“ทำไมพระราชาเดินไปในป่าเขา ท่านทรงห่วงใยคนที่เขาอยู่ห่างไกล ทำไมพระราชาถึงมีเหงื่อไหล ท่านทุ่มเทแรงกาย ทรงงานมาหลายปี
ทำไมพระราชาถือแผนที่เอาไว้ ท่านอยากจะทรงเห็นเมืองไทยได้ทุกที่ เพราะอะไรพระราชาถึงต้องทำแบบนี้ ท่านอยากให้เรามีชีวิตที่เป็นสุข...” (เพลง ตามรอยพระราชา)
จากเนื้อเพลงเพียงไม่กี่ประโยค ทำให้เราได้เห็นภาพการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงพระราชดำเนินไปยังทุกหนทุกแห่งบนผืนแผ่นดินไทย ทรงคิดค้นโครงการมากมายเพื่อดูแลคนไทยให้มีอยู่มีกิน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
และภาพการทรงงานอย่างหนักเพื่อปวงชนชาวไทยนั้น ถูกรวบรวมมาไว้ที่ “พิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเรา” อันเป็นหลักฐานที่ชัดเจนแล้วว่าพระองค์ทรงทำเพื่อคนไทยมากมายเพียงใด
“พิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเรา” ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จ.ปทุมธานี ซึ่งได้รวบรวมพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ผลงานอันเนื่องมาจากพระอัจฉริยภาพ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งวิวัฒนาการ ภูมิปัญญา นวัตกรรม และพัฒนาการของเกษตรกรไทย ไว้สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ท่องเที่ยวของประชาชนผู้สนใจ
ภายในพิพิธภัณฑ์นั้นแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 ชั้น โดยชั้นล่างนั้นเมื่อเดินเข้ามาภายในอาคาร จะพบกับส่วนแรกของการจัดแสดง “พระราชพิธีในวิถีเกษตร” ซึ่งเป็นการจัดแสดงหุ่นจำลองการประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ชาวนาเมื่อถึงต้นฤดูกาลเพาะปลูก พร้อมประกอบด้วยคำอธิบาย ความเป็นมาและความหมายของพระราชพิธี
อีกจุดหนึ่งที่พลาดไม่ได้คือโซน “กษัตริย์เกษตร” เป็นโรงภาพยนตร์ 3 มิติขนาดย่อม ซึ่งในช่วงนี้จะฉายภาพยนตร์เรื่อง “เรื่องของพ่อในบ้านของเรา” เป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่เล่าเรื่องราวของราษฎรที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจนสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตให้อยู่อย่างพอมีพอกิน
นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงและรวบรวมเรื่องราวพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เดินมาต่อกันที่โซน “เรื่องของพ่อในบ้านของเรา” ซึ่งจะแบ่งออกเป็นมุมต่างๆ เริ่มตั้งแต่ “หลักการทรงงาน” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้รวบรวมมาไว้ทั้งหมด 23 ข้อ
“ดอกบัวแห่งปัญญา” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก ด้วยทรงประจักษ์ดีว่าเกษตรกรรมเท่านั้นที่จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นเมื่อพระองค์ทรงพบว่าภาคการเกษตรมีปัญหาใดก็จะพระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหานั้นๆ
“บ้านของเรามีพ่อ” ภาพรอยยิ้มและความสุขของคนไทยใต้ร่มพระบารมี เป็นความสุขที่สะท้อนกลับระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพสกนิกรทั่วประเทศ ทั้ง 77 จังหวัด “ตามรอยพ่อ อยู่อย่างพอเพียง” บอกเล่าเรื่องราวเศรษฐกิจพอเพียง จัดแสดงวีดีทัศน์ที่ถ่ายทอดพระราชจริยวัตร พระราชกรณียกิจที่สะท้อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นตัวอย่างที่ควรน้อมนำไปใช้เป็นแบบอย่าง
“นวัตกรรมของพ่อ” จัดแสดงเรื่องราวสิ่งประดิษฐ์ ด้วยพระวิริยะและพระปรีชาสามารถทรงได้ประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์ต่างๆเพื่อพัฒนาการเกษตรไทยทย ตัวอย่างเช่น กังหันน้ำชัยพัฒนา พระองค์ทรงมีพระราชดำริ “ให้จดสิทธิบัตร จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและแจ้งในสิ่งที่คิดค้นเพื่อเป็นสมบัติและภูมิปัญญา เป็นมรดกสำหรับคนไทยและประเทศไทย” และยังมีสิ่งประดิษฐ์ในด้านอื่นจัดแสดงไว้ให้ชม
“ภูมิพลังแผ่นดิน” มีจุดเด่นเป็นโดมที่ใช้ไม้สนในการสร้างแบบยุโรปเพื่อสื่อถึงความอบอุ่น เมื่อได้เข้าไปด้านใน ภายในประกอบด้วยภาพวีดีโอ ที่ย้อนไปเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์ จัดแสดงภายในโดมไม้สน และยังมีการจัดแสดงยุคสมัยที่ 1-7 ตั้งแต่พระราชสมภพ ขึ้นครองราชย์ และ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างมิทรงย่อท้อเหน็ดเหนื่อย
และบริเวณตรงส่วนกลางของอาคารนั้นเป็น “ลานภูมิปัญญาแผ่นดิน” เป็นพื้นที่ร่มรื่น สงบเหมาะกับนั่งพักหลังการเดินชมในส่วนต่างๆ ประดับฝาผนังด้วยรูปพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และได้ประดับแผ่นศิลาฤกษ์ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์ อาคารพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อ พ.ศ.2539 ด้านบนเป็นภาพนูนต่ำ แสดงสัญลักษณ์ กรม กองต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ ไว้ให้ผู้ที่ได้มานั่งพัก ได้ชมกัน
