xs
xsm
sm
md
lg

รำลึก “กุศล นิลลออ” ชีวิตที่ลิขิตไว้บนผืนผ้าครูภูมิปัญญา “ผ้าทอนาหมื่นศรี” ที่ตรัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คุณยายกุศล นิลลออ
 
เรื่อง/ภาพ : จำนง ศรีนคร
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
หากพูดถึงจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นจังหวัดเล็กๆ ชายฝั่งอันดามันอันแสนสงบ แต่คงไว้ซึ่งรากฐานทางวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่ผูกติดยึดโยงกับทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ และได้รับผลกระทบจากกระแสทุนนิยมไม่มากนัก เมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ที่เจริญรุดหน้านำไปมาก 
 
เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดตรัง ในแง่รากฐานทางวัฒนธรรม ประกอบไปด้วย ภูเขา ทุ่งนา และทะเล สำหรับวัฒนธรรมทุ่งนาเรียกว่า “ตรังนา” นั้น สืบทอดกันมาจนนับอายุไม่ได้ หลายคนอาจไม่ทราบมาก่อนว่าตรังมีพื้นที่ทำนากว้างใหญ่ไพศาลที่เรียกว่า “ลุ่มน้ำคลองนางน้อย” ซึ่งเป็นเสมือนสายโลหิตหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนชาวตรังในยุคก่อร่างสร้างเมือง เป็นจุดเริ่มต้นของงานกสิกรรมของ “ตรังนา” เป็นจุดเริ่มต้นของประเพณี ศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะกิจการงานศาสนา วัดในยุคแรกๆ ของจังหวัดตรัง เกิดขึ้นบนลุ่มน้ำอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้
 

 
รวมทั้งผ้าทอพื้นเมืองโบราณที่เรียกขานกันว่า “ผ้าทอนาหมื่นศรี” ซึ่งเก่าแก่ด้วยภูมิปัญญายาวนานจนสืบความไม่ได้ ผ้าทอนาหมื่นศรี ในอดีตเป็นการทอผ้าของเหล่าแม่บ้านที่ว่างเว้นจากการทำนา ทำสวนยาง ทอไว้ใช้เอง ทำเป็นอาชีพเสริมในยุคที่ผู้คนผูกพันกับผืนนา วัด และโรงเรียน ชุมชนบ้านควนสวรรค์ จึงเป็นชุมชนพื้นบ้านที่สืบทอดมาจนปัจจุบัน ไม่กลายกลับทางวัฒนธรรมมากนัก แม้จะมีที่ตั้งห่างจากตัวเมืองตรังเพียง 8 กิโลเมตร
  
“ผ้าทอนาหมื่นศรี” จึงเป็นผ้าทอสัญลักษณ์ของการรวมจิตรวมใจของผู้คนลุ่มน้ำคลองนางน้อย เป็นการถักทอสายใยรักไว้บนผืนผ้า คนนาหมื่นศรี จะใช้ผ้าทอในโอกาสสำคัญต่างๆ แยกตามประเภทงาน เช่น งานบวช งานแต่ง ไปจนกระทั่งงานศพ เป็นชุมชนผ้าทอที่ผูกติดกับวิถีชีวิต และจิตวิญญาณโดยแท้จริง
 
“นาหมื่นศรี” มี “ครูภูมิปัญญาผ้าทอ” หลายท่านที่มีส่วนสำคัญในการต่อลมหายใจอนุรักษ์สืบทอดภูมิปัญญาอันทรงค่านี้ เป็นทั้งพ่อ ทั้งแม่ ทั้งครูของคนในชุมชนให้ร่วมสืบสานปณิธานบรรพชุน แม้ปัจจุบันครูภูมิปัญญาเหล่านี้จะล่วงลับไปแล้วหลายท่าน แต่มรดกทางวัฒนธรรมนี้ยังคงสืบทอดต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นเรื่อยมา
 

