xs
xsm
sm
md
lg

ปั่นสองล้อ แอ่วเหนือม่วนกั๋นวันธรรมดา ชมสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองหริภุญชัย ลำพูน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“พระบรมธาตุหริภุญชัย”  คู่บ้านคู่เมือง จ.ลำพูน
ลำพูนเป็นจังหวัดเล็กๆ ที่มีมนต์เสน่ห์อยู่ทางภาคเหนือ เป็นเมืองที่เก่าแก่และมีประวัติศาสตร์ยาวนานจังหวัดหนึ่งในล้านนา โดย “ตะลอนเที่ยว” มาแอ่วลำพูนคราวนี้ เพราะการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคภาคเหนือ ได้ร่วมกับ บริษัท การบินไทย จำกัด และสายการบินไทยสมายล์ จัดกิจกรรมในโครงการ “แอ่วเหนือม่วนกั๋น ชวนปั่นวันธรรมดา” นำร่องเส้นทางปั่นจักรยานเมืองลำพูนนี้ขึ้น เพื่อให้คนหันมาสนใจเที่ยววันธรรมดา และเป็นการท่องเที่ยวเรียนรู้เรื่องราวของจังหวัดลำพูน ที่นอกจากจะเป็นเมืองเก่าแก่แล้ว ยังเป็นเมืองพระพุทธศาสนาที่เต็มไปด้วยวัดเก่าแก่มีคุณค่าที่เราจะปั่นพาเที่ยวชมกันในวันนี้
วัดจามเทวี วัดเก่าแก่สำคัญมาตั้งแต่สมัยล้านนา
“พระเจดีย์สุวรรณจังโกฎ” มีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่เป็นชั้นๆ
โดยเส้นทางปั่นจักรยานเที่ยวเริ่มจาก “วัดจามเทวี” ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยล้านนา ซึ่งพระเจดีย์ภายในวัดมีชื่อว่า “พระเจดีย์สุวรรณจังโกฎ” ลักษณะองค์พระเจดีย์ เป็นสี่เหลี่ยมแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่เป็นชั้นๆ แต่ละชั้น นับเป็นสถาปัตยกรรมสำคัญในศิลปกรรมหริภุญชัย ภายในพระเจดีย์บรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญชัย ตามตำนานเล่าว่า เจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศ ราชโอรสของพระนางจามเทวีทรงเป็นผู้สร้างขึ้น แต่เดิมองค์เจดีย์มียอดห่อหุ้มด้วยทองคำ ต่อมายอดพระเจดีย์ได้หักหายไป ชาวบ้านจึงเรียกว่า “กู่กุด” กู่ กุด เป็นภาษาล้านนา ที่แปลว่า เจดีย์ยอดด้วน
“วัดมหาวันวนาราม” วัดชื่อดัง จ.ลำพูน
หลังจากปั่นเที่ยวชมวัดจามเทวี จุดมุ่งหมายต่อไปที่เราปั่นเที่ยวชมคือ “วัดมหาวันวนาราม” เป็นวัดสำคัญเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยที่พระนางจามเทวีครองเมืองหริภุญชัย และได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญมาด้วย 2 องค์ คือ พระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) และพระพุทธสิกขิ (พระศิลาดำ) พระองค์ทรงสร้างวัดมหาวันขึ้นและประดิษฐานพระศิลาดำไว้ที่นี่ ชาวเมืองเรียกกันว่า พระรอดหลวง หรือพระรอดลำพูน ซึ่งต่อเป็นแบบจำลองพระเครื่องที่ลือชื่อกรุหนึ่ง ชื่อ “พระรอดมหาวัน”
“วิหารพระโขงเขียว” ในวัดสันป่ายางหลวง
ปั่นเที่ยวไปต่อที่ “วัดสันป่ายางหลวง” เป็นอีกหนึ่งวัดงามในเมืองลำพูน เคยเป็นศาสนสถานของศาสนาพราหมณ์มาก่อน ดังปรากฏหลักฐานบนหินทรายจำหลัก ต่อมามีพระเถระจากพม่า 3 รูป เดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาในถิ่นนี้ ชาวบ้านเลื่อมใสเป็นอย่างมากจึงพร้อมใจกันเปลี่ยนเทวสถานเป็นวัดในพระพุทธศาสนา แต่เดิมวัดนี้ชื่อว่า “วัดขอมลำโพง” เนื่องจากละแวกนั้นเป็นชุมชนชาวขอม วัดนี้ถือว่าเป็นวัดพระพุทธศาสนาแห่งแรกของดินแดนล้านนา และสร้างเจดีย์ อัญเชิญเอาพระอัฐิธาตุของพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า คือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ มาบรรจุไว้ ณ ที่เจดีย์ของวัดสันป่ายางหลวง
ภายในวิหารโขงเขียว ด้านบน พระพุทธอัญญรัตนมหานทีศรีหริภุญชัย ด้านล่างประดิษฐาน พระพุทธเมตไตร
ภายในวัดสันป่ายางหลวงมีวิหารที่สวยงามคือ “วิหารพระโขงเขียว” ใช้วัสดุเสาไม้ตะเคียนทอง ไม้แดงจากประเทศลาว พม่า และไทย พระครูบาอินทรเป็นผู้ออกแบบก่อสร้างและออกแบบลวดลายพื้นเมืองผสมผสานระหว่างสมัยเก่ากับสมัยใหม่ เมื่อมองจากด้านหน้าจะมีหลังคา 5 ชั้น มีช่อฟ้า 5 ตัว ตรงกลางหลังคามีเรือหงส์และฉัตร ด้านล่างมีรูปปั้นผางประทีป และรูปพรหมสี่หน้านั่งอยู่บนหลังคา ภายในพระวิหาร มีมณฑปทรงล้านนา เป็นที่ประดิษฐานพระหยกเขียวซึ่งนำมาจากแม่น้ำโขง ขื่อพระนามเต็มว่า "พระพุทธอัญญรัตนมหานทีศรีหริภุญชัย" ส่วนด้านล่างประดิษฐานพระพุทธเมตไตร ที่มีความสวยงามอย่างมาก
