"ช้าง" เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ที่มีความฉลาดแสนรู้และน่ารัก จึงทำให้ช้างมีความผูกพันกับคน และมีคนจำนวนมากรักช้างไทย
ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เช่นนี้ ปางช้างต่างๆ ต้องทำการปิดตัวลงชั่วคราวตามประกาศของทางรัฐบาล เพื่อเป็นการป้องกันโรคระบาดที่เกิดขึ้น จึงทำให้มีข่าวของช้างในสภาพผอมโซออกมา ขอรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือช้างในยามวิกฤตนี้ ซึ่งก็มีคนจำนวนมากเชื่อตามข่าว เพราะสงสารช้างจึงทำการบริจาคเงินเพื่อหวังช่วยเหลือช้าง
แต่ภาพข่าวที่ออกมานั้นก็มีหลายหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับช้างออกมาตั้งข้อสังเกตว่าไม่น่าจะเป็นข่าวจริง ดังนั้นเราจึงได้ทำการสอบถามไปยังปางช้างและมูลนิธิที่ดูแลช้าง ว่าในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้ ช้างมีความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง เพื่อให้ผู้คนที่รักช้างจะได้ทราบสถานการณ์ของช้างไทยกัน
โดยปางช้างแรกคือ “Ran-Tong Save & Rescue Elephant Center” หรือ "ปางช้างลานตอง" ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ดูแลช้างที่ปางช้างลานตอง กล่าวว่า "ตอนนี้ที่ปางไม่ได้เปิดรับให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวแล้วเพื่อความปลอดภัย ปิดปางช้างมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ตามคำสั่งของรัฐบาล"
การเลี้ยงดูช้างที่ปางช้างลานตอง ยังทำการเลี้ยงดูช้างเหมือนเดิม โดยเจ้าของปางช้างยังซื้อหญ้าเลี้ยงช้างเหมือนปกติ และมีควาญช้างดูแลช้างอย่างดีเหมือนปกติ แต่ตั้งแต่ปางช้างปิดตัวลงไม่ได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวแล้ว ก็มีผลต่อปางช้างในเรื่องรายได้
"เมื่อก่อนจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยว แต่พอปางช้างปิดตัวลงรายได้ก็หายไปหมด เจ้าของก็ต้องแบกรับภาระหนักไว้หมดเลย แต่ก็ไม่ได้ทิ้งขว้างช้างก็ยังดูแลเหมือนเดิม" เจ้าหน้าที่ดูแลช้างที่ปางช้างลานตอง บอก
ในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้ ที่ปางช้างลานตองก็ยังมีสัตวแพทย์ดูแลช้าง ถ้าหากมีช้างเจ็บป่วยขึ้นมา ก็มีการดูแลรักษาเหมือนช่วงปกติ ในส่วนของเรื่องอาหารการกินก็ให้อาหารตามเดิมเหมือนปกติ
เมื่อสอบถามถึงการที่มาข่าวภาพช้างผอมโซออกมารับเงินบริจาค ทางเจ้าหน้าที่ดูแลที่ลานช้างปางตองได้ให้ความคิดเห็นไว้ว่า "ถ้าว่าเขาใช้เงินที่ได้จากบริจาคไปช่วยเหลือช้างจริงๆ ก็น่าสนับสนุน แต่ถ้าเกิดหลอกหลวงขึ้นมาก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ควรทำ"
