xs
xsm
sm
md
lg

ที่สุดในใจกลางยุโรป: สวิตเซอร์แลนด์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ย่าน Schwanenplatz  พื้นที่เล็กๆที่ทำรายได้ให้กับลูเซิร์นกว่า 1,000ล้านสวิวฟรังก์ ต่อปี ( 35,000ล้านบาท)
เรื่องและภาพโดย : สุทธิดา มะลิแก้ว

ตอนที่ 1


ที่สุดของจุดศูนย์กลาง นวัตกรรม และประชาธิปไตย

เชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อย เคยเห็นภาพทะเลสาบที่เมืองลูเซิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีเหล่าหงส์ขาวทั้งหลายมาแหวกว่ายอยู่กันอยู่ และฉากข้างหลังก็เป็นเทือกเขาสูงใหญ่ในฉากภาพยนตร์หรือละครไทยหลายเรื่องๆ หรืออาจเคยเห็นด้วยตาตนเองมาแล้ว เพราะที่สวิตเซอร์แลนด์จัดได้ว่าเป็นดินแดนในฝันแห่งการท่องเที่ยวสำหรับคนจำนวนไม่น้อย จนทำให้เมืองนี้มีประชากรนักท่องเที่ยวมากมายกว่าชาวเมืองจริงอยู่หลายเท่าตัว กล่าวคือเป็นเมืองที่ประชากรอาศัยอยู่เพียง 1.9 แสน แต่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวถึง 9 ล้านคนต่อปี ก็ตอบชัดเจนว่าเป็นเมืองที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวขนาดไหน ทว่า จุดขายของลูเซิร์นก็ไม่ไม่ใช่เพียงวิว ทิวทัศน์เท่านั้น หากแต่สินค้าแบรนด์หรูของสวิตเซอร์แลนด์ก็ ได้รวมตัวกันอยู่ที่นี่ด้วย