“กู่ช้างกู่ม้า” โบราณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งใน จ. ลำพูน
หลังชื่นชมความงามที่วัดสันป่ายางหลวงแล้ว เราปั่นเที่ยวที่ “กู่ช้างกู่ม้า” ถือว่าเป็นโบราณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งของจังหวัดลำพูน เป็นเจดีย์ที่ใช้บรรจุซากช้างพลายที่มีชื่อว่า "จ้างปู่ก่ำงาเขียว" เป็นพญาช้างเผือก เป็นช้างพลายคู่บารมีพระนางจามเทวี และเป็นช้างศึกของพระเจ้ามหันตยศและพระเจ้าอนันต์ยศ พระโอรสของพระนางจามเทวี ลักษณะของเจดีย์กู่ช้างเป็นเจดีย์ทรงกลม สร้างบนฐาน 4 ชั้น มีลักษณะเป็นทรงกระบอกปลายมน ก่อขึ้นด้วยอิฐ นอกจากกู่ช้างแล้วก็ยังมี “กู่ม้า” สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิม้าทรงของพระจามเทวี ผู้คนจึงแวะมาสักการะขอพรที่กู่ช้างกู่ม้าที่แห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย
วัดพระยืน มีความสวยงามอย่างมาก
พระดินสกุลลำพูน
จากนั้นปั่นต่อไปจนถึง “วัดพระยืน” เป็นวัดเก่าแก่ซึ่งสันนิษฐานว่าพระนางจามเทวีทรงสร้างขึ้นในราว พ.ศ. 1213 ชื่อของวัดพระยืนมาจากองค์พระพุทธรูปยืนเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเมื่อในสมัยพระเจ้าธรรมมิกราช (กษัตริย์องค์ที่ 32 แห่งหริภุญชัย) และต่อมาในสมัยพระยากือนา ผู้ครองนครเชียงใหม่และลำพูน ได้สร้างพระพุทธรูปยืนเพิ่มเติมขึ้นอีก 3 องค์ เจดีย์วัดพระยืน มีลักษณะโดดเด่นตรงที่เป็นศิลปกรรมพม่า คล้ายกับเจดีย์วัดสัพพัญญูในเมืองพุกาม สร้างยกพื้นลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ มีบันไดเดินขึ้นสู่ลานประทักษิณชั้นบนที่ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว และมีเจดีย์บริวารองค์เล็กอยู่ทั้ง 4 มุม องค์เจดีย์งดงามมาก นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมให้ร่วมเพลิดเพลิน นั่นก็คือ การร่วมปั้นพระดินสกุลลำพูน เช่น พระรอด พระคง พระลือ ในกรรมวิธีแบบโบราณด้วยมือของตัวเองเพื่อใส่ไว้ในกรุของทางวัด
 “พระบรมธาตุหริภุญชัย สีทองอร่ามสวยงาม
เมื่อเรียนรู้ปั้นพระดินสกุลลำพูนกันแล้ว จึงปั่นต่อไปถึงไฮไลต์ที่สำคัญนั่นคือ “วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร” ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญในภาคเหนือที่อยู่คู่เมืองลำพูนมาอย่างยาวนาน มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือ “พระบรมธาตุหริภุญชัย” ซึ่งสร้างขึ้นยุคที่นครนี้เจริญสูงสุดสมัยพระเจ้าอาทิตยราช เป็นเจดีย์ทรงล้านนา หุ้มแผ่นทองจังโกทั้งองค์ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุคือธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตร ก่อนจะเข้าสู่วัด หน้าวัดจะต้องผ่านซุ้มประตูโขงก่ออิฐถือปูน ประดับลายปูนปั้นที่อ่อนช้อยสวยงาม เป็นศิลปะทวารวดี เบื้องหน้าซุ้มประตูมีสิงห์ใหญ่สูง 3 เมตร คู่หนึ่งยืนสง่าบนแท่นสูง สวยงามเป็นอย่างมาก
อีกมุมหนึ่งของ “พระบรมธาตุหริภุญชัย”
หลังจากปั่นเที่ยวจังหวัดลำพูนแห่งนี้แล้ว การได้มาเยือนแดนดินเก่าล้านนาแห่งนี้ นอกจากจะได้ชมประวัติศาสตร์ ความสวยงามและความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแห่งแล้ว การเที่ยววันธรรมดาเป็นการเที่ยวที่มีความสุขอย่างหนึ่ง นอกจากจะไม่ต้องผจญกับคนเยอะแล้วยังได้เต็มอิ่มกับการเที่ยวสถานที่แห่งนั้น อีกทั้งการท่องเที่ยวด้วยจักรยานยังเป็นการช่วยลดมลภาวะทางอากาศและเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางการท่องเที่ยวอย่างหนึ่งอีกด้วย




* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สำหรับนักท่องเที่ยวสามารถสอบถามข้อมูล และสำรองที่นั่งได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงเดือนกันยายน 2558 โทร. 0-2642-4426-8 หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ พื้นที่รับผิดชอบ เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง โทร. 0-5327 6140-2
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น