ใกล้ถึงเดือนเมษา ก็ใกล้ถึงเวลาของเทศกาลงานประเพณี “สงกรานต์” อันเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ร่วมกันในกลุ่มชาติพันธุ์อุษาคเนย์ที่นับถือพระพุทธศาสนา อาทิ ลาว เขมร มอญ พม่า รวมไปถึงลังกา และสิบสองปันนาในประเทศจีน
เชื่อกันว่า ประเพณีสงกรานต์นี้แต่เดิมได้รับคติความเชื่อมาจากอินเดีย ผ่านแบบแผนของพราหมณ์-ฮินดู ที่นำเข้ามาใช้ในราชสำนักต่างๆ ในแถบอุษาคเนย์ ซึ่งสามารถสรุปได้ในเบื้องต้นว่า ประเพณีสงกรานต์นั้นน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียนั่นเอง
ธีรภาพ โลหิตกุล ศิลปินแห่งชาติและนักเขียนสารคดีผู้เชี่ยวชาญด้านอุษาคเนย์ กล่าวในเฟซบุ๊กแฟนเพจ Teeraparb Lohitkun สนับสนุนเรื่องดังกล่าวว่า
ความเชื่อว่าสงกรานต์ได้รับอิทธิพลจาก โหลี ของอินเดีย เกิดจากการตีความของผมเอง เมื่อได้ศึกษาข้อมูลจากหนังสือ “ประวัติศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู” โดย เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ เรียกงานนี้ว่า “โหลีปูรณิมา”
ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 หรือราวเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นวันที่ชาวฮินดูจะนำเอาสิ่งของสกปรกออกจากบ้านไปรวมไว้ที่ใดที่หนึ่ง แล้วเผาทิ้งเสีย ระหว่างที่เผาก็จะร้องเพลงพื้นบ้าน เรียกว่า “เพลงโหลี” จากนั้นในวันรุ่งขึ้น คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 เรียกว่าวัน “โหลี” หรือ “โหลา” หรือ “ผคุวา”
จะเป็นวันเฉลิมฉลองด้วยการเล่นสาดสี เชื่อกันว่าการเอาสีมาสาดกัน เป็นการปัดเป่าเชื้อโรคร้ายออกจากกายเราให้หมดสิ้น “โหลี” จึงเป็นวันตรุษของชาวอินเดีย และถือเป็นวันสำคัญของชาววรรณะศูทร หรือชนชั้นผู้ใช้แรงงาน แต่วรรณะอื่นก็มาร่วมสนุกสนานได้
... นอกจากนั้น “โหลี” ยังถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการสิ้นสุดฤดูหนาว ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ จึงนอกจากจะเล่นสาดสีกันแล้ว ก็จะร้องรำทำเพลงและเต้นรำกันเป็นที่สนุกสนาน ซึ่งวันงานจริงมีแค่ 2 วัน คือวันขึ้น 15 ค่ำ และแรม ๑ ค่ำ เดือน 4 แต่เด็กๆ และคนหนุ่มสาวก็จะเล่นสาดสีกันล่วงหน้าเป็นสัปดาห์ ไม่ต่างจากชนบทบ้านเรา
(คลิกอ่านเนื้อหาแบบเต็มๆ ได้ที่นี่ )
แต่ทั้งนี้ มีความเห็นจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียนผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี มีความเห็นที่แตกต่างว่า แท้จริงแล้ว สงกรานต์ไม่ได้มาจากเทศกาลโหลีแต่อย่างใด โดยได้ยกข้อมูลของ อ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง แห่งคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาอธิบายว่า
สงกรานต์ไทย ไม่ได้มาจากโหลี (Holi) หรือเทศกาลสาดสีในอินเดีย เพราะโหลีกำหนดวันตามจันทรคติ ซึ่งต่างจากสงกรานต์ที่กำหนดตามสุริยคติ เทศกาลโหลีจะเริ่มต้นในวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือนผาลคุน (คือเดือนตามปฏิทินจันทรคติฮินดู ราวกุมภาพันธ์-ต้นมีนาคม) เรียกวันนี้ว่าวัน “โหลิกาทหนะ” (Holika Dahana) แปลว่าวันเผาหรือฆ่านางโหลิกา
วันรุ่งขึ้นเล่นสาดสีและกิจกรรมสันทนาการต่างๆ เรียกว่า วันโหลี หรือ “วสันโตสวะ” หมายถึงเทศกาลแห่งฤดูวสันต์ ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือนไจตระ (ราวต้นมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน)
และสอง สงกรานต์ถือเป็น “ปีใหม่” หรือเปลี่ยนศักราชตามโหราศาสตร์ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอินเดียภาคใต้ เพราะยังถือตรงกันทั้งไทย (เก่า) โหลีไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนศักราชปีใหม่ แต่เป็นการฉลองการเข้าสู่ฤดูวสันต์ ซึ่งเป็นฤดูกาลที่จะเริ่มต้นเพาะปลูก จึงเป็นคนละคติความเชื่อกับสงกรานต์
อีกทั้งมองว่า การสาดสีกันในเทศกาลโหลี เป็นพิธีการเจริญพืชพันธุ์เพื่อความอุดมสมบูรณ์ การสาดสีในเทศกาลโหลี ใช้ผงสีทำจากวัสดุธรรมชาติเช่นแร่ธาตุและพืช (ผงคุลาล ผงอพีระ ผงขมิ้น ฯลฯ) สีหลักที่ใช้มาแต่เดิมมี 3 สี คือ แดง เขียว และเหลือง โหลีในสายตาผู้คนปัจจุบันจึงหมายถึงความสนุกสนาน สีสันของชีวิตและความรักเป็นหลัก แต่หากตีความในอีกชั้นหนึ่ง สีเหล่านี้มักถูกใช้ในสัญลักษณ์ต่างๆ และพิธีกรรมในศาสนาฮินดูอยู่แล้ว
(คลิกอ่านเนื้อหาแบบเต็มๆ ได้ที่นี่ )
แต่ละฝ่ายแต่ละสายวิชาการต่างก็มีความเชื่อและข้อมูลของตนเอง แต่สำหรับงานสงกรานต์ในเมืองไทยปีนี้ คำถามน่าจะอยู่ที่ว่า ควรจัดงานสงกรานต์อย่างไรให้สมกับเป็นงานเทศกาลสำคัญของประเทศ ในขณะที่ควรจัดวิธีใดให้เหมาะสมกับสภาวะน้ำแล้งในประเทศเสียมากกว่า
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com