ในเรื่องการบริจาคให้กับช้างที่ปางช้างลานตอง จะมีในส่วนของลูกค้าเก่าที่เป็นชาวต่างชาติ ได้ทำการสอบถามมาว่าทางปางช้างเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งทางปางช้างก็บอกไปตามตรงว่าสถานการณ์ตอนนี้ไม่มีรายได้ ลูกค้าก็หาทางช่วยเหลือ มีการบริจาคเป็นเงินเล็กๆ น้อยๆ มาให้ ช่วยเหลือค่ายาช้าง และทางเจ้าของก็ช่วยกันหาวิธีว่าจะช่วยช้างอย่างไร ซึ่งก็มีการเปิดรับบริจาคทางเฟซบุ๊ก www.facebook.com/rantongelephant ของปางช้างลานตอน หรือที่ www.bestelephantsanctuarychiangmai.com
"ช่วงนี้มีปัญหาโควิด ทางเจ้าของปางก็รับภาระอยู่คนเดียว ถ้าใครที่มีจิตใจรักช้างจริง ถ้าสนใจจะบริจาคให้ช้าง ก็ติดต่อมาทางที่ปางได้ เพราะว่าเงินที่นำมาบริจาคให้ช้าง เรานำมาให้ช้างจริง เพราะตอนนี้เดือนร้อนจริงๆ" เจ้าหน้าที่ดูแลช้างที่ปางช้างลานตอง บอก
ปางช้างที่สองคือ “หมู่บ้านช้างตากลาง” หรือ “ศูนย์คชศึกษา” ตั้งอยู่ที่ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ คุณทิพย์ธัญญา มะลิงาม ผู้ดูแลชุมชนท่องเที่ยวหมู่บ้านช้างตากลาง กล่าวว่า ตั้งแต่มีโรคระบาดโควิด-19 แล้วทางรัฐบาลประกาศให้ปิด ทางหมู่บ้านช้างตากลาง ก็ปิดตัวลงไม่ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์
"ตอนนี้ความเป็นอยู่ที่หมู่บ้านช้างมีความลำบาก การแสดงก็ต้องปิดตัวลง ก็ขาดรายได้เยอะอยู่ แต่ว่าควาญช้างและช้างก็ยังมีเงินเดือนอยู่ ยังต้องหาหญ้าให้ช้างกินอยู่" ทิพย์ธัญญา บอก
ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 นี้ ก็เกิดความแตกต่างจากช่วงปกติ ตรงที่ว่าควาญช้างไม่มีรายได้จากการเปิดแสดงโชว์ช้างให้นักท่องเที่ยวได้ชม รายจ่ายก็เยอะ แต่ขาดรายได้เสริมที่จะได้จากเงินเดือนก็ไม่มี
สำหรับการดูแลช้างของที่นี่ยังคงทำเหมือนเดิมปกติ ควาญช้างยังหาหญ้าให้ช้างกิน พาไปอาบน้ำ ทำทุกอย่างเหมือนเดิม ช้างที่นี่ยังมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีการเจ็บป่วย เพราะยังซื้ออาหาร และปลูกพืชผักผลไม้ให้ช้างกินอยู่ ทั้งคนและช้างยังต้องอยู่ร่วมกัน แต่ก็อาจจะไม่เหมือนเมื่อก่อนนัก ตรงที่ควาญช้างไม่มีรายได้เพิ่ม ถึงแม้ควาญช้างจะมีเงินเดือน แต่ค่าใช้จ่ายก็เยอะแยะสารพัด ไม่พอกับค่าใช้จ่ายที่เผชิญอยู่ในตอนนี้
"ควาญช้างยังไงก็ต้องดูแลช้างอย่างดี เพราะว่ารักช้างเหมือนลูก เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ดูแลช้างอย่างดี ไม่ปล่อยให้อดอาหาร ถึงควาญช้างจะอดอาหารแต่ยังไงก็ไม่ปล่อยให้ช้างอดอาหารอย่างแน่นอน" ทิพย์ธัญญา กล่าว
สำหรับเรื่องการรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือช้าง ทางหมู่บ้านช้างตากลาง ยังไม่ได้มีการเปิดรับบริจาคใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าควาญช้างยังได้รับเงินเดือนจากทางอบจ.อยู่ แต่ถ้าอยากช่วยบริจาคเพื่อช่วยเหลือช้าง ก็สามารถติดต่อไปได้ทางเฟซบุ๊ก www.facebook.com/elephanttaklang
"ถ้าใครอยากช่วยเหลือช้าง จะไม่บริจาคเป็นตัวเงิน ก็สามารถบริจาคเป็นสิ่งของสาธารณูปโภค ของกิน ของใช้อะไรก็ได้ หรือจะบริจาคอาหารให้ช้างอย่างพวกหญ้า อ้อย สับปะรดก็ได้ มาบริจาคได้ที่หมู่บ้านช้างตากลาง" ทิพย์ธัญญา กล่าวทิ้งท้าย
