โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
นอกจากมรดกทางธรรมชาติที่หนุนส่งให้จีนรุ่มรวยไปด้วยมรดกโลกแล้ว มรดกแห่งอารยธรรมอันเก่าแก่ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญทางการท่องเที่ยวของประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็น สิ่งก่อสร้าง สถาปัตยกรรม วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี รวมไปถึงบ้านเรือนชุมชนเก่าแก่ที่เป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กดึงดูดผู้คนเดินทางมาเที่ยวชม สัมผัสกับวิถีของคนจีน ผ่านชุมชนเก่าแก่ ชุมชนโบราณ ซึ่งวันนี้มีเมืองเก่าอีกหลายๆแห่ง ชุมชนโบราณหลายๆแห่ง ที่ทางการจีนอนุรักษ์ไว้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการท่องเที่ยวเป็นหลัก
ชุมชนบางแห่งจีนเก็บบรรยากาศวิถีแบบดั้งเดิมไว้ทั้งหมด แต่อีกหลายๆแห่งก็มีการแต่งเติมเสริมสร้างบางสิ่งบางอย่างเข้าไปให้ดูกลมกลืนกับของเก่า ชนิดที่บางครั้งก็อยากจะแยกออกว่า เมืองเก่าเมืองไหนเก่าจริง? หรือเมืองเก่าเมืองไหนเก่าปลอม?(เป็นเมืองที่สร้างขึ้นมาใหม่)
สำหรับเมืองโบราณ“เฟิ่งหวง” หรือ “ฟ่งหวง” แห่งมณฑลหูหนาน ก็เป็นอีกหนึ่งเมืองเก่าที่ประเทศจีนอนุรักษ์ไว้เพื่อการท่องเที่ยว โดยมีการแต่งเติมสีสันเข้าไปบ้างเพื่อเพิ่มเสน่ห์ให้กับเมืองนี้
เฟิ่งหวง เมืองหงส์
เมืองเฟิ่งหวงตั้งอยู่ทางตะวันตกของหูหนาน ถือเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวสำคัญที่นักท่องเที่ยวนิยมเที่ยวเชื่อมโยงกับ“เมืองฉางซา-จางเจียเจี้ย-เฟิ่งหวง” ที่มีขุนเขาอวตารอันลือลั่น
ทั้งนี้การเดินทางจากเมืองไทยที่สะดวกที่สุดคือ บินตรงไปลงเมือง“ฉางซา”(เมืองหลวงของมณฑลหูหนาน) แล้วเดินทางต่อไปสัมผัสกับความมหัศจรรย์ของขุนเขาอวตารที่เมืองจางเจียเจี้ย จากนั้นก็ไปเที่ยวเมืองเฟิ่งหวงสัมผัสมนต์เสน่ห์ของชุมชนโบราณ ซึ่งวันนี้สายการบิน“แอร์เอเชีย”มีเที่ยวบินตรงจากเมืองไทยสู่ฉางซา ทั้งเส้นทาง “กรุงเทพฯ-ฉางซา”และ“เชียงใหม่-ฉางซา”
เมืองเฟิ่งหวงนั้น แบ่งเป็น 2 เขต ได้แก่ เขต “เมืองใหม่” และเขต “เมืองเก่า” ที่โดดเด่นด้านการท่องเที่ยว
เมืองเก่าเฟิ่งหวงสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644-1863) มีอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี มีแม่น้ำ“ถัวเจียง” ไหลพาดผ่านเป็นเส้นเลือดหลัก และมีสะพาน “หงเฉียว” อายุกว่า 300 ปี เป็นสถาปัตยกรรมโบราณที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน
นับจากอดีตถึงปัจจุบันชาวเมืองเฟิ่งหวงใช้แม่น้ำถัวเจียงประกอบปัจจัยหลายสิ่งหลายอย่างในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การคมนาคม-สัญจรไปมา, จับปลา-หาอาหาร, หุงต้ม-ประกอบอาหาร, ซักผ้า-ชำระล้างสิ่งของ สร้างสรรค์งานศิลปะ-ภาพวาดกวี แต่งเพลง รวมถึงการเปิดเป็นย่านการค้าริมน้ำลักษณะคล้ายๆ ตลาดน้ำอัมพวาในบ้านเรา
