xs
xsm
sm
md
lg

“ภูสอยดาว”ลานสนสวยสูงเสียดฟ้า ตระการตา“ทุ่งดอกหงอนนาค”ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
ทุ่งดอกหงอนนาคบนลานสน มนต์เสน่ห์แห่งภูสอยดาว ดึงดูดให้ผู้คนขึ้นมาเยือนอยู่มิเสื่อมคลาย
“ลานสนสูงเสียดฟ้า
ภูผาสายธารทิพย์ใส
หงอนนาคเต็มทุ่งไพร
หนาวจับใจภูสอยดาว”

คำขวัญที่บ่งบอกมนต์เสน่ห์และตัวตนของดินแดนแห่งภูสูง ป่าสนสวย รุ่มรวยดอกไม้งาม นามว่า “ภูสอยดาว” ได้เป็นอย่างดี

หัวใจสีเขียว เที่ยวภูสอยดาว
ทุ่งดอกหงอนนาคบนลานสนภูสอยดาว
ภูสอยดาว ตั้งอยู่ในเขต“อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว” อุทยานฯที่มีพื้นที่ครอบคลุม 2 จังหวัด คือ อุตรดิตถ์ และ พิษณุโลก โดยในส่วนของยอดภูสอยดาวที่เป็นไฮไลท์สำคัญทางการท่องเที่ยวนั้น อยู่ใน อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์

อย่างไรก็ดีนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ทั้งทาง จ.อุตรดิตถ์ และ จ.พิษณุโลก

สำหรับการเดินทางสู่ภูสอยดาวของผมกับพรรคพวกในทริปนี้ เราไปทาง จ.อุตรดิตถ์ เพราะต้องการไปแวะหม่ำ“ทุเรียนลับแล”(อ.ลับแล)ที่มีทั้งหมอนทอง ก้านยาว และหลง-หลินลับแล อันขึ้นชื่อในเรื่องของความอร่อย ซึ่งนี่ถือเป็นช่วงโค้งท้ายๆของฤดูทุเรียนของลับแล ก่อนที่จะเวียนมาให้อร่อยอีกทีก็ในอีกหนึ่งปีข้างหน้า(ใน อ.ลับแล ยังมีอาหารถิ่นขึ้นชื่ออีกหลากหลาย อาทิ ข้าวแคบ หมี่พัน ข้าวพันผัก กระบองทอด เป็นต้น)
ทุเรียน หลงลับแล
หลังอิ่มอร่อยจากทุเรียนลับแล เราเดินทางไปชมวิวและกินข้าวเย็นกันที่“เขื่อนสิริกิติ์”(อ.ท่าปลา) ก่อนจะไปพักค้างกันใน อ.น้ำปาด ที่เป็นอีกหนึ่งประตูสู่ภูสอยดาว ซึ่งวันนี้ที่อำเภอน้ำปาดมีที่พักผุดขึ้นมาไม่น้อย อันเนื่องมาจากเป็นดินแดนที่มีบรรยากาศดี อากาศหนาวเย็น ที่สำคัญคือมีภูสอยดาวเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

เช้าวันรุ่งขึ้น หลังพักผ่อนตุนพลัง เราเดินทางจาก อ.น้ำปาด สู่อุทยานแห่งชาติภูสอยดาวอันเป็นที่ตั้งของภูสอยดาวกันตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อไปจัดเตรียมสัมภาระ ส่วนหนึ่งให้ลูกหาบแบกขึ้นไป อีกส่วนหนึ่งพวกเราแบกขึ้นไปเอง โดยจุดชั่งน้ำหนักและจัดเตรียมสัมภาระวันนี้ เปลี่ยนจากหน้าโถงที่ทำการอุทยานฯที่ผมเคยไปใช้บริการ มาเป็นแถวใกล้ๆป้ายที่ทำการอุทยานฯ
จัดเตรียมสัมภาระ ส่วนใหญ่ให้ลูกหาบ บางส่วนแบกขึ้นไปเอง
เมื่อจัดเตรียมสัมภาระ นัดแนะกับลูกหาบกันเป็นเรียบร้อย จะมีรถอีแต๊กมารับพวกเราวิ่งนำส่งไปยังบริเวณน้ำตกภูสอยดาว ที่อยู่ห่างไปประมาณ 1 กม.กว่าๆ