 
และในวันนี้ เนื่องด้วย “คุณยายกุศล นิลลออ” อายุ 88 ปี ครูภูมิปัญญาผ้าทอนาหมื่นศรี ปราชญ์ชาวบ้านแห่งบ้านควนสวรรค์ ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา ณ วันอังคารที่ 2 พ.ค.2560 เวลา 11.50 น. โดยได้มีพิธีรดน้ำศพเวลา 18.00 น. ณ บ้านหน้าโรงเรียนบ้านควนสวรรค์ ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง ในวันเดียวกันไปแล้วนั้น ทางลูกหลานซึ่งเป็นเจ้าภาพ รวมทั้งศิษยานุศิษย์ได้ร่วมกำหนดวันบำเพ็ญกุศลศพระหว่างวันที่ 28 พ.ค.-4 มิ.ย.2560 ณ วัดควนสวรรค์ ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง ก่อนเคลื่อนศพสู่เมรุ ณ วัดควนสวรรค์ ในวันที่ 5 มิ.ย.2560 โดยยกศพเวลา 13.00 น. จึงขอกราบเรียนเชิญเพื่อทราบโดยทั่วกัน
 
ในงานศพของคุณยายกุศล ครั้งนี้ จึงมีการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชน เพื่อจัด “นิทรรศการชีวิต” เพื่อเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของ “ผ้าทอนาหมื่นศรี” และเพื่อเชิดชูเกียรติของครูผ้าทอ ซึ่งไม่ได้มีเพียงคุณยายกุศล เพียงคนเดียว
 
พบกับ  LIVE EXHIBITION THE SAVIOUR OF NA MUEN SRI TEXTILE  FROM TRANG PROVINCE “นิทรรศการชีวิต ลิขิตไว้บนผืนผ้า ครูภูมิปัญญา ผ้าทอนาหมื่นศรี กุศล นิลลออ” 30 May-4 June 2017 at Bankonsawan NA MUEN SRI Trang ณ ลานวัดควนสวรรค์ ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม-4 มิถุนายนนี้
 

 
ในงานจะได้พบกับชีวประวัติครูภูมิปัญญาผ้าทอนาหมื่นศรี ครูกุศล นิลลออ / ทำเนียบครูภูมิปัญญาผ้าทอนาหมื่นศรี จากอดีตถึงปัจจุบัน / 39 ลายผ้าโบราณ ที่เคยหายไปจากนาหมื่นศรี เป็นการตามหาลายผ้าโบราณที่หายสาบสูญไปจากนาหมื่นศรี นำกลับมาแกะลายและทอขึ้นใหม่จำนวน 39 ลาย 39 ชิ้น เพื่อจัดแสดงต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกโดย โครงการตามลายผ้ากลับนาหมื่นศรี กระทรวงวัฒนธรรม / สานสายใยรักสามัคคี การทอผ้าลายเดียว ผืนเดียวกัน แบบสดๆ ภายในงาน โดยกลุ่มวิสาหกิจผ้าทอนาหมื่นศรีร่วมแรงและร่วมใจ / การจำลองบรรยากาศวิถีลุ่มน้ำคลองนางน้อย จัดแสดง ลูกลมตำนานบุตรแห่งพระพาย วิถีนา ครกสีข้าว ครกตำข้าว อุปกรณ์ประมงน้ำจืดพื้นบ้าน
 
สำหรับไฮไลท์ของงานอยู่ที่การแสดงแสง สี เสียง การละเล่นศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่คุณต้องประทับใจ ในคืนวันที่ 4 มิถุนายน / การแสดงแบบจำลองเรือนพื้นถิ่น ลุ่มน้ำคลองนางน้อย โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง / หนังสืออนุสรณ์ ครูผ้า กุศล นิลลออ และอื่นๆ อีกมากมาย 
 
จากนั้น ร่วมสานสายใยรักที่ถักทอ ส่งท้ายก่อนร่วมตั้งจิตอธิษฐานส่งครูผ้าทอไปพักผ่อน ทอผ้าที่รักบนท้องฟ้า ในวันที่ 5 มิถุนายน ณ เมรุวัดควรสวรรค์
 

 
--------------------------------------------------------------------------------
 
ประวัติ “นางกุศล นิลลออ” ครูภูมิปัญญาไทย ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม
 
ครูกุศล นิลลออ เป็นผู้สืบทอดการทอผ้านาหมื่นศรีอันเป็นผ้าทอพื้นเมืองที่แสดงถึงภูมิปัญญาของชาวตำบลนาหมื่นศรี มาแต่โบราณ การได้เห็น และฝึกปฏิบัติจากมารดาอย่างสม่ำเสมอมาโดยตลอด ทำให้เกิดความผูกพัน และเป็นแรงบันดาลใจอย่างสำคัญที่จะสืบทอดการทอผ้านาหมื่นศรีให้คงอยู่สืบไป
 
