xs
xsm
sm
md
lg

เปิดความลับมหัศจรรย์ “เขาคิชฌกูฏ” หินก้อนยักษ์ตั้งอยู่ได้อย่างไร? ไม่ตกหล่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Youtube :Travel MGR

หินลูกบาตร สัญลักษณ์โดดเด่นแห่งเขาคิชฌกูฏ

ทุกๆ วันขึ้น 1 ค่ำเดือน 3 ถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี เป็นระยะเวลา 2 เดือนเท่านั้นที่พุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธาจะสามารถขึ้นไปกราบสักการะรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ได้ โดยในปีนี้ตรงกับวันที่ 25 มกราคม-24 มีนาคม 2563


ตามคติความเชื่อของชาวพุทธ เชื่อกันว่าการได้กราบสักการะรอยพระพุทธบาทนั้นเปรียบได้กับการเข้าเฝ้าองค์พระพุทธเจ้า ซึ่งถือเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ หลายคนจึงต้องการไปสักการะรอยพระพุทธบาทให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต โดยเฉพาะ “รอยพระพุทธบาทพลวง” แห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ถือเป็นรอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดในเมืองไทย และขึ้นชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งยังเปิดให้นมัสการเพียงปีละครั้ง ในแต่ละปีจึงมีผู้ศรัทธาจำนวนมากเดินทางมายังเขาคิชฌกูฏเพื่อกราบไหว้ขอพรในสิ่งที่หวัง

ทุกคนมุ่งหน้าสู่รอยพระพุทธบาทและหินลูกบาตร
พระพุทธบาทพลวงเป็นรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร อยู่บนยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 1,050 เมตร ถูกค้นพบใน พ.ศ.2397 แต่การเดินทางขึ้นไปสักการะในขณะนั้นยังทำได้ยากลำบากเนื่องจากเป็นพื้นที่เขาสูงในป่าทึบ

ต่อมาใน พ.ศ.2515 “หลวงพ่อเขียน” หรือพระครูธรรมสรคุณ เจ้าอาวาสวัดกระทิง เจ้าคณะอำเภอมะขาม และกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏในขณะนั้น ได้เป็นผู้บุกเบิกทางขึ้นสู่รอยพระพุทธบาทพลวง จนสามารถนำรถยนต์ขึ้นเขาคิชฌกูฏได้เป็นครั้งแรก จากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาเส้นทางขึ้นยอดเขาให้ดีและปลอดภัยยิ่งขึ้น มาจนถึงปัจจุบัน

หลวงพ่อเขียนเป็นพระเกจิที่มีชื่อเสียงโดดเด่นทางด้านจิตตภาวนา ท่านสามารถเดินเท้าขึ้นเขาคิชฌกูฏได้อย่างคล่องแคล่วและชำนาญ นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้บุกเบิกตำนานการจัดงานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวงบนเขาคิชฌกูฏในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 3 ถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี จนกลายเป็นประเพณีสำคัญของจันทบุรีจวบจนวันนี้ ก่อนที่ท่านจะมรณภาพไปเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2555 สิริอายุ 82 ปี 62 พรรษา

รอยพระพุทธบาทพลวง
นอกจากรอยพระพุทธบาทพลวงอันเป็นไฮไลท์ของเขาคิชฌกูฏแล้ว อีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่ตั้งโดดเด่นเคียงคู่กันก็คือ “หินลูกพระบาท” หรือ “หินลูกบาตร” ก้อนหินใหญ่รูปทรงคล้ายบาตรคว่ำ ตั้งตระหง่านอยู่ริมหน้าผา เป็นร่มเงาให้แก่รอยพระพุทธบาทเสมอมา

หินลูกบาตรถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติสรรค์สร้างอันน่าทึ่งแห่งยอดเขาคิชฌกูฏ ที่หินก้อนใหญ่ยักษ์เช่นนี้สามารถตั้งอยู่บนชะง่อนผาที่ลาดเอียงอย่างมั่นคง ดูโดดเด่นจนบางครั้งคล้ายกับลอยอยู่เหนือลานหิน จึงเป็นเรื่องเล่าขานกันว่าหินลูกบาตรนี้ลอยอยู่เหนือพื้นดิน โดยเล่าต่อกันมาว่าเคยมีคนทดลองเอาเส้นด้ายลอดผ่านก้อนหินนี้ได้

ผู้คนมากมายบริเวณลานพระพุทธบาท

ดังนั้นผู้ที่ขึ้นไปกราบสักการะรอยพระพุทธบาทพลวงแล้วก็มักจะมาปิดทองที่หินลูกบาตร มาสัมผัสก้อนหินเพื่อความเป็นสิริมงคล และเราอาจเห็นผู้คนไปก้มๆ เงยๆ ส่องอยู่ใต้ฐานก้อนหิน อาจจะเพื่อดูว่าหินก้อนนี้ลอยอยู่จริงหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะส่องเพื่อหาเลขเด็ดกันเสียเป็นส่วนใหญ่


