xs
xsm
sm
md
lg

ส่อง “ไท้แถนฯ” นิทานพื้นบ้านจ้วงฯ ลาว ไทย ต้นเรื่องซินเดอเรลลา เชื่อมอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูมิภาค - เปิดตัวหนังสือ “นิทานไท้แถน เรื่องเล่าภูมิปัญญาอาเซียน” นิทานพื้นบ้านจ้วงกว่างซี ลาว ไทย ต้นเรื่อง “ซินเดอเรลลา” รับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี



รายงานข่าวแจ้งว่า ระหว่างที่มีการจัดงานแสดงความยินดีกับนายธีรภาพ โลหิตกุล ผู้ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (สารคดี) ประจำปี 2558 ที่ลานใบไม้ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเปิดตัวหนังสือ “นิทานไท้แถน เรื่องเล่าภูมิปัญญาอาเซียน” นิทานพื้นบ้านที่เชื่อมโยงกันหลายประเทศ ผลงานเขียนของอาจารย์สุเทพ ไชยขันธุ์ เจ้าของนามปากกา “ชัยธีระเสฏฐ์ ไชยขันธุ์” ผู้ค้นคว้าข้อมูลนิทานพื้นบ้านนอาเซียนด้วย

นอกจากนี้ยังมีการจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ และการแสดงตามแบบของชาวภูไท (ผู้ไท) สกลนคร เป็นการย้อนอดีต และสืบสานความเชื่อ-จารีต ที่มีอยู่ในหนังสือนิทานเล่มดังกล่าวด้วย

นายธีรภาพ โลหิตกุล เจ้าของตำแหน่งศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (สารคดี) คนล่าสุด ผู้เขียนคำนิยม กล่าวว่า สิ่งที่ตนได้รับการยกย่องคืองานเขียนสารคดีเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะเห็นว่าในหลายประเทศมีการแสดงที่คล้ายกัน หรือเรื่องราวที่เหมือนกัน

เช่น เรื่องราวของชาวภูไท เป็นเหมือนกับชาวจ้วงในประเทศจีน นิทานปลาบู่ทองของไทย ถ้าศึกษาให้ดีจะเห็นว่าของลาวก็มี และในหลายๆ ประเทศก็มี โดยอาจารย์ทองแถม นาถจำนง นักเขียน กวี นักแปล ผู้เชี่ยวชาญด้านชาติพันธุ์วิทยา เคยระบุว่า ปลาบู่ทองเป็นนิทานที่ชาวจ้วง ลาว ไทย เล่าถ่ายทอดกันมาแต่ดึกดำบรรพ์

โดยชาวล้านนา ชาวไทใหญ่เรียกว่า “เต่าน้อยอองคำ” หรือนางยีแสงก่อ หรือนางอุทธรา (นางเอื้อย) ทางประเทศลาวเรียก “เต่าคำ” ทางชนเผ่าจ้วงในจีน เรียกว่า “ตาเจี้ย” แปลว่านางกำพร้า

ซึ่งนิทานเรื่องนี้แพร่หลายในกว่างซี เวียดนาม กัมพูชา ลาว สยาม พม่า จีน และจากจีนก็เผยแพร่ไปยังยุโรปในยุคราชวงศ์ถัง จนเป็นต้นเรื่องทำให้เกิดเทพนิยาย “ซินเดอเรลลา” ซึ่งไปจากนิทานของชาวจ้วงที่มณฑลกว่างซีของจีน ซึ่งเป็นดินแดนถิ่นฐานเก่าแก่ของเครือญาติชาติพันธุ์ไท (Dai / Tai)

หนังสือนิทานไท้แถนเป็นเรื่องราวที่เป็นนิทานตำนานของคนกลุ่มนี้ มีการค้นคว้าและนำมาเรียบเรียงโดยใช้ภาษาที่สละสลวย เป็นเรื่องราวที่น่าติดตาม อาจารย์สุเทพ ไชยขันธุ์ มีความถนัดและเชี่ยวชาญนิทานพื้นบ้าน ซึ่งได้แต่งนิทานมาแล้วหลายเรื่อง เรื่องนี้ใช้เวลาในการแต่งนานถึง 2 ปี มี 174 หน้า ประกอบด้วยนิทานจำนวน 7 บท คือ แม่ลูกสือและปู่รู้ทั่วผู้สร้างโลก, กำพร้ากับผีน้อย, ตำนานลิงฟ้อนแถน, ตำนานเมืองไล, ปลาบู่ทอง, เติ๋ม-ก๋าม และน้องเต่าอองคำ จัดพิมพ์จำนวน 1,000 เล่ม

นางมรกต ยิบอินซอย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ยิบอินซอย จำกัด กล่าวว่า การที่ต้องมีการเปิดตัวและชื่นชมยินดีกับนักเขียนทั้งสอง เพราะวรรณกรรมที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเป็นวรรณกรรมเชิงบวก ที่ทำให้เกิดความรักความสามัคคีในหมู่ประชาชนชาวอาเซียน ไม่มุ่งเน้นแสดงความเป็นเจ้าของและแย่งชิงกัน สอดแทรกแง่คิดมุมมอง สามารถเป็นอาวุธลับสำหรับใช้รับมือกับสถานการณ์เลวร้าย เป็นภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดความภาคภูมิใจร่วมกันทั้งภูมิภาคอาเซียน ในโอกาสที่ทุกประเทศกำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

กำลังโหลดความคิดเห็น