เป็นเวลา 3 ปีเต็มแล้วที่สวนสันติชัยปราการ สวนสาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยาในย่านบางลำพู ไม่มีต้นลำพูร้อยปีต้นเก่าแก่ที่สุดอันเป็นที่มาของชื่อย่าน “บางลำพู” อยู่เป็นสัญลักษณ์เคียงคู่กันอีกต่อไป หลังจากต้นลำพูที่เป็นดังประวัติศาสตร์แห่งบางลำพูได้ยืนต้นตาย และถูกตัดไปเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2555
...ปี 2540...
ย้อนกลับไปราว 20 ปีก่อน ในเวลานั้นหน่วยงานราชการ บรรดาห้างร้านและธนาคารต่างๆ ในบางลำพูยังสะกดชื่อชุมชนไม่ตรงกัน บ้างก็สะกด “บางลำพู” บ้างก็ “บางลำภู” แม้ชาวชุมชนบางลำพูและครูโรงเรียนวัดสังเวชนำโดย อ.สมปอง ดวงไสว ครูสอนวิชาศิลปะ จะมีความสงสัยว่าชื่อบางลำพูน่าจะมาจากต้นลำพู อีกทั้งคำบอกเล่าของคนเก่าแก่ในย่านบางลำพูว่าเมื่อก่อนแถวนี้มีต้นลำพูมากมายและเต็มไปด้วยหิ่งห้อยที่คอยส่องแสงยามค่ำคืน แต่ก็ยังไม่พบต้นลำพูแม้สักต้นที่จะช่วยยืนยันข้อสงสัยนี้
และในที่สุด วันที่ 30 สิงหาคม 2540 อาจารย์และนักเรียนโรงเรียนวัดสังเวชฯ กลุ่มหนึ่งรวมถึงชาวชุมชนบางลำพูก็ได้ออกค้นหาต้นลำพูจนพบโดยอาศัยความช่วยเหลือของผู้นำชุมชนที่อยู่บางลำพูมาตั้งแต่เกิด จึงได้พบต้นลำพูต้นสุดท้ายของบางลำพู ตั้งตระหง่านอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา ในบริเวณของสำนักงานกลางโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม (บริเวณสวนสันติชัยปราการในปัจจุบัน) ซึ่งด้านหลังเป็นบ้านพักคนงานบริษัทศรีมหาราชา ริมแม่น้ำมีทั้งต้นชมพู่น้ำ ต้นจิกน้ำ และมีต้นลำพูอยู่ตรงกลาง ต้นลำพูต้นนี้เป็นต้นสุดท้ายของบางลำพูที่ยังหลงเหลืออยู่ และจากการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญจากกรมป่าไม้พบว่ามีอายุนับร้อยปี
นับแต่นั้นมา หน่วยงานราชการ บรรดาห้างร้านและธนาคารต่างๆ ที่สะกดชื่อชุมชนไม่ตรงกัน ก็เปลี่ยนมาใช้คำว่า “บางลำพู” แทน “บางลำพู” เพราะเข้าใจตรงกันแล้วว่าชื่อย่านบางลำพูมาจากต้นลำพูนั่นเอง
...ปี 2542...
หลังจากสาธารณะชนรับรู้ถึงเรื่องราวของต้นลำพูร้อยปีต้นสุดท้ายแห่งบางลำพู ก็มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้น เมื่อกรุงเทพมหานครมีโครงการจะพัฒนาสภาพภูมิทัศน์บริเวณป้อมพระสุเมรุ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 โดยได้จัดสร้าง “สวนสันติชัยปราการ” สวนสาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นเพื่อเป็นการเปิดภูมิทัศน์อันสวยงามของป้อมพระสุเมรุ ในการสร้างสวนสาธารณะครั้งนั้นต้นลำพูจึงมีที่อยู่เป็นสัดเป็นส่วนสวยงาม อยู่เคียงคู่สวนสันติชัยปราการมานับแต่นั้น
“เมื่อตอนที่รัฐบาลได้ถวายพระที่นั่งสันติปราการจำลองแด่ในหลวงในงานสโมสรสันนิบาต พระองค์ทรงทอดพระเนตรและรับสั่งกับสมเด็จพระราชินีว่า บางกอกไม่มีต้นมะกอก บางม่วงไม่มีต้นมะม่วง บางลำพูยังมีต้นลำพูอยู่ ต้นนี้ต้นเก่าแก่” อ.สมปอง ซึ่งปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้วเคยกล่าวไว้
...ปี 2554...
