xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ ไทย-พม่า ล้างอคติ สร้างความเข้าใจ ผ่านนิทรรศการ “พม่าระยะประชิด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บรรยากาศในงานเสวนา จากซ้ายไปขวา ทวีศักดิ์ วรฤทธิ์เรืองอุไร, ธีรภาพ โลหิตกุล, ตูซาร์ นวย
มิวเซียมสยามเปิดนิทรรศการ “พม่าระยะประชิด” (Myanmar Up-Close) สานสัมพันธ์ไทย-พม่า มุ่งหวังให้ประชาชนเปิดใจทำความรู้จักเพื่อนบ้านให้มากขึ้น ล้างอคติและมุ่งส่งเสริมความเข้าใจระหว่างกัน ชมฟรีตั้งแต่วันนี้-31 ก.ค. 59 ณ มิวเซียม สยาม ท่าเตียน กทม. พร้อมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมของพม่าอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (15 มี.ค.) มีการแถลงข่าวเปิดนิทรรศการหมุนเวียน “พม่าระยะประชิด” จัดโดยมิวเซียมสยาม โดยภายในงานมีการจัดเสวนา “จุดเปลี่ยนที่ก้าวผ่าน” โดย ทวีศักดิ์ วรฤทธิ์เรืองอุไร นักจัดการความรู้อาวุโส/ภัณฑารักษ์ มิวเซียมสยาม ธีรภาพ โลหิตกุล ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (สารคดี) ประจำปี 2558 และตูซาร์ นวย อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง
บรรยากาศภายในห้องจัดนิทรรศการ
ทวีศักดิ์กล่าวถึงที่มาและแนวคิดของการจัดนิทรรศการว่า นิทรรศการในครั้งนี้ให้มากกว่าความรู้ แต่เป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างเพื่อน เพราะความเข้าใจของคนไทยต่อชาวพม่าในไทยยังมีจำกัด และยังมีอคติที่สร้างขึ้นจากความไม่เข้าใจ

ด้านธีรภาพ กล่าวว่า พม่ากับไทยนั้นผูกพันกันมานาน มีความเป็นไทยในพม่าและมีความเป็นพม่าในไทย พร้อมทั้งยกตัวอย่างเพลงไทยที่เราร้องกันมาตั้งแต่เด็กๆ อย่างเพลง “ช้าง” ก็ยังได้ทำนองมาจากเพลง “พม่าเขว” ซึ่งเป็นเพลงออกภาษาพม่า (เพลงที่มีกลิ่นอายของทำนองพม่า)

ธีรภาพยังกล่าวอีกว่า มุมมองของคนไทยต่อพม่าในปัจจุบัน เชื่อว่าสำหรับคนรุ่นใหม่เริ่มจะแยกแยะออกว่าความบาดหมางในประวัติศาสตร์นั้นเป็นเรื่องของอดีต แต่คนรุ่นก่อนที่ยังดูหนังดูละครประวัติศาสตร์ตามกรอบประวัติศาสตร์ชาตินิยมอาจจะเปลี่ยนความคิดยากหน่อยเพราะว่าไม่เข้าใจ ซึ่งตนเองไม่ได้มองว่าประวัติศาสตร์ชาตินิยมผิดทั้งหมด แต่เห็นว่าเป็นเพียงการมองด้านเดียว อีกทั้งการเรียนประวัติศาสตร์นั้นจะต้องจำเพื่อไปสอบด้วย ก็ยิ่งทำให้อคตินั้นฝังลึกลงไปอีก
ฉัตรยอดเจดีย์ชเวดากองจำลองจากวัดเชิงเขา จ.กาญจนบุรี ให้ยืมมาจัดแสดง
ด้าน ตูซาร์ นวย เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ย้ายจากถิ่นเกิดประเทศพม่ามาอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลาถึง 26 ปีแล้ว เนื่องด้วยบิดาต้องมาทำงานที่เมืองไทย เธอเล่าว่า เมื่อมาเมืองไทยแรกๆ คนไทยทราบว่าเป็นชาวพม่า ก็มีท่าทีที่เปลี่ยน สีหน้าที่เปลี่ยน ไม่อยากพูดคุยด้วย ตูซาร์ นวย เล่าว่าเธอเจอประสบการณ์เช่นนี้มากว่า 20 ปี และคนไทยเริ่มจะมีท่าทีที่ดีขึ้นเมื่อช่วง 4-5 ปีมานี้เอง

ตูซาร์ นวย ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาความบาดหมางและอคติของคนไทยที่มีต่อคนพม่า คือคนไทยเอาอดีตมาอยู่กับปัจจุบันมากเกินไป สำหรับบทเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในไทยกับพม่าก็แตกต่างกัน ในพม่าจะเรียนแบบข้อเท็จจริง เน้นช่วงเวลาและสิ่งที่เกิดขึ้น แต่จะไม่บรรยายเป็นเรื่องราวหรือใส่อารมณ์เข้าไป
รู้จักพม่าผ่านนิทรรศการ พม่าระยะประชิด
ผู้ที่เปิดใจและอยากเข้าใจชาวพม่าให้มากขึ้น สามารถมาชมนิทรรศการ “พม่าระยะประชิด” ซึ่งมีแนวคิดคือ “Guest(‘s) House” โดยมองว่าชาวพม่าที่เข้ามาในเมืองไทยเป็นแขกคนหนึ่ง ภายในนิทรรศการแบ่งออกเป็น 2 โซน ได้แก่ โซนเกสต์เฮาส์ (Guest’s House) แกะรอยเส้นทางชีวิตของชาวพม่าในประเทศไทยผ่านที่มา-ที่เป็นอยู่-ที่ไป คือความมุ่งหวังที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ความเป็นอยู่ในเมืองไทย และความฝันต่อไปในอนาคต

ส่วนโซนที่สองคือ โซนเกสต์เฮาส์ (Guess House) นำเสนอบททบทวนมายาคติต่างๆ ของคนไทยที่มีต่อพม่าในแบบเรียนประวัติศาสตร์ของไทย และแง่มุมทางวัฒนธรรมที่ทั้งสองประเทศมีรากฐานร่วมกันมา นำเสนอผ่านการเดา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เห็นบางครั้งอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น
ผู้เข้าชมให้ความสนใจนิทรรศการ
ร่วมทำความรู้จักกับ “พม่า” เพื่อนบ้านของเราในมุมมองใหม่ๆ ได้ตั้งแต่วันนี้-31 ก.ค. 59 เวลา 10.00-18.00 น. (ปิดวันจันทร์) ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การแสดงหุ่นกระบอกพม่า การเสวนาประวัติศาสตร์พม่า การแสดงละครเวทีโดยเด็กๆ ชาวพม่า เวิร์กชอปโหราศาสตร์และการดูดวงแบบพม่า ฯลฯ สอบถามโทร. 0- 2225-2777 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan
ส่วนแรกของนิทรรศการ พม่าระยะประชิด
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น