xs
xsm
sm
md
lg

ยลความงาม เครื่องทรงพระมหาพิชัยยุทธ งามสง่า ถูกต้องตามตำราพิชัยยุทธฯ ที่ “พิพิธภัณฑ์ ร.6”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พระบรมรูปจำลองรัชกาลที่ 6 ทรงพระมหาพิชัยยุทธ
โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

บางเวลาฉันก็นึกถึงเมื่อครั้งอดีต ที่ฉันได้มีโอกาสเรียนวิชาลูกเสือ และได้ร้องเพลง “วชิราวุธรำลึก” ที่มีเนื้อเพลงท่อนสำคัญคือ “วชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าประชา ก่อกำเนิดลูกเสือมาข้าเลื่อมใสพวกเราลูกเสือเชื้อชาติไทย เทิดเกียรติพระองค์ไว้ด้วยภักดี” ซึ่งวิชาลูกเสือนี้ก็ทำให้วัยเด็กของฉันได้เรียนรู้ความอดทน ความมีวินัย และความสามัคคี อีกทั้งยังแฝงความสนุกสนาน ไว้ เมื่อครั้งที่ฉันได้มีโอกาสไปผจญภัยในยามเข้าค่ายลูกเสือ ซึ่งยังคงตราตรึงในใจฉันมาจนถึงปัจจุบัน
ด้านหน้าทางเข้า “พิพิธภัณฑ์ ร.6” อาคารราชวัลลภ
และในสัปดาห์นี้ ฉันก็โชคดีที่มีโอกาสมาร่วมกิจกรรม “ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น” ตอน 3 กรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 4 -6 ที่จัดขึ้นโดย “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ไปเที่ยวที่ “พิพิธภัณฑ์ ร.6” เพื่อไปศึกษาพระราชประวัติของ “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ผู้ทรงพระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย และยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่งที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติและปวงชนชาวไทยไว้อย่างคุณาปการมากล้น

พิพิธภัณฑ์ ร.6 นั้น ตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 และ 3 ภายในอาคารราชวัลลภ ภายในหน่วยบัญชาการกำลังสำรองหรือกรมการรักษาดินแดนเดิม ใกล้ๆ กับบริเวณด้านหลังพระบรมมหาราชาวัง และบริเวณด้านหน้าวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)
บรรยากาศภายใน “พิพิธภัณฑ์ ร.6”
และเมื่อฉันมาถึงพิพิธภัณฑ์ ร.6 สิ่งแรกที่ได้เห็นก็คือ โถงสักการะ ที่ประดิษฐาน พระบรมรูปจำลองรัชกาลที่ 6 ทรงเครื่องทรงพระมหาพิชัยยุทธ ที่ถูกต้องตามตำราพิชัยยุทธนาการโบราณราชประเพณี ซึ่งเป็นชุดทรงที่พระองค์ทรงในวันประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี ในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 1
“หนังสือพระราชนิพนธ์”
ฉันขอบอกว่าช่างโชคดีจริงๆ ที่ได้มีโอกาสมาสักการะพระบรมรูปจำลองของพระองค์ท่าน และได้ชื่นชมความสวยงามของเครื่องทรงพระมหาพิชัยยุทธ ที่ถูกต้องตามตำราพิชัยยุทธนาการโบราณราชประเพณี ที่ประกอบด้วย พระภูษาไหม โจงกระเบนแบบไทยสีแดงเลือดนก และทรงสวมฉลองพระองค์แพรแดงไว้ชั้นนอกเป็นแบบฝ่าอกครึ่ง กลัดกระดุมโลหะ 5 เม็ด คอตั้งมีจีบรอบไหล่เล็กน้อย แขนยาวพับปลายข้อมือ ชายฉลองพระองค์ยาวคลุมลงมาเหนือพระชงฆ์เล็กน้อย ทรงคาดพระภูมิษาสมรดพื้นแดงคลุมด้วยสมรดตาดไหมทองแล่งผูกห้อยชายไว้ข้างซ้าย ถุงพระบาทและฉลองพระบาทสีแดง พระสังวาลนพรัตน์ราชวราภรณ์ ประดับด้วยนพรัตน์มีเพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เพทาย ไพฑูรย์ ช่างเป็นบุญตาจริงๆ ที่ฉันได้มาชมกับตาตัวเอง
ส่วนจัดแสดงการจำลองซ้อมรบเสือป่า ที่ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2462
หลังจากได้สักการะพระบรมรูปจำลองของพระองค์ท่าน และได้ชื่นชมความสวยงามของเครื่องทรงพระมหาพิชัยยุทธ ฉันก็เดินชมภายในพิพิธภัณฑ์ ที่ได้ถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ ได้แก่ “ส่วนพระราชประวัติ รัชกาลที่ 6” ที่ฉันได้รู้ว่า พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 เป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทรงเสวยราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พ.ศ. 2453 - 2468
“ส่วนการจัดแสดงพระปรีชาชาญด้านการทหาร”
และใน พ.ศ. 2524 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละคร
ชุดเครื่องแบบเสือป่าชาย
และส่วนต่อมาคือ “ส่วนจัดแสดงพระราชกรณียกิจ” ที่ได้จัดแสดงให้ได้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในด้านต่างๆ ของพระองค์ ซึ่งฉันก็ได้รู้อีกว่า พระองค์ทรงเป็นผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 โดยทรงตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน และที่ส่วนนี้ก็ได้มีการจำลองภาพการซ้อมรบเสือป่า ที่ ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2462 ให้ได้ชม
ชุดเครื่องแบบทหารที่เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1
ส่วนถัดมาคือ “ส่วนการจัดแสดงพระปรีชาชาญด้านการทหาร” โดยนำเสนอเรื่องราวของการที่พระองค์ตัดสินพระทัยเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในประวัติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับนานาประเทศในยุโรป ซึ่งในส่วนนี้ก็ยังมีการนำชุดเครื่องแบบทหารที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 มาจัดแสดงให้ชมกันอีกด้วย

และฉันก็เดินมาชมส่วนสุดท้ายคือ “ส่วนจัดแสดงประวัติความเป็นมาของหน่วยบัญชาการกำลังสำรอง” ที่จัดแสดงประวัติความเป็นมามีรากฐานมาของกิจการเสือป่า จนพัฒนาจนเป็นหน่วยบัญชาการกำลังสำรองในปัจจุบัน
“ห้องรามจิตติ” จัดแสดงเครื่องใช้ส่วนประองค์รวมทั้งฉลองประองค์
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ที่ชั้นต่อไปของพิพิธภัณฑ์เป็นที่ตั้งของ “ห้องรามจิตติ” ที่จัดแสดงเครื่องใช้ส่วนประองค์รวมทั้งฉลองประองค์ไว้อย่างมากมาย อาทิ ฉลองพระองค์, ฉลองพระบาท, พระมาลา, เครื่องหมายต่างๆ ซึ่งหน่วยบัญชาการกำลังสำรองได้รับมอบจากสำนักพระราชวัง นำมาจัดแสดงให้ได้ชมกันอย่างใกล้ชิด แต่ละชิ้นนั้นยังคงงดงามประณีต แม้วันเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานความงามก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
ฉลองพระบาทงดงาม
และที่ห้องรามจิตติ บริเวณด้านหลังส่วนจัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ ก็เป็นการจัดแสดงการจำลองห้องทรงงานของรัชกาลที่ 6 พร้อมทั้งจัดแสดงลายพระหัตถ์ของพระองค์ทั้งในภาษาไทย และภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ยังเป็นห้องที่ประดิษฐานพระบรมรูปจำลองรัชกาลที่ 6 ทรงชุดเสือป่าราบหลวง ให้ชมพระบารมีของพระองค์ท่าน
บางส่วนของ ฉลองพระองค์รัชกาลที่ 6 จัดแสดง ณ “ห้องรามจิตติ”
อีกทั้งในจุดนี้ก็ยังมีระเบียงด้านนอก ที่สามารถชมทัศนียภาพได้อย่างกว้างไกล ซึ่งสามารถเห็นบริเวณด้านหลังพระบรมมหาราชวังได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมุมมองสวยงามมากๆ และไม่สามารถชมได้บ่อยนัก
ส่วนจำลองห้องทรงงานของรัชกาลที่ 6
หลังจากที่ฉันได้ชมทุกๆ ส่วนภายในพิพิธภัณฑ์ ร.6 แล้ว ฉันก็นึกในใจว่า พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่งที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติและปวงชนชาวไทยไว้อย่างคุณาปการมากล้น จริงๆ เพียงแค่ฉันได้มีโอกาสมาได้ศึกษาประวัติของพระองค์ท่าน และได้เห็นเครื่องใช้ส่วนประองค์รวมทั้งฉลองประองค์ ก็นับเป็นบุญของฉันจริงๆ การมาเที่ยวของฉันในครั้งนี้ ได้กลายเป็นความทรงจำที่ดีที่จะตราตรึงใจฉันไปอีกนานแสนนาน
ทัศนียภาพบริเวณด้านหลัง “พระบรมมหาราชวัง” งดงามยิ่งนัก
*****

พิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 6” ภายในอาคารราชวัลลภ ภายในหน่วยบัญชาการกำลังสำรองหรือกรมการรักษาดินแดนเดิม เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.00 น. เว้นวันหยุดราชการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
การเดินทาง : รถโดยสารประจำทางสาย 1, 3, 6, 9, 12, 25, 32, 44 หรือจะใช้บริการเรือด่วนเจ้าพระยาลงท่าเตียน แล้วเดินผ่านวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) มายังถนนสนามไชย

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น