ตะขบฝรั่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Muntingia calabura Linn. ชื่อภาษาอังกฤษว่า Calabura, Jam Tree, Jamaican Cherry, Malayan Cherry, West Indian Cherry มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น เพี่ยนหม่าย(เมี่ยน), ตากบ(ม้ง), หม่ากตะโก่เสะ(กะเหรี่ยงแดง), ตะขบ(กลาง), ครบฝรั่ง(สุราษฎร์ธานี), มะเกว๋นควาย(เหนือ), กือคุ(มลายู), ครบ(ปัตตานี) เป็นต้น มีถิ่นกำเนิดอยู่ในภาคเหนือของเม็กซิโก บริเวณทะเลแคริบเบียน อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ฝั่งตะวันตก จนถึงเปรูและโบลิเวีย ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค ขึ้นเป็นวัชพืชตามที่รกร้างว่างเปล่า ป่าโปร่งทั่วไป และสามารถขยายพันธุ์ได้เองโดยวิธีการเพาะเมล็ด
ต้นตะขบฝรั่ง จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 5-10 เมตร แตกกิ่งก้านแผ่ขนานกับพื้นดิน เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทา ตามกิ่งอ่อนมีขนนุ่มขึ้นปกคลุมและปลายเป็นตุ่ม เมื่อจับยอดอ่อนจะรู้สึกว่าเหนียวมือ
ใบเป็นใบเดี่ยว รูปไข่แกมขอบขนาน โคนใบมน ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบหยัก มีขนปกคลุมหนาแน่น ด้านบนเป็นสีเขียว ด้านล่างสีนวล ก้านใบยาว และโคนก้านเป็นปุ่มปม
ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นคู่ มีสีขาว ออกบริเวณเหนือซอกใบ เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. กลีบดอกย่นสีขาวมี 5 กลีบ ส่วนผลเป็นผลสด รูปทรงกลม เปลือกผลบาง ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีแดง มีรสหวาน ภายในมีเมล็ดแบนเล็กจำนวนมาก
ตะขบฝรั่งมีสารที่ให้สีแดงที่เรียกว่าสารไลโคปีน(Lycopene) มีกรดเอลลาจิก(Ellagic Acid) แอนโทไซยานิน(Anthocyanin) และกรดแกลลิก(Gallic Acid) ที่ช่วยทำให้ระบบการทำงานของต่อมลูกหมากดีขึ้น รวมทั้งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด ปกป้องเซลล์จากการถูกทำลายจากสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะช่วยดูแลหัวใจ
ผลตะขบฝรั่งเป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ของไทย ที่มีใยอาหารสูงชนิดหนึ่ง โดยใน 100 กรัมหรือประมาณ 25 ผล จะมีใยอาหารมากกว่า 6 กรัม เมื่อเทียบกับปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันอยู่ที่ 25 กรัม ดังนั้น การกินตะขบ 1 ถ้วย จะเท่ากับได้ปริมาณ 1 ใน 4 ของใยอาหารที่แนะนำ
ข้อมูลจากกลุ่มวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ กองโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ดำเนินการศึกษาวิจัย เรื่อง “ปริมาณใยอาหาร น้ำตาล และแร่ธาตุในผลไม้” พบว่า ในปริมาณผลไม้ 100 กรัม จะมีน้ำเป็นส่วนประกอบ 76-94 กรัม มีใยอาหาร 0.5-6.3 กรัม มีน้ำตาลรวม 3-18 กรัม และมีพลังงาน 33-97 กิโลแคลอรี และจากการศึกษาพบว่า ผลไม้ที่มีใยอาหารสูงสุด ได้แก่ ตะขบ มีใยอาหารสูงถึง 6.3 กรัม มีปริมาณแร่ธาตุโซเดียม 12.8 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 773 มิลลิกรัม แคลเซียม 108 มิลลิกรัม และฟอสฟอรัส 51.7 มิลลิกรัม ซึ่งมีประโยชน์ดูดซับโคเลสเตอรอล ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ และป้องกันเส้นเลือดสมองแตก
ผลตะขบฝรั่งเป็นที่นิยมรับประทานในเม็กซิโก โดยนำไปแปรรูปเป็นแยม และนำใบไปแปรรูปเป็นชา ส่วนในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ นิยมรับประทานเป็นผลไม้สด ในประเทศไทยก็รับประทานเป็นผลไม้สด และแปรรูปเป็นไวน์จากสมุนไพร ใช้ดอกเป็นยาแก้ปวดและแก้อักเสบ ส่วนไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน ใช้งานช่างไม้ เปลือกใช้เป็นแหล่งของเส้นใย
นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์อีก ได้แก่ ราก เปลือกลำต้น เนื้อไม้ ใบ ดอก และผล มีสรรพคุณดังนี้
ราก : แก้เสมหะ รักษาโรคผิวหนัง แก้ผื่นคันตามตัว
เปลือกลำต้น : รสฝาด เป็นยาระบาย เพราะมีสารมิวซิเลจ(Mucilage) มาก
เนื้อไม้ : แก้ท้องร่วง บิดมูกเลือด ขับไส้เดือน แก้ตานขโมย โรคผิวหนัง แก้ไข้หวัด ปวดศีรษะ
ใบ : รสฝาดเอียน ใช้ในการขับเหงื่อ
ดอก : แก้อาการปวดศีรษะ แก้หวัด ลดไข้ แก้อาการปวดเกร็งในทางเดินอาหาร แก้อักเสบ เมื่อนำไปต้มรวมกับสมุนไพรอื่น จะขับระดูของสตรี และแก้โรคตับอักเสบ
ผล : ผลสุกมีรสหวานเย็นหอม มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ และต้านโรคมะเร็ง
แพทย์แผนไทยมีการนำตะขบฝรั่งมาใช้ในการรักษาอาการไข้ และเป็นยาบำรุงกำลัง
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยตะขบฝรั่ง พบว่า ใบตะขบฝรั่ง ออกฤทธิ์ปกป้องกระเพาะอาหารผ่านหลายกลไก นั่นคือ ยับยั้งการหลั่งกรด ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านการอักเสบ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 173 พฤษภาคม 2558 โดย มีคณา)