xs
xsm
sm
md
lg

น่ารักบนความสะเทือนใจ ส่องชีวิตใหม่สัตว์ที่รอดตายจากไฟป่าเชียงใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“น้องเผือก” ลูกลิงเสนน้อยที่คาดว่าพลัดหลงจากอ้อมอกของแม่ จากเหตุการณ์ไฟป่าที่เชียงใหม่ (ภาพ : เพจWildlife Clinic - Chiangmai)
จากวิกฤตไฟป่าที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้สร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรทางธรรมชาติ มีผืนป่าถูกทำลายนับพันไร่ สัตว์ป่าต่างดิ้นรนหนีเพื่อเอาตัวรอดจากทะเลเพลิง หลังจากที่เหตุการณ์ไฟป่าเริ่มคลี่คลายลงแล้ว เราจะเห็นภาพความเดือดร้อนของสัตว์ป่านานาชนิด บางตัวถูกไฟคลอกตาย บางตัวโชคดีสามารถหนีตายมาได้ แต่ต้องพลัดถิ่นที่อยู่อาศัย พรากจากพ่อแม่ ร่างกายมีบาดแผลจากการหนีเอาชีวิตรอด วันนี้จึงรวบรวมชีวิตสัตว์หลากสายพันธุ์ที่รอดตายจากไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่มาให้ชมกัน

“น้องคำอุ่น” อายุเดือนเศษ ยังไม่หย่านม กำลังนอนหลับปุ๋ย (ภาพ : เพจWildlife Clinic - Chiangmai)
สัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าที่เชียงใหม่ในครั้งนี้ โดยทางเพจ Wildlife Clinic - Chiangmai ได้โพสต์ภาพของสัตว์ป่าต่างๆ ที่ถูกส่งมาให้ดูแล เริ่มจาก “น้องคำอุ่น” อายุเดือนเศษ ยังไม่หย่านม เป็นสัตว์จำพวก “หมาไม้” สัตว์ป่าคุ้มครองหายากตัวน้อย ที่พลัดพรากจากอกแม่ มาอยู่ในการดูแลของสัตวแพทย์เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยสัตว์ตัวน้อยน่ารักนี้มีชื่อว่า “คำอุ่น” โดยที่มาของชื่อก็คือ ตัวของน้องยังอุ่นๆ อยู่หลังจากที่เจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือจากเหตุการณ์ไฟป่า


ลักษณะของคำอุ่นหลังจากที่ได้มาอยู่ในการดูแลของสัตวแพทย์นั้น น้องมีสุขภาพดีขึ้น กินได้ ชอบนอนขดตัว ซุกซน ขี้เล่น ร่าเริง และซ่อนตัว จนบางครั้งหมอคิดว่าหายไปจากกรง ด้วยความน่ารักของคำอุ่นทำให้เป็นที่สนใจของชาวโซเชียล มีแฟนคลับมากมาย และได้ส่งของบริจาคต่างๆ จำพวกหญ้าเทียม ของเล่นแมว ถ้วยชามใส่น้ำและสแลนมาให้หมาไม้ตัวน้อยนี้ ซึ่งหลังจากนี้ทางคลินิกจะคอยดูแล เพื่อให้พัฒนาสัญชาตญาณสัตว์ป่า และเมื่อคำอุ่นมีร่างกายที่แข็งแรงและมีความพร้อม ก็จะนำส่งกลับคืนสู่ป่าซึ่งเป็นบ้านของเขาต่อไป

น้องคำอุ่นวัยซุกซน หลังจากเข้ามาอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์ (ภาพ : เพจWildlife Clinic - Chiangmai)
ข้อมูลจากเว็บไซต์วิกิพีเดียได้ระบุว่า หมาไม้ หรือ มาร์เทิน (marten) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกินเนื้อขนาดเล็กสกุลหนึ่ง ในวงศ์เพียงพอน (Mustelidae) อันเป็นวงศ์เดียวกับนาก, เพียงพอน, หมาหริ่ง มีรูปร่างโดยรวม คือ มีลำตัวเพรียวยาว ส่วนใบหน้าคลายกับสุนัข ใบหูมีขนาดกลมเล็ก หางยาวเป็นพวง มีอุ้งเท้าที่หนาและมีกรงเล็บที่แหลมคม ขนหนานุ่มมีสีขนที่หลากหลาย ตั้งแต่สีเหลืองจนถึงสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ แตกต่างไปกันตามชนิดและแต่ละภูมิภาคที่อาศัย มีขนาดลำตัวและน้ำหนักพอ ๆ กับแมว ปกติเป็นสัตว์ที่หากินและอาศัยเพียงลำพัง ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์

