xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหู เปิดใจ ฟังเสียงข้ามพรมแดน “ประสบการณ์หู สู่อาเซียน” ณ มิวเซียมสยาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศของนิทรรศการ
“มิวเซียมสยาม” จัดนิทรรศการ “ประสบการณ์หู สู่อาเซียน” วันนี้-20 ธ.ค. 58 รวบรวมเสียงจากทั่วอาเซียนอย่างหลากหลายมาร้อยเรียงไว้ในรูปแบบนิทรรศการ โดยร่วมมือกับสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หวังเปิดโอกาสการเรียนรู้ให้กับผู้ฟังนิทรรศการ และนำไปสู่การเปิดใจยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมของภูมิภาค และเรียนรู้ความเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับผู้อื่นได้อย่างเข้าใจมากขึ้น

“เสียง” เป็นหนึ่งในสัมผัสสำคัญของการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ เสียงสามารถสื่อความหมายได้อย่างประหลาด เสียงพูดของผู้นำเพียงไม่กี่คำอาจเป็นวลีที่ช่วยสร้างชาติ เสียงสวดมนต์ในวัดสะท้อนความเชื่อ พิธีกรรม และการมีอยู่ของศาสนา เสียงรถราบนท้องถนนแสดงผลของการเคลื่อนไหว แม้กระทั่งเสียงถอนหายใจของคนข้างกายอาจแสดงอารมณ์ภายในที่ขุ่นมัว เสียงต่างๆ ที่อยู่รอบตัวล้วนเป็นเสียงที่เราทุกคนต่างคุ้นเคยแต่ก็เฉยชิน ได้ยินแต่อาจไม่ได้รับฟัง ยังมีเสียงอีกมากมายหลายมิติที่ปรากฏอย่างสม่ำเสมออยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเสียงดนตรี วิถีชีวิต ธรรมชาติ และวัฒนธรรม รอให้เราได้ย้ำฟังอย่างเปิดใจ
ผู้เข้าร่วมชมงานนิทรรศการ
สรรพเสียงเหล่านี้เป็นตัวกลางที่จะช่วยเปิดประสบการณ์ให้เราได้รู้จักตนเอง และคนรอบข้างมากขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปลายปีนี้ เมื่อสิบประเทศในอาเซียนจะหลอมรวมเป็นประชาคมเดียวกัน คนจากต่างชาติพันธุ์ ต่างภาษา หลากหลายวัฒนธรรมจะเข้ามาแวดล้อมเรา เสียงที่เป็นดังสื่อกลางของความหลากหลายจะช่วยให้เราได้เรียนรู้ และทำความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่เราไม่คุ้นเคย อีกทั้งเสียงต่างๆ ยังมีคุณสมบัติพิเศษที่จะช่วยสร้างจินตนาการ พาเราท่องเที่ยวข้ามเส้นเขตแดนของแผนที่ไปได้ไกลแสนไกล โดยไร้ซึ่งข้อจำกัดทั้งในแง่ของพื้นที่และช่วงเวลา

ดร.อโณทัย นิติพน รองคณบดีสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี หนึ่งในผู้พัฒนานิทรรศการ “ประสบการณ์หู สู่อาเซียน” กล่าวถึงรายละเอียดของนิทรรศการว่า นิทรรศการนี้แบ่งออกเป็น 2 โซน ได้แก่ โซนแรก “นิทรรศการเสียง” นำเสนอประสบการณ์ทางเสียงผ่านจอวีดิทัศน์คมชัดระดับ HD พร้อมหูฟังคุณภาพสูง เพื่อทำให้ผู้ฟังได้เรียนรู้อาเซียนผ่านเสียงต่างๆ อาทิ เสียงดนตรีเขมรในยุค 60 ที่เหลือรอดจากการกวาดล้างของเขมรแดงอันสะท้อนภาพกัมพูชาในยุคที่วัฒนธรรมร่วมสมัยรุ่งเรืองเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เสียงสวนเลนิน กรุงฮานอย หนึ่งในสถานที่ทางประวัติศาสตร์อันเป็นสัญลักษณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม ที่ปัจจุบันอื้ออึงไปด้วยจังหวะเพลงป็อบประกอบการออกกำลังกายยามเช้าที่กำลังเป็นแฟชั่นในเมืองใหญ่ของชาวเวียดนาม เสียงนกเงือกและชีวิตของผืนป่าแห่งซาราวักที่บันทึกจากเวลาฟ้าสางสู่กาลตะวันดับ บนเกาะบอร์เนียว มาเลเซีย เสียงพิธีบวงสรวงร่างทรงองค์เทพของชาวบาหลี อินโดนีเซีย เสียงแห่งความเงียบของชายแดนไทย-เมียนมาร์ ฯลฯ
ลองฟังเสียงต่างๆ เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่
โซนที่สอง “นิทรรศการสื่อผสม 360 องศา” เป็นการนำเสนอนิทรรศการรูปแบบใหม่ของมิวเซียมสยามที่ต้องการให้ผู้ชมได้เลือกเองว่าอยากจะเห็นอะไรในอาเซียน โดยผู้เข้าชมจะพบแท่นกลางห้องนิทรรศการมืดที่สามารถผสมผสานเรื่องราวทางเสียงอันหลากหลายเข้าไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพียงทัชสกรีน สื่อมัลติมีเดียจะแสดงภาพพร้อมเสียง รอบทิศ ให้ผู้ชมสามารถหมุนได้รอบตัวเพื่อชมนิทรรศการ

สำหรับเสียงทั้งหมดที่รวบรวมเอาไว้ภายในนิทรรศการนั้น จะผ่านการใช้เทคนิคการบันทึกเสียงด้วยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ อาทิ เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย เพื่อให้ได้มาซึ่งเสียงที่มีมิติ ลุ่มลึก สมจริง ให้ผู้ฟังรู้สึกเสมือนได้ไปฟังเสียงอยู่ ณ สถานที่นั้นๆ ให้เสียงเป็นตัวกลางพาผู้ฟังจินตนาการข้ามพรมแดน ท่องอาเซียนไปกับเสียงที่หาฟังได้ยาก เสียงที่เราได้ยินแต่ไม่เคยได้สนใจฟัง ตลอดจนเสียงที่เราอาจจะตั้งข้อสังเกตถ้าเราได้ลองตั้งใจฟัง
ลองฟังเสียงนกเงือกและชีวิตของผืนป่าแห่งซาราวัก
มาร่วมเปิดหู เปิดใจ สัมผัสมิติใหม่ทางวัฒนธรรม และความหลากหลายทางสังคมของภูมิภาคอาเซียน ไปกับนิทรรศการ “ประสบการณ์หู สู่อาเซียน” ได้แล้วตั้งแต่วันนี้-20 ธันวาคม 2558 ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. (ปิดวันจันทร์) ณ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการจัดแสดงนิทรรศการจะมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น การแสดงดนตรีจากศิลปินอาเซียน การฉายหนังกลางแปลง การบรรยาย และการเวิร์กช็อปอีกมากมาย ตลอดจนมีการเปิดเว็บไซต์ www.asearn.com ที่รวบรวมเสียงโดยศิลปินผู้เชี่ยวชาญมากมายมาให้ได้ฟังกัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2225 2777 ต่อ 422 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น