นับสิบปีแล้วที่ชาวชุมชนบางลำพูคุ้นเคยกับต้นลำพูร้อยปีจนเหมือนปู่ย่าตายายญาติสนิท ไม่ว่าจะมาเดินเล่น ออกกำลังกาย หรือพาเพื่อนฝูงลูกหลานมาพักผ่อนหย่อนใจที่สวนสันติฯ ก็จะเห็นลำพูต้นนี้ยืนตระหง่านอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาจนเป็นภาพชินตา แม้ต้นลำพูนี้จะแปลกกว่าต้นอื่นๆ ตรงที่มีการผลัดใบทุกปี ต่างจากต้นลำพูโดยทั่วไปที่จะไม่ผลัดใบ
จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 คนไทยได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่ต้นลำพูร้อยปีด้วยเช่นกัน แม้จะเป็นต้นไม้ที่อยู่คู่กับน้ำ แต่เนื่องจากถูกน้ำท่วมรากอากาศมาเป็นเวลานาน อีกทั้งอายุที่ยืนยาวมาเป็นร้อยปี เนื้อไม้ข้างในผุเป็นโพรง ทำให้ต้นลำพูค่อยๆ เหี่ยวแห้ง ทิ้งใบ ร่างกายอ่อนแอลงเรื่อยๆ แม้จะมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุ์พืชมาดูและให้คำแนะนำ แต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตต้นลำพูไว้ได้
ในที่สุด ต้นลำพูร้อยปีต้นสุดท้ายอันเป็นที่มาของชื่อ “บางลำพู” ก็ถึงแก่อายุขัย ยืนต้นตายริมแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นถิ่นกำเนิด
...ปี 2555...
เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนต้องยอมรับ แต่การจากไปโดยไม่ได้บอกลากันนั้นน่าเศร้ายิ่งกว่า โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 6 ก.ค. 2555 หน่วยงานของ กทม. ได้มาตัดต้นลำพูที่ยืนต้นตายจนเหลือแต่ตอ และนำไปทิ้งขยะหนองแขมโดยไม่บอกไม่กล่าวให้ประชาคมชาวบางลำพูได้ทราบแม้สักคน
“ต้นไม้ตายก็จริง เรายอมรับได้เพราะเป็นธรรมชาติของต้นไม้ วันหนึ่งก็ต้องตาย อายุก็ไม่น่าเกิน 200 ปีอยู่แล้ว แต่เราไม่คิดว่าเขาจะตัดทิ้ง คิดว่าเขาจะเก็บให้มันยืนต้นอยู่เป็นอนุสรณ์ตรงนี้ได้ วันจะตัดเราก็ไม่รู้ ไม่ได้มีการปรึกษากัน เราล้าหลังเหตุการณ์ ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือทัดทานได้เลย ทั้งที่เราเห็นความสำคัญของเขา ใครๆ ก็เห็นความสำคัญของเขา” อ.สมปอง ดวงไสว ได้กล่าวไว้เมื่อ 3 ปีก่อนเมื่อตอนที่ต้นลำพูถูกตัดทิ้งใหม่ๆ
แต่สุดท้ายต้นลำพูร้อยปีก็เหลือแค่ตอ และท่อนไม้ไม่กี่อันที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้เก็บไปด้วย อ.สมปองจึงได้เก็บไว้ และหลังจากนั้น ชาวชุมชนบางลำพูก็ได้ร่วมกันจัดงาน “อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของลำพูที่บางลำพู” ขึ้นเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 55 ณ สวนสันติชัยปราการ เพื่อเป็นการรำลึกถึงต้นลำพูร้อยปี โดยภายในงานวันนั้น มีการนำเอาท่อนไม้ของต้นลำพูที่เหลืออยู่มาจัดแสดง และมีนิทรรศการเกี่ยวกับต้นลำพู อีกทั้งชาวชุมชนบางลำพูและเหล่าจิตอาสายังได้ร่วมกันปลูกต้นลำพูขึ้นใหม่รอบๆ ตอต้นลำพูร้อยปี เพื่อร่วมสืบสานตำนานของบางลำพูผ่านต้นลำพูรุ่นใหม่เหล่านี้
...ปี 2557...