*** การศึกษา ชีวิต และการทำงาน 
 
ครูกุศล เกิดในครอบครัวเกษตรกร บิดามารดามีอาชีพทำนา ทำสวนยาง ชีวิตในวัยเด็กอยู่ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ชาวนาปลูกข้าวทำนา และทอผ้าใช้เอง เมื่อจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนบ้านควนสวรรค์ แล้วไม่ได้เรียนต่อ หากแต่ช่วยบิดามารดาทำนา และช่วยมารดาทอผ้า มารดาของครูกุศล คือ นางนาง ช่วยรอด ซึ่งสืบทอดการทอผ้านาหมื่นศรี อันเป็นผ้าทอพื้นเมืองที่แสดงถึงภูมิปัญญาของชาวตำบลนาหมื่นศรีเป็นเวลานานนับร้อยปี การได้เห็น และฝึกปฏิบัติจากมารดาทำให้เกิดความผูกพัน และเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญยิ่งที่จะสืบทอดการทอผ้านาหมื่นศรีให้คงอยู่สืบไป
 
ที่มาของความรักความสนใจผ้าทอนาหมื่นศรี เริ่มจากการที่นางนาง ช่วยรอด มารดซึ่งขณะที่อายุ ๗๘ ปี เห็นว่าตนเองชราแล้วอยากให้ลูกหลานได้ดูวิธีการทอผ้าแบบโบราณซึ่งเรียกกันว่า “ผ้าทอกี่พื้นบ้าน” จึงได้รวบรวมกลุ่มสมาชิกอายุรุ่นราวคราวเดียวกันที่เคยทอผ้าด้วยกันมา นำกี่ทอผ้าและเครื่องมือที่เก็บไว้สมัยก่อนออกมาซ่อมแซมจนใช้การได้ และเริ่มทอผ้าเป็นรูปแบบต่างๆ ทั้งทอเป็นผ้าถุง และผ้าห่ม ในช่วงแรกไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งครูกุศล เห็นมารดา และกลุ่มทอผ้าอยู่ เกิดความสนใจ และหัดทอทุกวันอย่างจริงจังจนทอได้ มารดาเห็นว่าเป็นคนจริงจังจึงได้ถ่ายทอดวิธีการทอผ้าทุกอย่างให้ทั้งผ้าทอแบบธรรมดา และผ้าทอลายดอกต่างๆ จนสามารถทอได้อย่างชำนาญทุกลาย เป็นที่สนใจของชาวบ้านที่เข้ามาดูมาศึกษา และเรียนรู้การทอไปด้วย
 
ต่อมา ในปี พ.ศ.๒๕๑๖ พัฒนากรอำเภอเมืองตรัง เห็นว่า ผ้าทอของครูกุศล สวยงามผิดแผกจากผ้าทอที่มีอยู่ในท้องตลาด ควรจะนำมาพัฒนาเป็นอาชีพของชาวบ้านได้ จึงได้ชักนำชาวบ้านให้มารวมกลุ่มเพื่อพัฒนาการทอผ้าขึ้น ต่อมา ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เห็นว่าผ้าทอนาหมื่นศรี มีการปรับปรุงลักษณะ และวิธีการดำเนินงานสามารถให้การบริการทางวิชาการแก่สตรีทั่วไปได้อย่างกว้างขวาง จึงเปิดดำเนินการในลักษณะ “ศูนย์ฝึกอาชีพทอผ้า” ขึ้นเรียกว่า “ศูนย์ฝึกอาชีพทอผ้า ตำบลนาหมื่นศรี” ต่อมา ผ้าทอนาหมื่นศรีได้กระจายไปในจังหวัดใกล้เคียง เช่น กลุ่มทอผ้าท่าสะบ้า จังหวัดตรัง กลุ่มทอผ้าบ้านควนดินแดน จังหวัดพัทลุง และกลุ่มทอผ้าตำบลท่าขึ้น จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น
 

