xs
xsm
sm
md
lg

“ราชรถ ราชยาน” น้อมส่งเสด็จ ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

Facebook :Travel @ Manager
ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ราชรถ ราชยาน เป็นหนึ่งในเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงฐานานุศักดิ์ของผู้ใช้ การใช้ราชรถ ราชยานในราชสำนักนั้น มีมาแต่ครั้งโบราณกาล ปรากฏหลักฐานชัดเจนในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นราชประเพณีสืบเนื่องต่อมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์(ที่มา : กรมศิลปากร)

ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช การอัญเชิญพระบรมศพจากพระมหาปราสาทไปสู่พระเมรุมาศ หรืออัญเชิญพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศมาสู่พระบรมมหาราชวัง พระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุหรือลอยพระอังคาร ตามโบราณกาลจะอัญเชิญด้วยขบวนพระราชอิสริยยศ ซึ่งเรียกว่า “ริ้วขบวน”

การจัดริ้วขบวนเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นสิ่งที่สำคัญ จึงต้องบูรณะและตกแต่งราชรถ รวมทั้งราชยาน คานหาม ให้พร้อมสำหรับการอัญเชิญพระบรมศพ พระบรมอัฐิ และบรมราชสรีรางคาร รวมทั้งการซักซ้อมการเคลื่อนขบวนให้งดงามประหนึ่งราชรถเคลื่อนบนหมู่เมฆส่งเสด็จสู่สวรรค์

โดยขบวนพระบรมราชอิสริยยศครั้งนี้ มีจำนวน 6 ริ้วขบวน ได้แก่
เชิญพระโกศทองใหญ่โดยพระยานมาศสามลำคาน
ริ้วขบวนที่ 1 เชิญพระโกศทองใหญ่จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทโดยพระยานมาศสามลำคาน ไปยังพระมหาพิชัยราชรถหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

ริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถโดยเกรินบันไดนาค จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง ในริ้วขบวนประกอบด้วยขบวนทหารนำและตาม มีราชรถโยง ราชรถโปรยข้าวตอกดอกไม้ ราชรถพระนำ

ริ้วขบวนที่ 3 เชิญพระโกศทองใหญ่ลงจากพระมหาพิชัยราชรถโดยเกรินบันไดนาค ประดิษฐานพระโกศทองใหญ่บนราชรถปืนใหญ่ เวียนพระเมรุมาศโดยอุตรวัฏ (เวียนซ้าย) 3 รอบ แล้วเชิญพระโกศทองใหญ่ประดิษฐานบนพระจิตกาธาน
พระที่นั่งราเชนทรยาน ในริ้วขบวนที่ 4
ริ้วขบวนที่ 4 เชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานในบุษบกพระที่นั่งราเชนทรยาน และเชิญพระบรมราชสรีรางคารขึ้นประดิษฐานในพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย จากพระเมรุมาศเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ขบวนพระบรมราชอิสริยยศเชิญพระบรมราชสรีรางคารโดยพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย แยกเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารพักไว้ที่พระศรีรัตนเจดีย์ ขบวนพระบรมราชอิสริยยศเชิญพระโกศพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน เข้าสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประดิษฐานที่บุษบกแว่นฟ้าทอง

ริ้วขบวนที่ 5 เชิญพระโกศพระบรมอัฐิ โดยพระที่นั่งราเชนทรยานจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ริ้วขบวนที่ 6 ขบวนกองทหารม้า เชิญพระบรมราชสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรถยนต์พระที่นั่งไปบรรจุที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และ วัดบวรนิเวศวิหาร
พระมหาพิชัยราชรถ
สำหรับริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครั้งนี้ ประกอบด้วยราชรถ ราชยาน ดังนี้

พระมหาพิชัยราชรถ
ราชรถสำคัญที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ใช้ในการอัญเชิญพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์ และพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อใช้ในการอัญเชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก สำหรับออกพระเมรุในการถวายพระเพลิงในปี พ.ศ.2339 โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นราชรถขนาดใหญ่ตามแบบพระราชประเพณีที่เคยมีมาครั้งกรุงศรีอยุธยา
พระมหาพิชัยราชรถ ที่มีการบูรณะและตกแต่งใหม่
ลักษณะเป็นราชรถทรงบุษบกขนาดใหญ่ มีขนาดกว้าง 4.85 เมตร ยาว 18 เมตร (เฉพาะตัวรถ 14.10 เมตร) สูง 11.20 เมตร หนัก 13.70 ตัน ใช้กำลังพลชักลาก 216 คน สร้างด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกตกแต่งด้วยชั้นเกรินประดับกระหนกเศียรนาค กระหนกท้ายเกรินและรูปเทพพนมโดยรอบ

