วัดสิรินธรเทพรัตนาราม ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่เลขที่ 26 หมู่ 7 ตำบลอ้อมใหญ่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
พระอารามแห่งนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงประทานที่ดินจำนวน 62 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา เพื่อสร้างวัดในพระพุทธศาสนา (ตามเจตนาของผู้ถวายที่ดินคือนางสาวจำรูญ ภูไทย นางจำเริญ ภูไทย) เมื่อ พ.ศ. 2531 และทรงอุปถัมภ์โดยประทานทุนเริ่มแรกในการก่อสร้างพระอุโบสถ จำนวน 2,500,000บาท เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 4 รอบ วันที่ 2 เมษายน 2546
ทรงมอบให้พระธรรมวราจารย์ (แบน กิตฺติสาโร) วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานกรรมการดำเนินการจัดสร้าง โดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นสถานที่สร้างวัด ส่วนหนึ่งเป็นสถานที่สร้างวิทยาเขตแห่งที่ 2 ของมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย และอีกส่วนหนึ่งเป็นสถานที่สร้างศูนย์เด็กเล็ก
ต่อมา พ.ศ. 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระนามาภิไธย เป็นนามวัดว่า “วัดสิรินธรเทพรัตนาราม” พร้อมทั้งทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์
เมื่อวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2542 คณะสงฆ์จึงแต่งตั้งพระธรรมวราจารย์ ให้รักษาการเจ้าอาวาสวัดสิรินธรเทพรัตนารามฯ จากนั้นการก่อสร้างพระอุโบสถจึงได้เริ่มต้นขึ้น โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์อุโบสถเฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2544
จากวันเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2533 ถึง พ.ศ. 2549 วัดสิรินธรเทพรัตนารามฯ มีหอพักสำหรับพระภิกษ6สามเณร 200 ห้องนอน มีกุฏิ 28 หลัง มีอาคารเรียนขนาดใหญ่ 2 หลัง มีห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติขนาดใหญ่ 1 หลัง กลุ่มอาคารศูนย์เด็กเล็ก 6 หลัง และตึกหอพัก 84 ห้องนอน เป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น 1 หลัง
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งสำคัญภายในพระอาราม ได้แก่
• พระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมไทย 2 ชั้น สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง 18 เมตร ยาว 37 เมตร ผนังภายในประดับด้วยหินแกรนิตและหินอ่อนบางส่วน หลังคาประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา หน้าบันประดิษฐานพระนามาภิไธย ย่อ ส.ธ. ซุ้มประตูหน้าต่างประดับด้วยหินอ่อน และเบญจรงค์ หลังคามุงกระเบื้องสีแดง บานประตูด้านหน้าทั้ง 3 คู่ฝังมุก
ภายในอุโบสถ พื้น บันไดด้านหน้า และด้านหลัง ปูด้วยหินแกรนิต เสาภายในประดับด้วยไม้สัก และหินอ่อน บัวหัวเสาภายนอกประดับด้วยปูนปั้น ซุ้มเหนือหน้าต่างภายในประดับด้วยเบญจรงค์ ซุ้มหน้าต่างภายนอกประดับด้วยหินอ่อนปูนปั้นบางส่วน มีตราวัด ส.ธ. เขียนลายเบญจรงค์ทุกซุ้ม เหนือประตูหน้าตรงข้ามพระประธานเขียนลายธรรมจักร 37 ซี่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.30 เมตร ฐานชุกชีพระประธาน ประดับด้วยหินอ่อนและหินแกรนิต ในซุ้มพระประธานเขียนลายเทพพนม ฝาผนังเหนือหน้าต่างเขียนลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
• พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธสิหิงค์จำลอง ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 80 นิ้ว มีอักษรพระนามาภิไธยย่อ ส.ธ. ประดิษฐานที่ผ้าทิพย์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีทรงเททองหล่อพระประธาน ทรงยกช่อฟ้าอุโบสถ และทรงเปิดป้ายสนามกีฬาศูนย์เด็กเล็ก ในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2546
• พระรูปเหมือนพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) ขนาดหน้าตักกว้าง 29 นิ้ว อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร องค์ที่ 4
• พระรูปเหมือนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขนาดหน้าตักกว้าง 29 นิ้ว
• ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารทรงไทย 2 ชั้น สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
วัดสิรินธรเทพรัตนาราม ในพระราชูปถัมภ์ แม้จะไม่ใช่วัดเก่าแก่ แต่ก็ถือว่าเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งที่ให้บริการทางด้านวิชาการแก่พระภิกษุสามเณร และคฤหัสถ์ เป็นสถานที่ให้ความรู้แก่ชุมชน พระภิกษุสงฆ์เป็นวิทยากรในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโรงเรียนต่างๆ เป็นที่ตั้ง “ศูนย์เด็กเล็กวิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์” ซึ่งเป็นสถานที่รับเลี้ยงเด็กอ่อนก่อนวัยเรียน อายุ 2 ขวบครึ่ง ถึง 6 ขวบ ในโครงการพระราชดำริ ปี 2558 มีเด็กก่อนวัยเรียน จำนวน 982 คน ครูพี่เลี้ยง 84 คน ห้อง 36 ห้อง ถือเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กเล็กก่อนวัยเรียนที่ใหญ่ที่สุดในปริมณฑล กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ วัดสิรินธรเทพรัตนารามฯ ยังเป็นแหล่งชุมทางแห่งความรู้ทุกๆด้าน รวมทั้งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชนด้วย
เวลาผ่านไปเพียง 20 ปีเศษนับแต่สร้างวัด หลังคาฝ้าเพดานของพระอุโบสถก็เกิดชำรุดทรุดโทรม ดังนั้น ทางวัดจึงร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ วัดสิรินธรเทพรัตนาราม ในพระราชูปถัมภ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และถวายเป็นพระราชกุศล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมายุครบ 5 รอบ วันที่ 2 เมษายน 2558
โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป กำหนดแล้วเสร็จภายในพ.ศ.2559 เพื่อรักษาพระอุโบสถเฉลิมพระเกียรติ ให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรง และงดงามดังเดิม เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของพระภิกษุสามเณรในพระอารามที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์แห่งนี้
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 177 กันยายน 2558 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)