xs
xsm
sm
md
lg

หนีตายไฟป่าดอยสุเทพ! ลูกอีเห็น 4 ตัวได้ชื่อแล้ว “โควิด-เคอร์ฟิว-ฟุ้งปลิว-ส้มป่อย”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ภาพ-ลูกอีเห็นข้างลาย 4 ตัว

นอกจากเหตุการณ์ไฟป่าที่ลุกโชนในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย โดยเฉพาะในจุดที่ใกล้กับวัดพระธาตุดอยสุเทพ อำเภอเมือง จ.เชียงใหม่ จะส่งผลให้คนในสังคมหันมาให้ความสนใจ“ไฟป่าภาคเหนือ”กันมากขึ้น และยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อวันที่ 4 เม.ย.2563 เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊ก "Sukanya Ruangpratheep" โพสต์ภาพและคลิป "อีเห็น" ที่หนีตายจากไฟป่าและมีสภาพบาดเจ็บสาหัส พยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอดออกมาอยู่บนถนนในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ พร้อมข้อความว่า “#SAFE ดอยสุเทพ #SAVE ดอยสุเทพ น่าสงสาร โดนไฟไหม้ปากกับตา ดีที่มาเจอ ทุกคนก็รักชีวิต ขอให้ดับเร็วๆ เอาไปส่งด่านป่าไม้ ขอให้ปลอดภัย”




ภาพ-เฟซบุ๊ก "Sukanya Ruangpratheep"






ภาพ - "เรนเจอร์"


อีเห็นข้างลายเพศผู้ตัวนี้ที่รอดตายมาได้ แม้จะสูญเสียดวงตาไป 1 ข้าง แต่พ้นขีดอันตรายแล้ว และอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์ คลินิกสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ โดยได้รับการตั้งชื่อว่า “เรนเจอร์”





ภาพ-สัตว์ป่าตัวน้อยที่รอดตายจากไฟป่าครั้งนี้


มีรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า สัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่า ทั้งลูกสัตว์ป่าที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง และสัตว์ป่าที่บาดเจ็บ มาอยู่ในความดูแลของคลินิกสัตว์ป่ารวม 8 ชนิด จำนวน 20 ตัว ได้แก่ อีเห็น, แมวดาว, ชะนี, หมาไม้, นกปีกลายสกอต, เหยี่ยว ทุกตัวปลอดภัย ได้รับการดูแลอย่างดี และได้รับการตั้งชื่อเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ และการจดบันทึกข้อมูลในการดูแลในแต่ละวัน

ล่าสุด ลูกอีเห็นข้างลาย 4 ตัวที่ถูกแม่ทิ้งเนื่องจากหนีไฟป่า ได้รับการช่วยเหลือและตั้งชื่อ โดยสื่อถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ควรจะจารึกไว้

ตัวผู้ตัวที่ 1 “โควิด” เพราะเป็นสถานการณ์ที่สร้างผลกระทบทำให้โลกชะงัก แต่อีกมุมก็ทำให้ผู้คนหันกลับมาสนใจและช่วยเหลือกันมากขึ้น


ตัวผู้ตัวที่ 2 “เคอร์ฟิว” เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกือบทั่วโลก และทำให้เราต้องกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น


ตัวเมียตัวที่ 1“ฟุ้งปลิว” เพราะเป็นตัวแทนให้ระลึกถึงหมอกควันและ PM 2.5 ที่เชียงใหม่


ตัวเมียตัวที่ 2 “ส้มป่อย” เป็นตัวแทนของน้ำส้มป่อย ซึ่งเป็นน้ำมงคลที่อยู่คู่กับประเพณีสงกรานต์มาช้านาน
แต่ปีนี้เป็นปีที่แตกต่างออกไป เพราะเป็นปีแรกที่ต้องงดการจัดประเพณีนี้

สัตว์ป่าทั้งหมดจะได้รับการดูแลรักษาจนแข็งแรงสมบูรณ์ จากนั้นจะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าแต่ละตัวพร้อมจะถูกปล่อยกลับคืนสู่ป่าเพื่อใช้ชีวิตตามธรรมชาติหรือไม่ หากตัวใดพร้อมก็จะได้กลับสู่ป่า แต่หากไม่พร้อมก็จะถูกนำไปเลี้ยงดูที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าต่อไป

ข้อมูลจาก – เว็บไซต์ไทยพีบีเอส
เว็บไซต์บีบีซีไทย
เพจเฟซบุ๊ก “Wildlife Clinic – Chiangmai”


กำลังโหลดความคิดเห็น