อนึ่งนักท่องเที่ยวที่จะขึ้นไปพิชิตภูสอยดาวในฤดูกาลนี้ ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานสุโขทัย(รับผิดชอบพื้นที่สุโขทัย,กำแพงเพชร,อุตรดิตถ์) ได้จับมือกับอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จัดกิจกรรมท่องเที่ยวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้นในชื่อ “เที่ยวด้วยหัวใจสีเขียว” (Green Heart)
หัวใจสีเขียว เที่ยวภูสอยดาว เมื่อนำขยะขึ้นไปให้เก็บลงมาทิ้งข้างล่าง
กิจกรรมนี้หลักๆแล้วก็คือ การนำขยะบนภูสอยดาวกลับลงมาทิ้งข้างล่าง ทั้งขยะที่ตัวเองนำขึ้นไป หรือขยะที่ตกค้างที่เกิดจากน้ำมือของคนมักง่าย(ทิ้งไว้) ถ้าพบเห็นก็เก็บลงมาทิ้งยังจุดแยกขยะด้านล่างที่ทางอุทยานฯจัดไว้ให้ และโพสต์ภาพการเก็บขยะลงเฟสบุ๊คของตัวเอง(พร้อมทำตามกติกาอีกเล็กน้อยตามรายละเอียดในลิงค์นี้ เที่ยวด้วยหัวใจสีเขียว หรือดูรายละเอียดด้านล่าง) ก็จะได้รับของที่ระลึกจาก ททท.สุโขทัย ที่มีจำนวนจำกัด

น้ำตกภูสอยดาว
ยอดภูสอยดาว(2,102 เมตร)ในวันที่เกิดปรากฏการณ์น้ำตกหมอกไหลลอยอ้อยอิ่ง
ภูสอยดาว ถือเป็นอีกหนึ่งภูในตำนานของคนเที่ยวป่า(ตามมาตรฐานทั่วไป)ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความโหดหิน ในการเดินจากพื้นราบตีนภูสู่ลานสนบนยอดภู

ดังนั้นใครที่จะขึ้นไปพิชิตยอดภูสอยดาว จำเป็นต้องดูศักยภาพในการเดินของตัวเอง และควรเตรียมตัวฟิตซ้อมร่างกายมาก่อนล่วงหน้า เพื่อที่จะได้เดินขึ้น-ลงเขา ได้อย่างไม่ยากลำบาก แถมยังสนุกเพลิดเพลินอีกต่างหาก

สำหรับคนกรุงฯนั้น หากทำงานในตึกออฟฟิศก็ลองเดินขึ้นบันไดออฟฟิศดู(กรณีที่ไม่ได้ทำงานที่ชั้นหนึ่ง) หรือซ้อมด้วยการเดินขึ้นลงสะพานลอย และที่ดีที่สุดก็คือการเดินขึ้นบันไดรถไฟฟ้า
รถอีแต๊ก รับนักท่องเที่ยวจากจุดชั่งสัมภาระสู่น้ำตกภูสอยดาว
หลังผมกับเพื่อนๆกินข้าวเช้าตุนพลังไว้เสร็จสรรพ รถอีแต๊กขับพาเรามาส่งยังจุดเริ่มออกเดินบริเวณน้ำตกภูสอยดาว ซึ่งจากจุดนี้มีระยะทางเดินขึ้นเขา 6.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินขึ้นประมาณ 4-6 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นสำหรับบางคนเพราะเส้นทางส่วนใหญ่มีสภาพสูงชัน

