xs
xsm
sm
md
lg

“พลิ้ว”พาเพลิน พบพานเพื่อผูกพัน...อัศจรรย์แหล่งปลาพลวงมหาศาล/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
น้ำตกพลิ้ว หนึ่งในน้ำตกงามชื่อดังแห่งจันทบุรี
“สวนสวรรค์ร้อยพันธุ์ผลไม้”

คือสโลแกนของจังหวัดจันทบุรี ภายใต้แคมเปญ“เมืองต้องห้าม...พลาด” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นเมืองผลไม้อันโดดเด่นของเมืองจันท์ได้เป็นอย่างดี

นอกจากผลไม้เลื่องชื่อแล้ว จันทบุรียังเป็นอีกหนึ่งจังหวัดน่าเที่ยวแห่งภาคตะวันออก ที่มากไปด้วยสิ่งน่าสนใจอันหลากหลาย ทั้ง ธรรมชาติ ป่าเขา ทะเล น้ำตก ประวัติศาสตร์ วัดวาอาราม ชุมชน วิถีชีวิตวัฒนธรรม อาหารการกิน รวมถึงตอนนี้ที่กำลังมาแรงกับโฮมสเตย์ประเภทกินปูดูทะเล มีบุฟเฟ่ต์อาหารทะเลให้เติมกันแบบอิ่มไม่อั้น
จันทบุรี จังหวัดนี้มีสถานที่น่าสนใจหลากหลายให้เที่ยวชม(ในภาพคือ ทิวทัศน์จากจุดชมวิวเมื่อมองจากเนินนางพญา)
ขณะที่ในช่วงหน้าฝนนั้น เมืองจันท์มี 3 น้ำตกใหญ่อันสวยงามให้ทัศนาเที่ยวชม ได้แก่ “น้ำตกกระทิง” ในอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ(อ.เมือง) “น้ำตกเขาสอยดาว”ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว(อ.สอยดาว) และ“น้ำตกพลิ้ว” แห่งอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว(ต.พลิ้ว อ.แหลมสิงห์) เป้าหมายสำคัญของผมในทริปนี้

แต่ว่าก่อนที่จะไปสัมผัสความชุ่มฉ่ำของสายน้ำตกพลิ้ว ผมขอเอาฤกษ์เอาชัยด้วยการไปไหว้พระใน 2 วัดงาม ที่ ต.พลิ้ว อ.แหลมสิงห์ ซึ่งอยู่ใกล้ๆในละแวกน้ำตกพลิ้วกันก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล

วัดชากใหญ่
พุทธประติมากรรม พระพุทธเจ้าแสดงธรรมวันมาฆบูชา วัดชากใหญ่
เริ่มจากวัดแรก “วัดชากใหญ่” ที่ก่อตั้งในไป พ.ศ. 2498 โดย พระอาจารย์ มหาบัว ญาณสัมปันโณ(พระธรรมวิสุทธิมงคล) หรือที่รู้จักกันดีในนาม “หลวงตา มหาบัว” หรือ “หลวงตาบัว” ซึ่งท่านได้มาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้ แล้วมีญาติโยมซื้อที่ดินถวายให้ จำนวน 26 ไร่ 2 งานเศษ

สำหรับชื่อวัดชากใหญ่ คำว่า “ชาก” เป็นชื่อต้นไม้พื้นเมืองชนิดหนึ่ง(จากป้ายข้อมูลของวัด) ซึ่งเดิมวัดแห่งนี้เป็นที่พำนักสงฆ์ในผืนป่า อุดมไปด้วยต้นไม้นานาพันธ์ ไม่มีถาวรวัตถุใดๆ มีเพียงกุฏิที่ฝากั้นเป็นใบจากและมุงหลังคาด้วยใบจากเช่นกัน
วัดชากใหญ่ ปัจจุบันเป็นพุทธอุทยานนานาชาติอันร่มรื่น น่าเที่ยวชม
ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 “พระอธิการธรรมรัติ”(ธมฺมรโตภิกขุ) หรือ “พระอาจารย์ธรรมรัติ ธมฺมรโต” ได้เดินทางจากสกลนครมาพักแรมที่วัดแห่งนี้ และได้เกิดนิมิตเป็นเสียงเทพเทวดามาบอกกล่าวให้ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ตลอดไป และวัดแห่งนี้จะเจริญรุ่งเรือง