เดิมเฟิ่งหวงมีชื่อเรียกขานว่าเมือง “เจิ้นกัน” ก่อนที่จะมาเปลี่ยนชื่อเมืองมาเป็น“เฟิ่งหวง” ในปี ค.ศ. 1991 โดยตั้งชื่ออ้างอิงจากลักษณะของแผนที่เมืองที่มีรูปร่างคล้าย“หงส์”(แบบจีน) หรือ “นกฟีนิกซ์” นั่นจึงทำให้เฟิ่งหวงได้รับฉายาว่าเป็น“เมืองหงส์” พร้อมทั้งมีการสร้าง“อนุสาวรีย์หงส์”ขึ้น เป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมือง ณ “จัตุรัสหงส์” หรือ “จัตุรัสนกฟีนิกซ์” ในใจกลางเมืองเก่าเฟิ่งหวง
อนุสาวรีย์หงส์ เป็นประติมากรรมหงส์ทรงสง่าทำท่าสยายปีกกำลังเตรียมเหินบินไว้ ซึ่งวันนี้ถือเป็นแหล่งพักผ่อนและหนึ่งในจุดถ่ายรูปสำคัญประจำเมือง ที่เมื่อนักท่องเที่ยวหรือคณะทัวร์มามักจะไม่พลาดการมาเที่ยวชมรูปปั้นเจ้าหงส์เตรียมเหินบินด้วยประการทั้งปวง
เปิดโลกเฟิ่งหวง
เฟิ่งหวงมีประชากรแบ่งเป็น 2 ชนเผ่าหลักๆ คือเผ่าถู่เจียและเผ่าแม้ว(ม้ง) สำหรับเมืองเก่าเฟิ่งหวงในอดีตฮ่องเต้จัดสรรให้เป็นถิ่นอยู่อาศัยของชนเผ่าแม้วภายใต้การควบคุมของทางการ ที่ให้อยู่เฉพาะในเขตพื้นที่เมืองเก่าในเขตแนวกำแพงเมืองโบราณที่ปัจจุบันยังมีสภาพสมบูรณ์เป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน
เฟิ่งหวงในอดีตเป็นเพียงชุมชนค้าขายริมน้ำธรรมดา ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนปัจจุบัน แต่จุดเปลี่ยนของเมืองนี้มาจากการที่ “เสิ่น ฉง เหวิน” (ค.ศ. 1902-1988) นักประวัติศาสตร์ นักประพันธ์ ผู้รอบรู้ และกวีนามอุโฆษของจีนชาวเฟิ่งหวง ได้นำภาพมนต์เสน่ห์ของบ้านเรือนเก่าแก่อันเป็นเอกลักษณ์ริมน้ำ ภูมิประเทศ วิถีวัฒนธรรม แห่งเมืองเฟิ่งหวงเขียนเป็นหนังสือ บทกลอน กวี ถ่ายทอดให้คนภายนอกได้รับรู้ โดยเฉพาะ “เปียนเฉิน” หรือ “The Border Town” หนังสือเล่มสำคัญที่เปิดโลกเมืองโบราณเฟิ่งหวงให้โลกรับรู้ จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
หลังจากหนังสือเปียนเฉินออกมาสร้างชื่อให้กับเมืองเฟิ่งหวง ทางการจีนก็เข้ามาทำการอนุรักษ์เมืองเก่าแห่งนี้ พร้อมกับการแต่งเติมสีสันให้เป็นเมืองท่องเที่ยวในรูปแบบเมืองโบราณมีชีวิต ขณะที่บ้านเกิดของเสิ่น ฉง เหวิน หลังท่านเสียชีวิต เมืองเฟิ่งหวงก็ได้อนุรักษ์ไว้ พร้อมเปิดให้เป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวสำคัญของเมืองเฟิ่งหวง ให้ชาวจีนได้ศึกษา เรียนรู้อัตชีวประวัติ ผลงาน และคุณูปการอีกหลากหลายที่เสิ่น ฉง เหวิน ได้ทิ้งมรดกอันทรงคุณค่าไว้ให้กับคนรุ่นหลัง
สำหรับ เสิ่น ฉง เหวิน คนไทยเราอาจจะไม่ค่อยคุ้นกับชื่อนี้ แต่สำคัญชาวจีนนี่คือยอดกวีเอกยุคหลัง (ยุคใหม่) ที่เทียบได้กับ 2 ยอดกวีอมตะผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์ถัง อย่าง “หลี่ ไป๋” (ค.ศ. 701-762) และ“ตู้ฝู่” (ค.ศ. 712 — ค.ศ. 770) หรือหากจะเปรียบกับไทย เสิ่น ฉง เหวิน ก็เหมือนกับ“สุนทรภู่” มหากวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เฟิ่งหวง เมืองแห่งสีสัน