 
*** การเรียนรู้ 
 
ครูกุศล เป็นผู้รัก และซึมซับความงามของผ้านาหมื่นศรีมาแต่เยาว์วัย จากการที่ได้คลุกคลีเรื่องการทอผ้าจากมารดาทำให้ทราบถึงประวัติความเป็นมา และความสำคัญของผ้านาหมื่นศรี ซึ่งมารดาเล่าให้ฟังว่า มีการทอสืบต่อกันมานับร้อยปี หลายชั่วอายุคน เป็นการทอเพื่อใช้สอยในครัวเรือน หากมีเหลือก็ส่งขายหมู่บ้านใกล้เคียง การทอได้หยุดชะงักไปเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ สอง หลังจากนั้น ชาวบ้านก็หันไปนิยมผ้าที่ทอจากเครื่องจักร ราคาถูกซื้อง่าย ทำให้ผ้านาหมื่นศรีนั้นไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนในชุมชนอีกต่อไป ประกอบกับการทอผ้านาหมื่นศรีนั้นสัมพันธ์กับประเพณีความเชื่อทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านนาหมื่นศรี ทั้งในเรื่องของการทอเพื่อใช้ในงานมงคล และงานศพ ดังนั้น หากไม่มีการสืบทอดไว้ เอกลักษณ์ความเป็นบ้านนาหมื่นศรีก็ จะถูกลบเลือนไปในที่สุด
 
*** ครูกุศล เริ่มด้วยการอนุรักษ์ลวดลายเฉพาะตัวของผ้าทอนาหมื่นศรี อันได้แก่ 
 
ลายลูกแก้ว / ลายลูกแก้วชิงดวง / ลายลูกแก้วโข่ง
ลายลูกแก้วสี่เม็ด / ลายดอกจัน / ลายเกสร
ลายดอกกก / ลายดาวล้อมเดือน / ลายดอกพิกุล
ลายราชวัตร / ลายรูปสัตว์ / ลายเม็ดแตง
ลายครุฑ / ลายตาสมุก (ลายเกล็ดเต่า) / ลายตาหมากรุกย่าน
 
จากนั้นนำมาพัฒนาขึ้นเป็นลวดลายใหม่ เช่น ลายลูกแก้วย่าน ลายลูกโซ่ ลายหมากรุกย่าน เป็นต้น
 
นอกจากนี้ ยังได้ทดลองย้อมสีผ้าจากสีธรรมชาติ เช่น จากเปลือกเงาะ ใบมะม่วงหิมพานต์ เปลือกสะตอ กระถิน ต้นยอ เป็นต้น ทำให้ผ้าทอนาหมื่นศรี เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น แพร่กระจายไปสู่ตลาดภายนอก และส่งไปจำหน่ายทั่วไป จากเดิมซึ่งเป็นผ้าที่ไม่อยู่ในความนิยมของผู้ใช้ ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เป็นแรงบันดาลใจให้มีการรวมกลุ่มแม่บ้านทอผ้าชนิดนี้มากขึ้นตามลำดับ เรียกได้ว่าทุกหมู่บ้านจากตำบลนาหมื่นศรี เป็นสมาชิกกลุ่มทอผ้าของครูกุศล ทั้งสิ้น ครูกุศล เองก็เป็นแกนนำในการทำงานระบบกลุ่มนำกลุ่มไปสู่ระบบธุรกิจชุมชน สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ให้แก่ชุมชนได้อย่างกว้างขวาง
 

 
“หมื่นศรีและหมื่นเส้น
มาสอดสร้างสลับสี 
นานเนิ่นเกินร้อยปี
นาหมื่นศรีสร้างตำนาน
ลวดลายเอกลักษณ์
ประกาศศักดิ์ศิลป์พื้นบ้าน
ทอรักถักวิญญาณ
สานคุณค่าผ้าเมืองตรัง
 
ประพันธ์โดย อาจารย์สุนทรี สังข์อยุทธ์ อดีตหัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ ตรัง
 

 
--------------------------------------------------------------------------------
 
ขอบคุณ : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตรัง วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี คณะลูกหลานคุณยายกุศล นิลลออ อาจารย์สุนทรี สังข์อยุทธ์ อดีตหัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ตรัง โครงการตามลายผ้ากลับนาหมื่นศรี กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานจังหวัดตรัง อบจ.ตรัง อบต.นาหมื่นศรี ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ศูนย์วิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมลคลศรีวิชัยตรัง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง โครงการจัดตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมลคลศรีวิชัยตรัง โรงเรียนบ้านควนสวรรค์ และโรงเรียนไทรงาม
 

กำลังโหลดความคิดเห็น