เพราะฉะนั้นช่วงที่ยังฟิต เรี่ยวแรงยังดีควรแวะเที่ยวชมความสวยงามของน้ำตกภูสอยดาวที่มีสายน้ำชุ่มฉ่ำกันเสียก่อน(หลายๆคนมีความคิดว่าขาเดินกลับลงมาค่อยแวะเที่ยวก็ได้ แต่เท่าที่พบเจอส่วนใหญ่เมื่อเดินลงมาจะเหนื่อยล้าหมดเรี่ยวแรง พลอยทำให้หมดกะจิตกะใจที่จะชมความงามของน้ำตกภูสอยดาวไปด้วย)
น้ำตกภูสอยดาว ชั้นแรก(ภูสอยดาว)
น้ำตกภูสอยดาว ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 1268 เป็นน้ำตกที่มีสายน้ำไหลเย็นชุ่มฉ่ำตลอดทั้งปี มี 5 ชั้นด้วยกัน แต่ละชั้นมีชื่อคล้องจองสัมผัสกัน ฟังไพเราะเพราะพริ้ง ไล่ไปจากชั้น 1-5 ได้แก่ ภูสอยดาว สกาวเดือน เหมือนฝัน กรรณิการ์ และสุภาภรณ์

5 เนิน ไม่เพลินเลย

จากน้ำตกภูสอยดาวชั้นแรกที่มีสายน้ำชุ่มฉ่ำ เราเดินเลาะสายน้ำไต่ระดับขึ้นไป ระหว่างทางมี“ศาลเจ้าพ่อภูสอยดาว”(ตั้งอยู่ทางซ้ายมือ) ให้แวะสักการะขอพร ขอให้เดินทางปลอดภัยขึ้น-ลง เขาโดยสวัสดิภาพ
เส้นทางเดินขึ้นเขาช่วงแรก ผ่านน้ำตกภูสอยดาวชั้นสอง
ต่อจากนั้นจะเป็นน้ำตกภูสอยดาวชั้นสอง(สกาวเดือน) และเส้นทางเดินขึ้นบันไดเหล็ก ที่พ้นจากนี้ไปทางเดินแม้จะมีขึ้นเขา ลงเขาบ้าง แต่ยังคงเดินสบายดีอยู่ ระหว่างทางมี กลุ่มต้นไม้ใหญ่ 3 ต้น คือ ไทร ตะแบก และลำพูป่า ที่ขึ้นยืนต้นตระหง่านสูงใหญ่อยู่ติดๆกัน ซึ่งทางอุทยานฯเขาตั้งชื่อกลุ่มต้นไม้นี้อย่างน่าฟังว่า “สามเฒ่าผู้ยิ่งใหญ่

พ้นจากนี้ไปทางเดินเริ่มลาดชันขึ้น ก่อนจะนำไปสู่เส้นทางผ่านเนินต่างๆที่ส่วนใหญ่มีสภาพสูงชัน มีทางเดินในแนวระนาบราบๆแค่ประมาณ 10-20%
เส้นทางเดินในช่วงแรกก่อนถึงเนินส่งญาติ
สำหรับเส้นทางเดินขึ้นเขาจากตีนภูสู่ลานสนยอดภูสอยดาว เราต้องเดินผ่าน 5 เนิน หลักๆด้วยกัน ได้แก่

1.“เนินส่งญาติ”เนินแรกของภูที่รอต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยความสูงชัน มีบันไดเหล็กให้เดินขึ้นในเส้นทางสูงชันหลายช่วง พร้อมๆกับเรื่องเล่าขานอันเป็นที่มาของชื่อเนินว่า เคยมีคนเดินขึ้นมาถึงที่นี่แล้ว หมดแรงไปต่อไม่ไหว เลยต้องส่งให้ญาติไปต่อ ส่วนตัวเขานั้นเดินกลับลง
ทางเดินขึ้นภูสอยดาวในหน้าฝนจะพบสีสันเล็กๆของพวกเห็ด มอส ดอกไม้ป่า ได้ตลอดทาง
2.“เนินปราบเซียน” มีความชันน้อยกว่าเนินส่งญาติให้ผ่อนแรงลงมาหน่อย แต่อย่างไรก็ดีเนินนี้ไม่ว่าเซียนหรือเทพเดินป่าก็โดนปราบหมดแหละ

