ในวันที่ 22 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ เป็นวันคล้ายวันมรณภาพของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หรือที่พุทธศาสนิกชนนิยมเรียกว่า “สมเด็จโต” หรือ "หลวงพ่อโต" ซึ่งท่านเป็นพระมหาเถระรูปสำคัญที่ได้รับความเคารพศรัทธานับถืออย่างมากในประเทศไทย แม้ว่าจะมรณภาพไปนานถึง 145 ปีแล้วก็ตาม แต่เรื่องราวของท่านยังคงเป็นที่เล่าขาน
อีกทั้ง “พระคาถาชินบัญชร” อันเป็นบทสวดมนต์บทหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมสวดมากที่สุดนั้น เชื่อกันว่า สมเด็จโตเป็นผู้ปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้นจากฉบับเดิมที่สันนิษฐานว่าพระเถระชาวล้านนาเป็นผู้แต่งและใช้เป็นพระคาถาสำคัญในพิธีกรรมตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และพระเครื่อง “พระสมเด็จ” ที่สมเด็จโตสร้างขึ้นก็ถือเป็นสุดยอดวัตถุมงคล เป็นหนึ่งในพระเบญจภาคี หรือสุดยอดพระเครื่องหายากและราคาแพงที่สุดในวงการพระเครื่องไทย
และเนื่องในโอกาสที่ใกล้วันคล้ายวันมรณภาพของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โตในครั้งนี้ จึงอยากขอพาทุกคนมายัง “วัดระฆังโฆษิตาราม” วัดที่สมเด็จโตเคยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสของในช่วงรัชกาลที่ 4-5 โดยเป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามยาวนานถึง 20 ปี
“วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “วัดระฆัง” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับท่าช้าง หรือตรงข้ามกับบริเวณพระบรมมหาราชวังนั่นเอง การเดินทางมายังวัดระฆังทางเรือจึงสะดวกสบายมาก สามารถนั่งเรือข้ามฟากมาจากท่าช้าง หรือจะนั่งเรือด่วนเจ้าพระยามาลงที่ท่าวังหลังแล้วเดินต่อมายังวัดระฆังก็ได้
ก่อนนี้วัดระฆังมีชื่อเดิมว่า “วัดบางหว้าใหญ่” เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดระฆังภายหลังในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เมื่อมีการขุดพบระฆังลูกหนึ่งซึ่งมีเสียงไพเราะมาก ซึ่งต่อมารัชกาลที่ 1 ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้นำระฆังลูกนั้นไปไว้ที่วัดพระแก้ว และโปรดให้สร้างหอระฆัง พร้อมทั้งระฆังอีก 5 ลูกไว้ให้แทน จึงเป็นที่มาของชื่อ “วัดระฆัง” นั่นเอง
หากอยากมากราบหลวงพ่อโตที่วัดระฆัง ต้องไปที่ “พระวิหารสมเด็จ” ซึ่งเป็นพระวิหารที่ประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระราชาคณะของวัด นี้ไว้ 3 องค์ ด้วยกัน คือ ซึ่งก็คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งประดิษฐานตรงกลาง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัด เสนีวงศ์) ประดิษฐานทางซ้ายมือ และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) ประดิษฐานอยู่ทางขวามือ ซึ่งทั้งสามท่านนี้เป็นพระภิกษุที่มีคนเคารพนับถืออย่างมาก มีคนเข้ามาสักการะท่านทั้งสามไม่ขาดสาย โดยมีเครื่องสักการะเป็นดอกไม้ มาลัยและหมากพลูต่างๆ
ภายในวิหารมีบทสวดพระคาถาชินบัญชรตัวใหญ่อ่านง่ายไว้ที่ด้านหลังองค์พระและบริเวณผนังด้านข้างให้ผู้ที่เข้ามากราบหลวงพ่อโตได้สวดตามอย่างสะดวก และเมื่อสวดจบแล้วก็จะปิดทองที่องค์ท่านทั้ง 3 เป็นอันเสร็จ
ส่วนบริเวณตรงข้ามกับพระวิหารสมเด็จ เป็นที่ตั้งของพระวิหารสมเด็จพระสังฆราช (สี) ซึ่งเป็นพระสังฆราชองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ สามารถเข้าไปกราบสักการะกันได้
เสร็จเรียบร้อยแล้วเข้าไปกราบพระในพระอุโบสถกันบ้าง พระอุโบสถของวัดระฆังนี้มีขนาดใหญ่โต ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปเนื้อทองสำริดปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ 4 ศอกเศษ เบื้องพระพักตร์มีรูปพระสาวก 3 องค์ นั่งประนมมือดุจรับพระพุทธโอวาท พระประธานองค์นี้ได้รับการยกย่องว่างดงามมาก เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ได้ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิดว่า “...ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆังพอเข้าประตูโบสถ์พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที...” ด้วยเหตุนี้จึงทรงถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกแด่พระประธานองค์นี้เป็นพิเศษ
