ทส.เผย ความคืบหน้านกกกที่ได้รับบาดเจ็บหนักจนปากหัก ที่ อช. เฉลิมรัตนโกสินทร์ ล่าสุดได้ทำปากล่างเทียมให้กับนกกกเพื่อใช้กินอาหารเเละดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งขณะนี้ถือว่าอาการนกกกดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า (ทส.) โพสต์เผยแพร่เรื่องราวของนกกกกที่บาดเจ็บหนักจนปากหัก ซึ่งอยู่ในการดูแล ของ กรมอุทยานฯ ผ่านเพจ “ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” ดังนี้
สัตวแพทย์ 2 หน่วยงาน ติดตามความคืบหน้าฟื้นฟูสุขภาพนกกก หลังจากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ พบนอนบาดเจ็บหนักอยู่ในป่า
จากรณีที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี พบนกกกซึ่งเป็นนกขนาดใหญ่ที่สุดจำพวกนกเงือกและเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง นอนได้รับบาดเจ็บอยู่ในป่า ซึ่งนายสุชัย หรดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่สายตรวจที่ออกลาดตระเวนในพื้นที่ป่าถ้ำธารลอดใหญ่ พบนกกกเพศเมีย จำนวน 1 ตัว ได้รับบาดเจ็บนอนอยู่บนพื้นดิน บริเวณป่าถ้ำใหญ่ หมู่ 5 ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ภายในเขตอช.เฉลิมรัตนโกสินทร์ สภาพภายนอกของนกกก พบว่าจะงอยปากล่างหัก ปีกซ้ายได้รับบาดเจ็บ จึงนำตัวออกจากพื้นที่เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563
ต่อมา19 มี.ค.63 เจ้าหน้าที่อช.เฉลิมรัตนโกสินทร์ ได้ส่งมอบนกกกให้กับ น.ส.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เพื่อประเมินอาการ ซึ่ง น.ส.กนกวรรณ สัตวแพทย์ประจำสบอ.3 (บ้านโป่ง) ได้ประเมินอาการพบว่าอาการหนักพอสมควร จึงส่งตัวนกกกไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อทำการรักษาชีวิตของนกกกนั้น
ด้านความคืบหน้าของการรักษา สพ.ญ.ดร.สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ หัวหน้าหน่วยสัตว์ป่ารพส.เกษตรฯ กำแพงแสน กล่าวถึงความหน้าและผลการรักษานกกกว่า ปีกซ้ายน่าจะใช้การไม่ได้ตลอดชีวิต คาดว่าบาดเจ็บที่เส้นประสาทหรือเอ็น จากการเอ็กซเรย์ไม่พบกระดูกหัก ส่วนปากล่างที่หักหายไปร่วมกับอาจารย์คณะวิศวกรรม ช่วยกันออกแบบปากเทียมด้วยโปรแกรมสามมิติ ซึ่งทดลองใส่ปากเทียมไป 3 ชิ้นแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ เพราะอวัยวะเทียมยังไม่เหมาะสมกับสรีระและพฤติกรรมการกินอาหาร ปัจจุบันสัตวแพทย์จึงให้กล้วย มะละกอ เป็นอาหาร
ขณะที่อาการล่าสุดตรวจพบว่านกกกมีแผลกดทับที่ช่วงต้นขา เกิดจากความสมดุลของร่างกายหายไปจากอาการปีกซ้ายอัมพาต ทำให้ขาทั้งสองข้างรับน้ำหนักไม่เท่ากัน เบื้องต้น สัตวแพทย์ได้เปลี่ยนกรงพักฟื้น และทำคอนไม้ให้เกาะเพื่อรักษาสมดุล ซึ่งคณะผู้รักษายังคาดหวังว่าจะสามารถรักษานกกกให้หาย และสามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้
โดยในวันที่ 22 เม.ย.63 น.ส.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดเผย ก่อนหน้านี้ทางสัตวแพทย์รพส.เกษตรฯกำเเพงเเสน ร่วมกับอาจารย์คณะวิศวกรรม และสัตวแพทย์กรมอุทยานฯได้ทำปากล่างเทียมให้กับนกกกเพื่อให้กินอาหารเเละดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งขณะนี้ถือว่าอาการนกกกดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แต่ก็มีการประเมินอาการนกกกอยู่ตลอด และได้เตรียมวิธีอื่นๆไว้อีกหากจะงอยปาก ทำงานได้ไม่สมบูรณ์แบบ ด้วยการเตรียมใช้จะงอยปากล่างของซากนนกกกหรือนกเงือกที่มีขนาดใกล้เคียงกันมาประกอบใส่ให้กับนกกกแทน
ทั้งนี้หากนกกกมีการดีขึ้นมากหรือหายเป็นปกติ จะนำนกกกไปดูแลภายในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ต่อไป
“นกกก” หรือ “นกกาฮัง, นกกะวะ” เป็นนกเงือกชนิดที่ใหญ่ที่สุด มีความยาวลำตัวประมาณ 130-150 เซนติเมตร เป็นนกที่มีอายุยืน สามารถมีอายุได้ถึง 50 ปี นกกกปกติจะกินผลไม้เป็นอาหาร โดยเฉพาะลูกไทร แต่บางครั้งจะกินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก รวมถึงสัตว์เลื้อยคลาน และนกชนิดอื่นเป็นอาหาร
นกกก มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดเล็ก จนกว่าจะโตเต็มที่และหาคู่ได้ มีฤดูผสมพันธุ์ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม
นกกกตัวเมียใช้เวลากกไข่นาน 1 เดือน อาจวางไข่ได้ 2 ฟอง แต่ลูกนกตัวที่อ่อนแอกว่าอาจตายไปซึ่งเป็นวิถีตามธรรมชาติ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของพ่อแม่