สำหรับพระราชพิธีอัญเชิญพระโกศพระบรมศพครั้งนี้ได้จัดสร้างล้อประดับพระมหาพิชัยราชรถขึ้นใหม่ครั้งแรกในรอบ 200 ปี และประดับกระจกพระมหาพิชัยราชรถใหม่ทั้งองค์ ปิดทองในส่วนที่ชำรุด รวมทั้งยังมีการจัดสร้างฉัตร ผ้าลายทองแผ่ลวดธงสามชายประจำงอนราชรถ และผ้าวิสูตรใหม่ เพื่อให้ราชรถมีความงดงาม
เกรินบันไดนาค
ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้อัญเชิญพระโกศพระบรมศพขึ้นหรือลงจากราชรถ คือ “เกรินบันไดนาค” โดยใช้การหมุนกว้านเลื่อนแท่นที่วางพระโกศขึ้นไปตามรางเลื่อนไม้จำหลักรูปนาค (ลักษณะการใช้งานเหมือนลิฟท์ในปัจจุบัน) ซึ่งแท่นที่วางพระโกศมีลักษณะเป็นแท่นสี่เหลี่ยม ขอบฐานแกะสลักลายปิดทองประดับกระจก ท้ายเกรินเป็นพื้นลดระดับลงมา มีลักษณะคล้ายท้ายสำเภา สำหรับเจ้าพนักงานภูษามาลาขึ้นนั่งประคองพระโกศพระบรมศพ
ราชรถน้อย
ราชรถน้อย
ราชรถน้อยมีจำนวน 3 องค์ ลักษณะเป็นราชรถทรงบุษบก ขนาดเล็กกว่าพระมหาพิชัยราชรถ ทำด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทำหน้าที่เป็นรถพระนำ (อ่านพระอภิธรรมนำกระบวน) เรียกอย่างย่อว่า “รถสวด” ทำหน้าที่เป็นรถโปรยข้าวตอก เรียกอย่างย่อว่า “รถโปรย” และ สำหรับโยงภูษาโยงจากพระบรมโกศ เรียกอย่างย่อว่า “รถโยง”

พระยานมาศสามลำคาน
เป็นยานที่มีคานหามขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้จำหลักลวดลายลงรักปิดทอง มีพนักโดยรอบ 3 ด้าน และมีคานหาม 3 คาน จึงเรียกว่า พระยานมาศสามลำคาน ใช้สำหรับอัญเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ไปประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ ที่จอดเทียบรออยู่ใกล้พลับพลายก บริเวณทิศตะวันออกของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระราชยานองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อใช้อัญเชิญพระบรมโกศพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นครั้งแรก
ราชรถปืนใหญ่
ราชรถปืนใหญ่
เป็นราชรถที่อัญเชิญพระโกศพระบรมศพ พระศพ ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงรับราชการทหารเมื่อครั้งดำรงพระชนม์ชีพ แทนพระยานมาศสามลำคานตามธรรมเนียมเดิมจากพระบรมมหาราชวังสู่พระเมรุมาศ หรือพระเมรุ และแห่อุตราวัฏ (เวียนซ้าย) รอบพระเมรุมาศ 3 รอบ ซึ่งธรรมเนียมใหม่นี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพจอมพลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช

ราชรถปืนใหญ่ประกอบด้วยราชรถส่วนหน้าสำหรับหีบบรรจุกระสุน และราชรถส่วนหลังสำหรับประดิษฐานพระบรมโกศขณะเวียนพระเมรุมาศโดยอุตราวัฏ ก่อนอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระเมรุมาศ โดยในพระราชพิธีครั้งนี้มีการออกแบบส่วนประกอบเพิ่มเติมคือ ล้อที่ 3 และมือจับประคองราชรถปืนใหญ่ส่วนหลัง
พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย
พระที่นั่งราเชนทรยาน และ พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย
พระที่นั่งราเชนทรยาน เป็นพระราชยานที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ลักษณะเป็นทรงบุษบก ย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาซ้อน 5 ชั้น สร้างด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก พนักพิงและกระจังปฏิญาณแกะสลักเป็นภาพเทพพนมไว้ตรงกลาง และมีรูปครุฑยุดนาคประดับที่ฐาน พระที่นั่งราเชนทรยานใช้ในการอัญเชิญพระบรมโกศพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศท้องสนามหลวง เข้าสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ส่วนพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย มีการจัดสร้างองค์ใหม่ในงานพระราชพิธีครั้งนี้ เพื่อใช้ในการอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร จากพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวงไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยปรับแบบจากพระที่นั่งราเชนทรยาน แต่มีขนาดเล็กลง ลงรักปิดทองประดับกระจกทั้งองค์ โครงสร้างไม้สักทองทรงบุษบก
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager
กำลังโหลดความคิดเห็น