xs
xsm
sm
md
lg

ตะลึงพบซากชิ้นส่วนเรือโบราณยุคอาหรับอายุ 1 พันปี จม “ก้นบึงกุ่ม-บึงบางช้าง” ในนครปฐม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครปฐม - นักค้นคว้าประวัติศาสตร์นครปฐม ตะลึงพบซากเรือยุคอาหรับอายุไม่น้อยกว่า 1 พันปี และเศษกระเบื้องหลายยุคถูกตักขึ้นจากบึงกุ่ม-บึงบางช้าง ลำน้ำโบราณ เร่งประสานเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรตรวจสอบ ย้ำเป็นข้อมูลใหม่ ตอกย้ำประวัติศาสตร์อาณาจักรทวารวดี เจริญรุ่งเรือง เชื่อมโยงตะวันออกกลาง สัมพันธ์ขุดพบเช่นเดียวกับสมุทรสาคร เชื่อยังจมใต้ผิวน้ำอีกมาก สุดล้ำค่าประวัติศาสตร์ชาติไทย


วันนี้ (22 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า มีการค้นพบซากเรือโบราณอายุกว่า 1,000 ปี จึงได้ประสาน นายไพบูลย์ พวงสำลี ประธานกลุ่มศรีทวารวดี นักค้นคว้า และทนายความด้านประวัติในจังหวัดนครปฐมเพื่อติดต่อ และลงพื้นที่บ้านสระอ้อ หมู่ 2 ต.ธรรมศาลา อ.เมือง จ.นครปฐม ซึ่งเป็นจุดที่ได้รับรายงานมีการขุดพบเรือโบราณดังกล่าว

นายไพบูลย์ พวงสำลี ประธานกลุ่มศรีทวารวดีฯ เปิดเผยว่า การค้นพบเรือโบราณดังกล่าวเป็นเรื่องจริง โดยเป็นการพบซากไม้โบราณซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นซากเรือโบราณอายุไม่น้อยกว่า 1,000 ปีในยุคอาณาจักรทวารวดี ซึ่งพื้นที่ที่พบเรียกกันว่า ประตูป่าผี ซึ่งในอดีตเป็นแม่น้ำโบราณที่เชื่อมโยงจากทะเลมาสู่แม่น้ำท่าจีน ในจังหวัดสมุทรสาคร และมาสู่จังหวัดนครปฐม ซึ่งการค้นพบดังกล่าวมีชาวบ้านได้บอกว่า ก่อนหน้าองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ธรรมศาลา ได้มีการขุดลอกคลองในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อเป็นการระบายทางน้ำในจังหวัดนครปฐม เมื่อประมาณไม่เกิน 1 เดือนที่ผ่านมา และมีการพบซากกระเบื้อง และเครื่องใช้ที่แตกหักหลายชิ้น จึงได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อสำรวจ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ มีการค้นพบเครื่องใช้ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะในราชวงศ์จีนต่างๆ

“ผมได้ลงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา และได้พบเศษกระเบื้องมากมายจากแหล่งน้ำดังกล่าว จึงได้เก็บมาทำการตรวจสอบรวมไว้หลักฐานเก่าๆ ที่เคยมีการเก็บไว้ รวมทั้งเศษไม้เก่าแก่ที่มีสภาพจมอยู่ในน้ำมานานมาเพื่อศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งทำให้ต้องตะลึงเมื่อพบว่า เศษไม้ดังกล่าวมีลักษณะใกล้เคียงกับเรือโบราณที่มีการขุดพบในพื้นที่ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีเทคนิคที่ตรงกัน และถือเป็นซากเรือลำแรกที่มีการพบในจังหวัดนครปฐม และเป็นหลักฐานข้อมูลใหม่ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่จะยืนยันขยายความถึงความเจริญรุ่งเรืองในอาณาจักรทวารวดี ของจังหวัดนครปฐม สมุทรสาครว่า มีการเดินทางมาของชาวอาหรับในจังหวัดนครปฐมจริง ตามเดินที่มีการสันนิษฐานจากหลักฐานต่างๆ จากหลักฐานประกอบ” นายไพบูลย์ กล่าว

ต่อมา นายไพบูลย์ พวงสำลี ประธานกลุ่มศรีทวารวดีฯ ได้ประสานไปยังสำนักศิลปากรที่ 1 จังหวัดราชบุรี เพื่อแจ้งข้อมูลเรื่องการขุดพบซากเรือโบราณดังกล่าวให้ทราบ ทางสำนักศิลปากรที่ 1 จังหวัดราชบุรี จึงได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่จากสำนักศิลปากรที่ 2 จังหวัดสุพรรณบุรี ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกัน โดยเบื้องต้นพบว่า ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นลำน้ำขนาดใหญ่ และมีความลึกมาก จึงได้มีการประสานไปยังสำนักโบราณคดีใต้น้ำให้ลงพื้นที่ร่วมสำรวจเพื่อหาตัวเรือหลัก โดยคาดว่าจะยังจมอยู่ในจุดที่พบ

นอกจากนี้ จากการสำรวจบริเวณใกล้เคียงยังพบเศษกระเบื้อง เครื่องปั้นดินเผ่าที่บางชิ้นมีอักษรจีน และบางชิ้นเป็นอักษรยุคทวารวดี กระจัดกระจายตามคันดินที่ถูกรถแบ็กโฮตักขี้เลนขึ้นมากองไว้บนผิวดินตรงข้ามกับฝั่งแหล่งน้ำ และยังมีซากเขาสัตว์ หอยชนิดต่างๆ ที่เกิดจากธรรมชาติและถูกมนุษย์โบราณได้ทำการฝนเปลี่ยนสภาพเพื่อการใช้งานหลายชิ้น โดยคาดว่าในน้ำดังกล่าวยังมีอีกเป็นจำนวนมาก

นายไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับซากไม้ที่ตนพบเชื่อได้ว่าน่าจะเป็นซากไม้ของเรือ เนื่องจากไม้ที่พบมีหลายชิ้น ชิ้นที่ใหญ่ที่สุดยาวประมาณ 1.7 เมตร และมีเชือกสีดำมัดไว้เป็นช่วงๆ ซึ่งบางชิ้นดูแล้วน่าจะเป็นกาบเรือที่มีการต่อแบบเรือที่พบในบ่อกุ้งที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยเป็นเทคนิคเรือที่ชาวอาหรับจะเป็นต้นกำเนิดในการคิดวิธีการสร้างเรือเพื่อเดินทางมาค้าขายในอาณาจักรทวารวดี ซึ่งจุดที่เรือจมน้ำมีรอยไหม้ของตัวเรือ อาจจะเป็นการที่เรืออับปางลงในบริเวณนี้ และจุดนี้น่าจะเป็นจุดท่าเรือของการขนส่งสินค้าจึงมีการค้นพบสิ่งของโบราณมากมายบนกองดินที่ถูกนำตักมาไว้ริมทางแม้จะขุดไม่ลึกมาก

“ตอนนี้ผมเชื่อว่าหลักฐานชิ้นนี้เป็นหลักฐานที่สำคัญในการติดตามประวัติศาสตร์ของประเทศไทยซึ่งหอยที่พบนั้นบอกได้ว่า พื้นที่อาณาจักรแห่งนี้จะเป็นทะเลโบราณ การที่เส้นทางแม่น้ำเก่าแก่ทำให้เราสันนิษฐานว่า อาณาจักรทวารวดีมีความเจริญรุ่งเรืองมากในจังหวัดนครปฐม เพราะเดิมเราเคยพบหลักฐานที่เป็นการเขียนภาพโบราณเป็นเรือสำเภาในพื้นที่ แต่ก็ไม่เคยมีการพบเรือเก่าแก่ระดับอายุ 1 พันปี เรือลำนั้นน่าจะจมอยู่ก้นน้ำ แต่อาจจะถูกรถตักดินตักจนเสียหายบางส่วนไปแล้ว และระยะที่นับเท้าก้าวในการเจอซากไม้ของเรือ กับเศษกระเบื้องและเครื่องปั้นโบราณ คือ ประมาณ 35 เมตร ผมคิดว่าในกองดิน และใต้น้ำจะเจออะไรอีกมาก และเรื่องน่าสนใจสำหรับผมที่เป็นนักติดตามโบราณคดีเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากสำหรับประเทศไทย และกรมศิลปากร ควรจะเข้ามาเก็บหลักฐานต่างๆ ร่วมกับเจ้าของพื้นที่”

ด้าน น.ส.ปิยนันท์ ทรัพย์สินประกอบ นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 2 จังหวัดสุพรรณบุรี ดูแลพื้นที่จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า หลังจากได้ลงพื้นที่สำรวจเบื้องต้น และได้เชิญนักโบราณคดีที่ได้ทำงานสำรวจเรือโบราณที่จังหวัดสมุทรสาคร พบว่า ไม้ซากเรือที่พบเป็นไม่เก่าแก่โบราณลักษณะคล้ายกับเรือที่ขุดพบก่อนหน้า ซึ่งวัสดุที่ใช้ใกล้เคียงกันคือ ใช้ไม้เนื้อแข็งมาประกอบเป็นเรือ และมีการทำเดือยเป็นสลักสำหรับการยึดเรือเข้าด้วยกัน โดยมีเชือกรัดให้แน่นหนา ซึ่งเชือกดังกล่าวทำจากต้นจากที่มีใยเหนียว แต่การมัดมีเทคนิคการมัดที่ต่างกัน ซึ่งจะต้องมีการกลับมาลงพื้นที่เพื่อเก็บหลักฐานทั้งบนบก ในน้ำ แต่เรื่องอายุที่ชัดเจนจะต้องมีข้อมูลอื่นประกอบ หรือนำชิ้นไม้ไปทำการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ ก็จะต้องทำประกอบกันด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่แหล่งน้ำบึงกุ่ม-บึงบางช้าง เป็นลำน้ำขนาดใหญ่ มีการพบวัตถุโบราณและโบราณสถานหลายแห่ง โดยเคยมีการทำแผนในการสำรวจและพัฒนาบึงกุ่ม-บึงบางช้าง (บึงบางระกำ) อำเภอเมืองนครปฐม นครชัยศรี สามพราน ขององค์การบริการส่วนจังหวัดนครปฐม เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่กำลังมีการพัฒนาพื้นที่ตัวเอง ก่อนจะมีการขุดพบซากวัตถุโบราณเพิ่มเติมเมื่อไม่นานมานี้ และนักโบราณคดีคาดว่าหากขุดพบซากเรือทั้งลำได้ก็จะทำให้เกิดข้อมูลหน้าประวัติศาสตร์ในการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของอาณาจักรทวารวดีที่ขุดพบก่อนหน้าได้อีกมาก

















กำลังโหลดความคิดเห็น