xs
xsm
sm
md
lg

9 หมู่บ้านท่องเที่ยว CIV สุดเจ๋ง! จุดเช็คอินสุดอันซีนแห่งปี 2017

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทุ่งนาเขียวขจีที่แม่ออนใต้ 1 ใน 9 หมู่บ้าน CIV
เปิดมิติใหม่ให้กับการท่องเที่ยวเมืองไทยได้อย่างน่าสนใจไม่น้อยเมื่อกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้นำ “โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV)” หนึ่งในโครงการไฮไลท์ที่พลิกโฉมการท่องเที่ยวและการสร้างสรรค์สินค้าผ่านการดึงเสน่ห์วิถีชุมชน โดยได้ประยุกต์นำทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาผสานกับเทคโนโลยี นวัตกรรม ก่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างกลมกลืน และเป็นการสร้างประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยวได้พบกับกลิ่นอายใหม่ๆ ของการท่องเที่ยวแบบเข้าถึงวิถีชีวิตและเรียนรู้รูปแบบวัฒนธรรม ได้ท่องเที่ยวกันแบบครบรส

สำหรับการท่องเที่ยวหมู่บ้าน CIV ประกอบไปด้วยชุมชนที่มีอัตลักษณ์และเสน่ห์ที่แตกต่างกันจำนวน 9 หมู่บ้านใน 9 จังหวัด ไล่เรียงตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ที่มีทั้งธรรมชาติที่สวยงาม วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ความอุดมสมบูรณ์ของความเป็นเมืองเกษตร รวมทั้งวิถีการท่องเที่ยว การผลิตสินค้า และบริการที่เก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร โดยพื้นที่เหล่านี้ยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีการเดินทางทั้งในรูปแบบ One Day Trip และ Overnight Trip ทั้งยังมีจุดท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจในแต่ละพื้นที่ที่ละไม่ต่ำกว่า 15 จุด

หมู่บ้านทั้ง 9 แห่งที่พร้อมให้นักท่องเที่ยวมาชม ชิม ช้อป จะมีที่ไหนบ้างนั้นไปชมกันเลย
บรรยากาศดีๆ ที่บ้านแม่ออนใต้
“พันนาพูเลา ร้อยเรื่องเล่า เมืองเก่าออนใต้”

เริ่มแอ่วเหนือกันที่ ชุมชนออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เมืองที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวอย่างมากมาย และเป็นสวรรค์ของคนรักบรรยากาศที่สดชื่นเขียวขจี การท่องเที่ยวในชุมชนแห่งนี้ นักท่องเที่ยวจะได้พบกับสถานที่ท่องเที่ยวทั้งทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติมากมาย อาทิ วัดป่าตึง วัดที่มีชื่อเสียงเรื่องหลวงปู่หล้าตาทิพย์และการเรียนรู้ประเพณีพื้นบ้านผ่านภาพวาดในวัด พระธาตุดอยโง้มที่ประดิษฐานกู่ (ที่เก็บอัฐิธาตุ) ของครูบาศรีวิชัย การตามรอยเส้นทางการพบช้างเผือกที่มีการค้นพบถึง 2 ครั้งใน 2 รัชสมัย ดอยม่อนจิ๋ง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงามที่ได้รับการขนานนามว่า “ฟูจิออนใต้” ความพิเศษบนเขาแห่งนี้ จะมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ และเป็นจุดชมวิวที่มองเห็นตัวอำเภอแม่ออน
การจักสานหวาย-ใบลาน ที่บ้านแม่ออนใต้
นอกจากนี้ ออนใต้ยังเป็นที่รวมของศิลปวัฒนธรรมล้ำค่า อาทิ สะล้อ ซอ ซึง การฟ้อนต่าง ๆ ซึ่งชาวบ้านทุกหมู่ยังมีการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมล้านนาโบราณ เช่น ประเพณีปี๋ใหม่เมือง แห่ไม้ก๊ำสะหลี (แห่ไม้ค้ำศรี) รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ อีกทั้งยังมีสถานที่อื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกหลากหลายไม่ว่าจะเป็น วัดป่าห้า (หลวงพ่อพระเจ้าทันใจ) โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอ่างเก็บน้ำห้วยลาน พิพิธภัณฑ์เตาเผาวัดเชียงแสน กาดวันติ๊ด (ตลาดนัดคนเดินวันอาทิตย์) เป็นต้น ทางด้าน

กิจกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อที่ห้ามพลาดในการเยือนชุมชนออนใต้นั้น นักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการอีดฝ้าย (ปั่นด้าย) ทอผ้า การจักสานหวาย-ใบลาน การนวดแผนไทยและทำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ (ยาหม่อง สบู่ แชมพู) กิจกรรมขันโตก ชมฟ้อน การทำบุญตานขวัญข้าวที่วัดป่าตึง การปั้นถ้วย ทั้งยังจะได้ช็อปสินค้าชุมชนที่ขึ้นชื่อ อาทิ เครื่องเซรามิกลายปลาคู่นก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชุมชนข้าวแต๋นน้ำแตงโมสูตรกวนน้ำตาลในตัว น้ำพริกรสเด็ดจากกลุ่มแม่บ้านป่าตึง ชาสมุนไพรรางจืดลุงเกษม เรียกได้ว่า มาที่นี่ที่เดียวก็เที่ยวได้แบบครบทุกกิจกรรมที่ต้องการกันเลยทีเดียว
วัดน้ำเกี๋ยน (โป่งคำ)
“ชีววิถีที่น้ำเกี๋ยน”

ใน อ.ภูเพียง จ.น่าน ที่ “บ้านน้ำเกี๋ยน” เป็นชุมชนซึ่งมีทั้งของดีและที่เที่ยวมากมายสไตล์ธรรมชาติที่โอบล้อม ชุมชนแห่งนี้ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมและมีภูมิปัญญาเรื่องการตีเหล็ก การทอผ้าลายโบราณต่าง ๆ ที่มีฝีมือ ซึ่งสถานที่สำคัญที่เป็นทั้งที่ท่องเที่ยวและศูนย์รวมใจของชาวตำบลน้ำเกี๋ยน ได้แก่ วัดน้ำเกี๋ยน (โป่งคำ) และคริสตจักรกันธาทิพย์กิตติคุณ
เสน่ห์ของบ้านน้ำเกี๋ยน
ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาตินั้นถือว่าเป็นไฮไลท์ของชุมชนแห่งนี้ เนื่องจากมีทรัพยากรป่าและนานาพืชพรรณที่อุดมสมบูรณ์มาก สามารถผสมผสานกับกิจกรรมการท่องเที่ยวได้อย่างหลากหลาย เช่น การปั่นจักรยานเข้าป่าชุมชนชมต้นใบหมี่ยักษ์อายุกว่า 100 ปี ต่อเนื่องถึงการฝึกเขียนตัวเมือง (เขียนอักษรล้านนา) ที่วัดโป่งคำ การเก็บผักที่อุโมงค์ผักในสวนของหมู่บ้านและทำอาหารเมืองที่จันสมโฮมสเตย์ การชมสวนมะต๋าว (ลูกชิด) สวนเศรษฐกิจพอเพียง

แต่ที่ห้ามพลาดที่สุดต้องยกให้กับกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีชื่อเสียงจากการผลิตของใช้ในครัวเรือนเพื่อลดรายจ่าย ลดการใช้เคมีภัณฑ์ สามารถผลิตน้ำยาอเนกประสงค์ชีวภาพ และได้รับการยกย่องให้เป็นชุมชนดีเด่นจากหลายหน่วยงาน เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงภูมิปัญญาเรื่องสมุนไพรมาใช้ในวิถีชีวิต สามารถสร้างสินค้าภายใต้แบรนด์ “ชีวาร์” จนสร้างชื่อเสียงให้กับศูนย์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ชุมชนยังขึ้นชื่อเรื่องผลิตภัณฑ์ออแกนิก ลูกประคบ ยาหม่อง สเปรย์ไล่ยุงตะไคร้หอม รวมทั้ง ข้าวแต๋นเซ็นชื่อที่สามารถหยอดหน้าเป็นชื่อต่าง ๆ เป็นต้นเอาเป็นว่าสำหรับใครที่กึ๊ดจะมาแอ่วเมืองเหนือก็อย่าลืมแวะเยี่ยมเยือนหมู่บ้านแห่งนี้กั๋นต้วยเน้อเจ้า
ผ้าหมักโคลน สินค้าชุมชนที่ขึ้นชื่อที่สุดที่บ้านนาต้นจั่น
“เกษตรพื้นบ้าน สืบสานวัฒนธรรม ล้ำค่าภูมิปัญญา”