3.“เนินป่าก่อ” ตั้งชื่อตามสภาพภูมิประเทศที่มีต้นก่อหรือต้นโอ๊คขึ้นอยู่มาก

4.“เนินเสือโคร่ง” มาจากชื่อต้นกำลังเสือโคร่งที่มีอยู่แถวนั้นหลายต้น เปลือกของมันชาวบ้านนำมาต้ม ดองเหล้า บำรุงกำลังได้ดีทีเดียว
พักเหนื่อย และยืนให้กำลังใจเพื่อนๆบนเนินมรณะ
และ 5. “เนินมรณะ” เนินสุดท้ายที่มีสภาพต่างไปจากเนินอื่นๆ คือเป็นเนินโล่งชันดิกมีแต่ทุ่งหญ้าและไม้พุ่มเล็กๆไร้ต้นไม้ใหญ่ให้อาศัยร่มเงา อีกทั้งยังมีลมพัดแรง ในวันที่แดดแรงๆช่วงที่กำลังเดินขึ้นเดินนี้มันช่างโหดหินสุดติ่งดีจริงๆ แต่นั่นยังไม่เท่ากับบางปีที่อากาศร้อนมากๆ ที่นี่จะเกิดไฟป่าเผาผลาญ บรรยากาศมันช่างน่ากลัวสมชื่อเนินมรณะเสียจริงๆ
สายหมอกลอยปกคลุมตามหลืบเขาบนเส้นทางเนินมรณะ
อย่างไรก็ดีในเส้นทางเดินขึ้นเนินมรณะ ผมขอแนะนำว่าควรเดินขึ้นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆปีนป่ายด้วยความระมัดระวัง และควรหยุดพักหันหลังมามองวิวทิวทัศน์ในเส้นทางที่เดินไต่ขึ้นมาบ้าง เพราะวิวทิวทัศน์ตามจุดพักต่างๆในเส้นทางขึ้นเนินมรณะนั้นสวยงามไม่น้อย ในวันที่ฟ้าเป็นใจสามารถมองเห็นวิวของทะเลภูเขาได้อย่างสวยงามกว้างไกล ส่วนในวันฟ้าหลังฝนตกใหม่ๆจะมีทะเลหมอกลอยอ้อยอิ่งปกคลุมตามหลืบเขา ดูน่าประทับใจไม่น้อย และช่วยลดทอนความเหนื่อยล้าจากการเดินขึ้นเขามาได้เป็นอย่างดี

ลานสน 2 แผ่นดิน
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติบนลานสวนภูสอยดาว
หลังเอาชนะความสูงชันของเนินมรณะ เส้นทางจะผ่านป่าทุ่งหญ้าที่เดินสบายขึ้น จากนั้นอีกไม่นานก็จะถึงยังบริเวณ“ลานสนภูสอยดาว” ที่เมื่อเดินขึ้นมาถึงจะได้พบกับป้าย “ผู้พิชิตลานสนภูสอยดาว” ที่ระดับความสูง 1,633 เมตร ซึ่งถือเป็นป้ายห้ามพลาดสำหรับผู้มาเยือนภูสอยดาว เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะไม่พลาดการมาถ่ายรูปกับป้ายๆนี้เก็บไว้เป็นที่ระลึก

ขณะที่ยอดสูงสุดของภูสอยดาวนั้นอยู่ที่ 2,102 เมตร สูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย มีระยะทางจากลานบนภูสอยดาวไปยอดสูงสุดประมาณ 3 กม. ใช้ระยะทางเดินไป-กลับ ร่มๆวัน ประมาณ 7-8 ชม. ใครอยากพิชิตต้องขอให้เจ้าหน้าที่นำทางเป็นพิเศษ ซึ่งทางอุทยานฯจะเปิดให้ขึ้นเฉพาะช่วงเดือน พ.ย.-ม.ค. ของทุกฤดูกาล
ลานสนภูสอยดาว ที่ระดับความสูง 1,633 เมตร
จากป้ายเมื่อเดินไปจะเข้าเขตของพื้นที่ลานสนภูสอยดาวที่มีเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่(บางข้อมูลว่ามีเนื้อที่ราว 3,000 ไร่)