หลังจากนั้นพระอธิการธรรมรัติ(ที่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดชากใหญ่ในเวลาต่อมา) ก็ได้พัฒนาวัดแห่งนี้ ให้เป็นพุทธอุทยาน โดยไม่ได้ทำการบอกบุญ ไม่ได้เรี่ยราย แต่เกิดจากญาติโยมมีจิตศรัทธามาช่วยสร้างทั้งหมด
อนุสรณ์สถานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กำลังนำทัพที่วัดชากใหญ่
ปัจจุบันวัดชากใหญ่ได้รับการพัฒนาให้เป็น “พุทธอุทยานนานาชาติ” อันร่มรื่นไปด้วยแมกไม้น้อย-ใหญ่ ภายในวัดประกอบไปด้วยพุทธประติมากรรมมากมาย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าแสดงธรรมเทศนา ไม่ว่าจะเป็นการแสดงธรรมโปรดบุคคลต่างๆ การแสดงธรรมกับเหล่าพระภิกษุสงฆ์ในวันมาฆะบูชา พร้อมทั้งมีแผ่นป้ายข้อมูลอธิบายรายละเอียดประกอบอย่างชัดเจน

อีกทั้งยังมีประติมากรรมเกี่ยวกับพุทธชาดก พระพุทธรูปปางต่างๆ และ“อนุสรณ์สถานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ที่กำลังนำทัพเหล่านักรบผู้กล้า ซึ่งช่างสามารถสร้างสรรค์ผลงานโดยรวมออกมาได้สวยงามน่ายล
เจดีย์บรรจุสรีระสังขารของพระอาจารย์ธรรมรัติฯ
นอกจากนี้ที่วัดชากใหญ่ยังมีพระเจดีย์สีทอง ภายในบรรจุสรีระสังขารของพระอาจารย์ธรรมรัติฯ ท่านเจ้าอาวาสผู้ล่วงลับและผู้พัฒนาวัดชากใหญ่แห่งนี้ ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปกราบสักการะกันได้

วัดมังกรบุปผาราม

จากวัดชากใหญ่ไปต่อกันที่ “วัดมังกรบุปผาราม” ที่เป็นอีกหนึ่งวัดงามแห่งเมืองจันท์
เจ้าแม่กวนอิม บริเวณด้านหน้าวัดมังกรบุปผาราม
วัดมังกรบุปผาราม หรือ “วัดเล่งฮั้วยี่”(ฮัว แปลว่าดอกไม้) เป็น 1 ใน 3 วัดมังกรเลื่องชื่อของเมืองไทย ซึ่งมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกัน ได้แก่ “วัดมังกรกมลาวาส” หรือ “วัดเล่งเน้ยยี่” ที่เยาวราช กทม. “วัดจีนประชาสโมสร” หรือ “วัดเล่งฮกยี่” ที่ จ.ฉะเชิงเทรา และวัดมังกรบุปผารามที่เมืองจันท์แห่งนี้

