เคยได้ยินกันมาตลอดว่า ในหนึ่งวัน เราควรจะดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราสามารถดื่มน้ำได้ในปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกายของเราในแต่ละวันหรือไม่ แล้ว “น้ำ” นั้นมีความสำคัญกับร่างกายของเราแค่ไหน ทำไมเราถึงต้องดื่มน้ำให้เพียงพอด้วย “108 เคล็ดกิน” มีคำตอบ
70 เปอร์เซ็นต์ของร่างกายคนเราประกอบด้วยน้ำ ซึ่งน้ำในร่างกายนั้นแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ น้ำที่ประกอบอยู่ในเซลล์ น้ำที่อยู่นอกเซลล์ และน้ำที่อยู่ในเนื้อเยื่อหรือเลือด
และน้ำที่อยู่ในร่างกายเหล่านี้ มีหน้าที่อย่างหลากหลาย ทั้งช่วยย่อยอาหาร ละลายสารอาหารและออกซิเจน เพื่อขนส่งให้เซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย ช่วยให้หัวใจทำงานได้ปกติ ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ละลายสารพิษเพื่อขับออกจากร่างกาย ทำให้ผิวพรรณสดใส ไม่แห้งกร้าน ทำให้ข้อต่อต่างๆ เคลื่อนไหวได้สะดวก
จะเห็นว่าน้ำมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ซึ่งการได้รับน้ำไม่เพียงพอนั้น นอกจากจะทำให้เกิดความกระหายแล้ว ก็ยังทำให้ผิวพรรณแห้งไม่มีความยืดหยุ่น ปัสสาวะน้อย ของเสียไม่ได้ออกจากร่างกาย และส่งผลไปถึงอารมณ์ ทำให้เกิดอารมณ์ฉุนเฉียว สับสน เพราะร่างกายไม่สามารถจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของอวัยวะต่างๆ ได้ และหากอวัยวะใดที่ได้รับน้ำไม่เพียงพอ ก็จะทำให้อวัยวะนั้นทำงานผิดพลาด และส่งสัญญาณออกมาให้เรารับรู้ได้ เช่น อาการปวดศีรษะ หรือปวดตามข้อต่อต่างๆ
ไม่เฉพาะการดื่มน้ำอย่างไม่พอเพียงเท่านั้น แต่การท้องร่วง หรืออาเจียน ก็จะทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำได้เช่นกัน ซึ่งอาจทำให้ร่างกายเกิดอาการช็อคถึงกับเสียชีวิตได้ จึงนับว่าน้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของคนเรามากเลยทีเดียว
องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดสูตรคำนวณปริมาณน้ำดื่มที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัวของแต่ละคนไว้ คือ
น้ำหนักตัว (ก.ก.)/2 x 2.2 x30 = … C.C. (1000 C.C. = 1 ลิตร, 1 ลิตร = 5 แก้ว)
สมมติว่ามีน้ำหนักตัว 55 กิโลกรัม 55/2 x 2.2 x 30 = 1815 C.C. (1815 C.C. = 1.8 ลิตร 1.8 ลิตร = 9 แก้ว)
เมื่อเรารู้ปริมาณน้ำที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันแล้ว จะดื่มน้ำในปริมาณนี้ หรือมากกว่านี้ก็ได้ สำหรับคนที่มีร่างกายปกติ ไม่ได้มีโรคประจำตัวอะไร ร่างกายก็จะสามารถขับน้ำออกมาได้ทั้งทางเหงื่อ ปัสสาวะ อุจจาระ และลมหายใจ
เทคนิคในการดื่มน้ำให้ได้ประโยชน์ก็คือ ดื่มน้ำในตอนเช้าเมื่อตื่นนอน จะช่วยระบบขับถ่าย ส่วนในระหว่างวันก็หมั่นจิบน้ำเรื่อยๆ แต่ไม่ควรดื่มน้ำในปริมาณมากๆ ในคราวเดียว และไม่ควรดื่มน้ำมาเกินกว่าวันละ 6-7 ลิตร เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับน้ำปริมาณมากเกินไปในเวลารวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะน้ำเกินหรือน้ำเป็นพิษ (water intoxication) เนื่องจากน้ำจะเจือจางแร่ธาตุโซเดียมให้มีความเข้มข้นลดลง ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญในร่างกาย มีหน้าที่รักษาสมดุลน้ำระหว่างนอกเซลล์และภายในเซลล์ เมื่อถูกเจือจางลงจะทำให้น้ำภายนอกเซลล์ซึมเข้าไปภายในเซลล์ ทำให้เซลล์บวมน้ำหรือคั่ง เกิดภาวะที่ทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ หรือไฮโปแนทรีเมีย (Hyponatremia) จะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อาจกระตุกหรือชัก จากสมองบวม ปอดบวม และเสียชีวิตได้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com