อีกอย่างที่น่าชมก็คือภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถที่รังสรรค์โดยเสวกโท พระวรรณวาดวิจิตร (ทอง) จารุวิจิตร ซึ่งเป็นจิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 6 เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.2465 ภาพบนผนังด้านหน้าพระประธานเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์ และภาพเดียรถีย์ท้าแข่งรัศมีกับพระพุทธองค์ ส่วนด้านหลังเป็นภาพพระมาลัยขณะขึ้นไปนมัสการพระมหาจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ผนังด้านข้างเบื้องบนเขียนเป็นรูปเทพชุมนุม ตอนล่างเขียนภาพทศชาติชาดกฝีมืองดงามยิ่งนัก
อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของวัดระฆังที่ไม่ควรพลาดไปชมคือ “ตำหนักจันทน์” หรือ “หอพระไตรปิฎก” ซึ่งอยู่ทางด้านข้างของพระอุโบสถ มีรั้วกั้นเป็นสัดเป็นส่วนซ่อนตัวอยู่ในร่มไม้หนา หอไตรนี้เป็นตำหนักไม้แฝด 3 หลัง เดิมเป็นตำหนักและหอประทับนั่งของรัชกาลที่ 1 เมื่อตอนที่ยังเป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกฝ่ายขวา ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสิน แต่เมื่อต้องเสด็จไปตีเมืองโคราชจึงได้รื้อตำหนักนั้นมาถวายให้เป็นหอพระไตรปิฎกแก่วัดระฆัง หรือวัดบางหว้าใหญ่ในขณะนั้น
เมื่อมายืนอยู่ด้านหน้าตำหนักจันทน์จะมองเห็นซุ้มประตูตรงนอกชานดูโดดเด่นด้วยลวดลายแกะสลักไม้เป็นลายดอกไม้ ส่วนบานประตูของหอกลางแกะเป็นลวดลายนกวายุภักษ์และลายกนกเครือเถาสวยงาม ภายในมีพระบรมสาทิสลักษณ์ขนาดใหญ่ของรัชกาลที่ 1 ตั้งอยู่ในหอกลาง ส่วนปีกตำหนักด้านซ้ายและขวานั้นมีตู้พระไตรปิฏกเขียนลายรดน้ำปิดทองฝีมืองดงามอยู่ด้านละใบ ตู้นี้เป็นตู้ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งยังทรงพระยศเป็นเจ้าฟ้าฯทรงลงพระหัตถ์แกะลายร่วมกับครูช่างอยุธยาด้วยพระองค์เอง
หอพระไตรปิฏกนี้ได้มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่เมื่อคราวฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี และยังเคยได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี 2530 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย
มาวัดระฆังคราวนี้ไม่เพียงได้มาไหว้หลวงพ่อโต แต่ยังได้มาชมของดีอีกเพียบเลย และสำหรับใครที่อยากมากราบหลวงพ่อโตในวันคล้ายวันมรณภาพครบ 145 ปี และอยากร่วมทำบุญบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายแด่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และอดีตบุรพาจารย์แห่งวัดระฆังก็สามารถมาร่วมทำบุญเป็นเจ้าภาพกันได้ในวันพฤหัสบดีที่ 22 มิ.ย. ณ พระอุโบสถวัดระฆัง อีกทั้งในวันดังกล่าวทางวัดก็มีพิธีวันอาจาริยบูชา โดยมีการสวดพระคาถาชินบัญชรและพิธีมหาพุทธาภิเศก ปิดทองรูปเหมือนเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒนาจารย์ (โต พรหมรังสี) โดยจะเริ่มพิธีเวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ณ ศาลาการเปรียญวัดระฆังโฆษิตาราม สามารถมาเข้าร่วมพิธีกันได้เลย
* * * * * * * * * * * * * *
“วัดระฆังโฆสิตารามวรวิหาร” ตั้งอยู่บนถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร การเดินทางสามารถนั่งรถประจำทางสาย 19, 57, 83 สามารถนั่งเรือข้ามฟากจากท่าช้างไปยังท่าวัดระฆัง หรือนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาลงท่าวังหลัง แล้วเดินต่อมายังวัดระฆังได้
* * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com