โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
“...ลมหนาวมาเมื่อใด ใจฉันคงยิ่งเหงา
คืนวันที่มันเหน็บหนาว ไม่รู้จะทนได้นานเท่าไร
ลมหนาวมาเมื่อใด กลัวฉันกลัวขาดใจ เพราะหัวใจ
ที่มันอ่อนไหว ไม่เคยได้รักจากใคร เสียที...”
เพลง : ลมหนาว : วง ที ฟอร์ ทรี
ยามเมื่อฤดูหนาวมาถึงใครและใครหลายๆคนอาจจะเหงาเหมือนดังเพลง “ลมหนาว” ของ“วง ที ฟอร์ ทรี” แต่สำหรับที่ภาคเหนือของไทยรับรองไม่เหงาแน่ เพราะเมื่อหน้าหนาวมาถึงคราวใด ภาคเหนือบ้านเราจะคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เดินทางขึ้นเหนือไปหาหนาว ชมความงามของขุนเขา ดอกไม้ สายหมอก และสัมผัสกับความหนาวเย็นให้พอได้พูดได้ว่า “เมืองไทยก็มีหน้าหนาวกับเขาเหมือนกัน”
1...
สำหรับอำเภอ“ฮอด” อำเภอชื่อเดียวสั้นๆของจังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่นของภาคเหนือ กับวิวทิวทัศน์อันสวยงามของถนนหมายเลข 108 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งถนนสายสวยที่มีผู้นิยมมาแอ่วสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆบนถนนสายนี้กันอย่างต่อเนื่อง
ถนนสาย 108 หรือทางหลวงหมายเลข 108 ที่ตัดเชื่อมระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับแม่ฮ่องสอน เป็นเส้นทางสาย “1,864 โค้ง” อันขึ้นชื่อสวยงาม ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางขับรถเที่ยวยอดนิยมของบ้านเรา
ถนนสาย 108 มีจุดเริ่มต้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ ตัดผ่าน อ.หางดง, สันป่าตอง, ดอยหล่อ และ อ.จอมทอง ก่อนจะมุ่งหน้าเข้าสู่ “อ.ฮอด” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ “โค้งแรก” ใน 1,864 โค้ง ก่อนจะตัดเข้าสู่เขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่อำเภอแม่สะเรียง และตียาวขึ้นเหนือผ่าน อ.แม่ลาน้อย อ.ขุนยวม เข้าสู่ตัวเมืองแม่ฮ่องสอน รวม 1,864 โค้ง ซึ่งหากใครขับรถจากเชียงใหม่ในเส้นทางสายนี้ไปจนถึงแม่ฮ่องสอน สามารถแวะไปขอรับ “ใบประกาศนียบัตรผู้พิชิต 1,864 โค้ง” ได้ที่หอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน
อย่างไรก็ดีในทริปนี้ผมขอคัดเจาะจงไปเฉพาะที่ อ.ฮอด ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่นเลื่องชื่ออยู่ 2 แห่ง คือ “ออบหลวง” และ “สวนสนบ่อแก้ว” โดยผมขอเริ่มกันที่ออบหลวงก่อน (เพราะหากไปจากเชียงใหม่จะถึงที่นี่ก่อน)
“ออบหลวง” เป็นภาษาล้านนา คำว่าออบหมายถึง บริเวณช่องผาแคบที่มีน้ำไหลผ่านอย่างเชี่ยวกราก และมักจะมีโพรงใหญ่อยู่ในข้างใต้น้ำด้วย ส่วนคำว่าหลวง หมายถึงใหญ่
ออบหลวง จึงเป็นลักษณะของช่องผาแคบขนาดใหญ่ที่มีแม่น้ำไหลผ่านด้วยความเชี่ยวกรากรุนแรง มีลักษณะตรงกับคำศัพท์ทางธรณีวิทยาว่า “กอร์จ”(Gorge) ที่หมายถึงหุบเขาขนาดเล็กแคบและลึก ประกอบขึ้นด้วยผาหินสูงชัน และเกิดอยู่ในพื้นที่ภูเขา อาจมีน้ำไหลผ่านตลอดปีหรือไหลเฉพาะช่วงฤดูกาล
ลักษณะของออบหลวงเกิดขึ้นจากการกัดเซาะของทางน้ำในทางลึก ซึ่งเป็นผลมาจากการค่อยๆยกตัวให้สูงขึ้นของชั้นหินที่ประกอบกันขึ้นเป็นเปลือกโลก โดยแม่น้ำที่ไหลผ่านช่องผาแคบแห่งนี้ ในอดีตเรียกกันว่า “แม่น้ำสลักหิน”ซึ่งชาวบ้านเรียกตามพลังของสายน้ำที่ไหลอย่างรุนแรงจนสามารถกัดเซาะภูเขาลูกหนึ่งให้แยกจากกันเกิดเป็นหน้าผาแคบๆที่เรียกกันว่า“ออบหลวง” ขณะที่แม่น้ำสลักหินปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “แม่น้ำแม่แจ่ม”
ออบหลวงไม่เพียงมีลักษณะทางธรณีวิทยาเฉพาะตัวอันโดดเด่นของออบที่มีขนาดใหญ่ไม่กี่แห่งในเมืองไทยเท่านั้น แต่ออบหลวงยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะแหล่งโบราณคดีที่วันนี้ยังมีร่องรอยน่าสนใจให้ศึกษาและเที่ยวชมกัน โดยบริเวณออบหลวงมีการสำรวจพบร่องรอยความเป็นอยู่ของมนุษย์โบราณตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีการพบภาพเขียนสีโบราณ เครื่องมือสำริดของมนุษย์ยุคสำริด เป็นต้น
ปัจจุบันออบหลวงตั้งอยู่พื้นที่และอยู่ในความดูแลของ“อุทยานแห่งชาติออบหลวง” ซึ่งประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534 ครอบคลุมพื้นที่ อ.จอมทอง อ.ฮอด และ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
ทั้งนี้มีข้อมูลจากอุทยานฯออบหลวงระบุว่า...คนที่เคยเห็นออบหลวงสมัยก่อนมีความเห็นว่า ออบมีขนาดแคบกว่านี้ มองเห็นรอยหินแยกออกจากกันเป็นเหลี่ยมมุมตรงกันทั้ง 2 ด้านชัดเจนกว่า ทุกวันนี้ตรงออบกว้างขึ้น อาจจะเพราะแผ่นดินไหวหลายครั้ง ทำให้มันเขยื้อนออกจากกันมากกว่าเดิม...
2…
“เห็นสองผาผินหันหน้าเข้าหากัน
อัศจรรย์เหมือนจริงใช่อิงสร้าง
ประดุจชายหมายชิดจุมพิตนาง
อยู่ท่ามกลางสายธารมานานปี”
(ประพันธ์โดย : ไชโย ยิ่งเภตรา)
นี่คือข้อความที่เขียนติดไว้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานฯออบหลวง ซึ่งผมเข้าไปดูข้อมูลเบื้องต้น ก่อนจะออกเดินเที่ยวไปยังจุดไฮไลท์และเที่ยวชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติของที่นี่
โดยจากศูนย์บริการฯมุ่งหน้าสู่ออบหลวงซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติดินแดนมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์นั้น เราเดินผ่านสภาพพื้นที่อันร่มรื่นที่มีการจัดตกแต่งภูมิทัศน์อย่างเป็นระเบียบสวยงามของทางอุทยานฯ ผ่านเส้นทางที่ริมผามีสายน้ำแม่แจ่มไหลเลาะเลียบอย่างเชี่ยวกราก พร้อมกับต้นไผ่ที่ขึ้นปกคลุมร่มรื่น บางช่วงบางตอนต้นไผ่ 2 ข้างทางโน้มกิ่งลู่เข้าหากันให้บรรยากาศดุจดังอุโมงค์ต้นไผ่อันสวยงามไม่น้อย
จากนั้นเส้นทางจะนำสู่จุดไฮไลท์คือ “ออบหลวง” ที่มีลักษณะเป็นช่องแคบหน้าผาหินขนาดใหญ่ มีกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากของส่วนที่แคบที่สุดของลำน้ำแม่แจ่มไหลโจนทะยานผ่านช่องเขา โดยลำน้ำกว้างแค่ประมาณ 2 เมตร ช่องแคบหน้าผาหินยาวประมาณ 300 เมตร และหุบเหวลึกลงไปจากระดับถนนประมาณ 50 เมตร ซึ่งมีบางมุมของหน้าผาแห่งนี้หลายๆคนมองแล้วจินตนาการเป็นรูปหน้าของคน 2 คนกำลังจะจูบกัน อันเป็นที่มาของคำกลอนในเบื้องต้น และเป็นที่มาของฉายา “ออบหลวง ภูเขาหินจูบกัน”
นอกจากนี้บริเวณออบหลวงจะมีระเบียงชมวิวให้เราได้ยืนชม ยืนถ่ายภาพช่องแคบออบหลวงที่มองเห็นไม่ใกล้ไม่ไกลในเบื้องหน้าได้อย่างชัดเจน
ด้านใครที่ไม่กลัวความสูงและไม่กลัวความเสียว สามารถเดินขึ้นไปยังจุดสูงสุดของช่องแคบเพื่อสัมผัสกับออบหลวงได้อย่างใกล้ชิด บนนั้นจะเป็นสะพานสายสั้นๆที่สร้างเชื่อมระหว่างช่องแคบให้คนสามารถเดินข้ามไป ข้ามมาได้ แต่ว่าห้ามไปยืนบนสะพานกันเยอะ เพราะสะพานแห่งนี้รับน้ำหนักได้แค่ 500 กิโลกรัมเท่านั้น
สำหรับจุดบริเวณสะพาน สามารถมองเห็นช่องแคบออบหลวงได้ทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งแต่ละฝั่งต่างก็มีความสูงและมีความเสียวไม่แพ้กัน นอกจากนี้ยังท่องเที่ยวหลายๆคนยังนิยมไปยืนโพสต์ท่าบนสะพาน และให้เพื่อนๆถ่ายรูปจากระเบียงด้านล่างขึ้นไป นับเป็นอีกหนึ่งมุมยอดฮิตของออบหลวงที่นักท่องเที่ยวนิยมกันเป็นอย่างมาก
ครั้นเมื่อเดินข้ามสะพานไปจะเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ “ดินแดนมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์” ที่มีระยะทางเป็นวงรอบประมาณ 1.2 กิโลเมตร มีจุดน่าสนใจ สถานีสื่อความหมายให้ชมกันถึง 13 จุดด้วยกัน อาทิ หลุมฝังศพ ภาพเขียนโบราณผาช้าง จุดชมวิวดอยผาช้าง จุดชมวิวดอยผาเต่า จุดชมวิวออบหลวง และบ่อพักซุง เป็นต้น
เส้นทางสายนี้ช่วงแรกจะเดินผ่านป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณอันร่มรื่นแต่ว่ามีความสูงชันพอตัว จากนั้นเส้นทางจะพาเดินผ่านแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการขุดค้นพบในสองยุคสองสมัยด้วยกัน คือ หลุมฝังศพมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในช่วงมนุษย์ยุคสำริด อายุประมาณ 3,000-3,500 ปี
ขณะที่เพิงผาช้างมีการค้นพบภาพเขียนสีโบราณ เป็นรูปช้าง รูปคน และรูปสัญลักษณ์อื่นๆ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของเส้นทางสายนี้ โดยที่เพิงผาช้างนั้นมีหลักฐานว่าที่นี่มีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์โบราณในสังคมยุคนายพรานที่มีอายุถึง 20,000 ปีที่ผ่านมา
อีกทั้งยังมีร่องรอยของบ่อพักซุงจากการทำสัมปทานป่าไม้ในยุคสัมปทานป่าไม้ทางภาคเหนือเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว ซึ่งสมัยนั้นการลำเลียงไม้สักจะใช้วิธีปล่อยท่อนซุงให้ไหลล่องลงมาตามล้ำน้ำแม่แจ่ม เมื่อซุงลอยมาถึงบริเวณออบหลวง ที่นี่นอกจากจะเป็นห้วงน้ำที่ลึกและไหลเชี่ยวแล้ว ยังเป็นวังน้ำวน จึงถูกเลือกให้เป็นปางพักไม้ของบริษัทไม้ บริติชบอร์เนียวและบอมเบย์เบอร์มา ซึ่งนี่ถือเป็นอีกหนึ่งรอยจารึกอันสำคัญของดินแดนออบหลวงแห่งนี้
นอกจากนี้ในเส้นทางสายนี้ยังมีจุดชมวิว อย่างเช่น จุดชมวิวดอยผาเต่า จุดชมวิวออบหลวง และจุดชมวิวดอยผาช้าง ที่เป็นอีกหนึ่งจุดไฮไลท์สามารถมองลงไปเห็นผืนป่าไม้และขุนเขาสลับซับซ้อนอันสวยงามกว้างไกล
และนี่ก็เป็นมนต์เสน่ห์แห่งออบหลวงกับช่องแคบอันสูงสุดเสียวที่หากใครไม่กลัวข้ามสูง ไม่น่าพลาดการขึ้นไปยืนชมวิวบนสะพานข้ามช่องแคบด้วยประการทั้งปวง
3…
จากออบหลวงหากเดินทางต่อไปบนถนนสาย 108 จะพบกับอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญนั่นก็คือ “สวนสนบ่อแก้ว” หนึ่งในสวนสนแสนสวยของบ้านเรา ที่มีคนนิยมเดินทางท่องเที่ยว ถ่ายรูป เซลฟี่ และเชคอินที่นี่กันไม่ได้ขาด
“สวนสนบ่อแก้ว” หรือชื่อเต็มคือ "สถานีวนวัฒนวิจัยบ่อแก้ว" ตั้งอยู่ริมเส้นทางสายฮอด-แม่สะเรียง บริเวณกิโลเมตรที่ 36-37
สวนสนบ่อแก้ว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจวัตถุดิบเพื่อทำเยื่อกระดาษ เป็นแปลงทดลองปลูกคาลิบตัส และพืชจำพวกสน บนเนื้อที่กว่า 2 พันไร่ และด้วยการปลูกต้นสนอย่างเป็นระเบียบสวยงามเมื่อพวกมันโตขึ้นจึงกลายเป็นสวนสนอันสวยงามน่ายล
ภายในสวนสนบ่อแก้วมีถนนทอดผ่านนำสายตาเข้าไปในดงสนสูงใหญ่ นับเป็นจุดถ่ายภาพของนักท่องเที่ยว ซึ่งในช่วงเช้าและเย็น แสงแดดอ่อนๆ จะส่องลำแสงละมุนสาดกระทบกับต้นสน ทิวสนเกิดเป็นภาพสวนสนสุดโรแมนติก หรือในช่วงหน้าหนาวหรือหน้าฝนในวันที่มีสายหมอกขาวลอยปกคลุมที่นี่ก็ดูโรแมนติกสวยงามแบบเหงาๆไปอีกแบบ
และด้วยความเป็นสวนสนแสนสวยอันรุ่มรวยความโรแมนติก ประทับใจใครหลายๆคนผู้มาเยือน จนได้รับการตั้งฉายาให้เป็น “เกาะนามิเมืองไทย” เพราะมันดูคล้ายกับฉากโรแมนติกแห่งเกาะนามิ ในละครเกาหลี
อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ก็มีคนเห็นต่างว่า สวนสนบ่อแก้วนั้นก็มีมนต์เสน่ห์ความงามเฉพาะตัวในแบบสวนสนบ่อแก้วอยู่แล้ว จึงไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับเกาะนามิที่เกาหลีแต่อย่างใด ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับเหตุผลอย่างหลังนี้ด้วยประการทั้งปวง
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์อันสวยงามของ 2 แหล่งท่องเที่ยวอันโดดเด่นแห่ง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในดินแดนที่พอถึงหน้าหนาวคราวใด ผมเป็นต้องคิดฮอด “ฮอด” ทุกทีไป
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com
“...ลมหนาวมาเมื่อใด ใจฉันคงยิ่งเหงา
คืนวันที่มันเหน็บหนาว ไม่รู้จะทนได้นานเท่าไร
ลมหนาวมาเมื่อใด กลัวฉันกลัวขาดใจ เพราะหัวใจ
ที่มันอ่อนไหว ไม่เคยได้รักจากใคร เสียที...”
เพลง : ลมหนาว : วง ที ฟอร์ ทรี
ยามเมื่อฤดูหนาวมาถึงใครและใครหลายๆคนอาจจะเหงาเหมือนดังเพลง “ลมหนาว” ของ“วง ที ฟอร์ ทรี” แต่สำหรับที่ภาคเหนือของไทยรับรองไม่เหงาแน่ เพราะเมื่อหน้าหนาวมาถึงคราวใด ภาคเหนือบ้านเราจะคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เดินทางขึ้นเหนือไปหาหนาว ชมความงามของขุนเขา ดอกไม้ สายหมอก และสัมผัสกับความหนาวเย็นให้พอได้พูดได้ว่า “เมืองไทยก็มีหน้าหนาวกับเขาเหมือนกัน”
1...
สำหรับอำเภอ“ฮอด” อำเภอชื่อเดียวสั้นๆของจังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่นของภาคเหนือ กับวิวทิวทัศน์อันสวยงามของถนนหมายเลข 108 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งถนนสายสวยที่มีผู้นิยมมาแอ่วสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆบนถนนสายนี้กันอย่างต่อเนื่อง
ถนนสาย 108 หรือทางหลวงหมายเลข 108 ที่ตัดเชื่อมระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับแม่ฮ่องสอน เป็นเส้นทางสาย “1,864 โค้ง” อันขึ้นชื่อสวยงาม ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางขับรถเที่ยวยอดนิยมของบ้านเรา
ถนนสาย 108 มีจุดเริ่มต้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ ตัดผ่าน อ.หางดง, สันป่าตอง, ดอยหล่อ และ อ.จอมทอง ก่อนจะมุ่งหน้าเข้าสู่ “อ.ฮอด” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ “โค้งแรก” ใน 1,864 โค้ง ก่อนจะตัดเข้าสู่เขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่อำเภอแม่สะเรียง และตียาวขึ้นเหนือผ่าน อ.แม่ลาน้อย อ.ขุนยวม เข้าสู่ตัวเมืองแม่ฮ่องสอน รวม 1,864 โค้ง ซึ่งหากใครขับรถจากเชียงใหม่ในเส้นทางสายนี้ไปจนถึงแม่ฮ่องสอน สามารถแวะไปขอรับ “ใบประกาศนียบัตรผู้พิชิต 1,864 โค้ง” ได้ที่หอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน
อย่างไรก็ดีในทริปนี้ผมขอคัดเจาะจงไปเฉพาะที่ อ.ฮอด ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวอันโดดเด่นเลื่องชื่ออยู่ 2 แห่ง คือ “ออบหลวง” และ “สวนสนบ่อแก้ว” โดยผมขอเริ่มกันที่ออบหลวงก่อน (เพราะหากไปจากเชียงใหม่จะถึงที่นี่ก่อน)
“ออบหลวง” เป็นภาษาล้านนา คำว่าออบหมายถึง บริเวณช่องผาแคบที่มีน้ำไหลผ่านอย่างเชี่ยวกราก และมักจะมีโพรงใหญ่อยู่ในข้างใต้น้ำด้วย ส่วนคำว่าหลวง หมายถึงใหญ่
ออบหลวง จึงเป็นลักษณะของช่องผาแคบขนาดใหญ่ที่มีแม่น้ำไหลผ่านด้วยความเชี่ยวกรากรุนแรง มีลักษณะตรงกับคำศัพท์ทางธรณีวิทยาว่า “กอร์จ”(Gorge) ที่หมายถึงหุบเขาขนาดเล็กแคบและลึก ประกอบขึ้นด้วยผาหินสูงชัน และเกิดอยู่ในพื้นที่ภูเขา อาจมีน้ำไหลผ่านตลอดปีหรือไหลเฉพาะช่วงฤดูกาล
ลักษณะของออบหลวงเกิดขึ้นจากการกัดเซาะของทางน้ำในทางลึก ซึ่งเป็นผลมาจากการค่อยๆยกตัวให้สูงขึ้นของชั้นหินที่ประกอบกันขึ้นเป็นเปลือกโลก โดยแม่น้ำที่ไหลผ่านช่องผาแคบแห่งนี้ ในอดีตเรียกกันว่า “แม่น้ำสลักหิน”ซึ่งชาวบ้านเรียกตามพลังของสายน้ำที่ไหลอย่างรุนแรงจนสามารถกัดเซาะภูเขาลูกหนึ่งให้แยกจากกันเกิดเป็นหน้าผาแคบๆที่เรียกกันว่า“ออบหลวง” ขณะที่แม่น้ำสลักหินปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “แม่น้ำแม่แจ่ม”
ออบหลวงไม่เพียงมีลักษณะทางธรณีวิทยาเฉพาะตัวอันโดดเด่นของออบที่มีขนาดใหญ่ไม่กี่แห่งในเมืองไทยเท่านั้น แต่ออบหลวงยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะแหล่งโบราณคดีที่วันนี้ยังมีร่องรอยน่าสนใจให้ศึกษาและเที่ยวชมกัน โดยบริเวณออบหลวงมีการสำรวจพบร่องรอยความเป็นอยู่ของมนุษย์โบราณตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีการพบภาพเขียนสีโบราณ เครื่องมือสำริดของมนุษย์ยุคสำริด เป็นต้น
ปัจจุบันออบหลวงตั้งอยู่พื้นที่และอยู่ในความดูแลของ“อุทยานแห่งชาติออบหลวง” ซึ่งประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534 ครอบคลุมพื้นที่ อ.จอมทอง อ.ฮอด และ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
ทั้งนี้มีข้อมูลจากอุทยานฯออบหลวงระบุว่า...คนที่เคยเห็นออบหลวงสมัยก่อนมีความเห็นว่า ออบมีขนาดแคบกว่านี้ มองเห็นรอยหินแยกออกจากกันเป็นเหลี่ยมมุมตรงกันทั้ง 2 ด้านชัดเจนกว่า ทุกวันนี้ตรงออบกว้างขึ้น อาจจะเพราะแผ่นดินไหวหลายครั้ง ทำให้มันเขยื้อนออกจากกันมากกว่าเดิม...
2…
“เห็นสองผาผินหันหน้าเข้าหากัน
อัศจรรย์เหมือนจริงใช่อิงสร้าง
ประดุจชายหมายชิดจุมพิตนาง
อยู่ท่ามกลางสายธารมานานปี”
(ประพันธ์โดย : ไชโย ยิ่งเภตรา)
นี่คือข้อความที่เขียนติดไว้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานฯออบหลวง ซึ่งผมเข้าไปดูข้อมูลเบื้องต้น ก่อนจะออกเดินเที่ยวไปยังจุดไฮไลท์และเที่ยวชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติของที่นี่
โดยจากศูนย์บริการฯมุ่งหน้าสู่ออบหลวงซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติดินแดนมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์นั้น เราเดินผ่านสภาพพื้นที่อันร่มรื่นที่มีการจัดตกแต่งภูมิทัศน์อย่างเป็นระเบียบสวยงามของทางอุทยานฯ ผ่านเส้นทางที่ริมผามีสายน้ำแม่แจ่มไหลเลาะเลียบอย่างเชี่ยวกราก พร้อมกับต้นไผ่ที่ขึ้นปกคลุมร่มรื่น บางช่วงบางตอนต้นไผ่ 2 ข้างทางโน้มกิ่งลู่เข้าหากันให้บรรยากาศดุจดังอุโมงค์ต้นไผ่อันสวยงามไม่น้อย
จากนั้นเส้นทางจะนำสู่จุดไฮไลท์คือ “ออบหลวง” ที่มีลักษณะเป็นช่องแคบหน้าผาหินขนาดใหญ่ มีกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากของส่วนที่แคบที่สุดของลำน้ำแม่แจ่มไหลโจนทะยานผ่านช่องเขา โดยลำน้ำกว้างแค่ประมาณ 2 เมตร ช่องแคบหน้าผาหินยาวประมาณ 300 เมตร และหุบเหวลึกลงไปจากระดับถนนประมาณ 50 เมตร ซึ่งมีบางมุมของหน้าผาแห่งนี้หลายๆคนมองแล้วจินตนาการเป็นรูปหน้าของคน 2 คนกำลังจะจูบกัน อันเป็นที่มาของคำกลอนในเบื้องต้น และเป็นที่มาของฉายา “ออบหลวง ภูเขาหินจูบกัน”
นอกจากนี้บริเวณออบหลวงจะมีระเบียงชมวิวให้เราได้ยืนชม ยืนถ่ายภาพช่องแคบออบหลวงที่มองเห็นไม่ใกล้ไม่ไกลในเบื้องหน้าได้อย่างชัดเจน
ด้านใครที่ไม่กลัวความสูงและไม่กลัวความเสียว สามารถเดินขึ้นไปยังจุดสูงสุดของช่องแคบเพื่อสัมผัสกับออบหลวงได้อย่างใกล้ชิด บนนั้นจะเป็นสะพานสายสั้นๆที่สร้างเชื่อมระหว่างช่องแคบให้คนสามารถเดินข้ามไป ข้ามมาได้ แต่ว่าห้ามไปยืนบนสะพานกันเยอะ เพราะสะพานแห่งนี้รับน้ำหนักได้แค่ 500 กิโลกรัมเท่านั้น
สำหรับจุดบริเวณสะพาน สามารถมองเห็นช่องแคบออบหลวงได้ทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งแต่ละฝั่งต่างก็มีความสูงและมีความเสียวไม่แพ้กัน นอกจากนี้ยังท่องเที่ยวหลายๆคนยังนิยมไปยืนโพสต์ท่าบนสะพาน และให้เพื่อนๆถ่ายรูปจากระเบียงด้านล่างขึ้นไป นับเป็นอีกหนึ่งมุมยอดฮิตของออบหลวงที่นักท่องเที่ยวนิยมกันเป็นอย่างมาก
ครั้นเมื่อเดินข้ามสะพานไปจะเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ “ดินแดนมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์” ที่มีระยะทางเป็นวงรอบประมาณ 1.2 กิโลเมตร มีจุดน่าสนใจ สถานีสื่อความหมายให้ชมกันถึง 13 จุดด้วยกัน อาทิ หลุมฝังศพ ภาพเขียนโบราณผาช้าง จุดชมวิวดอยผาช้าง จุดชมวิวดอยผาเต่า จุดชมวิวออบหลวง และบ่อพักซุง เป็นต้น
เส้นทางสายนี้ช่วงแรกจะเดินผ่านป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณอันร่มรื่นแต่ว่ามีความสูงชันพอตัว จากนั้นเส้นทางจะพาเดินผ่านแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการขุดค้นพบในสองยุคสองสมัยด้วยกัน คือ หลุมฝังศพมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในช่วงมนุษย์ยุคสำริด อายุประมาณ 3,000-3,500 ปี
ขณะที่เพิงผาช้างมีการค้นพบภาพเขียนสีโบราณ เป็นรูปช้าง รูปคน และรูปสัญลักษณ์อื่นๆ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของเส้นทางสายนี้ โดยที่เพิงผาช้างนั้นมีหลักฐานว่าที่นี่มีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์โบราณในสังคมยุคนายพรานที่มีอายุถึง 20,000 ปีที่ผ่านมา