หมาไม้ เป็นสัตว์ที่คล่องแคล่วว่องไวปราดเปรียว ส่วนมากมักหากินในเวลากลางคืน สามารถกินได้ทั้งพืชและสัตว์ ปีนต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถหากินได้ทั้งบนต้นไม้และพื้นดิน

ทีมสัตวแพทย์ตั้งชื่อให้ว่า น้องเผือก เพราะตัวของมันมีสีขาว ๆ นั่นเอง (ภาพ : เพจWildlife Clinic - Chiangmai)
สัตว์ป่าวัยซนตัวต่อมาก็คือ “น้องเผือก” ลูกลิงเสนน้อยที่คาดว่าพลัดหลงจากอ้อมอกของแม่ จากเหตุการณ์ไฟป่าที่เชียงใหม่ โดยมีชาวบ้านพบลูกลิงเสนตัวหนึ่ง บริเวณป่าใน อ. ฝาง จ.เชียงใหม่ จึงนำมาส่งที่ Wildlife Clinic ทีมสัตวแพทย์ตั้งชื่อให้ว่า "น้องเผือก" เพราะตัวของมันมีสีขาว ๆ นั่นเอง

โดยทางคลินิกฯ จะอนุบาลน้องเผือก เป็นแม่บุญธรรมที่จะรักและดูแลลิงเสนน้อยตัวให้ดีมากที่สุดต่อไปจนกว่ามันจะโต และสามารถปล่อยกลับคืนสู่ป่าได้ แต่ถ้ามันไม่สามารถเรียนรู้สัญชาตญาณของสัตว์ป่าได้ ก็อาจต้องนำส่งไปยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าต่อไป

เรนเจอร์ หนีตายจากไฟป่ามานอนรอความช่วยเหลืออยู่กลางถนน (ภาพ : เฟซบุ๊ก Sukanya Ruangpratheep)
อีกหนึ่งสัตว์ป่าที่มีผู้ติดตามเฝ้าดูการดูแลอย่างต่อเนื่อง ก็คือ “น้องเรนเจอร์” หลายคนคงจำภาพของอีเห็นที่บาดเจ็บหนีตายไฟป่า มาขอความช่วยเหลืออยู่กลางถนน โดยมีผู้ใจบุญเข้าให้ความช่วยเหลือ นำน้ำเปล่ามาให้น้องดื่มประทังชีวิต ก่อนนำส่งให้สัตวแพทย์รักษา

เรนเจอร์มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และกินเก่งมากขึ้น (ภาพ : เพจWildlife Clinic - Chiangmai)
ทางเพจ Wildlife Clinic ได้โพสต์ข้อความอัพเดทการรักษาของน้องมาให้เราได้รู้กัน ซึ่งโดยรวมนั้นน้องมีสุขภาพดีขึ้น จากน้ำหนักตัว 3.10 กิโลกรัม เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563 เป็น 3.25 กิโลกรัม เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2563 จนคุณหมอต้องวางโปรแกรมการป้อนอาหารน้องใหม่ (กลัวน้องอ้วนไวเกิน) จาก 3 มื้อต่อวัน เป็น 2 มื้อต่อวัน

คุณหมอได้ลองให้น้องกินผลไม้ตั้งหลายอย่าง ทั้งกล้วย มะละกอ และมะม่วงสุก น้องชอบมาก รีบกินเลยทีเดียว และช่วงนี้อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะช่วงบ่าย จึงต้องเปิดพัดลมให้น้อง แถมด้วยการป้อนน้ำเย็นให้น้องกินบ่อยๆ (ลองสเปรย์ละอองน้ำผ่านพัดลม คล้ายกับเปิดพัดลมไอน้ำให้ ปรากฏว่าน้องไม่ชอบเปียก เดินหนีเลย)

