูกทำลายจากภัยสงคราม วัดโพธิญาณก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่ถูกทำลายในครั้งนั้นด้วยจนกลายเป็นวัดร้าง สืบต่อมาอีกกว่าร้อยปี ใน พ.ศ. 2460 พระอาจารย์โต้ได้ธุดงค์มาปักกลดบริเวณซากโบราณสถานวัดร้างนี้ หมื่นชำนาญนิติเพชร (จ่าคร้าม ผลเกิด) พร้อมด้วยชาวบ้านจึงได้นิมนต์พระอาจารย์โต้ให้อยู่จำพรรษา ณ วัดร้างแห่งนี้ และร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานให้มั่นคงถาวรขึ้นสืบมาจนกลายเป็นวัดโพธิญาณในปัจจุบัน
สิ่งที่น่าสนใจในวัดแห่งนี้คือบริเวณอุโบสถเก่าและฐานเจดีย์เก่าที่เป็นโบราณสถานสมัยอยุธยา อายุกว่า 600 ปี โดยมีพระพุทธรูปสองพี่น้องนามว่า "หลวงพ่อทองผุด-หลวงพ่อเงินผุด" ที่พบในลักษณะผุดขึ้นมาเพียงครึ่งองค์จากห้องกรุใต้ฐานชุกชี ซึ่งเป็นลักษณะเดิมกับที่ขุดพบครั้งแรกเมื่อปี 2511 ในครั้งนั้นพบพระผุดสองพี่น้องนี้พร้อมกับพระพุทธรูปสำริดศิลปะอยุธยาขนาดหน้าตัก 3-12 นิ้ว จำนวนหลายร้อยองค์และโบราณวัตถุอีกนับพันชิ้น บางส่วนนำไปจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จ.สุโขทัย
รวมถึงพระพิมพ์พระพุทธชินราชซุ้มเส้นคู่ พระนางพญากรุวัดโพธิญาณ (โรงทอ) พิมพ์มีหูและไม่มีหู ซึ่งเป็นที่นิยมและเป็นหนึ่งในเบญจภาคีของวงการพระเครื่องพระบูชาไทย ที่นักเลงพระเครื่องต่างอยากมีไว้เช่าบูชาในครอบครอง
ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นพระประธานประจำอุโบสถเก่าแห่งนี้คือ "หลวงพ่อเพชรกลับประทานพร" พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ซึ่งหล่อขึ้นใหม่ด้วยโลหะสำริดย้อนยุคแบบโบราณขนาดหน้าตัก 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว มีพุทธลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิเพชรกลับ พระบาทซ้ายทับพระบาทขวา พระหัตถ์ขวาแสดงปางสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางเหนือพระทรงแสดงปางประทานพร สร้างตามคติโบราณที่ว่าพุทธานุภาพแห่งพระพุทธคุณจะสะท้อนให้สิ่งชั่วร้ายกลับกลายเป็นดี แก้ดวงชะตาตก หนุนดวงชะตาขึ้น ซึ่งบริเวณฐานชุกชีได้ทำเป็นโพรงเตี้ยๆ ให้คนได้เข้าไปลอด ตามความเชื่อว่าจะรอดปลอดภัยจากสิ่งอันตรายต่างๆ
ส่วนฐานเจดีย์เก่านั้นปัจจุบันทางวัดก็ได้ทำโครงตาข่ายเหล็กล้อมฐานเจดีย์เก่าไว้ ป้องกันมิให้คนมาขุดหาพระพิมพ์พระเครื่องทำให้โบราณสถานเสียหาย
เรียกได้ว่าวัดนี้เป็นวัดดังในหมู่คนเล่นพระเครื่องอยู่ไม่น้อย แต่ปัจจุบันคนอาจรู้จักวัดโพธิญาณในเรื่องของความเป็นต้นแบบของ "ขนมปังรสพระทำ" อันโด่งดังเสียมากกว่า
ขนมปังรสพระทำนี้หากจะเล่าต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 ที่เกิดเหตุพิบัติภัยน้ำท่วมใหญ่กันแทบทั้งประเทศ เมืองพิษณุโลกก็โดนแม่น้ำน่านท่วมหนักไม่แพ้กัน วัดโพธิญาณที่ตั้งอยู่บริเวณโค้งแม่น้ำน่านเองก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ
