เคยสงสัยกันไหมว่า สิ่งของที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ใครเป็นคนทำ แล้วทำขึ้นมาทำไม บางอย่างเป็นของใช้ในยุคก่อน ที่ผลิตขึ้นโดยบรรพบุรุษของคนไทย บางอย่างก็ยังมีใช้จนถึงปัจจุบันนี้ เพื่อให้หายสงสัยเสียที ฉันก็เลยมาที่นิทรรศการ “ไทยทำ..ทำทำไม” ที่ มิวเซียมสยาม
นิทรรศการ “ไทยทำ..ทำทำไม” รวบรวมเอาสิ่งของที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาไทยๆ มาไว้ด้วยกัน ว่ากันว่าคนไทยเป็นคนที่ช่างประดิษฐ์คิดค้น ด้วยเห็นจากหลักฐานที่มีการพัฒนาและสั่งสมองค์ความรู้ในการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ จนกลายมาเป็นภูมิปัญญาแบบไทยๆ และสิ่งของที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใช้เหล่านี้ก็ไม่ได้ซับซ้อน หรือต้องใช้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างมากมาย แต่เป็นสิ่งของที่ทำให้เราสามารถอยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเป็นสุข และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้
นิทรรศการนี้แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ห้อง โดยนำเสนอประเด็นที่เชื่อมโยงกับคนไทยใน 3 มิติ ซึ่งเมื่อเดินเข้ามาก็จะพบกับห้องแรก “ไทยเทค”
ห้องไทยเทคแสดงให้เราเห็นถึงกลไกเครื่องมือที่ทำขึ้นเพื่อช่วยผ่อนแรงในวิถีกสิกรรม ด้วยคนไทยเราแต่ดั้งเดิมก็มีอาชีพหลักคือการทำการเกษตร สิ่งของเครื่องใช้ที่ผลิตขึ้นมานั้นก็เพื่อให้สามารถทำการเกษตรได้สะดวกขึ้น อย่างเช่น เครื่องสีข้าวแบบมือ ที่จะใช้แรงในการผลักมือจับเพื่อให้คานหมุนเสียดสีกัน ช่วยขยี้ข้าวเปลือกให้หลุดออกจากเมล็ดข้าว หรือจะเป็น ระหัดวิดน้ำ ที่ช่วยทุนแรงคนในการวิดน้ำเข้านา ยังมี งอบ ที่เป็นหนึ่งในเครื่องจักสานที่ช่วยกันแดดกันร้อนเวลาออกท้องไร่ท้องนา
นอกจากสิ่งของที่เราเคยเห็น และรู้จักกันดีอยู่แล้ว สิ่งของบางอย่างก็ไม่ได้ใช้ และไม่จำเป็นต้องใช้อีกแล้ว อาจจะเนื่องด้วยมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ใหม่กว่า สะดวกกว่า จนทำให้สิ่งของเหล่านั้นถูกมองข้ามไป ไม่มีใครจำได้ ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีเสียงให้ได้ยินอีกต่อไป ภัณฑารักษ์รับเชิญ กนต์ธร เตโชฬาร จึงจัดทำเป็นงานศิลปะแนวจัดวาง “เสียงของไม่จำเป็น” ไปรับฟังเสียงจากสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เคยมีความสำคัญแต่ปัจจุบันนี้แทบจะไม่เห็นกันแล้ว
มาต่อกันที่ห้องถัดไป “ไทยธรรม?” เน้นประเด็นเรื่องสิ่งยึดเหนี่ยวทางในของคนไทยในยามที่มีทุกข์ ทั้งด้านพระธรรมคำสอนในพุทธศาสนา คำทำนายของแม่หมอ อิทธิปาฏิหาริย์ และเครื่องรางของขลัง
โดยด้านหน้าก็เป็นนิทรรศการ “มหัศจรรย์ พันลึก” โดยภัณฑารักษ์รับเชิญ ธนชัย อุชชิน ที่เลือกการจัดแสดงที่เน้นไปในด้านสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวเนื่องกับจิตวิญญาณ อย่างการใช้ความคิดแบบไทยๆ ประดิษฐ์สิ่งของเรียบง่ายเพื่อช่วยแบ่งเบาความทุกข์ในชีวิตประจำวัน ผสมผสานกับศิลปะ ความเชื่อ และศรัทธา อย่างเช่น โปงลาง หนึ่งในเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน ที่ให้เสียงเพลง ให้ความสนุกสนานกับผู้คน