ลานสนภูสอยดาว เป็นลานสนสามใบตามธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย อีกทั้งยังเป็นลานสนที่มีความพิเศษอันโดดเด่นใน 2 ประการด้วยกัน
หลัก กม. 2 แผ่นดิน ฝั่งลาว
ประการแรกที่นี่เป็น “ลานสน 2 แผ่นดิน” เพราะเป็นลานสนที่มีมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาว(สปป.ลาว) โดยมีหลักกิโลเมตร 2 แผ่นดิน แบ่งเขตแดนไทย-ลาว อย่างชัดเจน นั่นก็คือ “หลักเขตชายแดนไทย-ลาว” หรือหลักเขต 2 แผ่นดิน ที่อยู่ห่างจากลานกางเต็นท์ทางด้านหลังไปประมาณ 1 กม.
หลัก กม. 2 แผ่นดินไทย-ลาว เป็นอีกหนึี่งจุดที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
หลักเขต 2 แห่งดินแห่งนี้ เป็นการก่อสร้างกันอย่างเท่าเทียม คือให้คนไทย 30 คน คนลาว 30 คน มาช่วยกันก่อหลักเขตกันคนละครึ่ง และแต่ละชาติต้องขนปูนขนทรายมาเอง แล้วก่อสร้างหลักเขตหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวที่ดูแล้วแนบเนียนไม่มีตำหนิให้ระคายตา

หลักเขต 2 แผ่นดิน ไทย-ลาว ถือเป็นจุดถ่ายรูปชั้นดี ส่วนเลยหลักเขตเข้าไปทางฝั่งลาวแถวๆริมหน้าผา(มีเส้นทางเดินชัดเจน) ก็เป็นจุดรับสัญญาณโทรศัพท์เพียงจุดเดียวบนลานสน ที่ใครและใครหลายๆคน จะมาโทรศัพท์ อัพรูป โพสต์รูป โพสต์สเตตัสลงเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม กันมือเป็นระวิง ชนิดที่ถ้าทำไม่สำเร็จคืนนั้นอาจนอนไม่หลับ
ลานสน 2 แผ่นดิน ฝั่งลาว
ในเส้นทางเดินชมหลักเขต ยังมีเส้นทางเดินชมธรรมชาติเป็นวงรอบในระยะทาง 2.28 กิโลเมตร พาไปสัมผัสกับความสวยงามสง่าของต้นสนสามใบ ที่ในช่วงหน้าฝนด้านล่างจะแวดล้อมไปด้วยทุ่งดอกหงอนนาค ส่วนหน้าหนาวก็จะมีดอกไม้พืชพันธุ์ชนิดอื่นๆขึ้นทดแทนกันมา

ส่วนใครที่ชอบชมวิว บนลานสนมีจุดชมวิวเลาะเลียบหน้าผาหลายจุดให้ทัศนา รวมไปถึงจุดชมพระอาทิตย์ตก ที่ในวันท้องฟ้าอากาศเป็นใจ นี่นับเป็นจุดชมพระอาทิตย์ลับฟ้าที่สวยงามมากอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทยเลยทีเดียว

ทุ่งดอกหงอนนาคใหญ่ที่สุดในเมืองไทย
ทุ่งดอกหงอนนาคบนลานสนภูสอยดาว
บนลานสนภูสอยดาวยังมีอีกหนึ่งความพิเศษที่ถือเป็นมนต์เสน่ห์สำคัญของภูสอยดาวนั่นก็คือ ความเป็นดินแดนแห่งสายหมอกและดอกไม้ป่านานาพันธุ์ โดยเฉพาะกับ“ดอกหงอนนาค” ที่ถือเป็นไฮไลท์สำคัญให้นักเดินทางรุ่นแล้วรุ่นเล่าขึ้นมาพิชิตภูสอยดาวแห่งนี้

