ใครที่ชื่นชอบ “ทุเรียน” ราชาแห่งผลไม้ไทย ก็มักจะรู้จักกันดีสำหรับแหล่งปลูกทุเรียนในประเทศไทย ที่จะปลูกกันมากทางภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี ระยอง ตราด และยังมีการปลูกในอีกหลายจังหวัด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “ศรีสะเกษ”
อย่างที่รู้กันดีกว่าทุเรียนแต่ละสายพันธุ์นั้นจะมีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ทั้งหน้าตา กลิ่น สี และรสชาติ ซึ่งนอกจากสายพันธุ์ที่แตกต่างกันจะมีผลทำให้ทุเรียนแตกต่างกันแล้ว พื้นที่ที่ปลูกทุเรียนนั้นก็ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทุเรียนมีความแตกต่างกันแม้จะเป็นสายพันธุ์เดียวกัน
นายทศพล สุวะจันทร์ ประธานชมรมผลไม้ ต.ตระกาจ เจ้าของสวนผลไม้และยางพาราในพื้นที่ ต.ตระกาจ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ให้ความรู้ว่า ทุเรียนที่ปลูกในจังหวัดศรีสะเกษนั้น ประมาณร้อยละ 90 จะเป็นสายพันธุ์หมอนทอง เนื่องจากได้รับความนิยมจากลูกค้าชาวจีน และไต้หวัน ซึ่งทุเรียนนั้นเป็นผลไม้ส่งออกที่สำคัญ รองลงมาจากพันธุ์หมอนทองก็จะเป็นพันธุ์ชะนีและก้านยาว
ความเป็นเอกลักษณ์ของทุเรียนศรีสะเกษนั้นอยู่ที่เนื้อนุ่ม กรอบ รสชาติดี ไม่แฉะติดมือ และมีพูที่สวยงาม ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ทุเรียนศรีสะเกษได้รับความนิยมนั้นก็เกิดจากมีผู้ที่ได้มาลิ้มลองทุเรียนของศรีสะเกษแล้วเกิดติดใจ และบอกกันปากต่อปาก จนทำให้คนหันมาสนใจกินทุเรียนจากศรีสะเกษมากขึ้น
แม้ว่าสายพันธุ์ทุเรียนหมอนทองที่ปลูกอยู่ที่ศรีสะเกษนั้นจะมาจากจังหวัดจันทบุรี แต่เนื่องจากพื้นที่ในการปลูก ด้วยสภาพแวดล้อมของศรีสะเกษซึ่งเป็นพื้นที่ดินภูเขาไฟเก่า มีอากาศแห้งแบบที่ราบสูง ไม่เหมือนกับทางจันทบุรีที่มีในตกชุกกว่า ทำให้แม้ว่าจะเป็นสายพันธุ์เดียวกันแต่ก็มีรสชาติแตกต่างกันไปตามพื้นที่ที่ปลูก
รวมถึงสภาพดินฟ้าอากาศซึ่งเป็นปัจจับในการออกดอกออกผล โดยผลผลิตทุเรียนของศรีสะเกษจะออกสู่ท้องตลาดในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งผลผลิตทุเรียนจากภาคตะวันออกจะเริ่มมีตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ โทร. 0-4561-6829
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com