ที่บ้านนาต้นจั่น อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายซ่อนตัวอยู่ สำหรับชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีความโดดเด่นด้วยสภาพภูมิประเทศที่โอบล้อมด้วยภูเขา สามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากบนที่สูง มีผืนนาที่เขียวขจีสลับด้วยสวนผลไม้ มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ น้ำตกสาวสองพันปี สวนผลไม้ ห้วยต้นไฮ (ป่าต้นน้ำ) จุดชมวิวที่เพิ่งค้นพบและมีจุดชมพระอาทิตย์ที่ขึ้นและตกที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง ทั้งยังสามารถกางเต้นท์นอนและแหงนคอนับดวงดาราที่เกลื่อนฟ้าตั้งแต่ย่ำค่ำจนย่ำรุ่ง และในช่วงหน้าฝน
ฝ้ายย้อมสีธรรมชาติที่บ้านนาต้นจั่น
นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับทะเลใบข้าวซึ่งเป็นภาพที่ชื่นตาชื่นใจ หลังจากการเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะหว่านปอเทืองเพื่อเป็นปุ๋ยบำรุงดินจนกระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ผืนนาสุดลูกหูลูกตานี้ก็จะถูกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอร่ามด้วยดอกปอเทือง ตามมาด้วยลานตะเลิ๊บเปิ๊บ ลานกิจกรรมหน้าศูนย์การท่องเที่ยวที่ทุกคนต้องเริ่มต้นเมื่อมาเยือนที่นี่ จุดนี้มีข้าวเปิ๊บหรือก๋วยเตี๋ยวพระร่วง ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่น การปรุงคล้ายกับข้าวเกรียบปากหม้อที่มีไส้ผักต่างๆ ราดด้วยน้ำก๋วยเตี๋ยว เพิ่มสีสันและรสชาติด้วยไข่ดาวนึ่ง หมูแดง หมูสับ ส่วนทางด้านกิจกรรมและผลิตภัณฑ์อันโดดเด่นที่รับรองว่าถ้าหากได้สัมผัสแล้วจะเพลินจนลืมเวลานั้นก็มีทั้งการนั่งรถเอวอ่อนชมสถานที่ การเรียนรู้ การทำตุ๊กตาบาร์โหนตาวงศ์ของเล่นจากภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สามารถหกคะเมนตีลังกาได้สมชื่อ การทำแชมพูสมุนไพร เป็นต้น

แต่ที่ห้ามพลาดที่สุดต้องยกให้กับการทำผ้าหมักโคลน สินค้าชุมชนที่ขึ้นชื่อที่สุด ซึ่งจะใช้โคลน จากที่ต่างๆ มาหมักผ้า เช่น บึง หนองน้ำ ท้องร่อง ใบไม้ ซึ่งผ้าชนิดนี้จะมีความนุ่มจากธาตุเหล็กในโคลน มีสีที่ต่างกัน และทอลายขิดที่งดงามได้กว่า 50 ลาย จนได้รับรางวัลระดับประเทศและนานาชาติมาแล้ว สำหรับใครที่อ่านแล้วยังไม่เห็นภาพก็ต้องรีบตามมาดูของจริงว่าที่แห่งนี้จะสวยงามขนาดไหน แต่ที่แน่ๆ ได้ยินมาว่าตอนนี้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลกันเข้าไปไม่ขาดสายแล้ว
อารยธรรมบ้านเชียง ร้อยเรียงล้ำค่า
“อารยธรรมบ้านเชียง ร้อยเรียงล้ำค่า”