ดอกหงอนนาคมีชื่อเรียกอื่นๆเช่น หญ้าหงอนเงือก น้ำค้างกลางเที่ยง เนื่องจากเป็นดอกไม้ที่หุบยามเช้า แต่จะบานในเมื่อมีแสงแดด และส่วนล่างของดอกมักจะมีน้ำค้างเกาะติดอยู่เป็นหยดใสสวยงาม จนได้ชื่อว่า “น้ำค้างกลางเที่ยง”
ดอกหงอนนาค นางเอกแห่งวสันต์ฤดูบนภูสอยดาว
ดอกหงอนนาค ถือเป็นนางเอกแห่งวสันต์ฤดูบนภูสอยดาว เพราะเป็นพืชล้มลุกที่แม้มีดอกออกทั้งปี แต่มันจะออกดอกมากในช่วงหน้าฝน มีทั้งดอกสีชมพูอมม่วง สีม่วงน้ำเงิน และสีขาว ซึ่งบนภูสอยดาวจะเป็นดอกหงอนนาคสีชมพูอมม่วง และมีหงอนนาคดอกสีขาวขึ้นแซมบ้างอยู่นิดหน่อยชนิดนับต้นได้ เพียงแต่ว่าต้องสอดส่ายสายตาหาดูให้ดี
ดอกหงอนนาคสีขาว มีออกดอกแทรกแซมอยู่บ้าง
สำหรับมนต์เสน่ห์ของทุ่งดอกหงอนนาคบนภูสอยดาวนั้น จะเป็นดอกหงอนนาคที่มีดอกใหญ่(กว่าทางภาคอีสาน) ที่สำคัญคือดอกหงอนนาคที่นี่จะพร้อมใจกันเบ่งบานเป็นท้องทุ่งขนาดใหญ่ จนได้ชื่อว่า

“ภูสอยดาวเป็นดินแดนแห่งทุ่งดอกหงอนนาคที่ใหญ่ที่สุดและสวยงามที่สุดในเมืองไทย”
ทุ่งดอกหงอนนาคบนลานสนภูสอยดาว
ดอกหงอนนาคบนภูสอยดาว จะพร้อมใจกันเบ่งบานในช่วงกลางฤดูฝน ตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค.-ปลายเดือน ก.ย. และจะบานเต็มที่ในช่วงราวเดือน ส.ค.-ก.ย. ของทุกปี โดยการขึ้นมาพิชิตลานสน เราจะได้ใกล้ชิดดอกหงอนนาคแบบสุดๆ เพราะที่ลานกลางเต็นท์นอนนั้น แวดล้อมไปด้วยทุ่งดอกหงอนนาค ชนิดเดินไปไม่กี่ก้าวก็ได้ถ่ายรูปกับดอกหงอนนาคสวยๆกันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
ทุ่งดอกหงอนนาคบนลานสนภูสอยดาว
ใช่ว่าจะมีแต่ทุ่งดอกหงอนนาคแสนสวยเท่านั้น บนลานสนภูสอยดาวยังมีดอกไม้ กล้วยไม้ที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ สร้อยสุวรรณา เอนอ้า ชมพูนุช ชมพูเชียงดาว เหลืองพิศมร เอื้องแซะภูกระดึง มณีเทวา(กระดุมเงิน) เป็นต้น (สอบถามช่วงออกดอกบานของดอกไม้ กล้วยไม้ชนิดต่างๆได้จาก อช.ภูสอยดาว)
อีกหนึ่งสีสันของทุ่งดอกไม้บนลานสนภูสอยดาวในช่วงต้นหนาว
นับได้ว่าภูสอยดาวเป็นอีกหนึ่งสวรรค์ของคนรักดอกไม้ ที่นักท่องเที่ยวต้องดูแต่ตา มืออย่างต้อง ถึงแม้อยากจะใกล้ชิดดอกหงอนนาคใจแทบขาด แต่ก็ต้องเดินชมในเส้นทางที่ทางอุทยานฯกำหนด หรือรอยเส้นทางเก่าที่ค่อนข้างปลอดภัยต่อการเหยียบย่ำทำลายดอกหงอนนาคและดอกไม้อื่นๆ