วัดมังกรทั้งสาม มีข้อมูลระบุว่า พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร(สกเห็ง) ผู้สร้าง ได้สร้างขึ้นบนสามจุดสำคัญตามฮวงจุ้ยมังกร โดยตำแหน่งหัวมังกรอยู่ที่ย่านเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ที่เยาวราช หรือที่วัดเล่งเน่ยยี่ ส่วนตำแหน่งท้องมังกร อยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา หรือวัดเล่งฮกยี่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่ง ส่วนตำแหน่งหางมังกร อยู่ที่วัดเล่งฮั้วยี่ ซึ่งเป็นแหล่งอัญมณีที่สำคัญของภาคตะวันออกและจังหวัดเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ
อาคารประดิษฐานองค์พระสังกัจจายน์ในส่วนหน้า
สำหรับวัดมังกรบุปผาราม สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2520 เป็นวัดที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีนอันงดงาม บริเวณด้านหน้าเป็นลานโล่ง ด้านหนึ่งเป็นสนามหญ้า สวนหย่อม มีหอแปดเปลี่ยม อยู่ 2 ข้าง ซ้าย-ขวา ตรงกลางมีรูปเคารพของเจ้าแม่กวนอิมในสระน้ำวงกลมตั้งเด่น
วัดมังกรบุปผาราม วัดที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีนอันงดงาม
จากนั้นเมื่อเดินเข้ามา ในส่วนด้านหน้าจะเป็นอาคารประดิษฐานองค์พระสังกัจจายน์ ส่วนถัดไปจะเป็นวิหารสำคัญ หลังคาซ้อน 3 ชั้น ยอดเป็นรูปเจดีย์ ภายในประดิษฐานพระประธานพุทธเจ้า 3 พระองค์สีทองอร่าม ได้แก่ พระอมิตาภพระพุทธเจ้า พระศากยมุนีพระพุทธเจ้า พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า พร้อมทั้งยังมีพระสาวกเบื้องซ้ายและขวา คือพระมหากัสสปะ และพระอานนท์
พุทธเจ้า 3 พระองค์ วัดมังกรบุปผาราม
นอกจากนี้วัดมังกรบุปผาราม ยังมี พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ผู้เป็นเลิศด้วยมหาปัญญาประทับบนหลังสิงโต อันหมายถึงพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทรงมีพระปัญญาคุณเลิศกว่าหมู่สรรพสัตว์ และพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ผู้เป็นเลิศด้วยมหาจริยาประทับบนหลังช้างเผือกหกงา หมายถึงบารมีหกที่พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายบำเพ็ญ รวมถึงมีรูปเคารพที่น่าสนใจอีกหลากหลายภายใต้บรรยากาศสถาปัตยกรรมจีนอันงดงาม บรรยากาศขรึมขลัง และสะอาดสะอ้าน

นับเป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญในเมืองจันท์ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

น้ำตกพลิ้ว
น้ำตกพลิ้ว สายน้ำตกอันชุ่มฉ่ำแห่งจันทบุรี
แล้วก็มาถึงสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์ประจำทริปนี้นั่นก็คือ “น้ำตกพลิ้ว” ที่ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว ในเขตเทือกเขาสระบาป

น้ำตกพลิ้ว เป็นน้ำตกใหญ่ใกล้ถนน เข้าถึงสะดวก ภายในอช.น้ำตกพลิ้ว มีการบริหารจัดการที่ดี ดูสะอาดสะอ้านมีการจัดแต่งภูมิทัศน์อย่างสวยงาม มีป้ายสื่อความหมายอย่างเป็นระเบียบเป็นสัดเป็นส่วน และดูไม่หลุดไม่ขัดตาจากสภาพแวดล้อม
จุดฝากอาหาร เครื่องดื่ม ก่อนจะเดินขึ้นไปยังตัวน้ำตกพลิ้ว
ที่สำคัญคือมีจุดตรวจอาหารและเครื่องดื่มไม่ให้นักท่องเที่ยวนำเข้าไปกินในตัวน้ำตก โดยนักท่องเที่ยวที่นำอาหารเครื่องดื่มมา ทางอุทยานฯมีจุดตรวจและให้ฝากไว้ในทางเดินขึ้นตัวน้ำตกพลิ้ว ซึ่งถือว่าเป็นการตัดไฟการทิ้งขยะตั้งแต่ต้นลมที่ได้ผลไม่น้อยเลย

