xs
xsm
sm
md
lg

อนุรักษ์และปรับปรุงอาคารเก่า “บ้านพระอาทิตย์” ผลงานที่ภาคภูมิใจของ “กฤษฎา โรจนกร” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ปี 58

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บ้านพระอาทิตย์
ART EYE VIEW--- “เพิ่งจะได้เป็นก็ยังไม่รู้ว่าจะคิดทำอะไรเพื่อสังคมเพิ่มเติมอีกบ้าง แต่คิดว่าต่อไปนี้คงต้องเลือกงานมากขึ้น และมีความรับผิดชอบที่จะรักษา สถาบันอันทรงเกียรติหรือสิ่งที่สังคมยกย่องนี้ให้ดีที่สุด ให้เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ไม่ใช่เป็นศิลปินแห่งชาติแล้วทำอะไรก็ไม่รู้ คงต้องพยายามเลือกงานและทำผลงานของเราให้ออกมาดีที่สุด เท่าที่จะทำได้”

คือความในใจบางส่วนของ กฤษฎา โรจนกร สถาปนิกอาวุโสวัย 68 ปี ซึ่งล่าสุดถูกยกย่องจากกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ประจำปี 2558

ปัจจุบันกฤษฎาเป็นเจ้าของ บริษัท Habita Archiects จำกัด ซึ่งก่อตั้งมานานกว่า 30 ปี และมีพนักงานราว 30 คน

มีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในด้าน การอนุรักษ์และปรับปรุงอาคารเก่า ได้แก่ บ้านพระอาทิตย์,สถาบันเกอเธ่ประเทศไทย,สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์,โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยฯลฯ

ผลงานออกแบบโรงแรมและรีสอร์ทหรูหลายแห่งในเอเชีย ได้แก่ โรงแรมแกรนด์หลวงพระบาง ประเทศลาว ,รีสอร์ทซิกส์เซนส์ นิน วัน เบย์ ประเทศเวียดนาม ,โรงแรมพันซี ภูเก็ต , โรงแรม พี พี ปาล์ม บีช รีสอร์ท ฯลฯ

รวมไปถึงอาคารสนามบิน ได้แก่ อาคารสนามบินศุลกากรสมุย จ.สุราษฎร์ธานี,อาคารสนามบินสุโขทัย จ.สุโขทัย,อาคารผู้โดยสารสนามบินใหม่ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ฯลฯ
บ้านพระอาทิตย์
แต่หากถามถึงผลงานที่ภาคภูมิใจในชีวิตสถาปนิก เจ้าตัวบอกว่า คือผลงานอนุรักษ์และปรับปรุงอาคารเก่า “บ้านพระอาทิตย์” ซึ่งเคยได้รับรางวัล “อาคารอนุรักษ์ดีเด่น”

“ถ้าพูดถึงอาคารเก่าที่เราเข้าไปอนุรักษ์ พยายามทำอะไรให้มันกลมกลืนกับอาคารเก่า และดึงบรรยากาศเดิมๆให้กลับมา เราถือว่าบ้านพระอาทิตย์ เป็นโปรเจ็คอันหนึ่งที่เราพอใจและภาคภูมิใจ

บ้านพระอาทิตย์ สมัยก่อนเป็นสถาบันเกอเธ่ แล้วเราก็ย้ายสถาบันเกอเธ่ไปอยู่ซอยอรรถการประสิทธิ์ ที่สาทร พอบ้านพระอาทิตย์ว่างลง ทางคุณสนธิ(ลิ้มทองกุล) ซึ่งมาซื้อบ้านพระอาทิตย์ ได้ขอให้เราช่วยปรับปรุงและเพิ่มเติมอาคารเพื่อจะทำเป็นออฟฟิศของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

แต่เนื่องจากตัวบ้านพระอาทิตย์เป็นอาคารที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมศิลปากร การเข้าไปอนุรักษ์และปรับปรุง ต้องมีการขออนุญาตขณะที่ส่วนประกอบอื่นเป็นอาคารที่สร้างเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่

ทุกวันนี้เวลาไปยืนมองอาคารต่างๆในรั้วบ้านพระอาทิตย์ คนทั่วไปจะไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ ว่าอันไหนเก่าอันไหนใหม่

นอกจากจะกลับไปรูปสมัยเก่าก่อนทำการปรับปรุง ซึ่งเคยเป็นสถาบันเกอเธ่และเป็นบ้านของตระกูลอิศรเสนา”


ผลงานด้านอนุรักษ์และปรับปรุงอาคารเก่าในนาม Habita Archiects กฤษฎาให้ข้อมูลว่าส่วนใหญ่จะเป็นอาคารเก่าในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งก่อนทำการอนุรักษ์และปรับปรุง จะให้ความสำคัญนับตั้งแต่ การตรวจสอบสภาพอาคาร และต้องทำแบบแปลนของอาคารขึ้นมาใหม่

