ในเขตกรุงเทพมหานครเมืองหลวงของไทยแห่งนี้ มีย่านเก่าอยู่มากมายซึ่งแต่ละแห่งนั้นล้วนมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมรวมถึงวิถีชีวิตของผู้คนในย่านนั้นซึ่งได้ดำเนินจนมาถึงปัจจุบัน แต่ในหมู่ย่านทั้งหลายนั้น ย่านที่มีชื่อเรียกแปลกออกไปจากหลายๆ ที่นั้น คือ “ย่านแพร่ง” คำว่าแพร่งนี้ใช้เรียกทางแยกสามทางซึ่งเรามักได้ยินบ่อยว่า “ทางสามแพร่ง” ในกรุงเทพฯ มีเส้นทางลักษณะนี้อยู่มากมายซึ่งปัจจุบันไม่ได้เรียกแบบอดีตแล้ว แต่ก็ยังคงเหลือย่านที่ยังคงชื่อเหล่านี้ไว้ตั้งแต่อดีตนั้นคือ “ย่านแพร่ง” ย่านนี้ประกอบด้วย แพร่งภูธร แพร่งนรา แพร่งสรรพสาตร์ ทั้งสามแพร่งนี้อยู่ในละแวกเดียวกัน รวมกันเรียกว่า “ย่านแพร่ง” หรือที่หลายคนนิยมเสียกว่าย่าน “สามแพร่ง” ในวันหยุดนี้ฉันจึงขอเดินเยือนสามแพร่ง ชมสถานที่และหาของกินอร่อยๆ มาแนะนำให้รู้จักกันยิ่งขึ้น
ที่มา “ย่านสามแพร่ง” ที่ฉันพูดถึงนั้น แพร่งภูธร แพร่งนรา แพร่งสรรพสาตร์ ชื่อแพร่งทั้งสามนี้มาจากชื่อเจ้านายสามพระองค์ซึ่งเป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ 4 ที่มีวังที่ประทับอยู่ในบริเวณนี้ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาสตรศุภกิจ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตัดถนนเป็นทางเชื่อมระหว่างถนนอัษฎางค์ กับถนนตะนาว ทำให้พื้นที่บริเวณวังของทั้งสามพระองค์ถูกถนนตัดผ่ากลางจนเป็นทางสามแพร่ง ต่อมาจึงตั้งชื่อถนนตามนามของทั้งสามพระองค์คือถนนแพร่งสรรพศาสตร ถนนแพร่งนรา และถนนแพร่งภูธร
ย่านแพร่งเป็นย่านเก่าแก่ มีถนนเล็กๆ เชื่อมต่อกัน ในย่านแพร่งแห่งนี้มีมนต์เสน่ห์ของบ้านเก่าที่ยังสวยงามตามสถาปัตยกรรมในครั้งอดีต โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกเก่าแก่และสวยงามที่ยังคงอยู่ให้ได้เห็นโดยฉันเริ่มต้นเดินไปที่ “แพร่งภูธร” ซึ่งเป็นย่านการค้าที่อยู่ระหว่างถนนตะนาว และถนนอัษฎางค์ ริมคลองหลอด เชิงสะพานช้างโรงสี เดิมคือ วังสะพานช้างโรงสี วังเหนือซึ่งเป็นที่ประทับของ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้แบ่งพื้นที่ทำเป็นตึกแถว ซึ่งยังคงรักษาสถาปัตยกรรมในสมัยนั้นไว้มาถึงทุกวันนี้ จุดเด่นของแเพร่งแห่งนี้ที่ฉันเห็น นั่นก็คือแนวตึกแถวเก่าที่เรียงรายล้อมรอบ นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง "สุขุมาลอนามัย" ที่เปิดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2471 โดยพระดำริของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี เพื่อให้เป็นสถานีอนามัย ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นที่รักษาพยาบาลของคนในชุมชนอยู่ และที่ด้านหลังของสถานีอนามัยทางชุมชนได้มีการปรับแต่งเป็นสวนหย่อมและร่มครึ้มด้วยต้นไม้ สำหรับพักผ่อนและทำกิจกรรมของคนในชุมชน ฉันจึงแวะหลบความร้อนรับไอเย็นสบายๆ จากลมธรรมชาติ และสำหรับคนที่ชื่นชอบรถโบราณ ที่แพร่งภูธรนี้มี “อู่วิเชียรซ่อมรถ” อู่เก่าแก่กว่า 70 ปี ที่รับซ่อมรถโบราณ รถคลาสสิก ที่บางคันอาจจะซ่อมนานเป็นปีๆ เพราะต้องรออะไหล่