เจ้าหน้าที่จากการท่องเที่ยวยืนตรงกลางลานที่กว้างเพียงไม่กี่ตารางเมตรพร้อมกับบอกว่า “รู้มั้ยว่าพื้นเพียงไม่กี่ตารางเมตรนี้ทำรายได้ให้กับลูเซิร์นประมาณปีละ 1,000 ล้านฟรังก์ (หรือ 35,000 ล้านบาทต่อปี)” มันน่าทึ่งอยู่ไม่น้อย เมื่อหันไปมองอีกทีก็ไม่สงสัยเพราะ ณ.จุดนี้คือย่าน Schwanenplatz ซึ่งเป็นแหล่งรวมร้านจำหน่ายนาฬิกาโดยเฉพาะอย่างยิ่งร้าน บูเชอแรต์ (Bucherer 1888)ซึ่งรวมนาฬิกาไว้เกือบ 30 แบรนด์ นอกเหนือไปจาก Carl F. Bucherer อันเป็นแบรนด์ของทางร้านแล้ว ไม่ว่าจะเป็น โรเล็กซ์ ทิซโซท์, โอเมก้า และอื่นๆก็มีจำหน่ายที่นี่ นอกจากนั้นก็มีตัวแทนจำหน่ายนาฬิกายี่ห้ออื่นๆ เช่น ปาเต็ก ฟิลลิป หรือ โครุม (Corum) ซึ่งก็อยู่ในย่านนี้เช่นเดียวกัน เจ้าหน้าที่ฯบอกว่านักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากทำให้ บูเชอแรต์ทำตลาดได้ดีเพราะว่าร้านมีเลข 888 ที่เป็นเลขมงคลสำหรับชาวจีน และเคยได้ยินมาว่านาฬิกาเรือนที่แพงที่สุดมีมูลค่าถึง 5 แสนฟรังก์ (17.5 ล้านบาท)
อนุสาวรีย์ สิงโต ที่ลูเซิร์น -ในอดีตสวิตเซอร์แลนด์เป็นพื้นที่ไม่มีทรัพยาการมากมาย เหล่าผู้ชายส่วนใหญ่จึงไปเป็นทหารรับจ้างให้กับชาติต่างๆ ชื่อเสียงของนักรบสวิสคือ ความกล้าหาญและซื่อสัตย์ ภาพนอนตายกอดโล่และตราประจำราชวงศ์ของฝรั่งเศสเอาไว้ และมีหอกหักปักคาอยู่ที่หลัง โดยแกะสลักลึกเข้าไปในหินผาทั้งแผ่น เตือนให้ระลึกถึงวีรกรรมของทหารรับจ้างที่เคยมีส่วนร่วมในสงครามปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งนั้น ที่ยอมตายเพื่อปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีจนวาระสุดท้าย แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สวิตเซอร์แลนด์ออกกฎหมายห้ามชาวสวิสไปรบให้ต่างชาติอีกแต่ยอมให้อารักขาพระสันตะปาปาได้เท่านั้น และต้องใช้คนจากลูเซิร์นเท่านั้นเนื่องจากคนส่วนใหญ่แคทอลิค
ลูเซิร์นไม่ได้ผลิตสินค้าเองแต่ จุดศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้ากลับมาอยู่ที่นี้ ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ลูเซิร์นที่กลายเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางการค้าขาย แต่เป็นการสะท้อนการวางตำแหน่งของประเทศสวิตเซอร์แลนด์เองด้วย ซึ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้นไม่เพียงมีที่ทำเลที่ตั้งอยู่ในใจกลางยุโรปเท่านั้น แต่ในที่สุดก็ได้วางตัวเองเป็นให้เป็นประเทศที่เป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในยามสงคราม และกลายเป็นศูนย์กลางการเงินของโลกด้วย นอกจากนั้น ทั้งๆที่เป็นประเทศที่ห้อมล้อมด้วยประเทศอื่น เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล เรียกได้ว่าเป็น Landlocked Country แต่ด้วยแม่น้ำไรน์ที่ไหลผ่านไปถึงเยอรมัน และระบบรถไฟที่มีประสิทธิภาพที่สามารถเชื่อมต่อกับทุกประเทศได้อย่างสะดวก ทำให้สวิตเซอร์แลนด์กลายเป็นประเทศที่เรียกว่าเป็น Land Link ของกลุ่มประเทศในยุโรป จากสวิตเซอร์แลนด์สามารถใช้การเดินทางโดยรถไฟ ไม่ว่าจะเดินทางไปยัง ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลีหรือเบลเยียมก็ไปได้ง่ายดายใช้เวลาไม่นาน ดังนั้นจึงไม่ผิดนักหากจะเรียกว่า สวิตเซอร์แลนด์คือจุดศูนย์กลางหรือใจกลางของยุโรป
Chapel Brick (Kapellbruck) สะพาน Chapel  ที่เป็นแลนด์มาร์คสำคัญของลูเซิร์น
นักเรียนไทยที่มาเรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์จำนวนไม่น้อยที่บอกว่า อยู่ในไทยเคยไปเที่ยวแค่ไม่กี่จังหวัด แต่ในขณะที่มาอยู่สวิตเซอร์แลนด์ ได้ไปเที่ยวหรือไปพักผ่อนในยามว่างจากการเรียนมาหลายประเทศแล้ว นี่คือผลจากการเป็น Land link เนื่องจากที่ตั้งและความสามารถในการจัดการคมนาคมให้สะดวกเอื้อให้เกิดการไปมาหาสู่กันในยุโรปเป็นไปอย่างง่ายดาย

