xs
xsm
sm
md
lg

ควาญอดแต่ช้างต้องอิ่ม “หมู่บ้านช้างตากลาง” คน-ช้างร่วมสู้โควิด-19 หลังไร้นทท.-ชาวบ้านขาดรายได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มาเที่ยวชมช้างกันได้อย่างใกล้ชิดที่หมู่บ้านช้างตากลาง
หมู่บ้านช้างตากลาง หมู่บ้านเลี้ยงช้างใหญ่ที่สุดในโลก จ.สุรินทร์ เผย สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบหนัก นักท่องเที่ยวไม่มี ชาวบ้านขาดรายได้ อย่างไรก็ดีแม้ควาญช้างจะอด แต่ช้างต้องได้กินอิ่มเหมือนเดิม เพราะคนกับช้างที่นี่อยู่ร่วมกันแบบครอบครัว และรักช้างเหมือนลูกตัวเอง

“ช้าง” เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองประเทศไทย ที่ในอดีตเคยร่วมสู้รบปกป้องประเทศชาติให้เรามีเอกราชมาจนถึงปัจจุบัน

โดยเฉพาะช้างในประเทศไทยนั้น มีจุดเด่นที่เลื่องลือไปทั่วโลกก็คือ คนไทยสามารถเลี้ยงช้างได้เหมือนกับสัตว์เลี้ยงทั่ว ๆ ไป อีกทั้งยังสามารถฝึกช้างให้ทำสิ่งต่าง ๆ ได้หลากหลาย โดยเฉพาะในภาคของการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันช้างไทยถือเป็นอีกหนึ่งจุดดึงดูดให้ชาวต่างชาติ รวมถึงคนไทยด้วยกันเอง เดินทางไปชมความน่ารักและการแสดงของช้างไทยตามสถานที่เลี้ยงช้างต่าง ๆ

ช้างแสนรู้วาดภาพได้
สำหรับหนึ่งในแหล่งเลี้ยงช้างและฝึกช้างที่สำคัญของไทยก็คือ “หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง” (ศูนย์คชศึกษา) ที่ตั้งอยู่ที่ ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์

หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านเลี้ยงช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีวิถีผูกพันระหว่างคนกับช้างที่อยู่ร่วมกันแบบครอบครัว ชาวบ้าน ควาญ ดูแลเลี้ยงช้างอย่างดี และรักช้างเหมือนลูก ซึ่งในสถานการณ์ปกติหมู่บ้านช้างตากลางถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ เกี่ยวกับช้าง และชมการแสดงช้างที่ขึ้นชื่อน่าสนใจมากแห่งหนึ่งของเมืองไทย

อย่างไรก็ดีในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ระบาดอยู่ตอนนี้ หมู่บ้านช้างตากลางได้ปิดตัวลงชั่วคราว ไม่ได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมกัน

ทิพย์ธัญญา มะลิงาม ผู้ดูแลชุมชนท่องเที่ยวหมู่บ้านช้างตากลาง บอกว่า ตั้งแต่มีโรคระบาดโควิด-19 แล้วทางรัฐบาลประกาศให้ปิด ทางหมู่บ้านช้างตากลาง ก็ปิดตัวลงไม่ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ตอนนี้ความเป็นอยู่ที่หมู่บ้านช้างมีความลำบาก การแสดงก็ต้องปิดตัวลง ก็ขาดรายได้เยอะอยู่ แต่ว่าควาญช้างและช้างก็ยังมีเงินเดือนอยู่ ยังต้องหาหญ้าให้ช้างกินอยู่

"ควาญช้างยังไงก็ต้องดูแลช้างอย่างดี เพราะว่ารักช้างเหมือนลูก เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ดูแลช้างอย่างดี ไม่ปล่อยให้อดอาหาร ถึงควาญช้างจะอดอาหารแต่ยังไงก็ไม่ปล่อยให้ช้างอดอาหารอย่างแน่นอน" ทิพย์ธัญญา กล่าว

การแสดงความสามารถของช้าง
จะเห็นได้ว่าคนกับช้างที่ “หมู่บ้านช้างตากลาง” นั้น มีความรักและผูกพันกันเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าจังหวัดสุรินทร์ เป็นที่รู้จักกันของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศในนาม “สุรินทร์ เมืองช้าง” เพราะสืบเนื่องมาจากสุรินทร์มีกลุ่มผู้เลี้ยงช้างที่เรียกตัวเองว่า “ชาวกูย” หรือ “กวย” ซึ่งมีความชำนาญในการจับช้างมาตั้งแต่บรรพบุรุษสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

“หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง”
หรือ “ศูนย์คชศึกษา” จึงเป็นศูนย์รวมของสมาชิกช้างทั้งในบ้านกะโพ ตากลาง และจากหมูบ้านอื่น ๆ ในจังหวัดสุรินทร์มากกว่า 200 ตัว โดยความเป็นอยู่ของคนกับช้างที่นี่จะอยู่กันอย่างใกล้ชิดเหมือนเป็นเพื่อนกัน นอนร่วมชายคาเรือนเดียวกัน ซึ่งช้างทุกเชือกของที่นี่จะน่ารักแสนรู้ เข้ากับคนง่าย และไม่ดุร้าย