ใกล้ตา ไกลตีน แต่ใกล้ใจ

สำหรับผมแม้การขึ้นภูสอยดาวในปีนี้(ต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา) จะไม่ใช่การมาเที่ยวภูสอยดาวครั้งแรก แต่ว่าเมื่อมีโอกาสได้มาเยือนคราใด ภูสอยดาวก็ยังคงอวลไปด้วยมนต์เสน่ห์ให้ประทับใจอยู่ไม่เสื่อมคลาย
ทุ่งดอกหงอนนาคบนลานสนภูสอยดาว
เพราะถึงแม้เส้นทางพิชิตภูสอยดาวจะสูงชัน ยากลำบากโหดหิน แต่เมื่อเราขึ้นไปพิชิตมันได้แล้ว สิ่งสำคัญนอกเหนือไปจากความงดงามของธรรมชาติก็คือ ภูสอยดาวสอนให้เราได้เรียนรู้ว่า การต่อสู้กับความยากลำบากจากอุปสรรคที่เผชิญผ่าน สิ่งสำคัญคือการพิชิตใจตัวเอง

นับได้ว่าภูสอยดาว ที่แม้จะดู“ใกล้ตา”แค่เอื้อม(จากเส้นทางนั่งรถผ่านเข้าสู่อุทยานฯ) แต่มันช่าง“ไกลตีน”ต่อการเดินขึ้นไปพิชิตยอดยิ่งนัก

อย่างไรก็ดีแม้จะไกลตีนแค่ไหน???

แต่ภูสอยดาวก็ยังคงอยู่“ใกล้ใจ”ผมเสมอ

******************************************
เซลฟี่ในม่านหมอก
“อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว” มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด ท้องที่ตำบลม่วงเจ็ดต้น ตำบลนาขุม ตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก โดยมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวในเส้นทางขึ้นภูสอยดาวตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยมุ่น อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์

การเดินทางสู่ภูสอยดาว อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว หากเดินทางด้วยรถยนต์ มี 2 เส้นทางหลักๆด้วยกัน คือ
จนท.อุทยานฯ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของผู้พิชิตภูสอยดาว
-เส้นทางจากอุตรดิตถ์-น้ำปาด(ทางหลวงหมายเลข 1047) ระยะทางประมาณ 133 กม. โดยอออกจาก จ.อุตรดิตถ์ พอถึง อ.น้ำปาด ให้เลี้ยวรถเข้าไปใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1239 แล้วขับรถไปอีกประมาณ 46 กม. แล้วจึงเลี้ยวรถเข้าไปใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1268 ขับไปอีกประมาณ 19 กม. ก็จะถึงยังที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว

-เส้นทางพิษณุโลก-ชาติตระการ ใช้ทางหลวงหมายเลข 11 แล้วแยกไปทางหลวงหมายเลข 1246 ถึงบ้านแพะ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1143 มุ่งตรงไปจนถึง อ.ชาติตระการ เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1237 วิ่งตรงไปถึงแยกทางหลวงสาย 1268 เลี้ยวซ้ายไปที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว รวมระยะทาง 188 กม.
กางเต็นท์ท่ามกลางแวดล้อมของดอกหงอนนาค
ส่วนผู้ที่เดินทางด้วยรถประจำทาง มีรถโดยสารปรับอากาศ ออกจากตลาดอำเภอเมือง(ตลาดต้นโพธิ์) จ.อุตรดิตถ์ ไปอำเภอน้ำปาดทุกชั่วโมง ตั้งแต่ 08.00-17.00 น. ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง จากนั้นจะลงรถที่หน้าโรงพยาบาลอำเภอน้ำปาด และจะมีท่ารถสองแถว ต้องเหมารถต่อไปภูสอยดาวอีกช่วงหนึ่ง

