พูดถึง “บางลำพู” หลายคนอาจนึกถึงย่านตลาดเก่าที่มีของกินน่าอร่อยหลากหลาย หรือนึกถึงถนนพระอาทิตย์ ถนนข้าวสาร แหล่งชิลล์แฮงเอาท์ และยังเป็นศูนย์กลางย่านเกสต์เฮาส์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในกรุงเทพฯ
แต่น้อยคนจะนึกถึง “คลองบางลำพู” คลองที่เปรียบเป็นดังเส้นเลือดสำคัญของบางลำพูในอดีต อาจเป็นเพราะบทบาทของคลองในแง่ที่เป็นเส้นทางคมนาคมค้าขายในวันนี้แทบไม่เหลือ จะมีเพียงภาพจำว่าเป็นคลองน้ำดำ คนทั่วไปจึงแทบไม่รู้จักคลองบางลำพู
วันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ได้มารู้เรื่องราวของคลองบางลำพูให้มากขึ้น เมื่อ กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร ได้จัดกิจกรรมเดินเท้าเรียนรู้ประวัติศาสตร์เมือง ครั้งที่ 4 ตามนโยบายวิถีพอเพียง (Common Ways of Living) ย่านเดินเพลินกรุงรัตนโกสินทร์ ตอน “ฟื้นคลองบางลำพู คูพระนคร” พาเราไปรู้จักกับ “คลองบางลำพู” คลองเก่าแก่ที่มีความเป็นมาที่น่าสนใจ และสองข้างทางริมคลองก็ล้วนแล้วแต่เป็นย่านเก่า ที่กลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในย่านเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน
เราเริ่มต้นเส้นทางเดินเที่ยวกันที่ “สวนสันติชัยปราการ” สวนสาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นที่ตั้งของ “ป้อมพระสุเมรุ” และบริเวณด้านข้างสวนนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของ “คลองบางลำพู” หรือ “คลองรอบกรุง”
ความเป็นมาของคลองสายนี้เริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังและขยายอาณาเขตพระนครให้กว้างออกไป ในครั้งนั้นได้มีการขุดคลองเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือที่ตำบลบางลำพู ผ่านวัดบวรนิเวศวิหาร วัดเทพธิดาราม วัดสระเกศ วังบูรพาภิรมย์ ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้บริเวณเหนือวัดสามปลื้มหรือวัดจักรวรรดิราชาวาส เรียกว่า “คลองรอบกรุง”
การขุดคลองในครั้งนั้นได้สร้างกำแพงประตูเมือง ป้อมปราการเลียบแนวคลองรวม 14 ป้อมด้วยกัน (ปัจจุบันเหลือเพียง 2 ป้อมคือ ป้อมพระสุเมรุและป้อมมหากาฬ) ส่วนคลองรอบกรุงที่ขุดขึ้นนี้ก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละช่วง เช่น ช่วงตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดสังเวชฯ จนถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศเรียกว่า "คลองบางลำพู" เมื่อผ่านสะพานหันเรียก "คลองสะพานหัน" เมื่อผ่านวัดเชิงเลนเรียก "คลองวัดเชิงเลน" และช่วงสุดท้ายก่อนบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาเรียก "คลองโอ่งอ่าง" เพราะเคยเป็นแหล่งค้าขายเครื่องดินเผาของชาวมอญและชาวจีน