นอกจากนี้ภายในอุทยานฯยังมีรถกอล์ฟให้บริการสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ไม่สะดวกในการเดิน หรือผู้ที่ขี้เกียจเดิน แต่ว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นั้น มักจะใช้วิธีเดินสัมผัสชื่นชมธรรมชาติจากหน้าที่ทำการไปสู่ตัวน้ำตกพลิ้ว เพราะมีระยะทางไม่ไกลแค่ประมาณ 500 เมตร และมีบรรยากาศดี ร่มรื่น น่าเดินออกกำลังกายเป็นที่สุด
อ่างใหญ่พลิ้ว กับปลาพลวงท่ามกลางแอ่งน้ำตกใสเย็นชุ่มฉ่ำ
น้ำตกพลิ้ว ชื่อนี้หลายๆคนอาจคิดว่ามาจากความสวยงามพลิ้วไหวของสายน้ำ แต่จากข้อมูลระบุว่า ชื่อน้ำตกพลิ้วมีที่มาจากข้อสันนิษฐาน 2 ประการ

หนึ่ง ชื่อ“พลิ้ว” มาจากชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เคยมีขึ้นอยู่มากในแถบนี้

สอง ชื่อ“พลิ้ว” มาจากภาษาชอง(ชอง คือชนเผ่าดั้งเดิมของเมืองจันท์) หมายถึง ทรายหรือหาดทราย
บรรยากาศร่มรื่นภายใน อช.น้ำตกพลิ้ว
สำหรับเส้นทางเดินจากหน้าที่ทำการอุทยานฯไปยังตัวน้ำตกพลิ้ว แบ่งเป็นลำธารต่างๆ ได้แก่ อ่างวังชลธาร อ่างสะพานไม้ อ่างศาลาต้นพลิ้ว อ่างหลังควาย อ่างบันได และอ่างใหญ่พลิ้ว ที่เป็นจุดไฮไลท์ในบริเวณตัวน้ำตก

ตัวน้ำตกพลิ้วมีความสูงประมาณ 20 เมตร ไหลเป็นสายของฟูฟ่องทิ้งตัวเป็น 2 ช่วง ยักเยื้องลงสู่แอ่งน้ำตกพลิ้วในเบื้องล่าง ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถลงไปแหวกว่ายเล่นน้ำได้(เฉพาะคนที่ว่ายน้ำแข็ง)เพราะเป็นแอ่งธารน้ำที่มีการไล่ระดับจากตื้นไปหาลึก
น้ำตกพลิ้ว เป็นน้ำตกที่มีน้ำไหลเย็นตลอดทั้งปี
อย่างไรก็ดีใครที่จะมาเล่นน้ำที่นี่ หากว่ายน้ำไม่แข็ง ไม่ควรว่ายไปในช่วงที่น้ำลึกเด็ดขาด เพราะน้ำในแอ่งน้ำตกพลิ้วนั้นค่อนข้างเย็นอาจทำให้เป็นตะคริวเอาได้ง่ายๆ ดังนั้นสำหรับคนที่ว่ายน้ำไม่แข็งควรเล่นอยู่ในช่วงตื้นๆเป็นดีที่สุด ส่วนคนว่ายน้ำไม่เป็นนั้น ก็แน่นอนว่าต้องเล่นน้ำในบริเวณน้ำตื้น ห้ามลงไปในที่น้ำลึกยืนไม่ถึงเด็ดขาด ซึ่งแม้ทางอุทยานฯ มี จนท.คอยดูแลเรื่องความปลอดภัย แต่ยังไงเราต้องดูแลตัวเองไว้ก่อน

อนุสรณ์แห่งรัก
อนุสรณ์สำคัญในรัชกาลที่ 5 บริเวณเหนือตัวน้ำตกพลิ้ว
น้ำตกพลิ้ว นอกจากจะเป็นน้ำตกงามติดอันดับต้นๆของภาคตะวันออกที่มีน้ำใสไหลเย็นตลอดทั้งปีแล้ว ยังเป็นหนึ่งในน้ำตกที่มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ เพราะมีพระมหากษัตริย์ไทยถึง 3 พระองค์เคยเสด็จมาเยือนที่นี่ได้แก่ รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7

