"พระนคร" เป็น 1 ใน 50 เขตการปกครองของกรุงเทพมหานครที่มายาวนาน รวมทั้งเป็นเขตอนุรักษ์เมืองเก่าที่มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมในยุครัตนโกสินทร์ เนื่องจากมีสถานที่สำคัญทั้งทางด้านวัฒนธรรมและด้านการเมืองการปกครองตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก คราวนี้ฉันได้มาร่วมเดินกับกิจกรรม “กรุงเทพฯ เดินเที่ยว : Walking Bangkok” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่จะพาฉันเดินเส้นทางลัดเลาะบางขุนพรหม-บางลำพู ไหว้พระ เดินท่องชุมชนเขตพระนครแห่งนี้
เริ่มต้นเส้นทางกันด้วยวัดที่มีประวัติศาสตร์สำคัญมากมายอย่าง "วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร" วัดอารามหลวงชั้นเอก ที่ตั้งอยู่บนถนนพระสุเมรุ ย่านบางลำภู อยู่ทางตอนเหนือของพระบรมมหาราชวัง เดิมมีชื่อเรียกว่า “วัดใหม่” ได้ถูกสถาปนาและสร้างเป็นวัดขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 3 วัดบวรนิเวศราชวรวิหารถือได้ว่าเป็นวัดแห่งราชวงค์จักรี เพราะมีเจ้านายถึง 6 พระองค์ด้วยกันที่ทรงเสด็จไปประทับเมื่อทรงผนวช คือ รัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 9 รวมทั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร อีกด้วย
เมื่อครั้นที่่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงออกผนวช ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 เป็นเวลา 15 วัน ท่านได้เสด็จมาประทับ ณ “พระตำหนักปั้นหย่า”(พระตำหนักปั้นหยา) เป็นตึก 3 ชั้น สถาปัตยกรรมแบบยุโรป เดิมทีเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งที่ทรงพระผนวช หลังจากนั้นที่นี่จึงเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระผนวชและเสด็จมาประทับที่วัดนี้ โดยในวันลาสิขาบท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกต้นสักไว้ที่ด้านหลังพระตำหนักปั้นหย่า ที่วันนี้เติบโตสูงใหญ่เป็นที่ปลาบปลื้มแก่พสกนิกรที่พบเห็น
วัดบวรฯ มีพระประธานประจำอุโบสถอยู่ 2 องค์คือ พระสุวรรณเขต เป็นพระประธานองค์ใหญ่ อันเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี และ พระพุทธชินสีห์ ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระพุทธสุวรรณเขต เดิมประดิษฐานอยู่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ก่อนจะอัญเชินมาประทับที่วัดบวรฯ แห่งนี้ วัดบวรฯ มีศิลปะแบบยุโรปผสมผสานอยู่ คือ มีเสาขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้าอุโบสถ และมีแผนผังการสร้างวัดเป็นแบบอยุธยา คือ มีพระอุโบสถ วิหาร เจดีย์ ตั้งอยู่เป็นทรงแนวเดียวกัน
จากนั้นเดินมุ่งตรงไปที่ตรอกมัสยิดจักรพงษ์ เพื่อไปยัง “มัสยิดจักรพงษ์” หรือ “สุเหร่าวัดตองปุ” เป็นศาสนสถานของชาวไทยมุสลิมในย่านบางลำพู สร้างขึ้นโดยชาวเมืองปัตตานีที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยรัชกาลที่ 1ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เชลยที่มีความสามารถทางด้านการทำทองจะถูกส่งตัวมาทำงานในย่านนี้ ทำให้ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์มีความสามารถในเรื่องการทำทองสืบต่อกันมา แต่ปัจจุบันในชุมชนไม่มีการทำทองแล้ว เนื่องจากการทำทองทำได้ยากและเสียเวลาทำให้ไม่มีผู้ใดสืบทอดการทำทองต่อไป