ดังนั้นคลองบางลำพูที่เราจะเดินเที่ยวกันในวันนี้ก็คือส่วนหนึ่งของคลองรอบกรุง คือบริเวณตั้งแต่สวนสันติชัยปราการไปจนถึงแยกสะพานผ่านฟ้านั่นเอง โอกาสดีอีกอย่างหนึ่งในวันนี้ก็คือเราได้ฟังเรื่องราวในอดีตของคลองบางลำพูจาก คุณสิทธิชัย ผลหิตตานนท์ ประธานประชาคมฟื้นฟูวัฒนธรรมย่านบางลำพู ที่เกิดและเติบโตที่บางลำพู ได้เห็นบรรยากาศของคลองบางลำพูทั้งยามรุ่งเรืองและร่วงโรย
คุณสิทธิชัยเล่าว่า เมื่อก่อนนี้คลองบางลำพูถือเป็นย่านการค้าที่คึกคัก ชาวสวนจากนนทบุรีและจากฝั่งธนฯ จะขนสินค้าทั้งผักผลไม้ในสวนใส่เรือพายมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่คลองบางลำพู บริเวณสะพานนรรัตน์สถาน (สี่แยกบางลำพู) จะเป็นตลาดทุเรียน ทุเรียนนนท์จากสวนจะขึ้นจากเรือมาขายที่นี่ เรือข้าวสารก็เข้ามาทางคลองบางลำพูแล้วเข้าไปขายในคลองเล็กๆ ที่เป็นถนนข้าวสารปัจจุบัน มีเรือหางยาว เรือขายของวิ่ง
“ถัดไปอีกหน่อยจะเป็นตลาดนานา ที่นี่จะเป็นตลาดที่ไม่เคยหลับ เรียกว่าเป็นตลาดโต้รุ่งแห่งแรกของไทยก็ว่าได้ เป็นแหล่งรวมอาหารอร่อย ทั้งผัดไทย สลิ่ม แม่ค้าสวย มีนักเลงมาจีบแม่ค้าแบบในยุค 2499 แต่ตลาดรื้อไปเมื่อปี 2530 สร้างเป็นโรงแรมนูโวซิตี้ขึ้น ร้านอาหารในตลาดก็เลิกไปบ้าง บ้างก็ย้ายไปใกล้ๆ แล้วก็มีตลาดยอด เป็นตลาดดังในสมัยนั้น เป็นย่านที่มีผู้คนคึกคักตลอดเวลา” สิทธิชัยเล่า
แต่ภายหลังการคมนาคมทางบกสะดวกกว่า อีกทั้งมีการสร้างประตูน้ำในคลองบางลำพูขึ้นจึงเป็นการตัดเส้นทางคมนาคมและการค้าขายทางเรือ เมื่อเรือไม่วิ่งน้ำก็นิ่ง จากนั้นน้ำก็เน่า...
“จุดเริ่มต้นของประชาคมฟื้นฟูวัฒนธรรมย่านบางลำพูเกิดขึ้นในปี 2553 เมื่อผมเห็นฝรั่งเดินผ่านคลองแล้วปิดจมูก เราเลยเริ่มมาคิดอยากฟื้นฟูให้คลองนี้กลับมาดีขึ้น เลยมารวมตัวกันในชุมชนเริ่มจากเทน้ำชีวภาพทุก 10 วัน ครั้งละ 1,200 ลิตร เดือนละ 3 ครั้ง ทำมา 2 ปีแล้ว ตอนนี้สภาพน้ำเริ่มดีขึ้น มีคนมาปล่อยปลา มีการทำผ้าป่าฟื้นฟูคลอง พายเรือเก็บขยะในคลอง นั่นก็เพื่อสร้างนิสัยและจิตสำนึกที่ดีให้คนริมคลอง” สิทธิชัยเล่าปิดท้าย
รู้จักคลองบางลำพูมากขึ้นแล้ว ทีนี้เราไปเดินลัดเลาะตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งสองฝั่งริมคลองบางลำพูกันบ้าง เราเดินออกจากสวนสันติชัยปราการ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยไปตามถนนลำพู ข้ามสะพานฮงอุทิศที่ทอดข้ามคลองบางลำพูมายังด้านหลังวัดสังเวชวิศยาราม (หรือเดิมคือวัดบางลำพู) เพื่อจะมายัง “บ้านดุริยประณีต” ซึ่งเป็นสำนักดนตรีเก่าแก่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