ทว่า สวิตเซอร์แลนด์นำตัวเองมาอยู่ในจุดนี้ได้อย่างไร เพราะอันที่จริงด้วยคุณสมบัติทั้งปวงแล้วไม่ได้ได้เปรียบประเทศอื่นๆแต่อย่างใด เอาแค่เปรียบเปรียบเล่นๆกับประเทศไทย สวิตเซอร์แลนด์ก็จัดว่าเล็กกว่ามาก ประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่ง ในเชิงของเนื้อที่ 41.285 ตารางกิโลเมตร เปรียบเทียบกับไทย 514.000 ตารางกิโลเมตร ในเชิงจำนวนประชากร 8.4 ล้านคนเปรียบเทียบกับไทย 68 ล้านคน เป็นประเทศที่โดดเดี่ยวเพราะไม่ได้เป็นสมาชิกอียู และไม่ได้ใช้สกุลเดียวกับอียู (ยูโร) เป็นประเทศที่ไม่ได้มีทรัพยากรธรรมชาติ และไม่ได้มีพื้นที่ทางการเกษตรมากมาย เป็นพื้นที่ภูเขาเพาะปลูกได้น้อยมาก แต่ก็มีการเลี้ยงวัว ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่เลื่องชื่อจากสวิตเซอร์แลนด์จึง เป็น ช็อคโกแลต และ ชีส ต้นทุนเรื่องแรงงานคนมีน้อย ตลาดก็เล็ก แถมวัฒนธรรมและภาษาก็แตกต่างกันอีกในประเทศในเทศที่ไม่มีภาษากลางมีภาษาพูดหลักๆ 4 ภาษา ( เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และ โรมานช์) แต่ทว่า รายได้ประชาติต่อหัวต่อปี ( GDP per capita)อยู่ที่ 86,675 เหรียญสหรัฐฯ (อยู่ในอันดับ 9 ของโลก) เปรียบเทียบกับไทยที่ GDP per capita อยู่ที่ 5,695 เหรียญสหรัฐฯ
ทิวทัศน์เมืองลูเซิร์นที่มีทะเลสาบและภูเขา เทือกเขาด้านหน้าที่เห็นจะเป็นเทือกเขาที่ไปเชื่อมต่อกับเทือกแอลป์
อแลง บาร์บาล ( Alain Barbal) และ โจเซฟีน เอลแฟร์ ( Joséphine Helfer) จากสถาบัน ITTHI สถาบันการการศึกษาด้านการบริหารการโรงแรมและออกแบบ แห่งแคว้นเนอชาแตล ( Neuchatel ) ได้ให้คำตอบนี้อย่างกระจ่างชัดในการนำเสนอเรื่องราวของ สวิตเซอร์แลนด์ให้กับกลุ่มผู้สื่อข่าวไทยที่ไปเยี่ยมชมโรงเรียนเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ว่า สิ่งที่ทำให้สวิตเซอร์เป็นแบบที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ก็เพราะ ความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรม และวนวัตกรรมก็กลายเป็นจุดขาย หรือเรียกว่าอยู่ได้ด้วยนวัตกรรม( Innovation) ที่ได้คิดค้นขึ้นมามีอยู่ในทุกๆด้าน และไม่เคยหยุดคิดค้นการนวัตกรรมใหม่มาตลอดระยะเวลา 300 ปี เริ่มตั้งแต่ ในเรื่องของการวัดเวลา ก็มีนาฬิกา เรื่องการผลิตก็มีเครื่องจักรและกระบวนการผลิต เรื่องพลังงานก็มี โซลาเซลและแหล่งพลังงานความร้อนใต้ดิน เรื่องการศึกษาก็มีนักจิตวิทยาการศึกษาคนสำคัญอย่าง ฌอง เพียเจต์ ( Jean Piajet) ในเรื่องของยานยนต์มี หลุยส์ เชฟโรเรต มีโครงการสำรวจอวกาศโรเซ็ตต้า มีเทคโนโลยีการแพทย์ มีการพัฒนางานฝีมือการผลิตง่ายๆไปสู่การผลิตนาฬิกาที่มีความซับซ้อน หรือมีการขยายเข้าสู่การพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย เปลี่ยนการใช้ไฟฟ้ามาเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ และที่สำคัญคือการเปลี่ยนจุดอ่อนหรือข้อจำกัดต่างๆให้มากลายมาเป็นจุดแข็ง