คนกับช้างอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขที่หมู่บ้านช้างตากลาง
ถ้าหากมาเที่ยวที่ “หมู่บ้านช้างตากลาง” จะมีกิจกรรมมากมายให้นักท่องเที่ยวได้สนุกและเรียนรู้มากมาย ซึ่งไฮไลต์ก็คือกิจกรรม “สนามแสดงช้างแสนรู้” ซึ่งจะเป็นการแสดงความสามารถอันเฉลียวฉลาดและน่ารักของช้างในศูนย์ฯ อาทิ ช้างเต้นรำ ช้างวาดรูป ช้างปาลูกโป่ง ช้างเตะฟุตบอล ฯลฯ โดยจะเปิดการแสดงทุกวัน วันละ 2 รอบ และยังมี “อาคารพิพิธภัณฑ์” ที่จัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับช้าง อาทิ วิวัฒนาการของช้าง ช้างในยุคต่างๆ โครงกระดูกช้าง เครื่องมือในการคล้องช้าง วิถีความผูกพันระหว่างคนกับช้าง พิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับช้าง เป็นต้น

ควาญช้างพาช้างลงเล่นน้ำ
นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวยังสามารถเดินเล่นชมวิถีชีวิตของคนกับช้างภายในหมู่บ้านได้อีกด้วย ซึ่งระหว่างทางเดินในหมู่บ้านก็จะมีฐานการเรียนรู้ให้ได้เดินชมกัน เริ่มจากฐาน “ฐานตะขอช้าง” เป็นการสอนทำตะขอหรือ “คชกุศ” ขอบังคับช้าง ตั้งแต่การตีเหล็ก การเลือกด้ามไม้ และยังมีตะขอช้างขนาดต่างๆ ให้เลือกซื้อกันด้วย

กรามช้างที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
ฐานถัดมา คือ “ฐานผลิตภัณฑ์จากช้าง” ในฐานนี้จะมีเป็นการนำ “ขนหางช้าง” ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นของ “ทนสิทธิ์” หมายถึง ของที่มีฤทธิ์โดยไม่ต้องปลุกเสก มาทำเป็นเครื่องประดับมากมาย เช่น แหวนขนหางช้าง แหวนกระดูกช้างพันขนหางช้าง กำไลขนหางช้าง ตะกุดขนหางช้าง และพวงกุญแจขนหางช้าง

สาธิตการทำตะขอช้างให้ชม
แล้วมาที่ฐานต่อมาคือ “โครงการผลิตกระดาษจากมูลช้าง” ซึ่งกระดาษที่ได้ก็คือ “กระดาษสา” นั่นเอง โดยจะใช้มูลช้างใหม่ๆ มาล้างทำความสะอาด จากนั้นนำไปต้มกับโซดาไฟเพื่อให้เปื่อยประมาณ 4-6 ชม. แล้วจึงล้างออกและนำไปปั่นกับน้ำ ปอสา และใส่คลอรีนเพิ่มความขาว ทิ้งไว้อีก 1 คืน จึงสามารถนำมาร่อนใส่เฟรมทิ้งไว้อีก 1 วัน ก็จะได้กระดาษสาจากมูลช้างนำไปต่อยอดเพิ่มมูลค่าได้

ตะขอช้างที่ทำเสร็จเรียบร้อย
จากนั้นมาที่ “ฐานการเรียนรู้วิถีชุมชนผ่านภาพวาด” โดยจะจัดแสดงภาพวาดสีน้ำ สีน้ำมัน มากมายที่คนในหมู่บ้านวาดขึ้นเพื่อสื่อถึงความสายใยสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้างของที่นี่ อย่างภาพวาด “ประเพณีบวชนาคช้าง” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างของที่นี่ ในภาพจะเล่าถึงบรรยากาศของขบวนแห่ ซึ่งการบวชนาคช้างนั้นไม่ได้เป็นการนำช้างมาบวช แต่เป็นการบวชของผู้ชายในหมู่บ้าน
อีกทั้งยังมีขั้นตอนในการดำเนินพิธีที่แตกต่าง นั่นคือจะให้นาค (คนที่บวช) แต่งกายสวยงามตามประเพณี นั่งอยู่บนหลังช้างที่มีการทาสีสวยงามเช่นกัน แล้วช้างจะเดินแห่ไปรอบหมู่บ้านจนไปสุดที่วังทะลุ (จุดที่แม่น้ำมูลไหล และลำน้ำชี มาบรรจบกัน ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง) อยู่ห่างจากหมู่บ้านไปประมาณ 3 กม. แล้วจึงทำพิธีบวชพระจนลุล่วง โดยประเพณีบวชนาคช้างจะถูกจัดขึ้นในช่วงวันขึ้น 13-15 ค่ำเดือน 6 ของทุกๆ ปี

ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำจากกระดาษสาจากมูลช้าง
นอกจากนั้นยังมีสุสานช้าง การแต่งงานบนหลังช้าง ศาลปะกำ (เทวาลัยศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน) แท็กซี่ช้าง (นั่งบนหลังช้าง) ฯลฯ ให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมสัมผัสสายใยอันผูกพันของวิถีคนกับช้าง และความน่ารักแสนรู้ของช้างกว่า 200 ตัว ที่หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง

บรรยากาศประเพณีบวชนาคช้าง
ถึงแม้ว่าตอนนี้นักท่องเที่ยวจะไม่สามารถไปเที่ยวที่หมู่บ้านช้างตากลางได้ แต่ถ้าใครรักช้าง อยากช่วยเหลือช้าง ก็สามารถบริจาคความช่วยเหลือให้แก่ช้างที่หมู่บ้านช้างตากลางได้ ไม่ว่าจะอยากบริจาคเป็นตัวเงิน หรือไม่บริจาคเป็นตัวเงิน ก็สามารถบริจาคเป็นสิ่งของสาธารณูปโภค ของกิน ของใช้อะไรก็ได้ หรือจะบริจาคอาหารให้ช้างอย่างพวกหญ้า อ้อย สับปะรดก็ได้ มาบริจาคได้ที่หมู่บ้านช้างตากลาง โดยทำการติดต่อไปได้ทางเฟซบุ๊ก www.facebook.com/elephanttaklang ของหมู่บ้านช้างตาก
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR



กำลังโหลดความคิดเห็น