หลังเปิดตัวอวดโฉมเป็นที่รู้จัก วันนี้เฟิ่งหวงมีชื่อในฐานะหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวอันโดดเด่นของประเทศจีน
สำหรับจุดท่องเที่ยวเด่นๆ ในเฟิ่งหวงนอกจาก “จัตุรัสหงส์” กับ “บ้านเกิดเสิ่น ฉง เหวิน” แล้ว ที่นี่ยังมีกำแพงเมืองโบราณที่ทอดตัวขนาบไปกับบ้านเรือนและแม่น้ำ บนกำแพงสามารถขึ้นไปยืนถ่ายรูปเดินชมวิวบนนั้นได้ ส่วนอีกหนึ่งจุดที่ถือเป็นไฮไลต์สำคัญและจุดนัดพบชั้นดี (เวลาใครหลงจากกลุ่ม) ก็คือ “สะพานหงเฉียว” หรือ “สะพานสายรุ้ง” สะพานที่เป็นมรดกตกทอดเก่าแก่ที่สุดมาจนถึงวันนี้ มีอายุกว่า 300 ปี สร้างในสมัยฮ่องเต้คังซี แห่งราชวงศ์ชิง
สะพานสายรุ้ง เป็นสะพานปูน 2 ชั้น มีหลังคาคลุม ลักษณะคล้ายสะพานลมฝนของชาวต้ง (แต่ชาวต้งจะสร้างด้วยไม้) ชั้นล่างของสะพานปัจจุบันเป็นร้านค้าไปตลอด 2 ฟากฝั่งสะพาน ส่วนชั้นบนเป็นมุมกาแฟ จุดชมวิวที่สามารถมองลงไปเห็นบ้านเรือนเก่าแก่ปลูกสร้างอย่างสวยงามไปตาม 2 ฟากฝั่งลำน้ำถัวเจียง นับเป็นจุดถ่ายรูปมุมสูงยอดฮิตประจำเมือง เช่นเดียวกับบนสะพานประตูเมืองทางทิศใต้ ที่บนนั้นก็สามารถขึ้นไปยืนถ่ายรูปวิวทิวทัศน์มุมสูงกว้างไกลของบ้านกับลำน้ำถัวเจียงได้สวยงามเช่นกัน
พูดถึงแม่น้ำถัวเจียง วันนี้ลำน้ำสายนี้ก็ยังคงเป็นลำน้ำแห่งชีวิตเช่นในอดีต ซึ่งที่นี่นอกจากจะมีเส้นทางเดินใน 2 ฟากฝั่งชมความงามของเมือง มีสะพานข้ามเป็นระยะๆ มีการทำเก๋งจีน กังหัน จุดมุมสวยๆ ไว้ให้ถ่ายรูปแล้ว วิถีของชาวเมืองก็ยังคงผูกพันกับสายน้ำ มีการล้างผักปลา ซักผ้าด้วยการใช้ไม้ทุบแบบโบราณ มีแพผูกให้นกกาน้ำมาจับปลาโชว์นักท่องเที่ยว ฯลฯ
อย่างไรก็ดี แม้วันนี้จะยังมีคนใช้ประโยชน์จากแม่น้ำถัวเจียงมากมาย โดยเฉพาะซักผ้า ล้างผัก ล้างปลา ล้างจาน ทำความสะอาดสิ่งของ แต่ลำน้ำถัวเจียงก็ยังดูสะอาดสวยใส นั่นอาจเป็นเพราะคนจีนเขาไม่ได้ทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำจึงทำให้แม่น้ำถัวเจียงยังคงมีสภาพดีอยู่
นอกจากนี้ในลำน้ำถัวเจียงยังมีการล่องเรือชมทิวทัศน์ สัมผัสบรรยากาศไปพร้อมๆ กับฟังเสียงของนักร้องสาวชาวม้งที่มาคอยลอยเรือร้องเพลงขับกล่อมในลำน้ำเป็นระยะๆ (เป็นโชว์ของเมืองนี้) ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมเด่นที่ชาวจีนชื่นชอบกันมาก ในช่วงวันหยุดจะมีการมายืนเข้าคิวต่อแถวรอขึ้นเรือกันยาวเหยียดเลยทีเดียว
เฟิ่งหวง เที่ยวเพลิน เดินสนุก
เฟิ่งหวงยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักไม่พลาดก็คือ การเดินชมเมืองสัมผัสบรรยากาศวิถีสีสันของเมืองโบราณแห่งนี้
เมืองโบราณเฟิ่งหวงเป็นเมืองเล็กๆ หากใช้เวลาเดินเที่ยวแบบผ่านๆ แค่ประมาณ 1 ชั่วโมงก็เดินทั่ว แต่ถ้าหากอยากเดินเที่ยวกันแบบละเอียดละเมียดละไมชมสิ่งละอันพันละน้อย เมืองนี้มีมนต์เสน่ห์ให้สัมผัสกันล้นเหลือ โดยเฉพาะพวกชอบถ่ายรูปนี่ทั้งกลางวันและกลางคืน เมืองเฟิ่งหวงมีมุมสวยๆ เก๋ๆ และมุมคลาสสิกให้ถ่ายรูปกันมากหลาย นั่นจึงทำให้เมืองนี้มีช่างภาพทั้งมืออาชีพ มือสมัครเล่นแบกกล้องและอุปกรณ์มาเดินถ่ายรูปกันเพียบ รวมไปถึงสาวๆ กับสมาร์ทโฟนที่ไม่ง้อช่างภาพ เพราะเธอสามารถเซลฟีถ่ายตัวเองได้อย่างรู้มุม เชี่ยวชาญช่ำชอง
สำหรับเส้นทางเดินเที่ยวเมืองเฟิ่งหวงนั้นก็มีเส้นริมน้ำและเส้นที่ลึกถัดเข้ามาหน่อย ซึ่งเราจะได้เห็นการอนุรักษ์เก็บอาคารบ้านเรือนเก่าไว้อย่างดี เพื่อการท่องเที่ยว โดยยังคงไว้ด้วยบ้านเรือนเก่าแก่ทั้งส่วนที่สร้างอยู่ริมแม่น้ำและส่วนที่ลึกถัดเข้ามาในผืนดิน โดยเฉพาะกับ “เตี้ยวเจี่ยวโหล” บ้านเรือนโบราณยกสูงที่ปลูกเป็นแถวเรียงรายริมแม่น้ำ ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของที่นี่
ขณะที่ใครจะปรับเปลี่ยน ต่อเติม หรือก่อสร้างอะไรใหม่ ก็มีการควบคุมความสูง ควบคุมให้เป็นไปตามแบบที่กำหนด เพื่อให้สอดรับกลมกลืนกับสภาพเดิมอันดูคลาสสิกเปี่ยมเสน่ห์ของรูปลักษณ์ภายนอก ส่วนฟังก์ชันภายในนั้นวันนี้อาคารบ้านเรือนเหล่านั้นปรับเปลี่ยนหันมาเพื่อรองรับธุรกิจการท่องเที่ยวกัน(เกือบ)หมดแล้ว ทั้งทำเป็นเกสต์เฮาต์ โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านค้า ร้านขายของที่ระลึก บาร์เบียร์ เธค ร้านเหล้า ฯลฯ
นั่นก็ทำให้ตลอดเส้นทางการเดินทอดน่องท่องเฟิ่งหวงของผม ได้เห็นเสน่ห์อันมีชีวิตที่หลากหลายของเมืองเก่าแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศร้านรวงการซื้อขาย พ่อค้าแม่ค้าทั้งที่ตะโกนเรียกแขกอยู่ในร้าน พวกป้าๆ ที่นั่งเย็บปักถักร้อยงานฝีมือทั้งของจริงของปลอม อยู่ตามแผงลอยริมทาง ริมน้ำ (ใครจะซื้อต้องต่อรองราคากันให้ดีๆ), เรือนำเที่ยวที่ล่องผ่านไป-มาในลำน้ำพร้อมๆ นักร้องสาวเสียงหวาน, กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มานั่งวาดรูปบ้านเมืองเก่ากันอย่างเอาจริงเอาจังตามริมฝั่งน้ำ
ส่วนในยามราตรีเมื่อแสงอาทิตย์ลาลับมืดลง ที่นี่ถูกแทนที่ด้วยแสงสียามราตรีอันคึกคักของสถานบันเทิง บาร์เบียร์ ร้านกาแฟ รวมไปถึงร้านเหล้า ผับ บาร์ เธค ที่เป็นอีกหนึ่งวิถีสีสันของเมืองเฟิ่งหวงที่ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยวเมืองนี้กันเป็นจำนวนมาก
นับเป็นการปรับวิถีดั้งเดิมให้สอดรับกับวิถีการท่องเที่ยวร่วมสมัย ซึ่งก็สามารถสร้างเสน่ห์ให้เฟิ่งหวงเป็นเมืองโบราณที่มากไปด้วยสีสันและชีวิตชีวาไม่น้อยเลย
*****************************************
หมายเหตุ : เรียบเรียงข้อมูลใหม่จากบทความ ฟรุ้งฟริ้ง “เฟิ่งหวง”...เมืองโบราณแห่งสีสัน
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com