โดยเฉพาะล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 นั้น พระองค์ท่านเคยเสด็จประพาสมาที่น้ำตกพลิ้วหลายต่อหลายครั้งในระหว่างปี พ.ศ. 2417-2424 ซึ่งในบริเวณใกล้ๆกับตัวน้ำตกพลิ้ว มีอนุสรณ์สำคัญในรัชกาลที่ 5 ได้แก่
สถูปพระนางเรือล่ม
“สถูปพระนางเรือล่ม” อนุสรณ์สถานแห่งความรักของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีต่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เป็นที่บรรจุพระอังคารของพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม) ซึ่งเคยเสด็จประพาสน้ำตกพลิ้ว เมื่อ พ.ศ. 2417 ตั้งอยู่ทางซ้ายมือ สถูปสร้างขึ้นในปีพ.ศ.2424 ภายในบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ไว้ด้วย

สถูปพระนางเรือล่ม มีลักษณะเป็นรูปทรงพีระมิดพร้อมคำจารึก ส่วนเหตุที่สร้างสถูปเป็นรูปทรงปิรามิด ก็มาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่ว่า “ทำเป็นรูปอื่นอาจไม่คงทนถาวร เพราะตั้งอยู่กลางป่าเขาลำเนาไพร อันไม่มีผู้ดูแล ฉะนั้น เมื่อปิรามิดของอียิปต์ยืนยงคงทนอยู่ได้ฉันใด ปิรามิดน้อยนี้ก็จะยืนยงคงทนอยู่เช่นกัน ณ ท่ามกลางป่าเขาและเสียงไหลรินของธารพลิ้ว” ซึ่งเป็นน้ำตกที่ทั้งล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 และพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงโปรดปราน
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
ขณะที่ทางขวามือของสถูปเป็นที่ตั้งของ “พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์” ในอิริยาบถประทับนั่ง ที่สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2551 โดยความร่วมมือของสมาคมชาวจันทบุรีฯกับชาวเมืองจันท์ที่ต้องการในนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาได้รับรู้ว่าพระเจ้านางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงมีพระรูปพระโฉมเป็นเช่นไร
อลงกรณ์เจดีย์
ส่วนเยื้องไปอีกนิดเป็นที่ตั้งของ “อลงกรณ์เจดีย์” เป็นเจดีย์ศิลาแลง ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดให้พระยาจันทบุรีเป็นแม่กองสร้างเมื่อ พ.ศ. 2419 เนื่องจากทรงชื่นชมโสมนัสในความงดงามของน้ำตกแห่งนี้ อีกทั้งยังทรงยกย่องว่าเป็นน้ำตกที่งดงามที่สุดในบรรดาน้ำตกที่พระองค์เคยเสด็จประพาส ซึ่งในการเสด็จประพาสน้ำตกพลิ้ว ในปีพ.ศ.2419 พระองค์ท่านได้พระราชนิพนธ์ถึงน้ำตกพลิ้ว(ซึ่งหลายๆคนรู้จักกันดี) มีความว่า

...“น้ำพุดุดั้นยอดบรรพต กระทบเหลี่ยมศิลาลด ล่มพื้น ขาวดังกษีรรส รินร่วง โรยแฮ พร่างพร่างละอองชื้น เช่นน้ำสุคนธ์โปรย เบื้องล่างอ่างรับน้ำ เย็นใส เจ็ดศอกคืบแต่ใน ซึ่งซึ้ง ลำธารชลาลัย ไหลหลั่ง เหลิงแฮ ลงสู่ครู่เดียวถลึ้ง เหตุล้ำ เหลือหนาว ยามสายกายเร่าร้อน สุรีย์ฉาน เพียรสถิตปากธาร ที่ใกล้ กลับเย็นยิ่งสำราญ ร่มสุขเกษมแฮ ธารกี่ธารบ่ได้ เทียบพลิ้วเทียมถึง ชลธารปานน้ำทิพย์ มาโปรย สรงฤา เสียวแต่นามชวนโหย ละห้อย เรียกพลิ้วโอ๊ยอกโอย ฉวยบิด เบือนนา แม้ว่าบิดพลิ้วน้อย หนึ่งแล้วจำตาย”...