ปางช้างต่อมาคือที่ “บ้าน ช.ช้างชรา” ตั้งอยู่ที่ตำบลวังด้ง อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี คุณจันทร์จิรา วงศ์วริศสกุล เจ้าหน้าที่แผนกรับจองที่บ้านช.ช้างชรา กล่าวว่า "ช่วงนี้ทางเราปิดปางช้างเป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่ 1 เมษายนถึง 30 เมษายนนี้ ตอนนี้ก็ต้องปิดไปก่อน ไม่รู้ว่าเดือนหน้าจะเปิดได้หรือเปล่า ก็ต้องดูอีกครั้ง"
ถึงแม้ว่าทางบ้าน ช. ช้างชราจะทำการปิดตัวลงชั่วคราว แต่ว่าทางควาญช้างก็ยังทำการเลี้ยงดูช้างเป็นปกติ แล้วก็ยังมีพนักงานบางส่วนที่ยังทำงานปกติ และก็มีพนักงานบางส่วนให้ทำการพักงานไปก่อน
"การเลี้ยงดูช้างของที่นี่ ปกติเราจะเป็นคนหาอาหารมาให้ช้าง แต่ว่าช่วงนี้จะลำบากกว่าช่วงที่มีนักท่องเที่ยว เพราะว่าเราต้องหาอาหารเองทั้งหมด แล้วก็ไม่มีรายได้ เพราะปกติถ้ามีนักท่องเที่ยวมา เราก็จะมีรายได้จากนักท่องเที่ยว แต่ว่าช่วงนี้เราจะไม่มีรายได้ ควาญช้างก็จะลำบากต้องออกไปหาอาหารเอง แต่ถึงยังไงเราก็ยังดูแลช้างอย่างดี" จันทร์จิรา กล่าว
เมื่อถามถึงว่ามีข่าวที่นำภาพช้างผอมโซออกมาขอรับบริจาคเงิน เพื่อช่วยเหลือช้างในช่วงวิกฤกตโควิด-19 นี้ มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ทางเจ้าหน้าที่ได้ให้ความคิดเห็นไว้ว่า "ถ้าจากข่าวที่ทำเช่นนี้เพื่อเรี่ยไรเงินนำไปเป็นของส่วนตัว ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเอาไปช่วยช้างจริงๆ ก็ดี"
ในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้ ทางบ้าน ช.ช้างชรา ก็มีการเปิดรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือช้างในปาง สามารถบริจาคเข้ามาได้ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ผลไม้เพื่อให้ช้าง หรือบริจาคเป็นเงินก็ได้
"ถ้าใครต้องการช่วยเหลือช้างจริงๆ ตรงนี้ทางเราเองก็เปิดรับบริจาค เพราะว่ากำลังของเราเองก็ไม่ไหวเหมือนกัน" จันทร์จิรา บอก
อีกหนึ่งแคมป์ที่ดูแลช้างและจัดตั้งเป็นมูลนิธิด้วยอย่าง “มูลนิธิโกลเด้น ไทรแองเกิ้ล เอเชียน เอเลเฟนท์” (Golden Triangle Asian Elephant Foundation หรือชื่อย่อ GTAEF) เป็นมูลนิธิช้างที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 ตั้งอยู่ภายในโรงแรม "อนันตรา สามเหลี่ยมทองคำ แคมป์ช้าง แอนด์ รีสอร์ท” บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยกลุ่มโรงแรมอนันตรา เพื่อให้ความช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตช้างในประเทศไทยและในแถบเอเชีย โดยมีผู้ดูแลมูลนิธิฯ คือ มร. จอห์น โรเบิร์ตส (Mr. John Roberts) ผู้อำนวยการแคมป์ช้าง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านสัตว์ และเป็นผู้ที่ทุ่มเทให้กับการช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตช้าง มาเป็นเวลามากกว่า 20 ปี