ถัดจากมัสยิดจักรพงษ์ก็คือ ตรอกเขียนนิวาชน์-ตรอกไก่แจ้ ชุมชนที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำ "ชุดโขน" งานหัตถกรรมที่ต้องใช้ความละเอียดลออในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งปัจจุบันหาคนทำได้ยากมากแล้ว แต่ที่นี่ก็ยังคงสืบสานกันไว้ เพราะไม่อยากให้ศิลปหัตถกรรมของไทย จบสิ้นไปพร้อมกับคนใดคนหนึ่ง ทั้งนี้ชุมชนตรอกเขียนนิวาชน์-ตรอกไก่แจ้ ยังเปิดโอกาสให้คนที่สนใจเข้ามาร่วมเรียนรู้การทำชุดโขนแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ
จากนั้นเดินเท้ามาชุมชนวัดสังเวช ลัดเลาะตามตรอกซอกซอยไปที่สามเสนซอย 5 จะเจอ วัดสามพระยาวรวิหาร วัดเก่าแก่ในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยหลวงวิสุทธิ์โยธามาตย์ (ตรุษ) ขุนนางเชื้อสายมอญ พร้อมด้วยวงศาคณาญาติได้ร่วมใจกันยกที่ดินพร้อมทั้งบ้านเรือนของขุนพรหม (สารท) ผู้เป็นน้องชาย อุทิศถวายเป็นวัดเพื่อเป็นผลบุญและเป็นอนุสรณ์แก่ ขุนพรหม ซึ่งเสียชีวิตด้วยไข้ป่า วัดนี้จึงได้ชื่อว่า "วัดบางขุนพรหม"
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่3 วัดบางขุนพรหมชำรุดทรุดโทรมลง พระยาราชสุภาวดี (ขุนทอง) พระยาราชนิกุล (ทองคำ) และพระยาเทพอรชุน (ทองห่อ) ซึ่งเป็นบุตรของน้องสาวคนสุดท้อง (พวา) ของหลวงวิสุทธิโยธามาตย์ (ตรุษ) และขุนพรหม (สารท) จึงพร้อมใจกันปฏิสังขรณ์วัดจนสำเร็จบริบูรณ์ แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 3 และพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ รับเป็นพระอารามหลวง พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า "วัดสามพระยาวรวิหาร"
วัดสามพระยาฯ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจีน เป็นแบบแผนที่รัชกาลที่ 3 นิยม คือ มีลวดลายแบบจีนผสมไทยไม่มีช่อฟ้า ใบระกาให้เห็น จิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์เป็นแบบลวดลายมงคล เช่น ลายสัตว์มงคล ผีเสื้อ (ความมีอายุยืน) นก (ความรื่นเริง) ค้างคาว (ความสูงส่ง) นอกจากนี้ยังมีพานผลไม้ ดอกไม้ ที่เป็นมงคลต่างๆ
ส่วนพระประธานภายในพระอุโบสถมีนามว่า “พระพุทธเกสร” เป็นพระพุทธรูปปิดทองปางมารวิชัย พระพักตร์ค่อนข้างรี ขมวดพระเกศาเป็นปุ่มแหลม มีพระเกตุและพระรัศมี ชุกชีและชั้นเบญจาเป็นฐานสิงห์ ผู้คนนิยมมากราบไหว้สักการะเพื่อความเป็นมงคล ด้านเมตตามหานิยมและความรัก ด้านข้างทั้งสองขนาบด้วยพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรมีฉัตร 5 ชั้น
จากนั้นก็เดินกันต่อไปที่ วัดเอี่ยมวรนุช วัดราษฎร์เล็กๆ ที่ตั้งอยู่สี่แยกบางขุนพรหม วัดเอี่ยมวรนุชไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างที่แน่ชัด มีเพียงเรื่องเล่าว่าเดิมชื่อ “วัดใหม่ท้องคุ้ง” เพราะตั้งอยู่ริมคลองบางขุนพรหม (ปัจจุบันคลองถูกถมเป็นถนนพายัพ) สิ่งก่อสร้างภายในวัดส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นมาภายหลัง อาคารเก่ามีเพียง "ซุ้มพระเจ้าเข้านิพพาน" เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ซุ้มยอดปรางค์มีบันไดทางขึ้น ประดับรูปสลักนูนต่ำเป็นรูปเสือ สิงห์ และเด็ก ภายในเป็นที่ประดิษฐานหีบสลักลายพระพุทธบาทคู่ พระพุทธรูปและพระสาวก
ถัดไปอีกหนึ่งซอยนั้น เราก็พบกับ วัดใหม่อมตรส วัดราษฎร์อีกหนึ่งวัด ตั้งอยู่แขวงพานถม เขตพระนคร เดิมชื่อ “วัดวะรามะดาราม” เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นเมื่อสมัยปลายรัชกาลกรุงธนบุรี ไม่พบหลักฐานผู้สร้าง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดอำมาตรส หรือ อมฤตรส จากการสันนิฐานตามพงศาวดาร เมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อให้ใหม่เป็น “วัดอมตรส” ต่อมาได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นเสมือนเป็นอาคารหลังใหม่ จึงได้ใช้นามว่า “วัดใหม่อมตรส”