ความเชื่อที่ว่าหินลอยได้อาจจะฟังดูเป็นเรื่องอภินิหารที่แต่งเติมเสริมสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับหินลูกบาตร แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ต้องถือเป็นเรื่องน่าทึ่งมากทีเดียวที่ก้อนหินขนาดใหญ่เช่นนี้สามารถทรงตัวอยู่บนชะง่อนผาได้โดยไม่ตกหล่น

ส่องดูใต้หินลูกบาตร
แต่ความลับที่ว่าหินก้อนนี้ตั้งตระหง่านอยู่ได้อย่างไรนั้น มีคำอธิบายด้านธรณีวิทยาที่ทำให้เราไขกระจ่าง โดยข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณีกล่าวว่า “เขาคิชฌกูฏ” หรือเดิมเรียกว่าเขาพระบาทพลวง ตั้งอยู่ในเทือกเขาสอยดาว เป็นเทือกเขาหินแกรนิตมวลไพศาล (Granite batholith) เกิดขึ้นจากหินหนืด (Magma) ที่เหลวร้อนภายใต้โลกและมีปริมาณมหาศาล แทรกซอนดันตัวขึ้นมาใกล้ผิวโลก แล้วแข็งตัวเป็นหินแกรนิตครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 100 ตร.กม. แกรนิตมวลไพศาลนี้เกิดขึ้นในยุคจูแรสซิกหรือประมาณ 190 ล้านปีมาแล้ว

ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาอันเป็นสาเหตุของการเกิดของหินลูกบาตร หรือที่ทางธรณีวิทยาเรียกว่า “หินเทิน” (หินทรงตัว) โดยมีลักษณะเป็นหินก้อนกลมขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 เมตร วางตั้งอยู่บนพื้นหินแกรนิตซึ่งมีลักษณะนูนโค้ง สอดรับกับฐานของหินเทินซึ่งมีลักษณะแบนเว้า เอียงเทเข้าร่องกันอย่างพอเหมาะเหมือนมีใครจับเอาก้อนหินขึ้นมาวางไว้บนยอดเขา แต่ตั้งอยู่ในลักษณะที่ล่อแหลมเสมือนจะกลิ้งหลุดออกไปจากพื้นในวันใดวันหนึ่ง ลักษณะเช่นนี้ทางธรณีวิทยาเรียกว่า หินทรงตัว (Balancing Rock)

ป่าเขารอบข้างมองเห็นไปได้ไกล

การเกิดของหินเทินนี้อธิบายต่อได้ว่า เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเปลือกโลกที่ทำให้พื้นผิวโลกบริเวณแกรนิตมวลไพศาลยกตัวเป็นพื้นที่สูง แล้วพื้นที่สูงนี้ได้รับการเกลี่ยระดับให้ราบลงอันเป็นกระบวนธรรมชาติการที่ทำให้ผิวโลกราบเรียบ หินส่วนนอกสุดผุพังและผุกร่อนไป แกรนิตมวลไพศาลจึงโผล่พ้นจากการปกปิด และถูกทำลายจากตัวกลางต่างๆ เช่น อุณหภูมิซึ่งทำให้เนื้อหินแกรนิตแตกออกเป็นกาบ (Exfoliation) เหมือนกาบกะหล่ำปลี น้ำเป็นตัวกัดเซาะทำลายให้เนื้อหินส่วนที่มีรอยแตกหลุดออกจากกันง่ายยิ่งขึ้น


ทิศทางของรอยแยก รอยแตก รอยเลื่อน อาจมีได้ตั้งแต่ตั้งฉาก เอียงเป็นมุมต่างๆ จนถึงแนวนอน ในกรณีที่มีรอยแยกในแนวนอนเกิดขึ้นร่วมด้วยนั้น การทำลายในแนวนอนจะเป็นไปได้ช้ากว่าแนวอื่นๆ เนื่องจากถูกปิดทับและน้ำหนักที่กดทับ ดังนั้นผิวส่วนที่สัมผัสกับบรรยากาศ จึงถูกทำลายให้มนกลมเปลี่ยนลักษณะไปในขณะที่ส่วนฐานยังไม่เปลี่ยนลักษณะ