คุณลัดดาวัลย์ ยลธรรธรรม ผู้จัดการแผนกแคมป์ช้าง อนันตรา สามเหลี่ยมทองคำ แคมป์ช้าง แอนด์ รีสอร์ท กล่าวว่า “ด้วยความที่มูลนิธิทำงานร่วมกับทางโรงแรมอนันตรา และตอนนี้ทางโรงแรมปิดชั่วคราว ซึ่งตอนนี้ก็ทำให้ไม่มีแขกเข้ามาเลย ควาญช้าง และช้างทุกเชือกที่เราดูแลอยู่ก็ยังอยู่ที่นี่ แต่ว่าไม่มีกิจกรรมให้ร่วมทำกับแขกที่เข้ามาพักมนโรงแรม ตอนแรกมีช้างดูแลอยู่ 20 เชือก แต่เมื่อต้นเดือนมีช้าง 1 เชือกเข้ามา ซึ่งเป็นช้างที่เคยอยู่กับเรามาก่อนแล้ว ชื่อบุญรอด เป็นช้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมา”
เมื่อสอบถามถึงการดูแลช้างในช่วงนี้ มีความแตกต่างจากช่วงปกติยังไงบ้าง ได้รับคำตอบที่ว่า การดูแลช้างในตอนนี้ที่แคมป์ช้าง มีการลดจำนวนอาหารช้างลง เพราะเป็นการควบคุมน้ำหนักช้าง แต่ก็ไม่ได้ลงจำนวนอาหารลงจนทำให้ช้างถึงกับหิวโหย เพราะว่าตอนนี้ทางมูลนิธิมีการต้องปรับลดน้ำหนักช้างอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องอาหารก็เป็นส่วนแรกที่เราเริ่มทำ
การที่ต้องมีการลดน้ำหนักให้กับช้างที่ิอยู่ในแคมป์ ทางสพ.ญ.นิสา มุทุตานนท์ นายสัตวแพทย์ประจำมูลนิธิโกลเด้น ไทรแองเกิ้ล เอเชียน เอเลเฟนท์ ได้ให้คำตอบเรื่องนี้ไว้ว่า การลดจำนวนอาหารลงให้กับช้าง เรียกว่าเป็นการควบคุมน้ำหนักให้กับช้าง เพราะว่าทางมูลนิธิฯ ได้รับการตรวจจากหน่วยงานที่ชื่อ Global Spirit จะเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศที่ดูแลเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งหน่วยงานจะเข้ามาประเมินเพื่อสิ่งไหนที่จะสามารถปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงเพื่อให้สวัสดิภาพช้างเป็นไปได้อย่างดีและสมบูรณ์ ยืนเดินไม่สะดวก อาจจะลุกขึ้นเองไม่ได้
"มีข้อที่ทางหน่วยงานติงไว้ก็คือ ช้างของเราค่อนข้างมีขนาดตัวที่ใหญ่ และน้ำหนักเยอะ ซึ่งตามสุขภาพก็คล้ายๆ ของคน พอน้ำหนักเยอะ เวลาแก่ตัวลงมีปัญหาเรื่องขา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม เราก็เลยจะค่อยๆ ใช้ช่วงเวลาโอกาสนี้ มาเป็นช่วงเวลาที่เราช่วยกันลดน้ำหนักช้าง เพื่อสนับสนุนให้ช้างมีสุขภาพแข็งแรงนะในอนาคต” สพ.ญ.นิสา อธิบาย
สำหรับชีวิตความเป็นอยู่ของช้างในแคมป์ โดยปกติหน้าที่หลักในการดูแลช้างของที่นี่ เป็นหน้าที่ของควาญช้าง ในหนึ่งวันตอนเช้ามาควาญช้างจะตื่นตั้งแต่ 06.30 น. หรือ 07.00 น. เพื่อเอาช้างไปอาบน้ำ กินน้ำ เอาอาหารให้ช้าง และระหว่างวันควาญก็จะไปดูแลช้างอยู่เรื่อยๆ พอตอน 12.00 น. ก็จะพาช้างไปกินหญ้า ไปกินอาหารทั้งตามทุ่งหญ้าธรรมชาติ และอาหารจากที่ทางมูลนิธิฯ จัดเตรียมไว้ให้ช้าง มีจำนวน 230-250 กิโลกรัมต่อวัน
