จันทบุรี - ชาวสวนตำบลทรายขาว อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ระทมขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษต ผลผลิตที่ปลูกไว้ในเนื้อที่ 15 ไร่ ยืนต้นตายเพราะแหล่งน้ำในพื้นที่แห้งขอด การช่วยเหลือเข้าไม่ถึง ทำให้ต้องสูญเสียรายได้ไปกว่า 1 ล้านบาท
เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (8 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปสำรวจสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ตำบลทรายขาว อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี พบว่า ในพื้นที่ตำบลทรายขาว หมู่ที่ 11 กำลังประสบปัญหาภัยแร้งอย่างรุนแรง
โดยเฉพาะสวนผลไม้ของ นายสมบูรณ์ พันธุ์ซีน อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 26/2 หมู่ที่ 11 ตำบลทรายขาว อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เกษตรกรชาวสวนที่ปลูกผลไม้ เช่น ทุเรียน เงาะ ลองกอง และลำไย ในเนื้อที่ 15 ไร่ พบว่า ในปัจจุบันผลผลิตที่ปลูกไว้ได้รับความเสียหายทั้งหมด เช่น ทุเรียน ลองกอง ได้ยืนต้นตายไปกว่า 150 ต้น
ส่วนผลไม้ชนิดอื่นๆ กำลังจะตายตาม สาเหตุหลักมาจากไม่มีน้ำเข้าไปบำรุงต้น แหล่งน้ำที่เคยมีตามธรรมชาติก็แห้งขอด รวมทั้งการช่วยเหลือก็เข้าไม่ถึง เนื่องจากพื้นที่ของ นายสมบูรณ์ อยู่ไกล และอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ประกอบในพื้นที่ไม่มีฝนตกลงมาช่วย ทำให้ผลผลิตที่ปลูกไว้เสียหายทั้งหมด นายสมบูรณ์ ต้องสูญเสียรายได้ไปกว่า 1 ล้านบาท ตอนนี้ทำได้แต่เพียงรอฝนให้ตกลงมาช่วยเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีสวนผลไม้ของเกษตรกรที่อยู่ใกล้เคียงก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้เช่นกัน และพบว่า ภัยแล้งในปีนี้รุนแรงกว่าทุกปี
ในเรื่องนี้ นายสมบูรณ์ พันธุ์ซีน เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน กล่าวว่า ปีนี้ตกต่ำมากไม่มีรายได้อะไรเลย ตอนนี้มีทุเรียน และลองกองที่ได้รับความเสียหาย โดยเมื่อคิดเปอร์เซ็นต์ก็กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่จะเป็นทุเรียนที่ยืนต้นตายไปแล้วกว่า 200 ต้น ตอนนี้ในพื้นที่ไม่มีน้ำที่จะเข้ามาบำรุงรักษาต้นเลย เพราะแหล่งน้ำได้แห้งขอดไปหมด ตอนนี้ตนเองไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เลย นั่งรอฝนที่จะตกลงมาช่วยเกษตรกรชาวสวนเท่านั้น
ขณะที่ นายเอกชัย สิทธิโชค หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ในเบื้องต้นที่ถือว่าเป็นวิกฤตของจังหวัดจันทบุรี ในเรื่องของภัยแล้ง สิ่งที่ได้ดำเนินการอยู่ของส่วนราชการ ก็คือ ตามมาตรการหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ เรื่องการผันน้ำเข้าในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง
ซึ่งทางหน่วยงานราชการได้มีการทำมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ว่าแหล่งน้ำใหญ่ๆ ตอนนี้น้ำเริ่มหมด เรื่องที่ 2 คือ เรื่องของการเจาะบ่อบาดาลที่ได้มีการดำเนินการไปแล้ว 200-300 บ่อ ในพื้นที่ และ 3.คือการนำน้ำเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งทางกระทรวงได้มองว่าการนำน้ำเข้าไปในพื้นที่สามารถที่จะลดผลกระทบได้ค่อนข้างเร็ว แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องของแหล่งน้ำที่จะนำน้ำเข้าไปบริการพี่น้องประชาชน ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร
ในส่วนของกระทรวงเกษตร ก็ได้มีการเร่งให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ได้ลงพื้นที่ไปดู ไปเยี่ยม พร้อมทั้งให้คำแนะนำในเรื่องของการดูแลรักษาสวนผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ถ้ายังไม่ถึงกับยืนต้นตายก็สามารถที่จะตัดแต่งเพื่อลดการคลายน้ำของต้นลงได้เมื่อฝนมาก็จะฟื้นตัว และก็จะสามารถให้ผลผลิตในปีต่อไปได้
ในเรื่องของการเยียวยา และชดเชยรายได้ช่วงนี้ ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบก็จะได้เสนอปัญหานี้ไปให้ทางผู้บังคับบัญชา ช่วงที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรายได้ไม่มีจะได้มีการหารือ และให้การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนที่ได้รับผลกระทบต่อไป