นอกจากนี้ ที่บริเวณชั้น 1 ยังมีโซนอื่นๆ ให้เดินชกันได้อีก ได้แก่ “หัวใจใฝ่เกษตร” เป็นดินแดนที่จะได้พบกับความสุข ความสนุกสนาน และความเรียบง่ายในวัยเด็กผ่านของใช้ ของเล่นจากธรรมชาติที่ประดิษฐ์ขึ้นมาได้อย่างง่ายๆ แล้วก็ยังได้ทำความรู้จักกับบ้านของชาวนา สวนผัก 5 สี และมีมุมสำหรับเด็กให้ลิ่งเล่นได้ด้วย
“วิถีเกษตรของพ่อ” จัดแสดงให้เห็นภาพของโครงการหลวง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มิได้ทรงงานแต่ในพระราชวังเพียงเท่านั้น พระองค์ท่านยังได้ทรงเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายในการแก้ไขพื้นที่ที่ได้รับความเดือนร้อน พระองค์ท่านทรงค้นคว้าทดลองโครงการส่วนพระองค์ขึ้นมามากมาย แต่ละโครงการนั้นล้วนแล้วแต่นำพาประโยชน์สุขมาสู่ประชาชน เช่น โครงการหลวง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 เป็นตัวแทนการแก้ไขปัญหาในแต่ละภูมิภาค
และที่บริเวณชั้น 1 ยังมีมุมที่จัดแสดงนิทรรศการภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นภาพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์
ส่วนที่ชั้น 2 นั้น เน้นการจัดแสดงเกี่ยวกับการเกษตรของไทย รวมถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อเกษตรกรไทยในหลายๆ ด้าน เริ่มจากโซน “เกษตรไทย เกษตรโลก” นำเสนอแนวคิด เรียนรู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน สร้างสรรค์อนาคต เพื่อให้เราเรียนรู้จุดเปลี่ยนสำคัญ การพัฒนาการเกษตร ผลกระทบจากบริบทของสังคมโลกต่อเกษตรไทยในอดีต โดยเฉพาะในช่วง 5 ทศวรรษ ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ผลกระทบที่เกิดขึ้นและการย้อนคืนสู่ฐานเดิมของสังคม ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
รวมถึงยังเล่าเรื่องราวของตลาดเก่าของไทย อย่างตลาดริมน้ำ ท่าข้าว และเรือ อันเป็นพาหนะสำคัญในการขนส่งสินค้าเกษตรในสมัยก่อน ผ่านการจำลองบรรยากาศที่เสมือนจริง
“น้อมนำคำพ่อสอน” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็น “พ่อ” และ “บรมครู” ผู้ยิ่งใหญ่ของปวงชนชาวไทยคำสอนของ “พ่อ” มาจากประสบการณ์การทรงงานหนัก “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” มาตลอดพระชนม์ชีพ ในห้องนี้ จะนำเสนอเรื่องราวของบุคคลผู้น้อมนำแนวพระราชดำริมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาชีวิตตนและสังคมให้พบประโยชน์สุขอย่างยั่งยืน
“นวัตกรรมเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง” บอกเล่าเรื่องราวนวัตกรรมเกษตรที่จะช่วยพาให้ผ่านพ้นวิกฤต ความท้าทาย ความเปลี่ยนแปลง และปัญหาต่างๆ นวัตกรรมเหล่านี้เป็นองค์ความรู้ที่พัฒนาจากภูมิปัญญาดั้งเดิม ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นที่มี เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถเข้าถึงได้ นำไปพัฒนาต่อยอดได้ง่าย และเป็นการใช้ชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
“สถาบันเกษตรกรไทย” เส้นทางการเกษตรกรรมของไทย ได้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน และยังพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นรากฐานของการเกษตรในอนาคต
เมื่อได้เดินชมจนครบทั่วทั้งพิพิธภัณฑ์แล้ว ก็จะได้ประจักษ์ชัดถึงน้ำพระทัยที่พระองค์ทรงดูแลทุกข์สุขของประชาชนทั้งชาติมาอย่างยาวนานตลอดทั้งรัชสมัยของพระองค์ท่าน ในฐานะประชาชนของพระองค์ ความรู้จากการชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้น่าจะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการเดินเนินชีวิต โดยเฉพาะแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทุกคนสามารถลงมือทำได้ด้วยตัวเอง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
“พิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเรา” ตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ริมถนนพหลโยธิน กม.46-48 (ตรงข้ามโรงพยาบาลการุณเวช) อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยตั้งแต่วันนี้ - 13 พ.ย. 59 จะเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเราโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. สอบถามเพิ่มเติมที่ โทร. 08-7359-7171, 08-7519-1666 หรือที่ www.wisdomking.or.th
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com