สำหรับผู้ที่นั่งรถโดยสารมาลงที่สถานีขนส่ง จ.พิษณุโลก จะมีรถเก๋ง/รถกระบะเช่าเหมาพร้อมคนขับมาส่งที่ที่ทำการอุทยานฯ ค่าใช้จ่ายสำหรับรถเก๋งประมาณ 3,200-3,600 บาท ตามแต่ต่อรอง (ราคารวมไป-กลับ นั่งได้ 4-5 คน)
ชาบูดอย ความอร่อยที่มีเฉพาะบนภูสอยดาว
บนลานสนภูสอยดาวไม่มีไฟฟ้าและร้านค้า ร้านอาหาร นักท่องเที่ยวต้องเตรียมไฟฉาย เสบียงอาหาร น้ำดื่มและเครื่องใช้ต่างๆ ไปเอง โดยทางอุทยานฯ คิดค่าลูกหาบขึ้น-ลง กิโลกรัมละ 30 บาท ต่อเที่ยว ด้านบนมีเต็นท์ เครื่องนอน เตา ของทางอุทยานฯให้เช่า และมีห้องน้ำไว้บริการ แต่ต้องเช่าถังน้ำเพื่อไปตักน้ำจากลำธารมาใช้เอง

นอกจากนี้ล่าสุดยังมี“ชาบูดอย” ทั้งชุด ทั้งหมู ผัก เห็ด ไข่ ไว้บริการส่งถึงบนลานสน(ฟรีค่าลูกหาบ) ชุดละ 399 บาท(4-5 คน) ผู้สนใจติดต่อได้ที่ร้านค้าสวัสดิการ 095-629-9528,091-625-8839

อุทยานฯภูสอยดาว เปิดให้เที่ยวชมตั้งแต่ 1 ก.ค. - 15 ม.ค. ของทุกฤดูกาล สำหรับช่วงที่ดอกหงอนนาคบานเต็มที่จะอยู่ในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. (ปีนี้ 2560 ทางอุทยานฯแจ้งว่าทุ่งดอกหงอนนาคจะบานเต็มที่ไปถึงกลางเดือน ก.ย. ก่อนจะค่อยๆร่วงโรย ควรโทร.สอบถามข้อมูลทุ่งดอกหงอนนาคบานจากทางอุทยานฯก่อน)
ลูกหาบ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของผู้พิชิตภูสอยดาว
สำหรับปีนี้นักท่องเที่ยวที่จะขึ้นภูสอยดาว ททท. สำนักงานสุโขทัย(รับผิดชอบพื้นที่สุโขทัย,กำแพงเพชร,อุตรดิตถ์) ได้จับมือกับอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จัดกิจกรรมท่องเที่ยวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้นในชื่อ “เที่ยวด้วยหัวใจสีเขียว”(Green Heart) เพื่อเป็นร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีกติกาง่ายๆดังนี้

1. เดินเท้าขึ้นยอดภูสอยดาวและเก็บขยะ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ช่วยกันเก็บขยะของตนเอง หรือขยะที่ตกค้างจากบนยอดภูสอยดาวนำลงมาที่จุดแยกขยะ บริเวณด้านล่างที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว

2. ถ่ายภาพตัวเองพร้อมถุงขยะที่เก็บลงมาจากยอดเขา ส่งมายัง ททท.สำนักงานสุโขทัย ด้วยการส่งข้อความไปใน inbox facebook : Tat Sukhothai fanpage หรือ www.facebook.com/tatsukhothaifanpage

3. โพสต์ภาพนั้น ในหน้า facebook ของตนเอง แล้วตั้งค่าเป็นสาธารณะ พร้อมกับติดแฮชแท็ก #tatsukhothai #อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว #เที่ยวด้วยหัวใจสีเขียว

4. แจ้งชื่อ - ที่อยู่ - ขนาดเสื้อ เพื่อรับของที่ระลึก หมดเขต 30 ก.ย. 60 หรือจนกว่าของจะหมด

5 .ททท.สุโขทัย ตรวจสอบความถูกต้อง ของการเข้าร่วมกิจกรรม และจัดส่งของที่ระลึกถึงบ้านนักท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวที่สนใจขึ้นภูสอยดาวและร่วมกิจกรรมเที่ยวด้วยหัวใจสีเขียว สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุโขทัย (ดูแลพื้นที่ สุโขทัย กำแพงเพชร อุตรดิตถ์) โทร, 0-5561-6228-9, อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว โทร, 095-629-9528,0-5543-6001-2
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น