แต่เมื่อน้ำเริ่มลด ปรากฏว่าสายน้ำได้นำพาเอาปลาหลากชนิดไหลมากับน้ำด้วย และมารวมตัวกันอยู่บริเวณโค้งน้ำหน้าวัดโพธิญาณ กลายเป็นวังปลาแห่งใหม่ไปแบบงงๆ จากนั้นคนที่มาทำบุญที่วัดก็มักจะแวะทำทานให้อาหารปลากันที่หน้าวัด จนต่อมาทางวัดจึงได้สร้างแพขึ้นที่ริมน้ำเพื่ออำนวยความสะดวกให้ญาติโยม และประกาศว่าบริเวณนี้เป็นเขตอภัยทาน จำนวนปลาในบริเวณนี้ก็ชุกชุมมากขึ้นๆ พร้อมกับที่คนมาให้อาหารปลาเยอะขึ้น
ทางวัดเองได้จัดหาอาหารเม็ดและขนมปังเลี้ยงปลามาจำหน่าย แต่บางครั้งทางร้านไม่สามารถทำขนมมาส่งให้ได้ พระครูสุนทรโรจนคุณ ท่านเจ้าอาวาสวัดโพธิญาณพร้อมด้วยพระลูกวัดที่มีฝีมือในการทำอาหารโดยเฉพาะขนมปังจึงเกิดแนวคิดที่จะผลิตขนมปังเลี้ยงปลาขึ้นเองเสียเลย
โครงการ "ขนมปังรสพระทำ" ที่มีความหมายตามชื่อจึงเกิดขึ้นเมื่อปี 2555 และโด่งดังเป็นพลุแตก มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งชื่นชมบ้าง ตั้งคำถามบ้าง แต่จวบจนวันนี้เกือบสิบปีแล้ว ขนมปังรสพระทำก็ยังคงทำอยู่ เพียงแต่พระไม่ใช่กำลังหลักแล้ว เพราะในระยะเวลาที่ผ่านมาการทำขนมปังรสพระทำได้กลายเป็นกลุ่มการเรียนรู้ด้านอาชีพ ที่มีนักเรียน นักศึกษา กลุ่มแม่บ้านและผู้สูงอายุในชุมชนมาเรียนรู้การอบขนมปังจนกลายเป็นกำลังหลักในการผลิต
รายได้จากขนมปังนี้สามารถนำไปเป็นทุนก่อสร้างศาลาการเปรียญและเมรุไร้มลพิษเพื่อประโยชน์แก่วัดและชุมชนได้อีกด้วย เรียกว่าไม่ธรรมดาเลย
ปัจจุบันทางวัดผลิตขนมปังได้ราววันละ 300-400 ก้อนเพื่อจำหน่ายให้ประชาชนซื้อหาไปเป็นอาหารปลาหรือแม้แต่จะซื้อกินเล่นๆ เป็นขนมก็ได้เพราะใช้วัตถุดิบเกรดเดียวกับที่คนกิน เนื้อขนมปังนุ่มหอมไม่เหมือนขนมปังเลี้ยงปลาทั่วไป บางครั้งเด็กนักเรียนหรือเด็กๆ ที่มากับครอบครัวก็มาให้อาหารปลาไปพลาง บิขนมปังเข้าปากไปพลาง อร่อยไปพร้อมๆ กัน แถมยังราคาถูก 4 ก้อนเพียง 10 บาทเท่านั้น
สำหรับใครที่เดินทางมายังพิษณุโลกแล้ว อยากมากราบหลวงพ่อทองผุด-หลวงพ่อเงินผุด หลวงพ่อเพชรกลับประทานพร มาทำทานให้อาหารปลาที่วังมัจฉา มาชิมขนมปังเลี้ยงปลา "ขนมปังรสพระธรรม" ดูว่านุ่มอร่อยแค่ไหน ก็สามารถเดินทางมาได้ที่ "วัดโพธิญาณ" ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก สอบถามรายละเอียดโทร.08 6210 9949
ผู้ที่สนใจสอบถามข้อมูลท่องเที่ยว ที่กิน ที่พักในจังหวัดพิษณุโลก สามารถสอบถามได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พิษณุโลก ดูแลจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ โทร. 0-5525-2742 ถึง 3 หรือแฟนเพจเฟซบุค : ททท.สำนักงานพิษณุโลก
............................
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR