xs
xsm
sm
md
lg

ตื่นตาตื่นใจ!!! งาน“ไหว้ผีโบ๋”...ทุ่งหว้าน่าทึ่ง หนึ่งเดียวในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหล่าผีโบ๋ตัวน้อย
“ความเชื่อเรื่องผี” เป็นความเชื่อที่อยู่ติดมากับคนทุกทั่วมุมโลก ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีความเชื่อที่แตกต่างกันไป อย่างคนจีนก็มีความเชื่อเรื่องการไหว้ผีบรรพบุรุษ คนไทยก็มีความเชื่อเรื่องผีบ้านผีเรือนหรือเจ้าที่ทาง เมื่อวันเวลาผ่านไปเกิดการหลอมรวมของเชื้อชาติ ทำให้การความเชื่อเรื่อง “ผีไม่มีญาติ” ของคนไทยเชื้อสายจีน ที่ อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ขึ้น
บรรยากาศงานยามค่ำคืน
ความเชื่อที่ว่านี้ได้ถูกสืบทอดกันมาจนเป็นประเพณีที่จัดขึ้นทุกปี ชื่อว่า “ประเพณีไหว้ผีโบ๋ (ผีหมู่)” ที่เป็นประเพณีสำคัญในช่วงเดือน 7 ของคนจีน ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้หายไปช่วงหนึ่ง จนได้รับการฟื้นฟูในปี 2491 โดยคุณเต็กกุ่ย แซ่ลิ้ม ผู้นำคนไทยเชื้อสายจีนที่ อ.ทุ่งหว้า นั่นเอง
เด็กรุ่นใหม่ที่มาร่วมแสดงในงาน
ประเพณีนี้จะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 7 ของคนจีน ที่มีความเชื่อว่าเป็นวันเปิดประตูยมโลก (วันกุ้ยหมิ้ง) พวกวิญญาณร้ายหรือผีร้ายจากในดินแดนยมโลก (เรียกว่า “ลี่”) จะขึ้นมาหาความสุขสำราญ ท่องเที่ยวบนโลกมนุษย์ได้เป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งคนบนโลกมนุษย์ก็มีความเกรงกลัวผีร้ายเหล่านี้ เพราะเป็นวิญญาณที่มีความอดอยาก ไม่มีญาติคอยเซ่นไหว้ให้ได้กิน จึงกลัวว่าจะมาทำอันตรายลูกหลานของตน
เริ่มตั้งขบวนแห่ผีโบ๋
เพื่อเป็นการเอาใจจึงมีการเปลี่ยนคำเรียกผีร้ายที่ไม่มีญาติเหล่านี้จาก “ลี่” เป็น “ฮอเฮียตี๋” แปลว่า “พี่น้องที่ดี” เป็นการเหมือนว่าได้นับญาติกัน และในช่วงกลางคืนของวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 7 ประมาณ 1 ทุ่มนี้เอง จะทำการเผากระดาษเงินกระดาษทองเพื่อต้อนรับเหล่าฮอเฮียตี๋ที่ขึ้นมายังโลกมนุษย์
สิงโตน้อย
โดยจะพูดระหว่างการเผาว่า “ฮอเฮียตี๋เอาเงินไปจับจ่ายใช้สอยให้สุขสำราญ อย่าให้โทษลูกหลานนะ” และจะห้ามลูกหลานไม่ให้ออกจากบ้านในเวลากลางคืน ห้ามไม่ให้เด็กเล็กๆ ในบ้านส่งเสียงเอะอะ นอกจากนั้นหากใครเจ็บไข้ได้ป่วยในช่วงนี้ คนจีนยังมีความเชื่อว่าจะอาการหนักกว่าปกติ เพราะอาจจะได้รับการทำร้ายจากฮอเฮียตี๋ได้
แป๊ะยิ้มน้อย
และในเดือน 7 นี้ คนจีนจะมีการทำบุญวันสารทจีน (สารท = กลาง) ซึ่งเป็นการไหว้บรรพบุรุษในช่วง 15 ค่ำเดือน 7 (ในปีนี้ตรงกับวันที่ 17 สิงหาคม) จะทำการไหว้ในช่วงเช้า-ก่อนเที่ยง และจะต้องไหว้ในบ้าน จากนั้นหลังเที่ยงเป็นต้นไปจะทำการไหว้ฮอเฮียตี๋ (ผีไม่มีญาติ) และจะต้องทำการบริเวณนอกบ้านหรือหลังบ้านเท่านั้น
ขบวนแห่ผีโบ๋
และด้วยความที่คนจีนมีความเอื้ออาทรแม้แต่กับผีที่ไม่มีญาติแบบนี้นี่เอง จึงได้เกิด “ประเพณีไหว้ผีโบ๋” ขึ้นที่ อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่ที่มีคนจีนอยู่เยอะ เป็นประเพณีที่มีที่นี่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ได้รับการสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
สิงโตเดินเรี่ยไร (โต้ย)
โดยประเพณีนี้จะจัดขึ้นหลังจากวันสารทจีน (15 ค่ำ) นับไปอีก 10 วัน (25 ค่ำ) นั่นเอง ซึ่งคำว่า “โบ๋” มาจากภาษาถิ่นทางใต้แปลว่า “หมู่,พวก” ดังนั้น “ประเพณีไหว้ผีโบ๋ (ผีหมู่)” จึงหมายถึง การที่คนไทยเชื้อสายจีนร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว และไม่มีญาติคอยทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้นั่นเอง
ท่าทางการคำนับขอบคุณผู้รับบริจาค
ในการประกอบพิธีไหว้ผีโบ๋ประจำปี 2559 นั้น เริ่มทำตั้งแต่คืนวันที่ 26 สิงหาคม โดยจะมี ”ผู้ประกอบพิธี” ซึ่งเรียกว่า “หัว” หรือ “หัวหน้า” เป็นผู้นำในการไหว้ จะเริ่มจากการจุดธูปเทียนไหว้กลางแจ้งบริเวณหน้าตลาดทุ่งหว้า เพื่อบอกกล่าว “ฮอเฮียตี๋” ให้รับรู้เตรียมมารับของเซ่นไหว้ในวันรุ่งขึ้น (วันที่ 27 สิงหาคม)
เดินขบวนมาจนถึงสี่แยกตลาดทุ่งหว้า
ช่วงกลางคืน (หลัง 1 ทุ่ม) ของวันที่ 26 นั้น นอกจากจะมีการไหว้แล้ว ยังมีขบวนผีโบ๋พร้อมกลองสิงโตมาสร้างสีสันให้ค่ำคืนนี้อีกด้วย รวมถึงยังมีเวทีแสดงโชว์ศิลปะการร่ายรำชุด “เถียนมีมี่” และเพลงจีนชุดอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งทุกชุดจะได้นักแสดงตัวน้อยๆ มาเป็นผู้เรียกรอยยิ้มจากผู้ชมตลอดค่ำคืนจนถึงเลิกงาน (ประมาณ 3-4 ทุ่ม) นั่นเอง
เริ่มเตรียมตัวตั้งของเซ่นไหว้
วันที่ 27 สิงหาคม จะเริ่มตั้งขบวนแห่ผีโบ๋กันที่โรงเรียนอนุบาลทุ่งหว้าเวลาประมาณ 9 โมงเช้า เพื่อเดินเรี่ยไร (โต้ย) เงินบริจาคจากชาวบ้านบริเวณรอบๆ ไปสุดที่ตลาดทุ่งหว้าที่เป็นที่จัดพิธีการไหว้ฮอเฮียตี๋
หมูย่างทั้งตัวและเนื้อสัตว์ต่างๆ
จะเริ่มหัวขบวนด้วยชุดกลองสิงโต พร้อมสิงโตน้อย 2 ตัว และแป๊ะยิ้มน้อยอีก 2 คน ตามมาด้วยขบวนผีโบ๋ตัวเล็กๆ อีกนับสิบคน ซึ่งก็คือเด็กน้อยแต่งชุดเสื้อและกางเกงสีขาว สวมหน้ากากวาดลาดลวยดูคล้ายผี ในมือทั้ง 2 ข้างจะถือไม้กระบองและตีออกท่าทางเข้าจังหวะกับกลองสิงโต เป็นความน่ารักเรียกรอยยิ้มจากผู้พบเห็นได้เป็นอย่างดี
ผลไม้และขนมมงคล
ถัดมาจะเป็นขบวนเด็กน้อยอีกเช่นกัน ที่ต่างมาร่วมถือป้ายงานประเพณีผีโบ๋ ป้ายเทศบาล อ.ทุ่งหว้า ถือตะกร้าผลไม้และของมงคลต่างๆ แต่งตัวสวยงามทั้งชุดไทยและชุดจีน แสดงถึงความรักใคร่แน่นแฟ้นของคนในพื้นที่ อ.ทุ่งหว้า ที่เป็น “คนไทยเชื้อสายจีน”
กระดาษเงินกระดาษทอง
ระหว่างทางที่แห่ เจ้าสิงโตน้อยและแป๊ะยิ้มน้อยจะทำท่าทางบทบาทสมมติตามสิ่งที่สวมอยู่ และเป็นผู้เดินโต้ยขอรับเงินบริจาค โดยชาวบ้านที่มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคจะยื่นเงินเข้าทางปากของหัวสิงโต (จะไม่รับเงินด้วยมือ) ซึ่งเมื่อเจ้าสิงโตรับเงินเรียบร้อยแล้ว จะทำท่าเชิดสิงโต คำนับขอบคุณ และเดินโต้ยต่อไปจนถึงตลาดทุ่งหว้า
ซาลาเปา หนึ่งในขนมมงคลของชาวจีน
กิจกรรมต่างๆ จะเน้นให้คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะเด็กวัยประถมได้มีส่วนร่วม เพราะต้องการปลูกฝังให้มีจิตสำนึก เกิดความรักและหวงแหนในประเพณีอันมีคุณค่านี้ เพื่อจะได้ช่วยกันรักษาและสืบทอดต่อไป

เสร็จจากพิธีเดินแห่ เจ้าผีโบ๋ตัวน้อยๆ จะมาล้อมวงแสดงท่าทางตามที่ได้ซักซ้อมกันไว้บริเวณหน้าลานพิธี (หน้าตลาดทุ่งหว้า) ก่อนแยกย้ายกันพักผ่อน ให้ผู้ใหญ่ได้จัดเตรียมของที่จะไหว้ในพิธี
หัวทั้ง 7 คนเริ่มไหว้ฮอเฮียตี๋
พิธีไหว้จะเริ่มอีกครั้งเวลาเที่ยงวันในวันนั้น ลานพิธีจะแน่นไปด้วยของไหว้และธงกระดาษสีสันหลากหลายที่ปักไหว้บนของไหว้ โดย อ.สนธิ ลิ่มสายหั้ว วัย 79 ปี ผู้ที่เคยเป็น 1 ในคณะหัว ปี 2554 เล่าให้ฟังว่า ของไหว้ของคนจีนมีทั้งชุดเล็กและชุดใหญ่ โดยชุดเล็กเรียกว่า “ซาแซ” (ไหว้ 3 อย่าง) ส่วนชุดใหญ่เรียกว่า “โหงวแซ” (ไหว้ 5 อย่าง) หรืออาจจะมากกว่า 5 อย่างก็ได้
ตัวแทนหัวเริ่มนำการไหว้
ของไหว้ที่ใช้ในประเพณีไหว้ผีโบ๋นั้น ประกอบไปด้วย หมู-ไก่ทั้งตัวพร้อมเครื่องใน เส้นหมี่เตียวหรือหมี่ซั่ว ผลไม้มงคลที่มีสีสันสวยงาม เช่น กล้วย ส้ม แอปเปิ้ล แก้วมังกร สับปะรดทั้งหัว เป็นต้น ส่วนขนมที่ใช้ไหว้จะต้องเป็น “ขนมขึ้น” หมายถึงมีลักษณะขึ้นฟูและมีสีสันสวยงามเช่นกัน เช่น ขนมถ้วยฟู ขนมขึ้น ขนมเทียน เป็นต้น
เหล้าและไม้เสี่ยงทาย (ปัวะโป๊ย)
และที่ขาดไม่ได้คือ เหล้า (นิยมใช้เหล้าเซี่ยงชุนหรือเหล้าขาว) รวมถึงข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง เพราะเชื่อว่าฮอเฮียตี๋จะได้นำกลับไปไว้ใช้ที่ยมโลกอีกด้วย
ชาวบ้านทยอยกันเข้ามาไหว้ฮอเฮียตี๋
คนจีนถือเรื่องของไหว้มาก จำเป็นต้องคัดสรรทั้งเรื่องความหมายและสีสัน เช่น สับปะรด ถือว่าหมายถึง มีตารอบทิศ, หมึก หมายถึงน้ำหมึกที่ใช้เขียนหนังสือ, ขนมถ้วยฟูหรือซาลาเปา หมายถึง เฟื่องฟู, เส้นหมี่ที่ใช้ต้องห้ามตัดให้สั้น เพราะหมายถึง อายุยืน ยาวหรือจะได้สืบเชื้อสายได้ยาวๆ และจะไม่นิยมไหว้มะม่วงหรือของที่มีสีดำๆ ด้วย เพราถือว่าไม่เป็นมงคล
บรรยากาศในงานประเพณีไหว้ผีโบ๋ (ผีหมู่)
“หัว” ในปีนี้มีทั้งหมด 7 คน มาจากตัวแทนของ อ.ทุ่งหว้า ในแต่ละตำบล ซึ่งจะเป็นผู้เริ่มไหว้ก่อน โดยจะจุดธูป 5 ดอก ไหว้อธิษฐานและนำธูปมาปักตามของไหว้ ต่อจากนั้นจึงเป็นชาวบ้านและลูกหลานของคนไทยเชื้อสายจีนต่อคิวไหว้ตามอย่างหนาแน่น
คุณยายนงน้อย แสงฉาย วัย 78 ปี ที่มาร่วมงานนี้ทุกปีตั้งแต่เด็ก
คุณยายนงน้อย แสงฉาย วัย 78 ปี ลูกสาวของนายอุทัย แสงฉาย อดีตกำนันของที่นี่ เล่าให้ฟังว่า “ในอดีตของที่ใช้ไหว้ผีโบ๋มีเยอะกว่านี้มาก ข้าวสารจะขนกันมาเป็นกระสอบ ผลไม้ก็มีเป็นเข่งๆ งานที่จัดก็ใหญ่โตกว่านี้ แต่เดี๋ยวนี้เศรษฐกิจแย่ลง ของก็เลยต้องลดลงตามกำลังไปด้วย ยายมาร่วมงานตั้งแต่ๆ เด็กๆ แล้ว จนอายุปูนนี้ก็ยังชอบและสนุกอยู่ทุกปี”
ชาวบ้านรุมแย่งธงกระดาษกันอย่างสนุกสนาน
เมื่อทำการไหว้ครบแล้ว ชาวบ้านทุกคนจะมารวมกันรอบๆ โต๊ะตั้งของไหว้ แล้ว “หัว” จะเป็นผู้ใช้ไม้เสี่ยงทาย เรียกว่า “ปัวะโป๊ย” โยนถามฮอเฮียตี๋ว่ากินของเซ่นไหว้อิ่มหรือยัง ถ้าอิ่มแล้วไม้เสี่ยงทายจะคว่ำหนึ่งอัน หงายหนึ่งอัน เรียกว่า “เซ้งโป๊ย” (แต่ถ้าไม่ไม้เสี่ยงทายไม่เป็นตามนั้น จะต้องรออีกสักพักแล้วจึงเสี่ยงทายใหม่)
รอยยิ้มของชาวบ้านที่ได้ธงกระดาษไปปักที่บ้านเพื่อความสิริมงคล
พิธีกรที่ดำเนินงานจะประกาศว่า “เซ้งโป๊ย” แล้วชาวบ้านจะรีบแย่ง “ธงกระดาษ” ที่ปักอยู่บนของไหว้ ซึ่งเป็นความเชื่อว่ายิ่งแย่งธงแล้วนำไปปักไว้ที่หน้าบ้านได้เยอะเท่าไหร่ จะยิ่งโชคดี
ไม้เสี่ยงทายคว่ำหนึ่งอัน หงายหนึ่งอัน  (เซ้งโป๊ย)
จากนั้นจะเป็นขั้นตอนสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ “การคัดเลือกหัวในปีต่อไป” โดยจะทำการ “ปัวะโป๊ย” เช่นกัน โดยแต่ละตำบลจะเสนอชื่อคนที่เหมาะสมจะเป็นตัวแทนหัวในปีต่อไป แล้วให้หัวในปีนี้เป็นผู้เอ่ยชื่อเพื่อถามฮอเฮียตี๋ว่าจะรับหรือไม่รับชื่อคนนั้นให้ทำหน้าที่นี้หรือไม่
ไม้เสี่ยงทายคว่ำทั้งสองอัน (อิ้มโป๊ย)
หากไม้เสี่ยงทายคว่ำหนึ่งอัน หงายหนึ่งอัน เรียกว่า “เซ้งโป๊ย” หมายถึง รับเอา แต่หากไม้เสี่ยงทายคว่ำทั้งสองอัน จะเรียกว่า “อิ้มโป๊ย” หมายถึง ไม่รับ หัวเราะ หรือไม้เสี่ยงทายอาจจะหงายทั้งสองอัน เรียกว่า “เฉี้ยวโป๊ย” หมายถึง ยิ้ม หรือรับครึ่งหนึ่ง ไม่รับครึ่งหนึ่ง
ไม้เสี่ยงทายหงายทั้งสองอัน (เฉี้ยวโป๊ย)
ในการเสี่ยงทายเลือกหัวนั้น จะต้องโยนไม้เสี่ยงทาย 3 ครั้ง ต่อชื่อ 1 คน และทั้ง 3 ครั้งจะต้อง “เซ้งโป๊ย” ทุกครั้งเท่านั้น คนๆ นั้นจึงจะได้รับหน้าที่ให้เป็นหัวในปีต่อไป ขั้นตอนนี้จึงค่อนข้างใช้เวลานานกว่าจะได้หัวครบทั้ง 7 ตำบล
บรรยากาศในขบวนแห่ผีโบ๋
อ.สนธิ เล่าต่อว่า “ผู้ที่ได้รับเลือกจากฮอเฮียตี๋ให้เป็นหัวจะมีความภูมิใจมาก เพราะถือว่าเป็นหน้าตาของตนเองและตำบล อย่างตัวผมเอาชั่วชีวิตได้เป็นหัวแค่ครั้งเดียวในปี 54 ดังนั้นทุกคนจะตั้งใจทำหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี งานในทุกปีจึงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีเสมอมา”
ชาวบ้านต่างมาช่วยกันทำอาหารต่างๆ
เมื่อได้หัวครบแล้ว ตอนเย็น (ประมาณ 4 โมงกว่า) จะทำการลาของไหว้และนำของไหว้เหล่านั้นไปประกอบอาหารและกินร่วมกัน ที่อาคารเอนกประสงค์โรงเรียนอนุบาลทุ่งหว้านั่นเอง
ผัดหมี่ซั่ว หนึ่งในอาหารมงคลของชาวจีน
โดยอาหารในปีนี้มีถึง 7 อย่างด้วยกัน เมนูต่างๆ จะเป็นสไตล์อาหารไทยผสมจีน เช่น ยำหัวหมู ผัดหมี่ซั่ว ถั่วต้มใส่หมูสามชั้น เป็นต้น
ชาวบ้านกินอาหารร่วมกันภายในอาคารเอนกประสงค์ของโรงเรียนอนุบาลทุ่งหว้า
ระหว่างที่กินจะมีการส่งต่อหน้าที่หัวกัน โดยจะให้หัวในปีนี้มอบชุดของไหว้ เช่น เนื้อสัตว์ ผลไม้ ขนม ให้กับหัวในปีต่อไป จึงจะเป็นการเสร็จพิธีในวันนี้
หัวปีนี้ส่งต่อหน้าที่ให้กับหัวปีต่อไป
ก่อนวัน 30 ค่ำ จีมีพิธีทิ้งกระจาด “ซีโกว” ซึ่งเป็นการแจกทานแก่คนยากคนจนเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผีไม่มีญาติหรือฮอเฮียตี๋ จึงจะนับว่าสิ้นสุดประเพณีการไหว้ผีโบ๋ (ผีหมู่) อย่างสมบูรณ์
ขนมขึ้น
“ประเพณีการไหว้ผีโบ๋ (ผีหมู่)” ของชาวทุ่งหว้านี้ ปัจจุบันหาดูไม่ได้ที่ไหนแล้วนอกจากที่ อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ที่เดียวในประเทศไทย จึงนับว่าเป็นประเพณีที่สำคัญประจำ อ.ทุ่งหว้า ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดให้อยู่คู่กับพื้นที่แห่งนี้ตลอดไป
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น