มาทางภาคอีสานกันบ้าง ที่บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เมืองแห่งอารยธรรม 5,000 ปี ที่ยังคงไว้ซึ่งความมีชีวิตชีวา ชุมชนแห่งนี้นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวไทพวนหรือลาวพวน ซึ่งอพยพกันมาตั้งแต่ปลายสมัยกรุงธนบุรีและนำภูมิปัญญาต่างๆ ติดตัวมาด้วย โดยผู้ชายจะเก่งเรื่องงานหัตถกรรมประเภทจักสาน ทั้งกระบุง ตะกร้า จนถึงเครื่องมือหาปลา ส่วนผู้หญิงจะเก่งเรื่องการทอผ้า เช่น การมัดหมี่ และการย้อมคราม
เด็กน้อยชาวไทพวน
สำหรับทรัพยากรและกิจกรรมทางการท่องเที่ยวในชุมชนบ้านเชียงนั้น มีจุดที่น่าสนใจที่เป็นไฮไลท์มากมาย อาทิ การร่วมฟ้อนรำกับชาวไทพวน การเยี่ยมชมหลุมขุดค้น-พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งในวัดโพธิ์ศรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงการเขียนลายหม้อกับกลุ่มปั้นหม้อเขียนสี การสักการะศาลปู่ขุนเชียงสวัสดิ์ การสาธิตการสานกระติ๊บข้าว ตะกร้าไม้ไผ่ ดูสถาปัตยกรรมที่บ้านไทพวนโบราณ การร่วมกิจกรรมการทำผ้ามัดย้อมคราม และเลือกซื้อผ้าทอที่กลุ่มทอผ้าเทศบาลตำบลบ้านเชียง การพักผ่อนในโฮมสเตย์ นอกจากนี้ยังมีสถานที่อื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น บ้านไทพวนรับเสด็จ การสูดอากาศบริสุทธิ์ที่บึงนาคำ เจดีย์ดอกบัวกลางน้ำ ห้วยดินดำ(แหล่งดินสำหรับปั้นหม้อ) อีกด้วย

ทางด้านผลิตภัณฑ์ที่ต้องซื้อติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝากนั้นก็ต้องยกให้กับเครื่องดินเผาเขียนสี ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกจากกลุ่มคำอ้อ ผลิตภัณฑ์จักสานบ้านดงเย็น ผ้ามัดหมี่จากพวนคอลเลคชั่น นอกจากนี้ยังมีสินค้าทางด้านอาหารที่ต้องลิ้มลองได้แก่ แม่รำไพ ไส้กรอกอีสานสูตรสมุนไพร 5,000 ปี ข้าวต้มมัดใส่หอมแดงผัดสูตรไทพวน เป็นต้น สำหรับใครที่ยังไม่เคยเดินทางไปเที่ยวที่บ้านเชียง ลองแวะเข้าไปชมแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ได้ไม่มีวันหยุด ส่วนใครที่เป็นขาช็อปก็มีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่น่าซื้อน่าหารออยู่เพียบ
นาบัวในละแวกคลองมหาสวัสดิ์
“วิถีชุมชน คนคลองมหาสวัสดิ์”