ประเด็นการเปลี่ยนข้อจำกัดมาเป็นจุดแข็งนี่เองที่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดไม่ว่าทั้งในการสร้างความเป็นกลาง เชื่อมแลนด์ล็อคเป็นแลนด์ลิงค์ และสร้างสินค้าแบรนด์เนมที่ราคาสูงยก ตัวอย่างเช่น นาฬิกา ที่มีราคาเรียนแสน เรือนล้านหรือหลายสิบล้านนั้น ที่แท้แล้วคนที่ทำให้สวิตเซอร์แลนด์กลายเป็นแหล่งผลิตนาฬิกาชั้นนำของโลกกลับเป็นชาวนา
การผลิตนาฬิกาแบบแฮนด์เมด ที่โรงงานนาฬิกาโครุม (Corum) แต่ละคนต้องทำงานแค่ในชิ้นส่วนที่ตนเองรับผิดชอบ และต้องผ่านการตรวจสอบทุกขั้นตอน
เจ้าหน้าที่จากโรงงานผลิตนาฬิกาโครุม (Corum) ที่เมือง ‎La Chaux-de-Fonds ในมณฑล เนอชาแตล ( Neuchatel Canton) ให้ฟังว่า ในสมัยก่อนมีช่วงฤดูหนาวที่ยาวนานมาก ชาวนาไม่สามารถออกไปทำการเกษตรได้ เลยใช้เวลาในช่วงนี้ในการทำนาฬิกาในช่วงที่อยู่ในบ้าน และเนื่องจากสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีการกระจายอำนาจการปกครองไปยังระดับท้องถิ่น ผู้ผลิตนาฬิกาเลยสามารถไปจ้างชาวนาในแต่ละชุมชนให้ผลิตชิ้นส่วนนาฬิกาป้อนให้กับบริษัทตัวเองได้ และในที่สุดในแต่ละชุมชนก็มีการทำนาฬิกาเกิดขึ้น จนทำให้สวิตเซอร์แลนด์สามารถผลิตนาฬิกาได้มากกว่าที่อื่นในยุโรป เช่น อังกฤษหรือเยอรมันในยุคนั้น และปัจจุบันมีนาฬิกากว่า 20 แบรนด์ผลิตที่มณฑลเนอชาแตล ที่สวิตเซอร์แลนด์ทำได้อย่างนี้ก็เนื่องจากการเปลี่ยนข้อจำกัดหรือจุดอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็งแท้ๆ และมาถึงปัจจุบันที่ตลาดนาฬิกา แม้ว่าจะยังคงครองความเป็นหนึ่งในแง่ของมูลค่าหรือหรือทำรายได้สูงสุด แต่ชาวสวิสก็ไม่ได้หยุดยั้งที่จะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น อุปกรณ์หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์
Corum  เน้นผลิตนาฬิกา แบบ  limited edition  เรือนนี้ ตัวเรือนทรงกลมขนาด 36 มม. ผลิตจากเหรียญ 20 ดอลลาร์สหรัฐหรือที่เรียกว่าดับเบิ้ลอีเกิ้ล ภายในมีเครื่องแบบออโต้ มีแค่ 50 เรือนเท่านั้นและดูเหมือนว่า 1 ในนั้นใครสักคนซื้อเป็นของขวัญให้ บารัคโอบามา ตอนรับตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย
นอกจากนั้น จากตัวเมืองที่อยู่ในหุบเขา และถึงจะไม่มีทะเลก็จริงแต่ก็มีทะเลสาบใหญ่ถึง 7 แห่ง และ ถึงแม้สวิตเซอร์แลนด์จะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย การทำการเกษตรก็ทำได้น้อย แต่ด้วยทิวทัศน์ที่ประกอบด้วยภูเขาและทะเลสาบอันงดงามนี่เอง หลังจากที่มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆมีความสะดวก ทำให้สวิตเซอร์แลนด์กลายเป็นประเทศในฝันที่ทุกคนอยากจะมาเยือน และสิ่งนี้ ก็ส่งผลให้เกิดโอกาสอีกด้านหนึ่งให้กับสวิตเซอร์แลนด์ นั่นคือการบริหารจัดการโรงแรมและธุรกิจบริการ ก็กลายเป็นอีกความเชี่ยวชาญหนึ่งของสวิตเซอร์แลนด์ และนี่ก็เป็นคำตอบว่า ชาวสวิสนั้นเป็นคนที่ไม่หยุดอยู่กับที่จึงทำให้สามารถทำให้ประเทศที่เล็กๆที่ขาดแคลนทรัพยากรได้มากลายเป็นประเทศทางเศรษฐกิจชั้นนำในที่สุด
ที่สุดในความเป็นประชาธิปไตย

