ในช่วงนี้ที่ “ทะเลน้อย” อ.ควนขนุน จ.พัทลุง กำลังกลายเป็น “ทะเลบัว” สีชมพูหวานเต็มท้องน้ำ เนื่องจากเป็นฤดูที่ “ดอกบัวสาย” กำลังพากันออกดอกสีชมพูสดใสบานสะพรั่ง นับเป็นอีกหนึ่งสีสันความงามคู่ทะเลน้อยที่จะมีให้ชมในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกบัวจะบานงามสะพรั่งที่สุด สาวๆ คนไหนอยากจะมาถ่ายรูปเซลฟี่กับดอกบัว ขอบอกว่าต้องรีบชักชวนเพื่อนฝูงพี่น้องมาเที่ยวกันในช่วงนี้ ก่อนที่ดอกบัวจะโรยราไปในราวเดือนพฤษภาคม
แต่นอกจากดอกบัวงามในทะเลน้อยแล้ว ที่นี่ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกหลากหลาย ในวันนี้จึงขอพาเที่ยวชม “ทะเลน้อย” และแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เขาได้จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวนี้ขึ้น และยังเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่เหมาะกับ “ผู้หญิง” ให้ผู้หญิงได้ออกเดินทางมาชมสิ่งสวยๆ งามๆ อีกทั้ง “พัทลุง” ก็ยังเป็น “เมืองต้องห้ามพลาด Plus” จับคู่กันระหว่าง “นครศรีธรรมราช-พัทลุง” ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “นครสองธรรม” คือมีความโดดเด่นทั้งเรื่องทางธรรมะและธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านเมืองกระจายอยู่ทุกอำเภอ
ทีนี้มาว่ากันเรื่องเที่ยวทะเลน้อยกันต่อดีกว่า “ทะเลน้อย” ตั้งอยู่ใน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ของภาคใต้ และเป็นแหล่งน้ำอันต่อเนื่องกับทะเลสาบสงขลา โดยตั้งอยู่ตอนเหนือสุดและมีทะเลหลวงในเขตจังหวัดพัทลุงกั้นกลาง อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ พัทลุง สงขลา และ นครศรีธรรมราช มีทั้งส่วนที่เป็นพื้นดิน ทุ่งหญ้า ป่าเสม็ด ป่าพรุ นาข้าว ป่าดิบชื้น และพื้นน้ำที่มีประมาณ 17,500 ไร่ จากเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 281,250 ไร่ ที่นี่จึงนับเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งระบบนิเวศ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ พรรณพืช โดยเฉพาะนกที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
การท่องเที่ยวทะเลน้อยให้ได้บรรยากาศครบรสและสัมผัสความสวยงามให้ครบทุกด้าน ควรจะมาตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อมาชมบรรยากาศในยามพระอาทิตย์ขึ้น ดังนั้นจะเป็นการดีที่สุดถ้าจะเลือกมาพักค้างคืนบริเวณใกล้เคียงกับทะเลน้อย เพื่อจะได้ตื่นเช้ามายลเสน่ห์ทะเลน้อยกันแบบเต็มๆ ตา และไม่เหนื่อยกับการเดินทางตอนเช้ามืด การพักค้างคืนในบริเวณคลองปากประถือเป็นความคิดที่ดี อีกทั้งยังมีรีสอร์ทของเอกชนให้เลือกหลากหลาย โดย “คลองปากประ” ถือว่าเป็นคลองแห่งวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน มีสายน้ำเชื่อมโยงกับทะเลน้อย สามารถล่องเรือไปมาหาสู่กันได้ และเป็นอีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด เพราะบริเวณปากคลองนั้นจะเต็มไปด้วย "ยอยักษ์" หรือยอขนาดใหญ่อันเป็นอุปกรณ์ในการจับปลาของชาวบ้านในแถบนี้ จึงเป็นจุดที่จะได้ชมภาพวิถีชีวิตของชาวประมงได้อย่างน่าประทับใจ