ส่วนด้านในห้องไทยธรรม? เริ่มจากบริเวณซ้ายมือจะเห็นพระพุทธรูปตั้งอยู่ ด้านบนมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า “กงพัดสรงน้ำ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้สำหรับสรงน้ำพระพุทธรูปหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ประดิษฐ์ขึ้นจากกระบอกไม้ไผ่ มีการเจาะปล้องให้มีรูเล็กๆ เพื่อให้น้ำไหลผ่านออกมาก เมื่อกงพัดหมุน น้ำก็จะกระจายเป็นฝอยสาดไปทั่วพระพุทธรูป ตามความเชื่อว่าน้ำเป็นสัญลักษณ์ของความสะอาดบริสุทธิ์ เมื่อสรงน้ำพระก็จะช่วยชำระฝุ่นผงบนพระพุทธรูป เปรียบเสมือนการเตือนใจเราให้หมั่นชำระฝุ่นผงภายในใจด้วย
ส่วนด้านขวามือ มี “ตำราพรหมชาติ” อันเป็นวิธีการทำนายชะตาราศีของบุคคลบนพื้นฐานของวันเดือนปีเกิด เป็นหนึ่งในการพยากรณ์แบบโหราศาสตร์ไทย ใช้ภูมิปัญญาโบราณผ่านหลักสถิติเปรียบเทียบดวงดาว ใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในวันที่มีความทุกข์หรือหาทางออกของปัญหาไม่ได้
มาถึงห้องสุดท้าย “ไทย (โอ) ท็อป” กับภูมิปัญญาไทยพื้นบ้านมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน อย่างงานจักสานต่างๆ ที่ออกมาเป็นหมวก งอบ กระจาด กระบุง กระด้ง นอกจากจะใช้ประโยชน์ในด้านการเป็นภาชนะใส่ของ หรือสวมใส่กันแดด ก็ยังกลายมาเป็นสิ่งของประดับตกแต่งที่สวยงามและมีเอกลักษณ์
ในห้องนี้จะเห็น “รถตุ๊กตุ๊กหัวกบ” ที่อยู่ใจกลางห้อง เดิมนั้นเป็นรถบรรทุกสามล้อที่สั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ นำมาใช้ที่จังหวัดตรัง แต่ชาวตรังก็ปรับแต่งเพิ่มหลังคาแล้วนำมาใช้เป็นรถสาธารณะที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ แม้ตอนนี้จะเลิดผลิตไปแล้ว แต่ก็ยังคงมีผู้อนุกรักษ์เครื่องยนต์ให้ยังใช้งานได้ดี และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดตรัง
ทรงกลด บางยี่ขัน ภัณฑารักษ์รับเชิญ ได้แปลงห้องนิทรรศการนี้มาเป็น “คาเฟ่ไทยไทย” ร้านกาแฟเก๋ๆ ที่มีทั้งกาแฟสัญชาติไทยให้ดื่มด่ำพร้อมกับขนมหวานแบบไทยๆ รอบห้องตกแต่งด้วยสิ่งประดิษฐ์และผลิตภัณฑ์ไทยๆ ที่คุ้นตา ที่นั่งก็เป็นแบบเบาะนั่งพื้น มีโต๊ะตัวเล็กไว้วางของ ด้านข้างร้านมีตุ๊กตานางกวักที่ถือเป็นเทพีเรียกความเป็นมงคลและโชคลาภเข้าร้านค้า
ขนมไทยที่มีใช้ชิมที่ร้านอย่างเช่น ข้าวต้มมัด ขนมใส่ไส้ ตะโก้ ขนมตาล ขนมกล้วย ข้าวเหนียวสังขยา เป็นต้น หากสั่งมานั่งกินในร้านก็จะเสิร์ฟคู่กับน้ำชาจีนร้อนๆ ที่มาในถังน้ำชา มีผ้าบุและทำฝาปิดไว้เพื่อใช้น้ำชายังร้อนอยู่ได้นาน
ลองมานั่งเล่น ชิมขนมไทยๆ แวะพักผ่อนในบรรยากาศของใช้ไทยๆ ที่คุ้นเคยได้ที่ นิทรรศการ “ไทยทำ ... ทำทำไม”
* * * * * * * * * * * * * * * * *
นิทรรศการ “ไทยทำ ... ทำทำไม” จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ - 27 สิงหาคม 2560 ภายใน มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ถนนสนามไชย เขตพระนคร กทม. สามารถมาชมได้ใน วันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 10.00-18.00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2225-2777 ต่อ 543 หรือที่ www.museumsiam.org
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com