อันที่จริงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไม่อาจอยู่รอดและคงสถานะความเป็นหนึ่งมาได้แบบทุกวันนี้หากระบบบริหารจัดการไม่ดี ก่อนอื่นต้องมาดูโครงสร้างของประเทศกันก่อน สวิตเซอร์แลนด์ มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Switzerland เยอรมัน เรียก die Schweiz ฝรั่งเศส เรียก la Suisse อิตาลี เรียก Svizzera และ โรแมนช์ เรียก Svizra) ส่วนชื่อเต็มๆคือ สมาพันธรัฐสวิส ( Swiss Confederation) ในบางครั้ง เราอาจเห็นคำว่า CONFOEDERATIO HELVETICA นั่นคือคำว่า สมาพันธรัฐสวิสในภาษาลาติน

สวิตเซอร์แลนด์ได้เริ่มใช้ระบบการปกครองประชาธิปไตยแบบรัฐสภามาตั้งแต่ นับตั้งแต่ ค.ศ. 1848 (พ.ศ. 2391) แต่มีลักษณะการรวมตัวของรัฐต่าง ๆ อยู่ภายใต้รัฐบาลกลาง เรียกว่า สมาพันธรัฐเป็นการรวมตัวกันของมณฑล ( Canton) ต่างๆเข้ามาประกอบกันเป็นสมาพันธรัฐ ซึ่งปัจจุบันนี้ มี 26 มณฑล มณฑลที่มีประชากรน้อยที่สุดคือ Appenzell Innerrhoden มีประชากรประมาณ 15,000 คนและมากที่สุดคือ Zurich ประมาณ 1.42 ล้านคน แต่ละ Canton มีรัฐธรรมนูญและ Cantonal Government ของตนเองโดยมีอิสระจากการบริหารราชการของส่วนกลาง

อำนาจนิติบัญญัติของสมาพันธ์ฯ อยู่ที่รัฐสภาแห่งสมาพันธ์ (Federal Assembly) ซึ่งประกอบด้วยสภาแห่งชาติ (National Council) และสภาแห่งรัฐ (Council of States) ทั้งสองสภามีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกัน National Council ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงมีจำนวน 200 คน แต่ละ Canton จะมีจำนวนผู้แทนของตนมากน้อยตามจำนวนประชากร (1:34,000) แต่อย่างน้อยที่สุด แต่ละ Canton จะมีผู้แทน 1 คน เช่น Appenzell Innerrhoden ที่มีประชากรเพียง 15,000 คน และในรัฐสภาของสวิตเซอร์แลนด์นั้นก็ยอมรับในความต่างของภาษาและวัฒนธรรม ดังนั้นจึงยอมรับให้มีภาษาราชการถึง 4 ภาษาดังคำเรียกชื่อประเทศที่ได้กล่าวถึงข้างต้นนั้นคือ คือเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และโรมานช์ ชาวสวิสบอกว่าทางสมาพันธ์ได้ให้โอกาสแก่ทั้ง 4 ภาษาที่เท่ากันโดยเห็นว่าทุกคนควรได้เสนอความเห็นหรือแสดงความเห็นด้วยภาษาของตนเอง จึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะได้ยินคนพูดหลายภาษา หรือคนๆคนเดียวพูดได้หลายภาษาในสวิตเซอร์แลนด์

ชาวสวิสคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า แม้ชาวชาวสวิสที่พูดภาษาต่างกัน บางครั้งเขาก็ฟังภาษาอื่นเข้าใจ แต่เขาพูดภาษาที่คู่สนทนาพูดด้วยไม่ได้เขาก็อาจโต้ตอบมาเป็นอีกภาษาหนึ่ง เช่น คนสวิสฝรั่งเศสคุยกับสวิสเยอรมันด้วยภาษาฝรั่งเศส คนสวิสเยอรมันก็ตอบกลับมาด้วยภาษาเยอรมันและเขาก็เข้าใจกัน การใช้ทั้ง 4 ภาษาจะพบเห็นทั่วไปในงานราชการแม้แต่ในธนบัตรสวิสก็มีทั้ง 4 ภาษา นี่ก็คงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาอยู่ร่วมกันได้ เนื่องจากยอมรับกันในความต่างแบบ”แตกต่างแต่ไม่แตกแยก” หรือชาวสวิสเองได้สรุปว่า ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ก็เหมือนมีดสวิสที่มีหลายเครื่องมือใช้สอยในมีดเล่มเดียว ถือเป็น “เอกภาพในความหลากหลาย” (Unity in Diversity)

ด้วยระบอบการปกครองที่เรียกว่าเป็นการกระจายอำนาจลงไปยังท้องถิ่นมากและให้อำนาจการตัดสินใจทุกเรื่องอยู่กับประชาชน ดังนั้นชาวสวิสจะมีการโหวตหรือลงประชามติกันในทุกๆเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะทั้งในประดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ไม่เพียงแต่เรื่องใหญ่ เช่นจะเข้าเป็นสมาชิก EU หรือไม่ หรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาที่ประชาชนต้องออกมาลงประชามติหรือออกเสียงเลือกตั้งกัน แต่ทว่า ในระดับชุมชน เมื่อจะมีบ้านหลังใดหลังหนึ่งต้องการจะซ่อมหรือปรับปรุงบ้านและทาสีใหม่ ไม่เพียงเจ้าบ้านต้องไปขออนุญาตจากทางการเท่านั้น เมื่อได้รับอนุญาตมาแล้วยังต้องเอามานำเสนอต่อเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกันให้มาแสดงความคิดเห็นหากเพื่อนบ้านไม่ให้ผ่านก็ไม่สามารถทำได้ และมีตัวอย่างที่เป็นระดับเมืองขึ้นมาอีกหน่อยคือที่สะพาน Chapel Brick สะพานสวยงานซึ่งเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของลูเซิร์น ที่สร้างมาตั้งศตวรรษที่ 17th แต่ต่อมาได้ถูกไฟไหม้ พวกภาพเขียนที่อยู่ใต้หลังคาได้หายไปกับไฟ เหลืออยู่แค่เพียง 2 รูป มีคนเสนอว่าควรจะมีการบูรณะหรือเขียนภาพเขียนลงไปใหม่ซึ่งเป็นแบบภาพเดิม ชาวเมืองลูเซิร์นก็ได้ออกกันมาลงประชามติกันว่าควรทำหรือไม่ ผลสรุปก็คือ “หากทำแล้วไม่ดีเหมือนเดิมก็ควรปล่อยไว้อย่างนั้น” คือไม่ทำ ตอนนี้หากใครไปชมก็จะเห็นว่าแผ่นไม้ตรงใต้หลังคานั้นจะเป็นพื้นดำๆเท่านั้นไม่มีภาพใดๆ แต่ วันใดวันหนึ่งหากมีคนคิดว่าควรจะทำก็อาจจะออกมาลงประชามติกันอีกครั้งก็ได้
อาหารของชาวสวิสแท้ๆ โดยเฉพาะชาวลูเซิร์น เป็นผลิตภัณฑ์ที่สวิสผลิตได้เอง พายตับบดหรือเนื้อบด ที่เรียกว่า Luzerner Chugelipastete
ชาวสวิสเป็นคนที่เอาจริงเอาจังและมีความรับผิดชอบสูง ในบางครั้งเราจะพบว่าข้อเรียกร้องที่สวนทางกับกฎที่รัฐบาลออกมาก็ไม่ได้รียกร้องเพื่อตัวเองแต่เป็นเพื่อส่วนรวม เช่นมีการลงมติให้การขับรถในไฮเวย์ไม่เกิน 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเมืองก็มีการกำหนดให้ขับช้าลงตามลำดับ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างเยอรมันหรือฝรั่งเศส ที่ขับรถเร็วกันมากกว่านี้หลายครั้งลดสปีดแทบไม่ทันเมื่อรถเข้าไปยังฝั่งสวิตเซอร์แลนด์ หรือเวลาชาวสวิสขับรถในท้องถนนเยอรมันก็จะรู้เลยว่านี้รถจากสวิสไม่ใช่โดยป้ายแต่จากการที่ขับช้า และ รัฐบาลออกกฎหมายให้ชาวสวิสทำงานเพียงสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง ซึ่งชาวสวิสไม่ต้องการและได้ออกมาลงมติกันว่าควรจะทำงานเพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 45 ชั่วโมง ทุกอย่างในประเทศนี้ล้วนเป็นไปตามประชามติ