ในยามรุ่งสางเราลงเรือเพื่อชมบรรยากาศของคลองปากประ เมื่อท้องฟ้าเริ่มสว่างจึงได้เห็นภาพประทับใจของยอขนาดใหญ่จำนวนมากที่ตั้งกระจายตัวกันอยู่ในท้องน้ำ ชาวประมงออกทำงานกันแต่เช้าตรู่ เราจึงได้เห็นภาพวิถีชีวิตการยกยออันเป็นเสน่ห์ของพื้นที่แห่งนี้โดยมีพระอาทิตย์ดวงกลมเป็นฉากหลัง นับเป็นอีกหนึ่งจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามและมากไปด้วยวิถีชีวิต
ไม่เพียงการยกยอเท่านั้น ชาวประมงส่วนหนึ่งยังนั่งเรือเล็กออกเหวี่ยงแหจับปลาจับกุ้ง เมื่อเรือของเราผ่านไปใกล้พร้อมทั้งส่งเสียงไต่ถามทักทาย คนบนเรือก็ส่งยิ้มและโชว์กุ้งตัวใหญ่ที่จับมาได้ให้ชมกัน
เมื่อพระอาทิตย์เริ่มขึ้นสูง คนขับเรือส่งสัญญาณกับเราว่าได้เวลาเดินทางต่อไปยังทะเลน้อยเพื่อชมดอกบัวกันแล้ว เรือค่อยๆ พาเราออกห่างจากบริเวณคลองปากประ ล่องลัดเลาะไปตามคลองนางเรียมที่เชื่อมต่อไปยังทะเลน้อย ทิวทัศน์รอบข้างแสนสดชื่นเพราะเต็มไปด้วยพืชน้ำต่างๆ อีกทั้งยังได้ชมนกนานาชนิด รู้จักชื่อบ้างไม่รู้จักบ้าง ต่างก็ออกหากินไปตามเรื่องของตัวเอง จากข้อมูลทำให้ทราบว่า ทะเลน้อยมีนกน้ำไม่ต่ำกว่า 150 ชนิด(ขณะที่บ้างข้อมูลระบุว่ามีมากถึง กว่า 287 ชนิด) มีปริมาณไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัว ทั้งนกประจำถิ่น นกอพยพ โดย นกที่หาชมได้ไม่ยากก็มี นกยาง นกกาน้ำ นกอีโก้ง นกเป็ดผี นกเป็ดแดง นกนางนวล นกนางแอ่น นกเป็ดคับแค นกกระสา อีกา เหยี่ยว เป็นต้น
นอกจากนกแล้ว เสน่ห์ของทะเลน้อยอีกอย่างหนึ่งก็คือ “ควายน้ำ” อันเป็นเอกลักษณ์ของที่นี ควายน้ำนั้นก็หน้าตาเหมือนควายธรรมด๊าธรรมดา แต่ไม่ธรรมดาตรงที่มีความสามารถสูงกว่าควายที่อื่น เพราะสามารถปรับตัวไปตามแหล่งอาหารของมัน คือเมื่อน้ำในทะเลสาบทะเลน้อยลดต่ำจนมีสันดอนพื้นดินโผล่ มีทุ่งหญ้าขึ้น เจ้าควายพวกนี้มันก็จะขึ้นมาและเล็มหญ้าบนบก แต่ในยามหน้าน้ำ ทะเลน้อยมีปริมาณน้ำสูงท่วมแหล่งหากินของควาย เจ้าควายพวกนี้มันก็จะปรับตัว เปลี่ยนมากินพืชน้ำอย่างสายบัว ใบบัว หรือสาหร่ายแทน โดยจะพากันว่ายน้ำชูคอลงไปหากินในน้ำ เรียกว่าเป็น “ควายน้ำ” อันแสนน่ารัก
เรือแล่นต่อมาอีกสักพัก เรามองเห็นสะพานสีขาวทอดตัวยาวเหยียดข้ามผ่านผืนน้ำ สอบถามมาได้ความว่านั้นคือ “ถนนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550” หรือที่เดิมเรียกว่า “ถนนสายบ้านไสกลิ้ง-บ้านหัวป่า” อันเป็นถนนที่สร้างตามแนวระหว่างทะเลน้อยกับทะเลหลวงของทะเลสาบสงขลา เชื่อมต่อระหว่างบ้านไสกลิ้ง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง กับบ้านหัวป่า อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา บางช่วงเป็นถนน บางช่วงเป็นทางยกระดับ บางช่วงเป็นสะพานทอดผ่านผืนน้ำ หากอยู่บนสะพานก็จะสามารถชมทิวทัศน์ของธรรมชาติรอบด้าน สามารถชมนกน้ำ ควายน้ำ และพืชพรรณต่างๆ ในทะเลน้อยและทะเลหลวงได้ ด้วยเสน่ห์นี้ สะพานเฉลิมพระเกียรติฯ จึงถูกเรียกว่า “สะพานแห่งความสุข” และเป็นอีกหนึ่งสถานที่ตามแนวคิด “เขาเล่าว่า...” ของ ททท. ที่บรรยายไว้ว่า