"เราเอาช้างมาทำการไลฟ์วีดีโอลงในเจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/GTAEF.helpingelephants หรือที่ www.helpingelephants.org โดยทำวันละ 2 ครั้ง เป็นภาษาอังกฤษ ในช่วงเวลาเจ็ดโมงครึ่งกับสี่โมงเย็น อันนี้จะมีทำเป็นประจำทุกวัน แต่ก็มีบ้างบางวันที่เป็นวันพิเศษ ที่ไม่ใช่แค่โปรแกรมดูพฤติกรรมช้าง แต่จะมีทีมงาน หรือสัตวแพทย์มาให้ความรู้สอนการทำของเล่นให้ช้าง การตรวจสุขภาพช้าง ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดี และก็เริ่มมีทำไลฟ์สดภาษาไทยด้วย เพราะอยากให้คนไทยหันมาให้ความสนใจกับช้าง ว่าช้างทำอะไรได้บ้าง เราก็เลยริเริ่มทำเป็นภาษาไทย เพื่อที่จะให้คนไทยที่มีความสนใจได้เข้ามาติดตาม แล้วก็ได้รับวิถีชีวิตของช้าง" ลัดดาวัลย์ บอก
เมื่อได้สอบถามถึงภาพข่าวที่มีการนำช้างที่ผอมโซออกมารับบริจาค ทางสพ.ญ.นิสา ได้ให้ความคิดเห็นกับเรื่องนี้ว่า "ตามความคิดเห็นของหมอ หน่วยงานแต่ละหน่วยงาน จะเป็นสถานผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับช้างทุกแห่ง ที่มีความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด การที่เขาเอารูปช้างขึ้นเพื่อเป็นสื่อในการแสดงให้สาธารณะเห็นว่า เขาอาจจะมีช้างที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ ก็คิดว่าเขาอาจจะใช้เพื่อเป็นแรงดึงดูดให้คนเข้ามา หมอคิดว่าที่จริงไม่จำเป็นต้องเอารูปภาพช้างที่ผอมโซมาใช้
“เพราะสถานการณ์โควิดทำให้ไม่มีอาหารให้ช้างกิน ซึ่งทุกๆ คนไม่ใช่ที่แคมป์ช้างที่นี่ที่เดียว แต่ว่าทุกคนที่เป็นกลุ่มคนเลี้ยงช้าง ทุกคนมีความคิดเห็นตรงกันว่า เราจะไม่ให้ช้างอดแน่ๆ เราจะต้องให้ช้างอิ่ม คือเราจะหิวก็ได้ไม่เป็นไร แต่ว่าช้างเราจะต้องอิ่มแน่นอน” สพ.ญ.นิสา กล่าว
ท้ายนี้คุณลัดดาวัลย์ได้กล่าวฝากถึงผู้ที่คิดอยากจะช่วยบริจาคเงินให้ช้างไว้ว่า อยากให้คนที่อยากบริจาคช่วยเหลือช้าง ลองศึกษาหาข้อมูลจริงๆ ว่าเงินที่ได้ ได้เท่าไหร่ เขาเอาเงินเหล่านี้ไปไหน มีกระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจนหรือเปล่า อย่างทางมูลนิธิฯ ก็มีเปิดรับบริจาคอยู่ คือ โครงการ “ช่วยบุญรอด” เป็นช้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ทางด้านสพ.ญ. นิสา ก็ได้บอกฝากถึงผู้ที่อยากจะช่วยเหลือช้างว่า "สำหรับของสัตวแทพย์ที่ดูแลช้าง ตอนนี้ทางมูลนิธิฯ มีโครงการชื่อว่าโกลเด้นไทรแองเกิ้ลเอเลเฟ่น ซึ่งเป็นของทางโรงแรมอนันตราเอง แล้วก็ยังมีโครงการที่ร่วมมือกับ Elephant Care International และ Work for Wild Life International ได้เล็งเห็นว่าในหมู่สัตวแพทย์ ผู้ช่วยสัตวแพทย์หรือสัตวบาล คิดว่าน่าจะได้รับผลกระทบจากโควิดเหมือนกัน เราจึงได้สร้างโครงการ Covid-19 Elephant Healthcare Emergency Lifeline Fund เพื่อระดมทุนช่วยเหลือสัตวแพทย์ และผู้ช่วยสัตวแพทย์ ที่ยังคงทำงานกับแคมป์ช้างทุกที่ ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงของที่ร่างกฎหมาย คาดว่าน่าจะได้ออกมาในเร็วๆ นี้ ถ้าใครเป็นสัตวแพทย์ที่ทำงานกับช้าง คือเราจะช่วยกัน แล้วก็จะช่วยกันพยุงไปให้สุด ถ้าสัตว์แพทย์หรือว่าใครต้องการความช่วยเหลือให้ติดต่อมาที่ทางมูลนิธิฯ ได้” กล่าวทิ้งท้าย
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR