ระยอง - ชาวบ้านแลง มอบอำนาจ “ทนายศรีสุวรรณ” ฟ้องกราวรูด 11 หน่วยงานรัฐ ฐานละเลยปฏิบัติหน้าที่ด้วยการปล่อยให้ไออาร์พีซีบุกรุกลำรางสาธารณประโยชน์กว่า 100 ไร่ ด้านผู้ถูกกล่าวหาโต้พื้นที่อยู่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรม และเจ้าของกรรมสิทธิ์ขายให้กว่า 20 ปีแล้ว
วันนี้ (2 ก.ค.) นางพยุง มีสบาย พร้อมชาวบ้านแลง 44 ราย ได้มอบอำนาจให้ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐรวม 11 หน่วยงาน ที่ศาลปกครองระยอง ประกอบด้วย 1.นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแลง 2.นายกเทศมนตรีตำบลเชิงเนิน 3.นายอำเภอเมืองระยอง 4.เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดระยอง 5.ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง 6.กรมที่ดิน
7.อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง 8.อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม 9.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 10.คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและระบบสาธารณูปโภค และ 11.เลขาธิการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานรัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติโดยมี นายจำนง ถาวรวิสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศาลปกครองระยอง รับคำฟ้อง
โดยระบุว่า เป็นผลสืบเนื่องจากหน่วยงานต่างๆ ปล่อยให้บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บุกรุกครอบครองถนน เปลี่ยนแปลงลำรางสาธารณะ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันรวมเนื้อที่ 100 ไร่เศษ จำนวน 10 แปลง ทำให้ชาวบ้านตำบลบ้านแลง และตำบลเชิงเนิน ได้รับความเดือดร้อน และเสียหายจากการไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณประโยชน์ได้ จึงรวมตัวกันมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองระยอง
ท้ายคำฟ้องยังระบุ 1.ขอให้ศาลมีคำสั่ง หรือคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1.ระงับหรือเพิกถอนกิจกรรมใดๆ ของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซีส่วนขยาย ที่บุกรุก หรือรุกล้ำทางเดิน ลำราง คูคลอง หนองบึง ที่เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน 2.ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-6 ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยสั่งการ หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซีส่วนขยายที่บุกรุกหรือรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์ ให้นำกลับคืนมาให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และให้เหมือนเดิมหรือใกล้เคียงสภาพเดิม ในระยะเวลาที่ศาลกำหนด
3.ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 10-11 ระงับหรือเพิกถอนคำสั่งทางปกครองหรือเพิกถอนความเห็นชอบที่มีต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด 5.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดปฏิบัติตามกฎหมายภายใต้อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานอย่างเคร่งครัด ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้ฟ้องคดี และบังคับใช้กฏหมายในการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิในทรัพยากรของแผ่นดิน เช่น ทางสาธารณะ คู คลอง ห้วยหนอง คลองบึง ลำรางสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันให้แก่แผ่นดินตามที่กฏหมายบัญญัติ
นายอุดม ศิริภักดี ชาวบ้านแลง กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวโรงงานได้ซื้อ และล้อมรั้วกั้นมานานถึง 30 ปี และในพื้นที่ที่มีการล้อมรั้วมีที่ดินสาธารณประโยชน์ หนองน้ำ คู คลอง และเป็นพื้นที่แก้มลิงที่ชาวบ้านใช้ร่วมกันมานานอยู่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมส่วนขยายของไออาร์พีซี ซึ่งมีการตรวจสอบที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวโดยเจ้าหน้าที่ที่ดิน โดยเฉพาะตำบลบ้านแลง พบว่ามี 10 แปลง เนื้อที่ 100 ไร่ 62 ตารางวา แต่ไม่สามารถเดินสำรวจรังวัดได้ เนื่องจากพื้นที่ถูกปรับเปลี่ยนไปหมดแล้ว ทำให้เกิดน้ำท่วมสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านหมู่ 1 และหมู่ 2 ตำบลบ้านแลง
ขณะที่เจ้าหน้าที่ของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาชี้แจงว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราบลุ่ม ซึ่งอยู่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี เดิมเป็นที่ดินที่มีชาวบ้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และได้ขายให้แก่บริษัทมานานไม่น้อยกว่า 20 ปี
ส่วนที่ดินที่เป็นลำราง มีสภาพตื้นเขิน และชาวบ้านไม่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์มานานกว่า 20 ปี อีกทั้งบริษัทได้มีการบำรุงรักษาด้วยการขุดลอกทางระบายน้ำเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม และทางบริษัทได้จัดทำช่องทางระบายน้ำจากคลองท่ากรสาว และพื้นที่ใกล้เคียงให้ไหลลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น โดยมีสำนักชลประทานระยอง ทำการสำรวจ และคำนวณปริมาณการไหลของน้ำลงสู่ทะเล เพียงพอที่จะรองรับปริมาณน้ำไหลลงสู่ทะเลได้