“…บนสะพานที่ถูกขนาบข้างไปด้วยทะเลสาบและเชื่อมระหว่างสองจังหวัด ที่นี่....เป็นสะพานที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความสุขเพราะสองข้างทางคือภาพอันงดงามของวิถีธรรมชาติอันสมบูรณ์และเรียบง่าย...วิวสวยๆของทะเลสาบสุดลูกหูลูกตา...วิถีชีวิตควายน้ำ...และนกนานาพันธุ์ แค่ได้ไปเห็นและได้สูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอดจะช่วยฟอกความรู้สึกเหนื่อยล้าให้แปรเปลี่ยนเป็นพลังแห่งความสุข”
วันนี้ยังไม่มีโอกาสได้ขึ้นไปชมวิวบนสะพาน เพราะเราต้องเดินทางไปชมดอกบัวกันต่อ เมื่อลอดใต้สะพานแห่งความสุขมาแล้ว อีกไม่นานก็มองเห็นสีชมพูอยู่ลิบๆ เบื้องหน้า นั่นคือดงดอกบัวสายสีชมพูหวานที่แย้มกลีบรับแสงอาทิตย์ยามเช้า มองดูสดใสไปทั่วบริเวณ นาทีนั้นทุกคนเก็บภาพประทับใจด้วยสายตา ก่อนจะเล็งกล้องหามุมถ่ายภาพของใครของมันจนจุใจ
ดอกบัวสายเป็นพันธุ์บัวที่มีขึ้นอยู่มากที่สุดในทะแห่งนี้ โดยในช่วงเช้าเหล่าบัวสายจะพาออกดอกสีแดงสดบานสะพรั่งเต็มท้องน้ำ เป็นสีสันที่อยู่คู่ทะเลน้อยมาช้านาน และนอกจากบัวสายแล้ว ในทะเลน้อยยังมีบัวหลวง บัวบา บัวเผื่อน รวมไปถึงพืชพรรณอื่นๆ อีกมาก แต่แนะนำว่าบัวเหล่านี้จะบานเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น พอเข้าช่วงสายแสงแดดร้อนแรงก็จะหุบแล้ว เพราะฉะนั้นใครอยากเห็นจึงต้องตื่นแต่เช้ากันหน่อย
ดังนั้น เมื่อแสงแดดเริ่มร้อนแผดเผามากขึ้นทุกที เราจึงขอลาทะเลน้อยกลับขึ้นบก เพื่อมาชมอีกหนึ่งผลงานสร้างสรรค์จากพืชพันธุ์ในทะเลน้อย นั่นก็คือผลิตภัณฑ์จาก “ต้นกระจูด” ที่ “กลุ่มหัตถกรรมกระจูดวรรณี” ใน ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน ได้นำเอากระจูดซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกับต้นกกมาสานเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งเสื่อ กระสอบ กระเป๋า ฯลฯ โดยเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านมายาวนาน จนยุคปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยน่าใช้มากยิ่งขึ้น จนผลิตภัณฑ์จากกระจูดนั้นกลายเป็นรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นไปอีก
มาทะเลน้อยคราวนี้เก็บความประทับใจกลับไปได้มากโข พร้อมด้วยภาพถ่ายสวยๆ และเรื่องเล่ามากมายกลับไปอีกเพียบ แถมยังปิดท้ายด้วยการช้อปปิ้งสินค้าชุมชนน่าใช้ราคาไม่แพง แล้วอย่างนี้ จะไม่ให้หลงรัก "ทะเลน้อย" ได้อย่างไร
*****************************************
สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ที่พัก ที่กินในจังหวัดพัทลุงได้ที่ ททท.สำนักงานหาดใหญ่ (ดูแลพื้นที่ สงขลา, พัทลุง) โทร.0 7423 1055, 0 7423 8518, 0 7424 3747 สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับกลุ่มหัตถกรรมกระจูดวรรณีได้ที่ โทร.08 7760 9897
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com