ต้นลำพูน้อยที่ปลูกขึ้นใหม่รอบตอต้นลำพูเดิมค่อยๆ เติบโต ในขณะที่ต้นลำพูร้อยปีได้ถือกำเนิดขึ้นใหม่อีกครั้ง ใน “พิพิธบางลำพู” พิพิธภัณฑ์ที่เพิ่งจัดทำขึ้นใหม่โดยกรมธนารักษ์ สร้างขึ้นในพื้นที่เดิมซึ่งเคยเป็นโรงพิมพ์คุรุสภา ซึ่งอยู่ติดกับสวนสันติชัยปราการ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้บอกเล่าเรื่องราวของบางลำพูที่ขึ้นชื่อว่าเป็นย่านการค้าเก่าแก่ทรงเสน่ห์ ย่านของกินสารพัด มีความหลากหลายของวัฒนธรรมและผู้คนมายาวนาน
ต้นลำพูร้อยปีได้ถือกำเนิดขึ้นอีกครั้งที่นี่ในห้องจัดแสดง “ถอดรหัสลับ ขุมทรัพย์บางลำพู” ซึ่งภายในห้องจะมีต้นลำพูขนาดใหญ่ที่ทำจำลองขึ้น มีแสงสว่างวิบวับจากหิ่งห้อย โดยกิ่งหนึ่งของต้นลำพูจำลองนี้เป็นกิ่งต้นลำพูของจริงจากชิ้นส่วนของต้นลำพูร้อยปีที่ยังคงหลงเหลือไว้ให้เป็นที่ระลึกเมื่อครั้งถูกตัดโค่น
แม้จะเกิดขึ้นใหม่อีกครั้งแบบไม่มีชีวิต แต่ก็เป็นอนุสรณ์ให้รำลึกนึกถึงภาพเก่าๆ ที่มีชีวิตชีวาของต้นลำพูร้อยปีริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้อีกครั้ง ซึ่งหากใครไปสัมผัสก็สามารถเข้าไปชมได้ที่ "พิพิธบางลำพู" ได้ทุกวัน คลิกอ่านเรื่องราวของพิพิธบางลำพูได้ที่นี่
...ปี 2558...
เป็นเวลา 3 ปีเต็มแล้ว หลังจากที่ต้นลำพูร้อยปีถูกตัดโค่นลง...