ขณะนี้น้องเริ่มแต่งตัวเลียขนหลังอาหาร ดูมีเรี่ยวแรงมากขึ้น แต่หลักๆ น้องก็ยังชอบนอนพักผ่อนเป็นหลัก เวลากินอาหาร พี่ๆ ก็ต้องคอยขยับถาดอาหารมาใกล้ๆ ให้น้องค่อยๆ ก้มลงไปกินอาหารช้าๆ (จากการสังเกต คาดว่า ตาขวาของน้องที่ยังเหลืออยู่และประสาทการดมกลิ่นคงไม่ค่อยดีมาก อาจเป็นเพราะน้องมีอายุมากแล้ว)

ลูกอีเห็นลายข้างทั้ง 4 ตัว ถูกพบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่เลา – แม่แสะ อ.แม่แตง (ภาพ : เพจWildlife Clinic - Chiangmai)
นอกจากนี้ยังมีสมาชิกล่าสุดที่ถูกส่งมาให้ทางคลินิกสัตว์ป่าดูแล คือ ลูกอีเห็นข้างลาย (Common palm civet) โดยเด็กๆ ทั้ง 4 ตัวถูกพบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่เลา – แม่แสะ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งคาดว่าไฟป่าน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้แม่อีเห็นทิ้งเด็กๆ ไป

โดยทางคลินิกสัตว์ป่าได้ตั้งชื่อให้น้องๆ อีเห็นข้างลายทั้ง 4 ตัว เพื่อสื่อถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในปีนี้อีกด้วย ได้แก่ตัวผู้ตัวที่ 1 ชื่อ โควิด ที่มาจากเป็นสถานการณ์ที่สร้างผลกระทบทำให้โลกชะงัก แต่อีกมุมก็ทำให้ผู้คนหันกลับมาสนใจและช่วยเหลือกันมากขึ้น

น้องโควิด น้องเคอร์ฟิว น้องฟุ้งปลิว และน้องส้มป่อย ลูกอีเห็นตัวจิ๋ววัยน่ารัก (ภาพ : เพจWildlife Clinic - Chiangmai)
อีเห็นข้างลายตัวผู้ตัวที่ 2 ชื่อ เคอร์ฟิว มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกือบทั่วโลก และทำให้เราต้องกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น ส่วนตัวเมียตัวที่ 1 ชื่อ ฟุ้งปลิว เป็นตัวแทนให้ระลึกถึงหมอกควันและ PM 2.5 ที่เชียงใหม่ และสุดท้ายตัวเมียตัวที่ 2 ชื่อ ส้มป่อย มีที่มาของชื่อเป็นตัวแทนของน้ำส้มป่อย ซึ่งเป็นน้ำมงคลที่อยู่คู่กับประเพณีสงกรานต์มาช้านาน ซึ่งปีนี้เป็นปีที่แตกต่างออกไป เป็นปีแรกที่ไม่ได้จัดประเพณีนี้ขึ้นมา

“น้องปุย” และ “น้องฝ้าย” ลูกเเมวดาวจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย (ภาพ : เพจWildlife Clinic - Chiangmai)
หลังจากเกิดเหตุการณ์ไฟป่า ทางคลินิกได้รับลูกแมวดาวที่ถูกส่งมาให้ดูแลอีก 8 ตัว มาจากหลากหลายพื้นที่ด้วยกัน อาทิ “น้องปุย” และ “น้องฝ้าย” ลูกเเมวดาวจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เป็นเด็กน้อยเพศเมียทั้ง 2 ตัว และ “น้องแตงไทย” (เพศผู้) และ “น้องแตงกวา” (เพศเมีย) แมวดาวพลัดหลงจากท้องที่อำเภอแม่แตง เด็กน้อยเริ่มลืมตาตอนมาถึงคลินิกสัตว์ป่า โดยได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่อย่างเต็มความสามารถในการอนุบาล ด้วยการป้อนนม kmr ( kitten milk replacer)

“น้องแตงไทย” และ “น้องแตงกวา” แมวดาวพลัดหลงจากท้องที่อำเภอแม่แตง (ภาพ : เพจWildlife Clinic - Chiangmai)
หลังจากที่สัตวแพทย์ดูแลสัตว์ป่าเหล่านี้จนเติบโต มีร่างกายที่แข็งแรง มีความพร้อมและสามารถเรียนรู้สัญชาตญาณของสัตว์ป่าแล้ว ก็จะนำส่งปล่อยคืนสู่ป่าและธรรมชาติต่อไป เพราะที่นั่นคือบ้านเกิดถิ่นที่อยู่อาศัยของมัน
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR

กำลังโหลดความคิดเห็น