นอกจากมรดกทางธรรมชาติที่หนุนส่งให้จีนรุ่มรวยไปด้วยมรดกโลกแล้ว มรดกแห่งอารยธรรมอันเก่าแก่ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญทางการท่องเที่ยวของประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็น สิ่งก่อสร้าง สถาปัตยกรรม วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี รวมไปถึงบ้านเรือนชุมชนเก่าแก่ที่เป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กดึงดูดผู้คนเดินทางมาเที่ยวชม สัมผัสกับวิถีของคนจีน ผ่านชุมชนเก่าแก่ ชุมชนโบราณ ซึ่งวันนี้มีเมืองเก่าอีกหลายๆแห่ง ชุมชนโบราณหลายๆแห่ง ที่ทางการจีนอนุรักษ์ไว้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการท่องเที่ยวเป็นหลัก
ชุมชนบางแห่งจีนเก็บบรรยากาศวิถีแบบดั้งเดิมไว้ทั้งหมด แต่อีกหลายๆแห่งก็มีการแต่งเติมเสริมสร้างบางสิ่งบางอย่างเข้าไปให้ดูกลมกลืนกับของเก่า ชนิดที่บางครั้งก็อยากจะแยกออกว่า เมืองเก่าเมืองไหนเก่าจริง? หรือเมืองเก่าเมืองไหนเก่าปลอม?(เป็นเมืองที่สร้างขึ้นมาใหม่)
สำหรับเมืองโบราณ“เฟิ่งหวง” หรือ “ฟ่งหวง” แห่งมณฑลหูหนาน ก็เป็นอีกหนึ่งเมืองเก่าที่ประเทศจีนอนุรักษ์ไว้เพื่อการท่องเที่ยว โดยมีการแต่งเติมสีสันเข้าไปบ้างเพื่อเพิ่มเสน่ห์ให้กับเมืองนี้
เฟิ่งหวง เมืองหงส์
เมืองเฟิ่งหวงตั้งอยู่ทางตะวันตกของหูหนาน ถือเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวสำคัญที่นักท่องเที่ยวนิยมเที่ยวเชื่อมโยงกับ“เมืองฉางซา-จางเจียเจี้ย-เฟิ่งหวง” ที่มีขุนเขาอวตารอันลือลั่น
ทั้งนี้การเดินทางจากเมืองไทยที่สะดวกที่สุดคือ บินตรงไปลงเมือง“ฉางซา”(เมืองหลวงของมณฑลหูหนาน) แล้วเดินทางต่อไปสัมผัสกับความมหัศจรรย์ของขุนเขาอวตารที่เมืองจางเจียเจี้ย จากนั้นก็ไปเที่ยวเมืองเฟิ่งหวงสัมผัสมนต์เสน่ห์ของชุมชนโบราณ ซึ่งวันนี้สายการบิน“แอร์เอเชีย”มีเที่ยวบินตรงจากเมืองไทยสู่ฉางซา ทั้งเส้นทาง “กรุงเทพฯ-ฉางซา”และ“เชียงใหม่-ฉางซา”
เมืองเฟิ่งหวงนั้น แบ่งเป็น 2 เขต ได้แก่ เขต “เมืองใหม่” และเขต “เมืองเก่า” ที่โดดเด่นด้านการท่องเที่ยว
เมืองเก่าเฟิ่งหวงสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644-1863) มีอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี มีแม่น้ำ“ถัวเจียง” ไหลพาดผ่านเป็นเส้นเลือดหลัก และมีสะพาน “หงเฉียว” อายุกว่า 300 ปี เป็นสถาปัตยกรรมโบราณที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน
นับจากอดีตถึงปัจจุบันชาวเมืองเฟิ่งหวงใช้แม่น้ำถัวเจียงประกอบปัจจัยหลายสิ่งหลายอย่างในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การคมนาคม-สัญจรไปมา, จับปลา-หาอาหาร, หุงต้ม-ประกอบอาหาร, ซักผ้า-ชำระล้างสิ่งของ สร้างสรรค์งานศิลปะ-ภาพวาดกวี แต่งเพลง รวมถึงการเปิดเป็นย่านการค้าริมน้ำลักษณะคล้ายๆ ตลาดน้ำอัมพวาในบ้านเรา