ลงมายังภาคกลางกับจังหวัดเล็ก ๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ อย่างนครปฐมที่สามารถสตาร์ทรถเดินทางจากเมืองหลวงเพียงแค่ 30 นาที ก็จะได้พบกับชุมชนที่มีอากาศบริสุทธิ์และอุดมสมบูรณ์ริมคลองมหาสวัสดิ์ที่มีชื่อว่า ศาลาดิน อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม จุดเด่นของที่แห่งนี้เป็นที่ที่เหมาะกับการเรียนรู้วิถีชุมชนริมน้ำที่นักท่องเที่ยวสามารถมาเยี่ยมเยือนโดยมีกิจกรรมตลอดทั้งปี เริ่มตั้งแต่การล่องเรือเข้าไปชมความงามในนาบัวพื้นที่กว่า 20 ไร่ ที่รวมดอกบัวสัตบุตย์ (ดอกบัวหลวงพันธุ์ฉัตรขาว : บัวหลวงขาวกลีบซ้อน) ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง สามารถเก็บดอกบัวและนำไปไหว้พระได้ที่วัดสุวรรณาราม ที่เป็นที่จอดของท่าเรือหมู่บ้านได้ทันที จากท่าจอดเรือไม่ไกลนักยังมีแปลงปลูกกล้วยไม้ตระกูลหวายและกล้วยไม้ที่เกิดจากการแต่งพันธุ์ใหม่โดยเกษตรกรในชุมชนที่เรียกว่าทัศนีย์ โดยกล้วยไม้นี้จะมีผิวกลีบคล้ายกำมะหยี่ มีจำหน่ายที่นี่ที่เดียวในประเทศไทย
คลองมหาสวัสดิ์ยังเป็นแหล่งปลูกกล้วยไม้
นอกจากนี้ เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของบ้านศาลาดินก็คือวิถีชีวิตเกษตรแบบผสมผสาน ที่เป็นแหล่งรวมทั้งมะพร้าว มะม่วง ขนุน ส้มโอ ซึ่งเจ้าของสวนได้นำรถอีแต๋นมาเพิ่มอรรถรสให้กับการเข้าชมเรือกสวนไร่นา ซึ่งเป็นกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งสำหรับคนรักความเร้าใจที่พลาดไม่ได้เลยทีเดียว

สำหรับกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจในชุมชนแห่งนี้ยังมีทั้งการฟังเพลงแหล่พื้นบ้าน การสาธิตและการทำผลิตภัณฑ์จากการเกษตรที่ขึ้นชื่อของชุมชน เช่น ข้าวตัง ข้าวตู ข้าวห่อใบบัว กล้วยหอมอบกรอบ ผ้าใยบัว และที่กำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวในขณะนี้อย่าง การชม ชิม และแปรรูปฟักข้าวที่ เป็นได้ทั้ง เครื่องดื่ม หมี่กรอบ แชมพู โลชั่น สบู่ และที่เด็ดที่สุดกับเมนูเย็นตาโฟสูตรน้ำซอสฟักข้าว บอกได้เลยว่าชามเดียวก็ไม่พอ
เจดีย์เอียงเคียงนํ้าแห่งเกาะเกร็ด
“เจดีย์เอียงเคียงนํ้า สืบสานงานศิลป์ ถิ่นไทยรามัญโบราณ”