อีกทั้งยังมีร่องรอยของบ่อพักซุงจากการทำสัมปทานป่าไม้ในยุคสัมปทานป่าไม้ทางภาคเหนือเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว ซึ่งสมัยนั้นการลำเลียงไม้สักจะใช้วิธีปล่อยท่อนซุงให้ไหลล่องลงมาตามล้ำน้ำแม่แจ่ม เมื่อซุงลอยมาถึงบริเวณออบหลวง ที่นี่นอกจากจะเป็นห้วงน้ำที่ลึกและไหลเชี่ยวแล้ว ยังเป็นวังน้ำวน จึงถูกเลือกให้เป็นปางพักไม้ของบริษัทไม้ บริติชบอร์เนียวและบอมเบย์เบอร์มา ซึ่งนี่ถือเป็นอีกหนึ่งรอยจารึกอันสำคัญของดินแดนออบหลวงแห่งนี้
นอกจากนี้ในเส้นทางสายนี้ยังมีจุดชมวิว อย่างเช่น จุดชมวิวดอยผาเต่า จุดชมวิวออบหลวง และจุดชมวิวดอยผาช้าง ที่เป็นอีกหนึ่งจุดไฮไลท์สามารถมองลงไปเห็นผืนป่าไม้และขุนเขาสลับซับซ้อนอันสวยงามกว้างไกล
และนี่ก็เป็นมนต์เสน่ห์แห่งออบหลวงกับช่องแคบอันสูงสุดเสียวที่หากใครไม่กลัวข้ามสูง ไม่น่าพลาดการขึ้นไปยืนชมวิวบนสะพานข้ามช่องแคบด้วยประการทั้งปวง
3…
จากออบหลวงหากเดินทางต่อไปบนถนนสาย 108 จะพบกับอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญนั่นก็คือ “สวนสนบ่อแก้ว” หนึ่งในสวนสนแสนสวยของบ้านเรา ที่มีคนนิยมเดินทางท่องเที่ยว ถ่ายรูป เซลฟี่ และเชคอินที่นี่กันไม่ได้ขาด
“สวนสนบ่อแก้ว” หรือชื่อเต็มคือ "สถานีวนวัฒนวิจัยบ่อแก้ว" ตั้งอยู่ริมเส้นทางสายฮอด-แม่สะเรียง บริเวณกิโลเมตรที่ 36-37
สวนสนบ่อแก้ว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจวัตถุดิบเพื่อทำเยื่อกระดาษ เป็นแปลงทดลองปลูกคาลิบตัส และพืชจำพวกสน บนเนื้อที่กว่า 2 พันไร่ และด้วยการปลูกต้นสนอย่างเป็นระเบียบสวยงามเมื่อพวกมันโตขึ้นจึงกลายเป็นสวนสนอันสวยงามน่ายล
ภายในสวนสนบ่อแก้วมีถนนทอดผ่านนำสายตาเข้าไปในดงสนสูงใหญ่ นับเป็นจุดถ่ายภาพของนักท่องเที่ยว ซึ่งในช่วงเช้าและเย็น แสงแดดอ่อนๆ จะส่องลำแสงละมุนสาดกระทบกับต้นสน ทิวสนเกิดเป็นภาพสวนสนสุดโรแมนติก หรือในช่วงหน้าหนาวหรือหน้าฝนในวันที่มีสายหมอกขาวลอยปกคลุมที่นี่ก็ดูโรแมนติกสวยงามแบบเหงาๆไปอีกแบบ
และด้วยความเป็นสวนสนแสนสวยอันรุ่มรวยความโรแมนติก ประทับใจใครหลายๆคนผู้มาเยือน จนได้รับการตั้งฉายาให้เป็น “เกาะนามิเมืองไทย” เพราะมันดูคล้ายกับฉากโรแมนติกแห่งเกาะนามิ ในละครเกาหลี
อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ก็มีคนเห็นต่างว่า สวนสนบ่อแก้วนั้นก็มีมนต์เสน่ห์ความงามเฉพาะตัวในแบบสวนสนบ่อแก้วอยู่แล้ว จึงไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับเกาะนามิที่เกาหลีแต่อย่างใด ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับเหตุผลอย่างหลังนี้ด้วยประการทั้งปวง
และนี่ก็คือมนต์เสน่ห์อันสวยงามของ 2 แหล่งท่องเที่ยวอันโดดเด่นแห่ง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในดินแดนที่พอถึงหน้าหนาวคราวใด ผมเป็นต้องคิดฮอด “ฮอด” ทุกทีไป
*****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com