วัดใหม่อมตรส ได้รับการบูรณเมื่อครั้นที่พระพุฒาจารย์โตได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดอินทรวิหาร ท่านเห็นว่าวัดใหม่เป็นวัดร้างสงบมีต้นไม้อยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้ทำการบูรณะขึ้นมา วัดใหม่อมตรสมีชื่อเสียงทางด้านวัตถุมงคล มีหลักฐานบันทึกไว้ว่า พระสมเด็จบางขุนพรหม ได้บูรณะปฏิสังขรณ์เจดีย์ขึ้นและได้สร้างพระพิมพ์ผงของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ด้วยผงวิเศษ อิฐเจ ปถมัง ตรีนิสิงเห และผงมหาราช มีความศักดิ์สิทธิ์เรื่องการเกิดอภินิหารต่างๆ ทางเมตตา มหาลาภ มหานิยม ทรงพลังในทางแคล้วคลาดป้องกันและรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี
จากนั้นเดินเท้าจากวัดใหม่อมตรสเรียบถนนสามเสนไปที่ ศาลเจ้าพ่อหนู ศาลเจ้าพ่อลอยฟ้าแห่งบางลำภู ตั้งอยู่เชิงสะพานนรรัตน์สถาน ที่เคารพบูชาของชาว 3 ตลาด คือ ตลาดนานา ตลาดทุเรียน และตลาดยอด ในอดีตมีพระพุทธรูปลอยน้ำมา และไม่ยอมลอยไปไหน ชาวบ้านจึงได้อัญเชิญขึ้นมาบนศาล และเรียกชื่อว่า “เจ้าพ่อหนู” เพราะมีขนาดเล็กลักษณะคล้ายเด็ก ต่อมาได้เกิดไฟไหม้บริเวณตลาดทุเรียน มีชาวบ้านเห็นเด็กผู้ชายแต่งกายชุดสีชมพูยืนโบกธงอยู่ในลักษณะปัดเป่าทำให้ไฟสงบลง ประจวบเหมาะกับมีพระลอยน้ำมา ชาวบ้านจึงเข้าใจว่าเด็กชายดังกล่าวเป็นเจ้าพ่อหนู ที่คอยมาปกปักรักษา
"เจ้าพ่อหนู" มีขนาดหน้าตักกว้าง 8.5 นิ้ว สูง 11 นิ้ว เนื้อโลหะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระพักตร์คล้ายเด็กยิ้ม มีความศักดิ์สิทธิ์เรื่องการมาขอพรที่ให้ขายที่ดินได้ การเรียน การศึกษาและแก้บนด้วยของเล่น
เดินลัดเลาะคลองรอบกรุงไปที่ วัดตรีทศเทพวรวิหาร วัดอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่บางลำพูฝั่งเหนือ อยู่นอกกำแพงเมือง แขวงพานถม เขตพระนคร วัดตรีทศเทพวรวิหาร เป็นวัดที่มีเจ้านาย 3 พระองค์ได้สร้างขึ้น คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านพวงศ์ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมจึงเป็นวัดตรีทศเทพฯ คือ มีเทพสามองค์เป็นคนสร้าง (คนสมัยก่อนนับถือพระเจ้าแผ่นดินเป็นเทพ)
วัดตรีทศเทพวรวิหาร มีระเบียงรอบอุโบสถ มีเจดีย์ที่สร้างขึ้นมาใหม่ ปัจจุบันอุโบสถได้มีการปรับปรุง และมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังขึ้นมาใหม่โดย อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ โดยเป็นเรื่องราวพระพุทธประวัติ และปริศนาธรรมต่างๆ ให้ได้ศึกษากัน พระพุทธรูปที่ประดิษฐานประจำพระอุโบสถมีชื่อว่า “พระพุทธนวราชบพิตร” เป็นพระพุทธรูปทีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้หล่อขึ้นมาใหม่ เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานประจำอุโบสถ
หากมีโอกาสก็ไม่ควรพลาดที่จะมาเดินท่องเที่ยวเขตพระนครแบบนี้สักครั้ง เพราะนอกจากจะได้สักการะบูชาพระคู่บ้านคู่เมืองทั้งของวัดราษฎร์และวัดอารามหลวงเพื่อเป็นมงคลให้กับตัวเอง ยังได้ชื่นชมสถาปัตยกรรมที่งดงามและเรื่องราวประวัติศาสตร์อีกมากมาย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com