จากนั้นฉันเดินลัดเลาะริมถนนอัษฎางค์ฝั่งตรงข้ามจะพบกับอาคารแบบตะวันตกอันสวยงามตั้งเด่นอยู่ริมคลองหลอด และเมื่อเดินตามทางมานั้นเราก็จะพบกับแพร่งถัดมานั้นก็คือ “แพร่งนรา” แพร่งแห่งนี้เป็นย่านการค้าที่ตั้งอยู่ระหว่างวัดสุทัศนเทพวราราม กับวัดมหรรณพาราม ระหว่างถนนตะนาว และถนนอัษฎางค์ อยู่ทางทิศเหนือของแพร่งภูธรและอยู่ทางทิศใต้ของแพร่งสรรพสาตร์ ถนนทอดยาวสองฝั่งเป็นตึกแถวเก่าสวยงาม ภายในซอยเดิมเป็นที่ตั้งวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และยังเป็นที่ตั้งของ “โรงเรียนตะละภัฏศึกษา” อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม นับว่าในซอยแพร่งนราแห่งนี้ยังมีความคลาสสิกของยุคเก่าด้วย
"แพร่งสรรพสาตร์” เป็นแพร่งสุดท้ายในย่านแพร่งแห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างถนนตะนาว กับถนนอัษฎางค์ อยู่ทางทิศเหนือของแพร่งนรา ที่ฉันเดินไปถึง ที่แพร่งนี้สถาปัตยกรรมเก่าๆ ได้ถูกไฟไหม้ใหญ่ถึง 2 ครั้งและจางหายไป จึงเหลือเพียงซุ้มประตูวังเก่าที่ตั้งเด่นไว้ให้ดูต่างหน้า โดยซุ้มประตูที่ว่านี้ คือวังสรรพสาตรศุภกิจ วังที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ก่อสร้างตามแบบศิลปะยุโรป มีกรอบประตูโค้งประดับแผ่นปูนปั้นที่กึ่งกลาง หน้าบันกรุกระจกสีกึ่งกลางเป็นช่องโปร่งตั้งรูปหล่อเทพธิดากรีกชูโคมไฟ
ในย่านแพร่งแห่งนี้ด้านฝั่งถนนตะนาว ยังเป็นที่ตั้งของวัดไทยและวัดจีนหากใครได้มาเยี่ยมเยือนในย่านนี้ก็สามารถแวะทำบุญได้อีกด้วย โดยวัดแรกถัดจากแพร่งสรรพสาตร์มา เป็นที่ตั้งของ “ศาลเจ้าพ่อเสือ” เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ของย่านแห่งนี้คนจีนเรียกศาลเจ้านี้ว่า “ตั่วเหล่าเอี้ย” โดยเป็นที่ประดิษฐานรูปเอี่ยนเถี้ยนส่งเต้, รูปเจ้าพ่อเสือ, รูปเจ้าพ่อกวนอู และรูปเจ้าแม่ทับทิม เป็นที่นิยมในการมาสักการะขอพรเทพเจ้าต่างๆ มีผู้คนเนื่องแน่นไม่ขาดสาย
หากใครที่ต้องการที่จะรำลึกถึงภาพเมือครั้งอดีต “ย่านแพร่ง” แห่งนี้ก็คงไม่ทำให้ผิดหวัง ถึงแม้วิถีชีวิตในแบบเก่าจะไม่ค่อยมีให้ได้เห็นแล้วแต่ในด้านสถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือนเมื่อครั้งอดีตที่ยังคงอยู่และยังไม่จางหายไป อีกทั้งย่านแพร่งเป็นแหล่งอาหารของกินมากมายที่น่ามาเยือนลิ้มลอง ถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่ควรมาอย่างยิ่ง
********************************************************************
การเดินทาง ถ้ามาจากสี่แยกคอกวัว แล้วตรงมาที่ถนนตะนาว(ฝั่งเสาชิงช้า) จะเห็นศาลเจ้าพ่อเสืออยู่ทางขวามือ ถัดไปจะเป็นแพร่งสรรพสาตร์ (สังเกตจากซุ้มประตูเก่า) จากนั้นจะเจอแพร่งนรา และแพร่งภูธรอยู่ติดกัน
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com