เดิมเฟิ่งหวงมีชื่อเรียกขานว่าเมือง “เจิ้นกัน” ก่อนที่จะมาเปลี่ยนชื่อเมืองมาเป็น“เฟิ่งหวง” ในปี ค.ศ. 1991 โดยตั้งชื่ออ้างอิงจากลักษณะของแผนที่เมืองที่มีรูปร่างคล้าย“หงส์”(แบบจีน) หรือ “นกฟีนิกซ์” นั่นจึงทำให้เฟิ่งหวงได้รับฉายาว่าเป็น“เมืองหงส์” พร้อมทั้งมีการสร้าง“อนุสาวรีย์หงส์”ขึ้น เป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมือง ณ “จัตุรัสหงส์” หรือ “จัตุรัสนกฟีนิกซ์” ในใจกลางเมืองเก่าเฟิ่งหวง
อนุสาวรีย์หงส์ เป็นประติมากรรมหงส์ทรงสง่าทำท่าสยายปีกกำลังเตรียมเหินบินไว้ ซึ่งวันนี้ถือเป็นแหล่งพักผ่อนและหนึ่งในจุดถ่ายรูปสำคัญประจำเมือง ที่เมื่อนักท่องเที่ยวหรือคณะทัวร์มามักจะไม่พลาดการมาเที่ยวชมรูปปั้นเจ้าหงส์เตรียมเหินบินด้วยประการทั้งปวง
เปิดโลกเฟิ่งหวง
เฟิ่งหวงมีประชากรแบ่งเป็น 2 ชนเผ่าหลักๆ คือเผ่าถู่เจียและเผ่าแม้ว(ม้ง) สำหรับเมืองเก่าเฟิ่งหวงในอดีตฮ่องเต้จัดสรรให้เป็นถิ่นอยู่อาศัยของชนเผ่าแม้วภายใต้การควบคุมของทางการ ที่ให้อยู่เฉพาะในเขตพื้นที่เมืองเก่าในเขตแนวกำแพงเมืองโบราณที่ปัจจุบันยังมีสภาพสมบูรณ์เป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน
เฟิ่งหวงในอดีตเป็นเพียงชุมชนค้าขายริมน้ำธรรมดา ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนปัจจุบัน แต่จุดเปลี่ยนของเมืองนี้มาจากการที่ “เสิ่น ฉง เหวิน” (ค.ศ. 1902-1988) นักประวัติศาสตร์ นักประพันธ์ ผู้รอบรู้ และกวีนามอุโฆษของจีนชาวเฟิ่งหวง ได้นำภาพมนต์เสน่ห์ของบ้านเรือนเก่าแก่อันเป็นเอกลักษณ์ริมน้ำ ภูมิประเทศ วิถีวัฒนธรรม แห่งเมืองเฟิ่งหวงเขียนเป็นหนังสือ บทกลอน กวี ถ่ายทอดให้คนภายนอกได้รับรู้ โดยเฉพาะ “เปียนเฉิน” หรือ “The Border Town” หนังสือเล่มสำคัญที่เปิดโลกเมืองโบราณเฟิ่งหวงให้โลกรับรู้ จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
หลังจากหนังสือเปียนเฉินออกมาสร้างชื่อให้กับเมืองเฟิ่งหวง ทางการจีนก็เข้ามาทำการอนุรักษ์เมืองเก่าแห่งนี้ พร้อมกับการแต่งเติมสีสันให้เป็นเมืองท่องเที่ยวในรูปแบบเมืองโบราณมีชีวิต ขณะที่บ้านเกิดของเสิ่น ฉง เหวิน หลังท่านเสียชีวิต เมืองเฟิ่งหวงก็ได้อนุรักษ์ไว้ พร้อมเปิดให้เป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวสำคัญของเมืองเฟิ่งหวง ให้ชาวจีนได้ศึกษา เรียนรู้อัตชีวประวัติ ผลงาน และคุณูปการอีกหลากหลายที่เสิ่น ฉง เหวิน ได้ทิ้งมรดกอันทรงคุณค่าไว้ให้กับคนรุ่นหลัง
สำหรับ เสิ่น ฉง เหวิน คนไทยเราอาจจะไม่ค่อยคุ้นกับชื่อนี้ แต่สำคัญชาวจีนนี่คือยอดกวีเอกยุคหลัง (ยุคใหม่) ที่เทียบได้กับ 2 ยอดกวีอมตะผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์ถัง อย่าง “หลี่ ไป๋” (ค.ศ. 701-762) และ“ตู้ฝู่” (ค.ศ. 712 — ค.ศ. 770) หรือหากจะเปรียบกับไทย เสิ่น ฉง เหวิน ก็เหมือนกับ“สุนทรภู่” มหากวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เฟิ่งหวง เมืองแห่งสีสัน
หลังเปิดตัวอวดโฉมเป็นที่รู้จัก วันนี้เฟิ่งหวงมีชื่อในฐานะหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวอันโดดเด่นของประเทศจีน
สำหรับจุดท่องเที่ยวเด่นๆ ในเฟิ่งหวงนอกจาก “จัตุรัสหงส์” กับ “บ้านเกิดเสิ่น ฉง เหวิน” แล้ว ที่นี่ยังมีกำแพงเมืองโบราณที่ทอดตัวขนาบไปกับบ้านเรือนและแม่น้ำ บนกำแพงสามารถขึ้นไปยืนถ่ายรูปเดินชมวิวบนนั้นได้ ส่วนอีกหนึ่งจุดที่ถือเป็นไฮไลต์สำคัญและจุดนัดพบชั้นดี (เวลาใครหลงจากกลุ่ม) ก็คือ “สะพานหงเฉียว” หรือ “สะพานสายรุ้ง” สะพานที่เป็นมรดกตกทอดเก่าแก่ที่สุดมาจนถึงวันนี้ มีอายุกว่า 300 ปี สร้างในสมัยฮ่องเต้คังซี แห่งราชวงศ์ชิง
สะพานสายรุ้ง เป็นสะพานปูน 2 ชั้น มีหลังคาคลุม ลักษณะคล้ายสะพานลมฝนของชาวต้ง (แต่ชาวต้งจะสร้างด้วยไม้) ชั้นล่างของสะพานปัจจุบันเป็นร้านค้าไปตลอด 2 ฟากฝั่งสะพาน ส่วนชั้นบนเป็นมุมกาแฟ จุดชมวิวที่สามารถมองลงไปเห็นบ้านเรือนเก่าแก่ปลูกสร้างอย่างสวยงามไปตาม 2 ฟากฝั่งลำน้ำถัวเจียง นับเป็นจุดถ่ายรูปมุมสูงยอดฮิตประจำเมือง เช่นเดียวกับบนสะพานประตูเมืองทางทิศใต้ ที่บนนั้นก็สามารถขึ้นไปยืนถ่ายรูปวิวทิวทัศน์มุมสูงกว้างไกลของบ้านกับลำน้ำถัวเจียงได้สวยงามเช่นกัน
พูดถึงแม่น้ำถัวเจียง วันนี้ลำน้ำสายนี้ก็ยังคงเป็นลำน้ำแห่งชีวิตเช่นในอดีต ซึ่งที่นี่นอกจากจะมีเส้นทางเดินใน 2 ฟากฝั่งชมความงามของเมือง มีสะพานข้ามเป็นระยะๆ มีการทำเก๋งจีน กังหัน จุดมุมสวยๆ ไว้ให้ถ่ายรูปแล้ว วิถีของชาวเมืองก็ยังคงผูกพันกับสายน้ำ มีการล้างผักปลา ซักผ้าด้วยการใช้ไม้ทุบแบบโบราณ มีแพผูกให้นกกาน้ำมาจับปลาโชว์นักท่องเที่ยว ฯลฯ
อย่างไรก็ดี แม้วันนี้จะยังมีคนใช้ประโยชน์จากแม่น้ำถัวเจียงมากมาย โดยเฉพาะซักผ้า ล้างผัก ล้างปลา ล้างจาน ทำความสะอาดสิ่งของ แต่ลำน้ำถัวเจียงก็ยังดูสะอาดสวยใส นั่นอาจเป็นเพราะคนจีนเขาไม่ได้ทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำจึงทำให้แม่น้ำถัวเจียงยังคงมีสภาพดีอยู่
นอกจากนี้ในลำน้ำถัวเจียงยังมีการล่องเรือชมทิวทัศน์ สัมผัสบรรยากาศไปพร้อมๆ กับฟังเสียงของนักร้องสาวชาวม้งที่มาคอยลอยเรือร้องเพลงขับกล่อมในลำน้ำเป็นระยะๆ (เป็นโชว์ของเมืองนี้) ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมเด่นที่ชาวจีนชื่นชอบกันมาก ในช่วงวันหยุดจะมีการมายืนเข้าคิวต่อแถวรอขึ้นเรือกันยาวเหยียดเลยทีเดียว
เฟิ่งหวง เที่ยวเพลิน เดินสนุก
เฟิ่งหวงยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักไม่พลาดก็คือ การเดินชมเมืองสัมผัสบรรยากาศวิถีสีสันของเมืองโบราณแห่งนี้