ผู้ก่อตั้งสำนักดนตรีคือครูศุข ดุริยประณีต เจ้าของวงดนตรีไทยดุริยประณีต ต่อมาครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต บุตรสาว ได้รับช่วงต่อดูแลวงและเปิดบ้านให้เป็นสถานที่สอนดนตรีไทย สร้างประโยชน์ให้แก่วงการดนตรีไทยมากมายจนได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาการแสดง (คีตศิลป์ไทย) เมื่อปี 2536
ปัจจุบันครูสุดจิตต์เสียชีวิตไปแล้ว แต่ลูกๆ ยังคงสืบทอดเจตนารมย์ในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ยังคงเปิดสอนดนตรีไทยให้แก่นักเรียนนักศึกษาในวันเสาร์อาทิตย์ บ้านดุริยประณีตในวันหยุดจึงคึกคักและมีเสียงดนตรีไทยลอยมาไม่ขาดสาย
เราเดินข้ามคลองกลับมาที่ริมถนนพระสุเมรุอีกครั้งเพื่อมาชม “พิพิธบางลำพู” พิพิธภัณฑ์ที่รวมเอาความเป็น “บางลำพู” มาไว้ที่นี่ ถ้าใครได้มาชมพิพิธบางลำพูก็จะได้รู้จักเสน่ห์ของบางลำพูอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น รู้จักทั้งชุมชนเก่าแก่และอาชีพที่หลากหลายของคนในชุมชน ทั้งการทำทอง การทำชุดโขน ทำขนม การเป็นแหล่งการค้า แหล่งช้อปปิ้ง ฯลฯ
อีกทั้งยังจะได้รู้ถึงความเป็นมาของสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ซึ่งเดิมเคยเป็น “โรงพิมพ์คุรุสภา” หรือ “โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช” มาก่อน อาคารเก่าแก่นี้เกือบจะถูกรื้อทิ้ง แต่ชาวบางลำพูได้ร่วมกันคัดค้าน ทั้งยังช่วยกันผลักดันจนสามารถขึ้นทะเบียนอาคารโรงพิมพ์คุรุสภาแห่งนี้เป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากรในปี 2544 และปัจจุบันก็ได้ใช้อาคารหลังนี้จัดทำเป็นพิพิธบางลำพูได้ในที่สุด
จากนั้นข้ามถนนแล้วเดินเข้าตรอกเล็กๆ มายัง “มัสยิดจักรพงษ์” หรือเดิมเรียกว่า “สุเหร่าวัดตองปุ” ที่นี่เป็นชุมชนชาวมุสลิมที่เริ่มก่อตั้งในราวรัชกาลที่ 1 เป็นคนมุสลิมเชื้อสายมลายูมาจากปัตตานี ที่มีฝีมือในการทำทองอย่างเชี่ยวชาญ
พูดถึงตัวมัสยิดจักรพงษ์ เป็นอาคารสองชั้นทาด้วยสีเหลืองสดใส ยังคงรูปแบบเดิมเมื่อครั้งก่อสร้างตึกใหม่แทนอาคารไม้หลังเดิมในราวปี 2508 เป็นชุมชนมุสลิมที่ถูกรายล้อมไปด้วยชุมชนชาวพุทธและวัดวาอาราม แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขเป็นเวลายาวนาน พื้นที่ของมัสยิดยังเป็นสถานที่ทำกิจกรรมของชุมชนส่วนร่วม เช่น กิจกรรมวันเด็ก เป็นต้น
เดินต่อมาบริเวณสี่แยกบางลำพู ข้าม “สะพานนรรัตน์สถาน” เพื่อมายัง “ศาลเจ้าพ่อหนู” ศาลเจ้าเล็กๆ ริมคลองบางลำพู มีความเชื่อว่า ผู้ที่มาขอพรจะประสบความสำเร็จสมหวังในเรื่องการค้าขาย โชคลาภ โดยศาลเจ้าพ่อหนูบางลำพูจะเปิดให้ประชาชนเข้ามาไหว้ขอพรได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 06.30-18.00 น.