บรรยากาศในสวนสันติชัยปราการยังคงเหมือนเดิม ยามเย็นเมื่อแดดร่มลมตกก็ยังคงมีผู้คนมานั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจเป็นประจำ ขาดไปก็เพียงแต่ต้นลำพูร้อยปีขนาดใหญ่ที่เคยอยู่เคียงข้างพระที่นั่งสันติชัยปราการ
ตอต้นลำพูที่เหลืออยู่ผุพังไปตามกาลเวลา ส่วนต้นลำพูน้อยที่ปลูกใหม่เติบโตขึ้นมาก ใบสีเขียวดูสุขภาพดี ลำต้นจากพื้นถึงยอดสูงราว 2 เมตร คงจะเจริญเติบโตขึ้นและอยู่คู่สวนสันติฯ และย่านบางลำพูต่อไปในไม่ช้า
คนทั่วไปอาจลืมเลือนเรื่องราวของต้นลำพูร้อยปีถูกตัดทิ้งไปในเวลาไม่นานนัก แต่ชาวบางลำพู โดยเฉพาะ อ.สมปอง ยังคงรู้สึกใจหายทุกครั้งที่ผ่านไปยังสวนสันติชัยปราการ
“ประการแรกคือรู้สึกวังเวง ขาดสิ่งที่เคยอยู่คู่กันตรงนั้น พอผ่านไปเห็นก็รู้สึกเสียดาย เค้าน่าจะได้ยืนอยู่ดูบ้านเมืองไปถึงวันที่เขาสิ้นสภาพได้” อ.สมปอง กล่าว
“กับต้นลำพูที่ปลูกใหม่ก็ได้ไปเห็นว่าอยู่ในสภาพที่ดีอยู่ แต่ก็รู้สึกเสียดายว่ามันไม่ใช่ต้นที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของต้นลำพูเก่าแก่แค่นั้น แต่มันก็ยังสร้างประวัติศาสตร์ให้ชุมชนได้ต่อไป ยังเป็นสัญลักษณ์ของบางลำพูได้”
“ส่วนซากของต้นลำพูเดิมในพิพิธบางลำพูก็ได้ไปชมหลายครั้ง คิดว่าเขาหยิบจุดเด่นในชุมชนของเรามานำเสนอได้ดี รักษาเอกลักษณ์ตรงนั้นไว้ได้ มีการพูดถึงต้นลำพู พูดถึงหิ่งห้อย มีเสน่ห์ตรงที่ว่าใช้กิ่งก้านของจริงที่เป็นเนื้อแท้ของมันอยู่ ซึ่งก็ถือว่าได้ไปอยู่ถูกที่ควรแล้ว ได้อยู่ในพิพิธภัณฑ์ให้คนได้ดู ได้รำลึกนึกถึงเขา” อ.สมปองกล่าว
นอกจากนั้น อ.สมปอง ยังชี้ให้เห็นถึงเรื่องการตัดต้นลำพูที่เกิดขึ้นว่า สามารถใช้เป็นบทเรียนให้แก่ชุมชนได้ “ก่อนที่จะมีอะไรเกิดขึ้นผมคิดว่าเราควรจะได้ปรึกษาหารือกันก่อน ได้เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียก่อนที่จะทำอะไรลงไป ให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วม ดีกว่าที่จะใช้วิธีมัดมือชก ไม่รู้เรื่องรู้ราว คือสังคมบ้านเราเป็นสังคมที่ใช้อำนาจโดยไม่ถาม ไม่ปรึกษาคนส่วนใหญ่ มันก็จะเป็นเช่นนี้เสมอๆ มันจึงเป็นบทเรียนสำหรับคนในชุมชน และคนในสังคมทั่วไปก็น่าจะมองเห็นว่านี่มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่เป็นเรื่องของความคิด ของการให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ ให้มีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรร่วมกัน”
“ไม่เฉพาะเป็นบทเรียนของชุมชน แต่เป็นได้ระดับชาติ ระดับประเทศ ในทุกที่ที่มีการเลือกทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วมันมีผลได้ผลเสีย กฎหมายจะมีบอกว่าต้องศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งนั่นคือเขาอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่บ้านเราก็ยังใช้อำนาจมากกว่า หรือใช้วิถีทางที่ทำให้เป็นไปตามที่ตัวเองต้องการมากกว่า จริงๆ คือควรจะถามความเห็นของทุกๆ กลุ่มแล้วประมวลกันดูว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม ดีหรือไม่ดี เหมาะหรือไม่เหมาะ แล้วตัดสินใจร่วมกัน ผมว่าวิธีนั้นจะมีความสุข เป็นวิธีที่ดีกว่า” อ.สมปอง กล่าวปิดท้าย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com