ทิวทัศน์ของอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ
เมื่อก้อนหินส่วนที่อยู่รอบข้างถูกนำพาออกไปจากแหล่งกำเนิด หินส่วนที่เหลือบางก้อนจึงมีลักษณะเสมือนเป็นหินที่ได้รับการโยกย้ายมาจากที่อื่นมาวางไว้ แต่แท้ที่จริงแล้ว หินก้อนนี้ก็คือส่วนหนึ่งของพื้นหินนั่นเอง นี่แหละคือเหตุผลที่ว่าหินลูกบาตรขนาดใหญ่ตั้งอยู่อย่างมั่นคงผ่านกาลเวลามาได้อย่างไร

ส่วนตรงพื้นหินใกล้ๆ กับบริเวณที่หินเทินตั้งอยู่นั้น มีรอยกะเทาะของเปลือกหินเป็นรูปร่างต่างๆ ร่องรอยรูปหนึ่งมีขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ดูคล้ายรอยเท้าคน ได้รับการเรียกชื่อว่า “รอยพระพุทธบาท” นอกจากนั้นก็ยังมีก้อนหินรูปทรงต่างๆ ซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติทางธรณีวิทยาที่นำมาผูกโยงกับตำนานพระพุทธศาสนา อาทิ ศิลาเจดีย์ ถ้ำฤาษี ลานแข่งรถพระอินทร์ หินบาตรพระโมคคัลลานะ หินรูปคล้ายเต่าและช้างขนาดยักษ์ เหล่านี้ก็เป็นจุดน่าชมต่างๆ บนเขาคิชฌกูฏ

ผู้คนแน่นตลอดเส้นทางเดิน โดยเฉพาะในพระและวันหยุด

สำหรับการเดินทางขึ้นไปกราบสักการะรอยพระพุทธบาทพลวงและสัมผัสหินลูกบาตรนั้น จะต้องนั่งรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อขึ้นไปบนเขาและเดินเท้าต่อไปยังยอดเขา โดยในปีนี้มีจุดขึ้นรถกระบะ 2 จุดด้วยกัน คือ คิวรถขึ้นเขาวัดกระทิง และคิวรถขึ้นเขาวัดพลวง (สามารถนำรถส่วนตัวไปจอดที่บริเวณวัด) มีค่ารถอยู่ที่ขาไป 100 บาท ขากลับ 100 บาท และค่าเข้าอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏเด็ก 10 บาท ผู้ใหญ่ 20 บาท โดยรถกระบะมีให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง


สภาพเส้นทางที่รถวิ่งจะเป็นทางดินขึ้นเขาสูงชัน ใช้เวลาราว 30 นาทีรถก็จะขึ้นมาถึงลานพระสีวลี ซึ่งเป็นจุดที่ต้องเดินเท้าต่อเพื่อไปยังลานพระพุทธบาทอันเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท มีระยะทาง 1.2 กิโลเมตร ทางเดินเป็นบันไดเดินได้สะดวก


ไหว้พระและปิดทองบริเวณลานพระสีวลี
คนที่ขึ้นไปกราบสักการะรอยพระพุทธบาทแล้วมักจะเดินต่อไปจนถึงจุดที่เรียกว่า “ผ้าแดง” ที่อยู่ห่างออกไปอีกราว 500 เมตร เพื่อไปผูกผ้าสีแดงที่เขียนคำอธิษฐานไว้ เล่ากันว่าสามารถขออะไรก็ได้เพียง 1 อย่าง แต่ทางเดินไปค่อนข้างจะลาดชัน ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก โดยจุดที่ผูกผ้าแดงนั้นแท้จริงแล้วเป็นจุดสิ้นสุดของเส้นทางบนเขาคิชฌกูฏที่เราสามารถเดินไปได้เพราะต่อไปจากนั้นจะเป็นหุบเหว จึงมีการผูกผ้าสีแดงไว้เพื่อเตือน แต่ภายหลังกลายเป็นความเชื่อว่าเป็นจุดผูกผ้าแดงเพื่อขอพร

ในระหว่างเส้นทางเดินจะไม่มีร้านค้าจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม มีเพียงจุดเติมน้ำดื่มให้บริการ ควรเตรียมอาหารมาเองหรือกินมาให้พร้อม ส่วนธูปเทียนและดอกไม้สามารถไหว้ได้บริเวณพระสีวลีเท่านั้น ทั้งนี้ขอให้ทุกท่านช่วยกันรักษาความสะอาด ไม่ทิ้งขยะบนเขาตลอดเส้นทาง ซึ่งนอกจากจะเป็นการรักษาธรรมชาติแล้ว ยังถือเป็นการแสดงความเคารพต่อสถานที่ ซึ่งจะทำให้การเดินทางไปกราบรอยพระพุทธบาทครั้งนี้ได้บุญกุศลสูงสุด

เส้นทางเดินในช่วงแรก

ผู้คนจำนวนมากที่ตั้งใจขึ้นมาสักการะรอยพระพุทธบาท

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager


ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Travel MGR



กำลังโหลดความคิดเห็น