จากศาลเจ้าพ่อหนูเราสามารถเดินเลียบไปตามทางเดินริมคลองอันร่มรื่น ชมบ้านเรือนห้องแถวทั้งเก่าและใหม่ริมคลองบางลำพู เดินมาไม่ไกลก็พบกับ “ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน” อันงดงามแห่งเดียวในฝั่งพระนคร อยู่ฝั่งตรงข้ามวัดบวรนิเวศ เมื่อยืนอยู่ที่ศาลพระเจ้าตากฯ แล้วจึงรู้ว่าวัดบวรฯ ก็มีท่าน้ำวัดด้วยเหมือนกัน เพราะเมื่อก่อนอาณาเขตของวัดอยู่ติดกับคลองบางลำพู แต่ภายหลังมีการตัดถนนพระสุเมรุแบ่งพื้นที่วัดเป็นสองฝั่ง บริเวณท่าน้ำนี้เป็นเขตอภัยทานสามารถมาให้อาหารปลากันได้
เราเดินข้ามสะพานข้ามคลองบางลำพูไปไหว้พระกันที่วัดบวรนิเวศ ก่อนจะเดินตรงมายังสี่แยกวันชาติ บริเวณนี้เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าจำพวกธงชาติ เสาธง ตราพระปรมาภิไธยย่อ พระบรมฉายาลักษณ์และตราสัญลักษณ์ต่างๆ มองเห็นธงชาติและธงสัญลักษณต่างๆ ปลิวไสวอัดแน่นเต็มหน้าร้าน เป็นเอกลักษณ์ของสี่แยกนี้เลยทีเดียว
ข้ามคลองบางลำพูอีกครั้งที่สะพานวันชาติมาเจอชุมชน “บ้านพานถม” ชุมชนเก่าแก่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีทักษะความสามารถในการทำเครื่องถม ซึ่งเป็นงานปราณีตศิลป์ ปัจจุบันที่ชุมชนบ้านพานถมยังคงหลงเหลือการทำเครื่องถมแบบดั้งเดิมครบถ้วนอยู่เพียงแห่งเดียวที่ “ห้างไทยนคร” อันเป็นร้านขายเครื่องถมเงินซึ่งเป็นงานภูมิปัญญางานช่างจากนครศรีธรรมราชที่มาตั้งร้านที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ พ.ศ.2472 และสืบทอดมาจนปัจจุบัน เป็นร้านเครื่องถมเงินร้านเดียวในกรุงเทพฯ และยังมีการผลิตอยู่ที่นี่ด้วย
ออกจากร้านแล้วข้ามถนนมายังทางเดินริมคลองบางลำพูอีกครั้ง คราวนี้เดินเลียบคลองเข้าสู่ท้ายซอยวัดปรินายก มุ่งหน้ามายังวัดปรินายกอันเป็นจุดมุ่งหมายสุดท้ายของเราในวันนี้ โดยเราได้เข้ามากราบ “พระสุรภีพุทธพิมพ์” พระพุทธรูปสุโขทัยอันงดงามที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ ก่อนจะเดินออกมายังถนนราชดำเนินบริเวณสะพานผ่านฟ้า ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นช่วงปลายคลองบางลำพู เมื่อเลยจากตรงนี้ไปก็จะเรียกว่าคลองมหานาค
และเป็นการปิดท้ายทริปเดินเท้า “ฟื้นคลองบางลำพู คูพระนคร” ที่ทำให้เราได้ชมและรู้จัก “คลองบางลำพู” มากขึ้น ตั้งแต่หัวคลองยันท้ายคลองเลยทีเดียว
หรือถ้าใครเคยมาเดินเท้าดูแล้วอยากเปลี่ยนบรรยากาศมาเป็นนั่งเรือเที่ยว ในตอนนี้ก็มีเอกชนมาเปิดดำเนินการเรือท่องเที่ยวคลองบางลำพู-ประตูน้ำ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจไม่น้อย หากใครอยากทดลองนั่งก็สามารถขึ้นได้ที่ประตูน้ำ หรือที่บริเวณท่าเรือริมคลองบางลำพู บริเวณใต้สะพานนรรัตน์สถาน หลัง ธ.ไทยพานิชย์ สนนราคา 200 บาทตลอดสายด้วยเช่นกัน
* * * * * * * * * * * * * *
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯได้ที่ กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร โทร.0 2225 7612-4 เฟซบุค www.facebook.com/tourismdivision หรือเว็บไซต์ www.bangkoktourism.com
* * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com