ถัดมาที่อีกหนึ่งเมืองที่เป็นบ้านพี่เมืองน้องของกรุงเทพฯ อย่าง ชุมชนเกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เกาะกลางน้ำเจ้าพระยาถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวไทยเชื้อสายมอญที่ยังสามารถเก็บบรรยากาศอบอุ่นและความรู้สึกในยุคเก่าๆ ไว้ได้อย่างดี หากพูดถึงชุมชนแห่งนี้หลายคนอาจนึกถึงสินค้าที่ขึ้นชื่อที่สุดอย่างเครื่องปั้นดินเผา แต่ใครจะรู้ว่าแท้จริงแล้ว เกาะเกร็ดไม่ได้มีดีเพียงแค่เครื่องปั้นอย่างเดียว เนื่องจากที่แห่งนี้ยังมีเสน่ห์อีกมากมายที่หลายคนยังไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นหลากหลายสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์อย่างวัดปรมัยยิกาวาส วัดแห่งเดียวที่ยังเก็บรักษาพระไตรปิฎกภาษามอญและพระมหารามัญเจดีย์ที่จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากองของเมียนมาร์ วัดศาลากุลที่สร้างตั้งแต่สมัยธนบุรี วัดฉิมพลีสุทธาวาส วัดเสาธงทอง วัดจันทร์ วัดไผ่ล้อม โดยที่นี่ยังเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมหลากหลายเชื้อชาติและศาสนาโดยยังมีสถานที่ ที่น่าสนใจอย่าง ชุมชนมุสลิมบ้านผ้าบาติก ครอบครัวมุสลิมที่มาจากปัตตานีเข้ามาอยู่ที่เกาะเกร็ดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ลานวัฒนธรรมรำมอญ เป็นต้น
้เครื่องปั้นดินเผาของขึ้นชื่อเกาะเกร็ด
ทางด้านกิจกรรมทางการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ชุมชนนั้นมีหลากหลาย โดยแต่ละอย่างล้วนแล้วแต่มีความน่าสนใจจนกลายเป็นสินค้าและกิจกรรมที่ขึ้นชื่อ ไม่ว่าจะเป็นการปั่นจักรยานรอบเกาะ การปั้นดินบนแป้นหมุนหรือการทำหม้อลายวิจิตรในศิลปะสกุลช่างเกาะเกร็ด การท่องสวนผลไม้สวนเกษตร เช่น สวนเมล่อน สวนทุเรียน สวนรางแดง กิจกรรมทำขนมหวานมงคล บริการแต่งกายอย่างชาวมอญ เพื่อเก็บภาพเป็นที่ระลึก การแสดงโขนจากศิลป์สยามอาร์ตบ้านหนุมาน การชมและชิมกาแฟคั่วมือ เป็นต้น

ทางด้านสินค้าขึ้นชื่อของชุมชนต้องยกให้กับ สินค้าแกะสลักดินเผา ลูกประคบสมุนไพร ขนมไทยโบราณ เครื่องดื่มสมุนไพรรางแดงบรรจุดินเผา ทุเรียนเมืองนนท์ และอื่น ๆ อีกมากมาย สำหรับใครที่อยากรู้จักเกาะเกร็ดมากกว่านี้ก็สามารถมาเยี่ยมเยือนที่นี่ได้ทั้งทางรถและทางเรือ หรือจะมาแบบวันเดียวหรือค้างคืนก็ได้รับรองว่าคุณจะหลงรักที่นี่อย่างแน่นอน
เรือหลวงประแส 412 แห่งชุมชนประแส ระยอง
“เที่ยวสุขใจ ไปประแส”

ย้ายมายังภาคตะวันออก สัมผัสบรรยากาศริมทะเลที่เมืองระยองกันบ้าง ที่นี่มีชุมชนที่น่าสนใจที่ชื่อว่า ชุมชนประแส อยู่ไม่ไกลจากตัว อ.แกลง จ.ระยองมากนัก ชุมชนแห่งนี้ประกอบไปด้วยหมู่บ้าน 8 แห่ง ที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติหลายชนิด ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังพึ่งพาอาชีพประมงพื้นบ้าน มีการทำนากุ้ง เลี้ยงปลาน้ำกร่อยริมฝั่งแม่น้ำ บางหมู่บ้านก็ยังยึดอาชีพทำสวนผลไม้
ทุ่งโปรงทองงดงาม
ความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้ยังทำให้ตำบลปากน้ำประแสมีท่าเรือประมงขนาดใหญ่ มีชุมชนอยู่กันหนาแน่น จึงกลายเป็นแหล่งการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของตำบล สำหรับสัญลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้ คือ เรือหลวงประแส 412 ที่ถูกนำมาใช้เป็นตรารับรองผลิตภัณฑ์หรืองานบริการต่างๆ ภายในชุมชน โดยนำมาจากเรือหลวงประแส 412 ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานที่ได้รับการบรรจุเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ทั้งยังมีจุดท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นศาลกรมหลวงชุมพรฯ ทุ่งโปร่งทอง (จุดถ่ายรูปที่ขึ้นชื่อและสวยที่สุด) สะพานชมวิวประแสสิน บ้านพิพิธภัณฑ์ปากน้ำประแส ทั้งยังมีกิจกรรมวัฒนธรรมประเพณีที่ต้องไปเห็นและสัมผัสของจริงให้ได้ อาทิ กิจกรรมยกเคย การชิมอาหารทะเลที่โฮมสเตย์ที่บริหารงานโดยชุมชน การให้อาหารเต่าทะเลที่เกาะมันใน การขี่จักรยานสัมผัสวิถีชุมชนและล่องเรือชมหิ่งห้อยปากน้ำประแส การทอดผ้าป่ากลางน้ำในช่วงเทศกาลลอยกระทง พร้อมด้วยการละเล่นหลากหลาย ทั้งแข่งเรือพาย แข่งพายกะโล่ แข่งพายเรือข้ามลำไม้ไผ่ แข่งชกมวยทะเล