ปลาพลวง
ปลาพลวงจำนวนมากที่อ่างน้ำตกพลิ้ว
น้ำตกพลิ้วยังมีมนต์เสน่ห์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือ ปลาพลวง

ปลาพลวง หรือ “ปลาพลวงหิน” เป็นปลาในตระกูล Cyprinidae มีหัวมน ปากเล็ก เกล็ดใหญ่ ลำตัวเป็นทรงกระบอกแบนข้างเล็กน้อย มีสีน้ำตาลอมเขียวหรือสีเหลือบทอง มีหนวด 2 คู่อยู่บนปาก ครีบหางเว้าลึกเป็นแฉก กินแมลง พืช ผลไม้ เป็นอาหาร อาศัยอยู่บริเวณน้ำตกและลำธารบนภูเขาที่มีน้ำไหลแรง โดยจะอยู่รวมกันเป็นฝูง
ปลาพลวง น้ำตกพลิ้ว
ปลาพลวงที่น้ำตกพลิ้ว เป็นปลาที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นปลาเจ้า เพราะเนื้อของมันกินแล้วมีพิษเกิดอาการมึนเมา จึงไม่มีใครจับมากินเท่าไหร่(มีบางคนจับมากินบ้างโดยนำต่อมพิษออก) เนื่องจากในตัวปลาสะสมพิษจากลูกไม้ ใบไม้ที่กินเอาไว้ ถือเป็นความโชคดีของปลาพลวงไป ซึ่งถ้าปลาพลวงเหล่านี้เนื้อของมันไม่มีพิษคงถูกจับกินไปเรียบร้อยโรงเรียนปลาพลวงแล้ว
ปลาพลวง อีกหนึ่งมนต์เสน่ห์สำคัญแห่งน้ำตกพลิ้ว
ปลาพลวงน้ำตกพลิ้ว ถือว่าน่าทึ่งไม่น้อย เพราะพวกมันมีอาศัยอยู่อย่างมากมายมหาศาล จนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในน้ำตกที่มีปลาพลวงมากที่สุดของเมืองไทย ซึ่งดูแล้วน่าอัศจรรย์ใจไม่น้อยเลย

เดิมปลาพลวงที่นี่นักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารเป็นถั่วฝักยาว ผักบุ้ง หรือพืชผลไม้อื่นๆจากภายนอก แต่ปัจจุบัน ทางอช.น้ำตกพลิ้ว ห้ามให้อาหารปลาพลวง ให้มันหากินตามธรรมชาติ ซึ่งสำหรับปลาพลวงมันถือเป็นดาวเด่นแห่งน้ำตกพลิ้ว ที่นักท่องเที่ยวชอบกันมาก หลายๆคนมักนิยมลงไปยืนในแอ่งน้ำกลางฝูงปลาพลวง ให้มันตอดตึบๆ เสียวจั๊กกะจี้ไปอีกแบบ
ปลาพลวงแหวกว่ายในอ่างน้ำตกพลิ้ว
และนี่ก็คือของ ต.พลิ้ว ที่น่ายลไปด้วยน้ำพลิ้วอันสวยงาม น่าอัศจรรย์ไปด้วยปลาพลวงมหาศาล และน่าไปทำบุญไหว้พระกับ 2 วัดงามที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

นับได้ว่า ต.พลิ้ว อ.แหลมสิงห์ เป็นหนึ่งในสถานที่ไม่ควรพลาด สำหรับผู้มาเยือนเมืองจันท์ ซึ่งโดยส่วนตัวผมแล้ว จากการที่เคยมีโอกาสมาเยือน ต.พลิ้ว มากกว่าหนึ่งครั้ง มันทำให้เกิดความรู้สึกว่า

“พลิ้วเพริศแพร้ว พาเพลิดเพลิน พบพานเพื่อผูกพัน”
*****************************************

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น