ดังนั้น สวิตเซอร์แลนด์จึงจัดได้ว่าเป็นประเทศที่เป็นที่สุดในเรื่องของประชาธิปไตยเช่นกัน แม้แต่ในระดับโรงเรียน จากการพูดคุยกับนักเรียนไทยที่เข้าเรียนด้านการบริหารจัดการโรงแรม (Swiss Hotel Management School -SHMS ) นักเรียนซึ่งในแต่ละชั้นเรียนจะไม่เกิน 30 คน และเป็นนักเรียนนานาชาติ หนึ่งในหลักสูตรหรือต้องจัด banquet หรืออีเวนต์ใดอีเวนต์หนึ่งซึ่งนักเรียนจะต้องแบ่งหน้าที่กันไปรับผิดชอบในฝ่ายต่างๆ รวมทั้งต้องมีคนที่คุมงานทั้งทั้งหมดอีกหนึ่งคนหรือเป็น ผู้จัดการอีเวนต์ นักเรียนก็ใช้วิธีเลือกตั้งหรือลงมติ เช่นถ้ามีคนสมัคร เพียงคนเดียวก็จะลงมติว่ารับหรือไม่รับแต่ถ้ามากกว่า 1 คนก็เลือกว่าจะเลือกคนไหน และวิธีนี้ก็จะใช้กับการเลือกหัวหน้างานของแต่ละฝ่ายด้วย เรียกว่าซึมซับหลักปฏิบัติตามแนวทางประชาธิปไตยไปเต็มๆ ทว่า อาจจะมีอดีตนักเรียนเก่าสวิตเซอร์แลนด์เพียงคนเดียวเท่านั้น แม้ว่าเคยไปศึกษาอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์มาเป็นเวลาหลายปีแต่ก็ไม่ซึมซับหลักการนี้มาเลยแต่ทำการตรงข้ามกับประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง ผู้นั้นคือ คิม จ็อง อึน ประธานาธิบดีเกาหลีเหนือคนปัจจุบันนั่นเอง
อาหารสวิสแท้ๆ ชีส ฟองดู ( Cheese Fondue) รับประทานแบบจิ้มจุ่ม  อาหารที่นิยมรับประทานกันในฤดูหนาวกับไวน์ขาวเป็นขนมปังก้อนเล็กๆ จุ่มในหม้อร้อน ที่บรรจุเนยแข็ง(มักจะเป็น Emmentaler หรือ Gruyeres)เคี่ยวละลายในไวน์ขาว เหล้าเชอร์รี่ และเครื่องเทศ
โปรดติดตามอ่านตอนที่ 2 : ที่สุดด้านการโรงแรมและการบริการ
กำลังโหลดความคิดเห็น