เมืองโบราณเฟิ่งหวงเป็นเมืองเล็กๆ หากใช้เวลาเดินเที่ยวแบบผ่านๆ แค่ประมาณ 1 ชั่วโมงก็เดินทั่ว แต่ถ้าหากอยากเดินเที่ยวกันแบบละเอียดละเมียดละไมชมสิ่งละอันพันละน้อย เมืองนี้มีมนต์เสน่ห์ให้สัมผัสกันล้นเหลือ โดยเฉพาะพวกชอบถ่ายรูปนี่ทั้งกลางวันและกลางคืน เมืองเฟิ่งหวงมีมุมสวยๆ เก๋ๆ และมุมคลาสสิกให้ถ่ายรูปกันมากหลาย นั่นจึงทำให้เมืองนี้มีช่างภาพทั้งมืออาชีพ มือสมัครเล่นแบกกล้องและอุปกรณ์มาเดินถ่ายรูปกันเพียบ รวมไปถึงสาวๆ กับสมาร์ทโฟนที่ไม่ง้อช่างภาพ เพราะเธอสามารถเซลฟีถ่ายตัวเองได้อย่างรู้มุม เชี่ยวชาญช่ำชอง
สำหรับเส้นทางเดินเที่ยวเมืองเฟิ่งหวงนั้นก็มีเส้นริมน้ำและเส้นที่ลึกถัดเข้ามาหน่อย ซึ่งเราจะได้เห็นการอนุรักษ์เก็บอาคารบ้านเรือนเก่าไว้อย่างดี เพื่อการท่องเที่ยว โดยยังคงไว้ด้วยบ้านเรือนเก่าแก่ทั้งส่วนที่สร้างอยู่ริมแม่น้ำและส่วนที่ลึกถัดเข้ามาในผืนดิน โดยเฉพาะกับ “เตี้ยวเจี่ยวโหล” บ้านเรือนโบราณยกสูงที่ปลูกเป็นแถวเรียงรายริมแม่น้ำ ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของที่นี่
ขณะที่ใครจะปรับเปลี่ยน ต่อเติม หรือก่อสร้างอะไรใหม่ ก็มีการควบคุมความสูง ควบคุมให้เป็นไปตามแบบที่กำหนด เพื่อให้สอดรับกลมกลืนกับสภาพเดิมอันดูคลาสสิกเปี่ยมเสน่ห์ของรูปลักษณ์ภายนอก ส่วนฟังก์ชันภายในนั้นวันนี้อาคารบ้านเรือนเหล่านั้นปรับเปลี่ยนหันมาเพื่อรองรับธุรกิจการท่องเที่ยวกัน(เกือบ)หมดแล้ว ทั้งทำเป็นเกสต์เฮาต์ โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านค้า ร้านขายของที่ระลึก บาร์เบียร์ เธค ร้านเหล้า ฯลฯ
นั่นก็ทำให้ตลอดเส้นทางการเดินทอดน่องท่องเฟิ่งหวงของผม ได้เห็นเสน่ห์อันมีชีวิตที่หลากหลายของเมืองเก่าแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศร้านรวงการซื้อขาย พ่อค้าแม่ค้าทั้งที่ตะโกนเรียกแขกอยู่ในร้าน พวกป้าๆ ที่นั่งเย็บปักถักร้อยงานฝีมือทั้งของจริงของปลอม อยู่ตามแผงลอยริมทาง ริมน้ำ (ใครจะซื้อต้องต่อรองราคากันให้ดีๆ), เรือนำเที่ยวที่ล่องผ่านไป-มาในลำน้ำพร้อมๆ นักร้องสาวเสียงหวาน, กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มานั่งวาดรูปบ้านเมืองเก่ากันอย่างเอาจริงเอาจังตามริมฝั่งน้ำ
ส่วนในยามราตรีเมื่อแสงอาทิตย์ลาลับมืดลง ที่นี่ถูกแทนที่ด้วยแสงสียามราตรีอันคึกคักของสถานบันเทิง บาร์เบียร์ ร้านกาแฟ รวมไปถึงร้านเหล้า ผับ บาร์ เธค ที่เป็นอีกหนึ่งวิถีสีสันของเมืองเฟิ่งหวงที่ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยวเมืองนี้กันเป็นจำนวนมาก
นับเป็นการปรับวิถีดั้งเดิมให้สอดรับกับวิถีการท่องเที่ยวร่วมสมัย ซึ่งก็สามารถสร้างเสน่ห์ให้เฟิ่งหวงเป็นเมืองโบราณที่มากไปด้วยสีสันและชีวิตชีวาไม่น้อยเลย
*****************************************
หมายเหตุ : เรียบเรียงข้อมูลใหม่จากบทความ ฟรุ้งฟริ้ง “เฟิ่งหวง”...เมืองโบราณแห่งสีสัน
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com