พร้อมกันนี้ชุมชนประแสยังมีสินค้าที่ขึ้นชื่อน่าซื้อน่าชม ได้แก่ การชิมชาใบขลู่ที่ดังที่สุดในประเทศไทย การผลิตกุ้งหวานตัวโตๆ กะปิหวานรสเด็ด น้ำปลารสดี การทำสมุนไพรยาดมฮิ ปลากรอบและข้าวเกรียบปลาสามรส งานหัตถกรรมแป้งปั้น ทั้งนี้ กิจกรรมการท่องเที่ยวเหล่านี้สามารถสัมผัสได้ตลอดปี
สะพานติณสูลานนท์ทอดยาวไปยังเกาะยอ
“ขุมทรัพย์กลางทะเลสาบสงขลา”

ลงมายังภาคใต้ ที่เมืองสองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า ศูนย์การค้าแดนใต้กับ ชุมชนเกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา สำหรับเกาะยอนั้นเป็นเสมือนห้องรับแขกของจังหวัดสงขลา ซึ่งมีจุดเด่นทั้งทางวัฒนธรรม ธรรมชาติ และประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาที่ควรค่าแก่การเยี่ยมชม ทุกวันนี้ชาวเกาะยอยังสามารถรักษาเสน่ห์พื้นบ้านไว้เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวได้หลายอย่าง เช่น การล่องเรือประมงขนาดเล็กรอบเกาะยอเพื่อชมความงามของทะเลสาบสงขลาซึ่งเป็นทะเลสาบ 3 น้ำ ได้แก่ น้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย การเยี่ยมชมวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านและการทำกระชังปลาสามน้ำ ซึ่งเป็นอาชีพการเลี้ยงปลาในกระชังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะปลากะพงขาวทำให้เกาะยอมีอาหารทะเล สดใหม่ขึ้นโต๊ะทุกร้าน ไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กๆ สงบริมน้ำหรือภัตตาคารหรูหราระดับเหลา
วิถีประมงพื้นบ้านที่เกาะยอ
นอกจากนี้เกาะยอยังมีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวอีกหลายที่ อาทิ เขากุฏิ เขาเพหาร พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา วัดแหลมพ้อ (พระนอนองค์ใหญ่ โบสถ์โบราณ) ศาลเจ้าไทก๊ง บ่อน้ำโบราณ บ่องอ (บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์) สะพานติณสูลานนท์ จุดชมวิวเขาบ่อ (หินรูปช้าง) วัดท้ายยอ (กุฏิ 200 ปี) โฮมสเตย์ท้ายเกาะ (วิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน) เมื่อได้ไปเยือนเกาะยอจะพบกับกิจกรรมทางการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมเส้นทางบุญทางน้ำ การศึกษาศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การร่วมทำการประมงพื้นบ้าน การทอผ้า กิจกรรมปั้นขนมมอฉี่ หรือขนมสองแผ่นดิน ขนมขึ้นชื่อที่มีลักษณะคล้ายโมจิ มีต้นกำเนิดจากสมัยสงครามโลก การชมพระอาทิตย์ตกน้ำในทะเลสาป เป็นต้น