“วิเคราะห์ว่าส่วนไหนมีการชำรุด หรือต้องซ่อมแซมใหม่ หลังจากนั้นเราก็ต้องทำแบบยื่นไปที่กรมศิลป์ฯ และเพื่อความมั่นใจ เราจะพยายามเลือกใช้งานบริษัทที่อยู่ในรายชื่อบริษัทที่ทางกรมศิลป์ฯ เลือกใช้งาน เช่น บริษัทที่ทำการซ่อมแซมวัดพระแก้ว เป็นต้น ซึ่งบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่ทำงานด้านการอนุรักษ์อยู่แล้ว ที่นี้การทำงานของเราก็จะง่ายขึ้น เพราะกรมศิลป์ฯ มั่นใจในบริษัทเหล่านี้อยู่แล้ว”
ซิกส์เซนส์ นิน วัน เบย์ ประเทศเวียดนาม
ซิกส์เซนส์ นิน วัน เบย์ ประเทศเวียดนาม
เมื่อขอให้ยกตัวอย่างผลงานด้านการออกแบบรีสอร์ทบ้าง สถาปนิกอาวุโสท่านนี้ เลือกให้ ซิกส์เซนส์ นิน วัน เบย์ ประเทศเวียดนาม เป็นหนึ่งในจำนวนผลงานที่ภาคภูมิใจ

“เพราะเป็นโรงแรมและรีสอร์ทที่ออกแบบให้มีที่พักหลายลักษณะ บ้างก็อยู่บนหิน บ้างก็อยู่บนเขา บ้างก็อยู่ติดหาด มีเอกลักษณ์ของตนเอง ถ้าเป็นรีสอร์ท ที่นี่จึงเป็นตัวอย่างผลงานที่ผมพอใจ”

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบรีสอร์ท หรือ อนุรักษ์และปรับปรุงอาคารเก่า กฤษฎาบอกถึงหัวใจสำคัญของการทำงานว่า

“ถ้าเป็นรีสอร์ท จะออกแบบให้กลมกลืนกับธรรมชาติ บางครั้งเราก็ใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติ อย่างที่เวียดนาม เราก็ใช้จาก ใช้ไม้ไผ่ ฯลฯ

แต่ถ้าเป็นงานอนุรักษ์และปรับปรุงอาคารเก่า เราจะพยายามทำของใหม่ให้เข้ากับอาคารเดิม ให้ของเก่าหรืออาคารเก่ายังเป็นพระเอก ไม่ใช่ทำอะไรใหม่ที่จะไปข่มอาคารเดิม”

กฤษฎาเป็นชาวกรุงเทพ เข้าเรียนในระดับอนุบาล ณ เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย(เนื่องจากบิดาทำงานในกระทรวงต่างประเทศ จึงต้องย้ายถิ่นฐานตามบิดา),ประถมศึกษาที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย,Latymer Upper School กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ,โรงเรียนร่วมฤดี อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงเทพฯ ,สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น (ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น)

นอกจากผลงานอนุรักษ์และปรับปรุงอาคารบ้านพระอาทิตย์ จะได้รับ รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ดังที่กล่าวมา

ยังมีผลงานอื่นๆที่ได้รับรางวัลเช่น โรงแรมพันซีภูเก็ต,อาคารสถาบันเกอเธ่และมูลนิธิวัฒนธรรมไทยเยอรมัน และ โรงแรม พีพีปาล์ม บีช รีสอร์ท ได้รับรางวัลชมเชยงานออกแบบสถาปัตยกรรมดีเด่น ,อาคารผู้โดยสารสนามบินใหม่ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี รับรางวัลสถาปัตยกรรมสีเขียวดีเด่น

และบริษัท Habita Archiects จำกัด รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น สาขาองค์กรดีเด่น ส่งเสริมการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม

กฤษฎา โรจนกร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) และศิลปินแห่งชาติ อีก 7 ท่าน ได้แก่ ศ.วิชัย สิทธิรัตน์ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม), ศ.เกียรติคุณเสริมศักดิ์ นาคบัว สาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบอุตสาหกรรม), ธีรภาพ โลหิตกุล สาขาวรรณศิลป์ (สารคดี),ไพวรินทร์ ขาวงาม สาขาวรรณศิลป์(กวีนิพนธ์),เวณิกา บุนนาค สาขาศิลปการแสดง (นาฏศิลป์ไทย), เรือตรีสันติ ลุนแผ่ สาขาศิลปการแสดง (ดนตรีสากล) และสมบูรณ์สุข นิยมศิริ หรือ เปี๊ยก โปสเตอร์ สาขาศิลปการแสดง (ภาพยนตร์)

จะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งตรงกับ “วันศิลปินแห่งชาติ”

ในวันดังกล่าวจะมีงานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่ศิลปินแห่งชาติ พร้อมกิจกรรมการแสดงและนิทรรศการศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2558 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยด้วย โดยประชาชนผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews


กำลังโหลดความคิดเห็น