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นของฝากชั้นดีจากเกาะยอที่เหล่านักชิม นักช็อปต้องห้ามพลาดนั้นต้องยกให้กับ หนังปลากะพงขาวทอดกรอบ ซาลาเปาไข่ครอบ ผ้าทอเกาะยอ ขนมมอฉี่ ข้าวต้มใบกะพ้อ น้ำสมุนไพรลูกยอ ยำสาหร่ายรักษ์เกาะ และที่นี่ก็ยังมีโฮมสเตย์ที่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวอีกมาก ใครที่สนใจมาเที่ยวที่เกาะยอแนะนำว่าควรค้างสัก 1-2 คืน เพื่อสัมผัสบรรยากาศให้เต็มที่
ทิวทัศน์น่ายลที่บ้านนาตีน
“เสน่ห์ชุมชนตามวิถีอิสลามที่บ้านนาตีน”

ปิดท้ายการท่องเที่ยวหมู่บ้าน CIV กับชุมชนบ้านนาตีน อ.เมือง จ.กระบี่ 1 ใน 8 หมู่บ้านของตำบลอ่าวนางที่ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ชุมชนแห่งนี้ยังมีบรรยากาศที่อบอุ่นของรูปแบบชีวิตพื้นบ้านที่สงบและเรียบง่าย ซึ่งแม้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะถาโถมเข้ามาสู่พื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดกระบี่ระลอกแล้วระลอกเล่า แต่บ้านนาตีนก็ยังรักษาเสน่ห์แบบพื้นบ้านที่ทำให้ผู้คนต่างถิ่นมาเยือนด้วยความเคารพและชื่นชม
การทำเรือหัวโทงจำลอง
สำหรับทรัพยากรการท่องเที่ยวรอบบ้านนาตีนที่มีชื่อเสียงที่สุดต้องยกให้กับหาดอ่าวนาง แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติระดับโลกที่มีหาดทรายสวยงาม เหมาะกับกิจกรรมการปีนเขามีจุดดำน้ำชมโลกใต้น้ำ รวมทั้งทะเลแหวกที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ไว้ให้อย่างงดงาม นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรท่องเที่ยว ที่น่าสนใจทั้ง มัสยิดบ้านนาตีน เกาะห้อง อ่าวไร่เลย์ เส้นทางศึกษาธรรมชาติถ้ำเขาคลองสน ศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรและผลิตภัณฑ์ (สวนสับปะรด ข้าวซ้อมมือ ผลิตภัณฑ์จากกะลา มะพร้าว และผ้าบาติก) หาดนพรัตน์ธารา อีกทั้งยังมีกิจกรรมสำหรับคนรักการเรียนรู้วิถีชุมชน ได้แก่ การกรีดยาง การทำผ้าบาติก การปอกมะพร้าวน้ำหอมที่ถูกวิธี การร่วมทำอาหารพื้นถิ่นที่โฮมสเตย์ การทำเรือหัวโทงจำลอง การตกหมึก การฝึกมวยไทย การศึกษาวิชาแพะ ทั้งยังจะได้แวะอุดหนุนสินค้าที่ระลึกที่ศูนย์กลางชุมชนบ้านนาตีนซึ่งจะมีทั้งผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว ผ้าบาติก ปลาหมึกแปรรูป กุ้งแห้งนาตีน ผักพื้นเมืองออแกนิก เรือหัวโทงจำลองพร้อมบรรจุภัณฑ์

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถร่วมกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นอีกภารกิจหนึ่งของชาวบ้านนาตีน มีทั้งการฟื้นฟูป่าชายเลน ป่าชายหาด การปลูกต้นไม้สองข้าง รวมถึงการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวใช้จักรยานในชุมชนและการตั้งโครงการเยาวชนลดโลกร้อน โดยกิจกรรมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทำให้บ้านนาตีนได้กลายเป็น 1 ใน 60 หมู่บ้านที่ภาครัฐประกาศให้เป็นหมู่บ้านส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับประเทศมาแล้วอีกด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจอยากไปท่องเที่ยวที่หมู่บ้านทั้ง 9 แห่งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร.0 2367 8339 หรือดูรายละเอียดที่ www.dip.go.th
* * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น